ข่าว

บินโดยสารแลกยางกระชับสัมพันธ์รัสเซีย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บินโดยสารแลกยางกระชับสัมพันธ์รัสเซีย : โดย...ทีมข่าวความมั่นคง

 
                          วาระการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ นายดมิทรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย ที่ได้เข้าหารือแบบทวิภาคีกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พร้อมทั้งเซ็นบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) หลายฉบับได้รับการจับตาอย่างมากไม่เฉพาะที่ไทย แต่เป็นที่กล่าวถึงในระดับโลก
 
                          ผู้นำรัสเซียเยือนไทยครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเยือนในรอบ 25 ปีของผู้นำรัสเซีย และวาระการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตที่จะครบ 120 ปีในปี 2560 ยังเป็นจังหวะที่ประจวบเหมาะกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาที่สั่นคลอนอย่างหนักหลังจากสหรัฐออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง
 
                          ขณะที่ รัสเซียก็พยายามแสวงหาพันธมิตรใหม่ๆ หลังถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐ และสหภาพยุโรป (อียู) เนื่องมาจากความขัดแย้งในยูเครน โดยผู้นำรัสเซียเพิ่งเดินทางไปเยือนกรีซ ซึ่งประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจจนมีปัญหาขัดแย้งกับกลุ่มยูโรโซน ต่อด้วยการเยือนเวียดนาม ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งกับจีน และมีข่าวว่า เวียดนามเตรียมซื้ออาวุธลอตใหญ่จากรัสเซียด้วย
 
                          ทั้งนี้ รัสเซียถือเป็นผู้ค้ารายใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะพันธมิตรในค่ายคอมมิวนิสต์เดิมอย่างเวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ รวมถึงอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งหันมาซื้ออาวุธจากค่ายรัสเซียมากขึ้นในระยะหลัง โดยเฉพาะ “เครื่องบินรบ” ที่ทั้งสองชาติทางตอนใต้ของไทยได้จัดซื้อจากรัสเซียมาอย่างต่อเนื่อง
 
                          สอดคล้องกับคำกล่าวของคีย์แมนระดับสูงทั้งฝ่ายไทยและรัสเซีย ที่กล่าวถึงแนวโน้มในเรื่องการจัดซื้ออาวุธอย่างไม่ปิดบัง โดย นายเดนิส มันตูรอฟ รมว.พาณิชย์รัสเซีย ระบุตรงๆ ว่า “เราคิดถึงผลประโยชน์ของฝ่ายไทยในการซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหาร..เพื่อนของเราจากฝั่งตะวันตกของโลกกำลังละเลยไทย"
 
                          นายมันตูรอฟ เป็นหนึ่งในคณะผู้แทนที่ร่วมคณะมากับนายกฯ รัสเซีย โดยเขาระบุด้วยว่า มีการเจรจาค้าขายด้านกลาโหม ซึ่งพุ่งเป้าไปที่เครื่องบินทหาร ด้านการรถไฟและการบริการ
 
                          ทั้งนี้ รัสเซียได้ขายเครื่องบิน Sukhoi Superjet ให้กองทัพอากาศไทย จำนวน 3 ลำ โดยลำแรกจะส่งมอบได้ปลายปี ค.ศ.2016 หรือต้นปี 2017 เครื่องบิน Sukhoi Superjet เป็นเครื่องบินโดยสารขนาด 108 ที่นั่ง ราคา 35 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2002 โดยความร่วมมือระหว่างบริษัท Sukhoi Civil Aircraft และ Boeing Commercial Airplanes
 
                          ขณะที่ รัสเซียจะซื้อ “ยางพารา” จากไทยอย่างน้อย 8 หมื่่นตันในปี 2016 มากกว่าแผนที่จะซื้อในปี 2015 ถึง 4 เท่า โดยจะซื้อผ่านบริษัทรัฐวิสาหกิจด้านกลาโหมของประเทศเพื่อนำไปผลิต “ยางรถยนต์”
 
                          การตัดสินใจซื้อเครื่องบินจากรัสเซียครั้งนี้ แม้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ก็น่าจะคาดเดาได้ว่า ในอนาคตการค้าขายระหว่างไทยกับรัสเซียจะเพิ่มมากขึ้น ในฐานะ “มหามิตร” ที่ไม่ทอดทิ้งในยามที่บ้านเมืองไทยไม่ปกติ
 
                          ก่อนหน้านี้ไทยได้สั่งซื้อ เฮลิคอปเตอร์รุ่นเอ็มไอ-17 จากรัสเซีย มาใช้ในภารกิจขนส่ง ลำเลียง และบรรเทาสาธารณภัยเป็นหลัก เนื่องจากเป็น ฮ.ที่มีขนาดใหญ่
 
                          การจัดซื้อ ฮ.รุ่น MI-17 มุ่งที่จะนำมาทดแทน และแบ่งเบาภาระของ ฮ.รุ่น UH-1H หรือ “ฮิวอี้” เพราะฮ.รุ่นนี้มีอายุการใช้งานมาหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม ในระยะหลังประสบอุบัติเหตุหลายครั้ง นอกจาก MI-17 แล้ว อาจจะก้าวไปถึงอากาศยานอื่น อาวุธประจำกาย และอาจจะรวมถึงระบบขีปนาวุธ
 
                          มีการวิเคราะห์ว่า อาวุธที่จะจัดซื้อจากรัสเซียอาจไม่ได้มีแค่ ฮ.ขนาดใหญ่ แต่อาจรวมถึง "รถถัง" และยุทโธปกรณ์อื่นๆ ด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงในกองทัพระบุว่า ขณะนี้รัสเซียกำลังต้องการสินค้าประเภทอาหาร ซึ่งไทยมีศักยภาพ นอกจากอาหารแล้ว นักท่องเที่ยวรัสเซียก็เข้ามาเที่ยวในไทยปีละกว่า 2 ล้านคน
 
                          ส่วนรัสเซียเองที่ถูกคว่ำบาตรจากอียู ค่าเงินรูเบิลตกต่ำ จึงพยายามขยายอุตสาหกรรมอากาศยานและยุทโธปกรณ์ ซึ่งเป็นจังหวะเหมาะ เพราะไทยก็ถูกสหรัฐ และอียูกดดัน เพราะมีการรัฐประหาร แต่รัสเซียไม่ได้มองในเรื่องนี้ เพราะถือเป็นเรื่องภายในของไทย
 
                          นอกจากเรื่องการขายอาวุธแล้ว รัสเซียยังสนใจที่จะยกระดับความร่วมมือด้าน “ข่าวกรอง” และอาชญากรรมข้ามชาติ แต่ยืนยันว่า ไม่ใช่การเลือกข้างใหม่ หรือถ่วงดุลสหรัฐ เพราะไทยไม่มีนโยบายในการเลือกข้างเลือกฝ่ายอยู่แล้ว
 
                          การจัดซื้ออาวุธจากรัสเซียจึงไม่ได้ถือว่า เป็นการทดแทนอาวุธจากสหรัฐ เพราะที่ผ่านมาไทยก็จัดซื้อจากรัสเซียอยู่บ้างแล้ว เช่น อาวุธต่อสู้อากาศยาน หรือจรวดนำวิถี ที่เราจัดซื้อจากรัสเซียมากว่า 40 ชุดแล้ว รวมถึง “อาวุธประทับไหล่” ที่จะจัดซื้อเพิ่มเติม
 
                          ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ กระทรวงกลาโหมจะจัดงานแสดงอาวุธประจำปี แน่นอน สหพันธรัฐรัสเซียคือแขกคนสำคัญที่จะมาร่วมจัดแสดงอาวุธด้วย 
 
                          นอกจากนี้ ไทยกับรัสเซียยังจะให้ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งยังมีอินเดีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ในเรื่องความร่วมมือทางทหาร เช่น การฝึก ศึกษา และการส่งกำลังบำรุง ที่จะร่วมมือกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
 
                          การยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-รัสเซีย แบบก้าวกระโดด รวมทั้งการยกคณะเยือนจีนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 8-10 เมษายน ที่ผ่านมา ถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างมีนัยสำคัญ
 
                          เมื่อโลกเปลี่ยนไป สถานการณ์บ้านเราเปลี่ยนไป มีแต่การใช้ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องเท่านั้นที่จะทำให้เรามีที่ยืนบกโลกใบนี้
 
 
 
 
 
---------------------
 
(บินโดยสารแลกยางกระชับสัมพันธ์รัสเซีย : โดย...ทีมข่าวความมั่นคง)
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ