ข่าว

สิทธิการตายในวัยเยาว์...ของหนูหรือของใคร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สิทธิการตายในวัยเยาว์...ของหนูหรือของใคร : คอลัมน์เปิดโลกวันอาทิตย์

 
                    เบลเยียมกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ไม่มีอายุมาเป็นข้อจำกัดในการทำการุณยฆาต หรือ ยูแทนนาเซีย (euthanasia) อีกต่อไป เมื่อสภาผู้แทนราษฎรผ่านความเห็นชอบตามความคาดหมายเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากผ่านวุฒิสภา ผ่านการถกเถียงอย่างสะเทือนใจและเจ็บปวดมานานหลายเดือนจากฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านว่า อะไรคือหนทางดีที่สุดในการบำบัดผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้ายที่หมดหวังรักษา ไม่มีวิธีที่จะทุเลา ทุกข์ทรมานสุดจะทน และปรารถนาจะจบชีวิตของตนเอง เหมือนกับผู้ใหญ่ที่มีสิทธิที่จะตายอย่างสงบได้   
 
                    กฎหมายเหลืออีกขั้นตอนเดียวคือกษัตริย์ฟิลิปเปลงพระปรมาภิไธย ซึ่งเป็นขั้นตอนพิธีการเท่านั้น           
 
                    เบลเยียมมีกฎหมายการุณยฆาตผู้ใหญ่มานาน 12 ปีแล้วและได้รับการสนับสนุนในวงกว้าง การเปิดทางการุณยฆาตผู้ป่วยเด็ก เป็นการขยายจากกฎหมายสิทธิที่จะตายของผู้เยาว์ปี 2545 โดยมีสาระหลักว่า เด็กป่วยเรื้อรังระยะสุดท้าย จะต้องอยู่ในภาวะที่สามารถตัดสินใจได้ มีสติสัมปชัญญะในขณะร้องขอการุณยฆาต ต้องเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การุณยฆาตคืออะไร เด็กหมดหวังทางการแพทย์และทุกข์ทรมานเกินทน ไม่มีหนทางที่จะทุเลาความเจ็บปวดนั้น โดยจะต้องมีคำปรึกษาจากแพทย์และจิตแพทย์ รวมทั้งต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง     
    
                    การฆ่าตัวตายด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ (assisted suicide) อนุญาตให้ทำได้ภายใต้เงื่อนไขทั้งในสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และบางรัฐของสหรัฐอเมริกา แต่มีแค่สามประเทศในโลก ได้แก่ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ ที่อนุญาตให้แพทย์ทำการุณยฆาต ซึ่งมักเป็นการให้ยากล่อมประสาทอออกฤทธิ์แรง 
 
                    ในลักเซมเบิร์ก ผู้ป่วยจะต้องอายุ 18 ปีขึ้นไป ส่วนเนเธอร์แลนด์ ร้องขอทำการุณยฆาตได้ตั้งแต่อายุ 12 ปี       
  
                    การถกเถียงประเด็นสิทธิการตายของผู้ใหญ่ ว่าซับซ้อนหลายมิติแล้ว เมื่อมาถึงกรณีเด็กป่วยไม่มีทางรักษา ร้องขอที่จะตาย  ฉีดยา (พิษ) เข้าร่าง เป็นฝันร้ายที่สุดและยากจินตนาการ โดยเฉพาะหากไม่เคยอยู่ในความเป็นจริงอันโหดร้าย เห็นสุขภาพของเด็กคนหนึ่งมีแต่เสื่อมถอยรอวันตายอย่างน่าเวทนา และคุณหมอเด็กในเบลเยียมที่ผจญกับสถานการณ์เช่นนี้ คือกลุ่มที่เห็นว่าเด็กควรมีสิทธิร้องขอให้จบชีวิตตนเองอย่างสงบ ให้พ้นจากความทรมาน รักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นกัน 
 
                    นพ.เกอร์ลองต์ แวน แบร์แลร์ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบรัสเซลส์ กล่าวว่า มีน้อยมากแต่ก็มีจริง ที่หมอพยายามรักษาอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่ทำอะไรไม่ได้เลยเพื่อให้พวกเขาดีขึ้น ยกตัวอย่างเด็กคนหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อลีบดูชีน ซึ่งเป็นโรคกล้ามเนื้อเสื่อมทางพันธุกรรม อาการทรุดลงขนาดกลืนอาหารหรือพูดไม่ได้เลย เด็กเห็นผู้ป่วยเตียงถัดไปสำลักหายใจไม่ออกเสียชีวิต เด็กรู้ว่ามีชีวิตอีกไม่นานเช่นกัน และขอร้องหมอว่า อย่าปล่อยให้สภาพนั้นเกิดกับตน การไม่ได้ขานรับคำร้องขอสุดท้ายของเด็ก ยังเป็นเรื่องที่ยังติดอยู่ในใจของเขา 
 
                    คุณหมอท่านนี้กับเพื่อนร่วมอาชีพอีก 16 คน ลงนามจดหมายเปิดผนึกถึงวุฒิสภาเมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว ขอให้สนับสนุนร่างกฎหมาย 
 
                    "เราไม่ได้สวมบทพระเจ้า เหล่านี้คือชีวิตที่จะจบสิ้นอยู่ดี การตายตามธรรมชาติอาจเป็นความทุกขเวทนา เจ็บปวดและน่าสะพรึง พวกเขาอาจได้พบเห็นเพื่อนหลายคนในโรงพยาบาลที่ตายจากโรคเดียวกันมาก่อนแล้ว หากพวกเขาพูดว่า "ฉันไม่อยากตายแบบนั้น ผมก็จะทำในแบบของผม นั่นเป็นอย่างเดียวที่เราจะทำให้กับพวกเขา (ผู้ป่วยเด็ก) ได้ในฐานะแพทย์ และผมคิดว่าเราควรได้รับอนุญาตให้ทำได้" นพ.แวน แบร์แลร์กล่าว           
    
                    แม้ผลสำรวจไม่นานมานี้พบว่า ชาวเบลเยียมร้อยละ 75 สนับสุนนสิทธิการตายของเด็กเหมือนกับผู้ใหญ่ แต่การถกเถียงได้จุดความแตกแยกทั้งวงการแพทย์ นักกฎหมายและนักการเมือง แต่ที่คัดค้านเป็นเสียงเดียวกันคือคริสตจักร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการดูแลเพื่อบรรเทาอาการและดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย          
 
                    เสียงคัดค้านมาไกลจากแคนาดา ด.ญ.เจสสิกา ซานา วัย 4 ขวบที่เกิดมามีอาการผิดปกติที่หัวใจแต่กำเนิด กล่าววิงวอนผ่านคลิปวิดีโอถึงกษัตริย์ฟิลิปเป ไม่ให้ลงพระปรมาภิไธย มารดาของเธอ กล่าวว่า เธอห่วงว่าหากมีเด็กคนหนึ่งเกิดมาผิดปกติเหมือนเจสสิกาแต่โตมาเป็นเด็กที่มีความสุขบนโลกใบนี้ อาจถูกการุณยฆาตตั้งแต่ยังเล็กก็ได้ แต่แพทย์ฝ่ายสนับสนุน ยืนยันว่า กรณีเช่นนี้ยากจะเป็นไปได้ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย เชื่อว่าส่วนมากเป็นผู้ป่วยวัยรุ่น และเชื่อว่าในทางปฏิบัติ คงจะเกิดขึ้นจริงไม่กี่กรณีต่อปี            
 
                    ถึงอย่างนั้น คุณหมอเด็กอีกฟากอย่างน้อย 160 คน ที่ลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงสภา เพื่อขอให้เลื่อนการลงมติออกไปจนกว่าจะถกเถียงให้ตกผลึกมากกว่านี้ มองว่า กฎหมายนี้ไม่มีความจำเป็น ในทางปฏิบัติ ไม่มีวิธีการเชิงวัตถุวิสัย (ปราศจากอคติ) สำหรับใช้ตัดสินว่าเด็กมีความสามารถในการตัดสินใจเป็นอย่างดีหรือไม่ นี่จึงเป็นการประเมินแบบจิตวิสัยเป็นส่วนใหญ่" 
 
                    ที่สำคัญ วิทยาการการดูแลเพื่อบรรเทาอาการในปัจจุบัน ทันสมัยพอที่จะระงับความเจ็บปวดทางร่างกาย อาการสำลัก หรือความวิตกกังวลขณะวาระสุดท้ายใกล้เข้ามาได้อย่างเต็มที่  นอกจากนี้ การดูแลผู้ป่วยเด็กที่อาการหนัก เป็นปมซับซ้อนมากพอแล้ว ไม่ควรเพิ่มแรงกดดันและความเครียดให้กับทีมแพทย์และครอบครัวที่จะต้องเผชิญกับทางเลือกที่ยากและหมิ่นเหม่ศีลธรรมโดยไม่จำเป็น  หากหมอคนใดคิดว่ากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจ ก็ยังมีคณะกรรมการจรรยาบรรณ เพื่อขออนุญาตจบชีวิตผู้ป่วย โดยผ่านฉันทามติของหลายฝ่าย  
 
                    คุณหมอฝ่ายคัดค้านคนหนึ่ง กล่าวว่า จากประสบการณ์ เธอเห็นวัยรุ่นจำนวนมากที่ป่วยทุกข์ทรมาน ยังมีความหวังในวันพรุ่งนี้ ไม่เคยมีใครบอกว่า ทนไม่ไหวอีกต่อไป ขอให้ช่วยจบทุกอย่างที พวกเขาต้องการมีชีวิตอยู่มากกว่าจะตาย 
 
                    ขณะที่นพ.เกอร์ลองต์ โต้ว่า บางที เด็กอาจไม่ได้ร้องขอสิทธินั้น เพราะไม่มีกฎหมาย เมื่อใดที่เด็กคนหนึ่งตายในโรงพยาบาล เด็กคนอื่นๆ ก็จะพูดเรื่องนี้กัน พวกเขาจะไม่บอกคุณตรงๆ แต่จะคุยกันเองว่า พวกเราไม่อยากจากไปแบบที่เห็นกับสภาพทุรนทุรายของเพื่อน 
 
                    อีกคำถามสำคัญว่า เด็กมีวุฒิภาวะพอที่จะตัดสินใจเลือกตายจริงหรือ  นายแพทย์ท่านนี้เชื่อว่า เด็กป่วยระยะสุดท้ายที่ใช้เวลาส่วนใหญ่กับผู้ใหญ่ มักโตเกินวัยไปมาก  สอดคล้องกับนายไฟค์ แวน เดน เอเวอร์ อาสาสมัครในแผนกเนื้องอกในเด็ก โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเบลเยียม ที่เห็นด้วยว่าเด็กป่วยหนักมักโตเกินอายุ อย่างโลรอง ลูกชายของเขาที่จากไปในวัย 8 ขวบด้วยด้วยโรคมะเร็ง
 
                    เดน เวเวอร์กล่าวว่า จากการพูดคุยเห็นได้ชัดว่า เด็กพยายามเข้าใจสถานการณ์ของตนเอง และคิดเกินวัย แต่นั่นหมายความว่า เด็กเหล่านั้นมีความสามารถในการตัดสินใจ หรือร้องขอใช้ทางออกอย่างการุณยฆาตหรือไม่ ความเห็นส่วนตัวคือ ไม่  ไม่มีใครบอกได้ว่า จะมีเด็กมากขึ้นที่ร้องขอที่จะตายเมื่อเบลเยียมมีกฎหมายฉบับนี้ 
 
 
 
 
การุณยฆาตและสิทธิที่จะตายอย่างสงบทั่วโลก
 
 
                    เนเธอร์แลนด์ : เป็นประเทศแรกในโลกที่มีกฎหมายรองรับการุณยฆาต รัฐสภาผ่านกฎหมายช่วยเหลือการฆ่าตัวตายและปลิดชีพตามคำร้องขอ เมื่อปี 2544 คำร้องขอสิทธิที่จะตายอย่างสงบ จะต้องเป็นแบบแสดงเจตจำนงและผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบของแพทย์ เด็กและวัยรุ่นอายุ 12-16 ปี สามารถร้องขอการุณยฆาตได้ แต่ต้องให้ผู้ปกครองยินยอม สถิติกระทรวงสาธารณสุขเนเธอร์แลนด์ พบว่าแต่ละปี มีผู้เลือกขอจบชีวิตตนเอง 3,000 คน 
 
                    นอร์เวย์ : การุณยฆาตเป็นเรื่องผิดกฎหมาย การเป็นเหตุให้หรือมีส่วนสนับสนุนต่อการเสียชีวิตของผู้อื่น อาจมีโทษจำคุก 8 ปี แต่ผู้ดูแลที่ช่วยจบชีวิตโดยความยินยอมของผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยเหตุสงสารเห็นใจ อาจได้รับการลดหย่อนโทษ 
 
                    สวิตเซอร์แลนด์- สิทธิขอตายอย่างสงบ ได้รับการยอมรับในวงกว้าง การฆ่าตัวตายโดยได้รับการช่วยเหลือ เป็นเรื่องถูกกฎหมายนับจากคริสต์ทศวรรษที่ 1940 แต่การทำการุญยฆาตเป็นเรื่องต้องห้าม กฎหมายอนุญาตให้ช่วยเหลือฆ่าตัวตายได้ด้วยการจัดหาวิธีการและคำแนะนำแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้จบชีวิตตนเอง ที่สวิตเซอร์แลนด์ มีองค์กรชื่อ ดิกนิทาส ( Dignitas) ก่อตั้งในปี  2541 ให้ความช่วยเหลือจบชีวิตแก่ผู้ร้องขอจากทั่วโลก (จนมีผู้เรียกกันว่า การท่องเที่ยวเพื่อฆ่าตัวตาย) ขณะที่องค์กร "เอ็กซิท"(Exit) ช่วยเหลือแค่ชาวสวิสหรือผู้พำนักในประเทศ 
 
                    อังกฤษ : การุณยฆาตและช่วยฆ่าตัวตายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย อาจถือเป็นฆาตกรรมโดยไม่เจตนา หรือไตร่ตรองไว้ก่อนแล้วแต่กรณี มีโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต แต่สำนักอัยการมีแนวทางไว้ว่า ผู้ที่ช่วยบุคคลอันเป็นที่รักซึ่งป่วยระยะสุดท้ายหรือทุพพลภาพร้ายแรง จบชีวิตเพื่อให้พ้นจากความทรมาน ด้วยความเมตตาอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ควรถูกแจ้งข้อหา นโยบายใหม่นี้วัตถุประสงค์เพื่อชี้ชัดสถานะของผู้ที่พาเพื่อนหรือญาติไปขอความช่วยเหลือจบชีวิตจากดิกนิทาสในสวิตเซอร์แลนด์
 
                    ลัมเซมเบิร์ก : ออกกฎหมายรับรองสิทธิการตายในปี 2551 โดยใช้กฎหมายของเบลเยียมเป็นต้นแบบ ผู้ป่วยเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ จะต้องได้รับการอนุมัติจากแพทย์สองคนและคณะผู้เชี่ยวชาญ 
 
                    สหรัฐ -การุณยฆาตเป็นเรื่องต้องห้ามในทั้ง 50 รัฐ แต่รัฐวอชิงตัน โอเรกอน และเวอร์มอนต์ มีกฎหมายอนุญาตให้แพทย์ช่วยเหลือผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ระยะสุดท้าย ที่มีสติสัมปชัญญะและมีชีวิตอยู่ต่อได้ไม่ถึง 6 เดือน ให้พ้นจากความทุกข์ทรมานได้  
 
 
 
 
..................................
 
(สิทธิการตายในวัยเยาว์ ...ของหนูหรือของใคร : คอลัมน์เปิดโลกวันอาทิตย์ : โดย...อุไรวรรณ นอร์มา /ที่มาข้อมูล บีบีซี การ์เดียน ไทม์)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ