ข่าว

วิบากกรรมของพลทหารจอมแฉ'แบรดลีย์ แมนนิง'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิบากกรรมของพลทหารจอมแฉ'แบรดลีย์ แมนนิง' : คอลัมน์เปิดโลกวันอาทิตย์

               ศาลทหารสหรัฐที่ฐานทัพฟอร์ตมี้ด รัฐแมริแลนด์ มีคำพิพากษาคดีที่อยู่ในความสนใจของโลกมากที่สุดคดีหนึ่งเมื่อวันอังคารที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ให้จ.ส.ต.แบรดลีย์ แมนนิง อดีตเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข่าวกรองกองทัพสหรัฐวัย 25 ปี มีความผิดใน 20 จาก 21 กระทงหลังการพิจารณาคดีนานสองเดือน จำนวนนี้ เป็นความผิดภายใต้กฎหมายจารกรรมข้อมูล 6 กระทง ที่เหลือเป็นข้อหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์และขโมยข้อมูลจัดชั้นความลับเกี่ยวกับรายงานกิจกรรมของกองทัพสหรัฐในอัฟกานิสถานกับอิรัก และเคเบิลการทูตซึ่งเป็นรายงานที่กระทรวงต่างประเทศได้รับจากนักการทูตในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ส่งให้เว็บไซต์วิกิลีกส์ จนนำไปสู่การรั่วความลับทางการทหารและการทูตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐเมื่อ 3 ปีที่แล้ว   

                   ไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า แมนนิงคือคนที่ทำให้นายจูเลียน อาซานจ์ และเว็บไซต์วิกิลีกส์ โด่งดังและขึ้นแท่นเป็นศัตรูอันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกา ทั้งยังทำให้รับรู้กันทั่วไปว่า ในโลกยุคนี้ มีนักเคลื่อนไหวต่อต้านความลับ เชื่อมั่นในความโปร่งใสสุดขั้วและยึดหลักการว่า รัฐไม่ควรมีความลับใดๆ ต่อสาธารณะ พร้อมกับจุดประเด็นถกเถียงว่า แมนนิงเป็นคนเป่านกหวีด (whistleblower ) คือคนที่นำความลับด้านมืดมาเปิดเผยเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือเป็นแฮ็กเกอร์ไร้ขื่อแป และทรยศประเทศชาติตามที่รัฐบาลกล่าวหา 

                โดยรวม แมนนิงรั่วรายงานที่เกิดขึ้นในสนามรบในอิรัก 391,382 ชิ้น จากอัฟกานิสถาน 75,000 ชิ้น และเคเบิลกระทรวงต่างประเทศ 251,287 ชิ้น ที่สร้างความกระอักกระอ่วนให้แก่สหรัฐและพันธมิตร

                ความลับภายในกองทัพสหรัฐที่ชาวโลกได้รับรู้ผ่านการแฉของอาซานจ์และวิกิลีกส์ เมื่อ 3 ปีก่อนคือ คลิปวิดีโอเฮลิคอปเตอร์อาปาเช 2 ลำ ยิงกราดลงไปชาวอิรักกลุ่มหนึ่งบนพื้นล่างในกรุงแบกแดด ในปี 2550 ทำให้มีผู้ชายเสียชีวิตอย่างน้อย 12 คน รวมถึงผู้สื่อข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์และคนขับรถของเขา และมีเด็กบาดเจ็บสองคน ผลสอบสวนพบว่า ทหารที่ยิงเข้าใจผิดว่า กล้องวิดีโอของนักข่าว คืออาวุธ แต่ระหว่างยิงได้เรียกอีกฝ่ายอย่างดูแคลน หัวเราะและยินดีที่ตนเองสามารถสังหารคนกลุ่มใหญ่ได้

               แมนนิง อ้างว่านั่นเป็นเหตุการณ์ที่บีบคั้นจิตใจอย่างมาก คนเหล่านั้นลดค่าความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย และเป็นหนึ่งในการรั่วความลับเรื่องแรกๆ ของเขา

               ภาพจากวิดีโอที่เผยความผิดพลาดมหันต์ เป็นประเด็นสำคัญที่เรียกแนวร่วมและมองแมนนิงว่าเป็นคนตีแผ่ความจริง รวมตัวกันตั้งเป็นเครือข่ายสนับสนุน ระดมเงินบริจาคได้กว่า 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสู้คดี และก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา ผู้บริจาค 850 คน ลงขัน 5.2 หมื่นดอลลาร์ ซื้อพื้นที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สหนึ่งหน้าเต็มเพื่อลงเหตุผลที่แมนนิงควรได้รับการปล่อยตัว

               ความเห็นทางทวิตเตอร์ทันทีที่รู้ชะตากรรมแมนนิง หนักไปทางกระแนะกระแหนที่ระบบยุติธรรมมหาอำนาจ ยกเป็นความผิดให้คนเปิดโปงปฏิบัติการทางทหารที่ขัดทั้งทั้งกฎหมายสหรัฐและระหว่างประเทศโดยตรง อาทิ ความเห็นหนึ่งระบุว่า "ผู้สังเกตการณ์จากดาวอังคารคงสรุปอย่างช่วยไม่ได้ว่า การเปิดโปงอาชญากรสงครามในประเทศนี้ หนักกว่าการก่ออาชญากรรมเสียเอง" หรือ "คนเปิดโปงอาชญากรรมสงครามติดคุก แต่อาชญากรสงครามลอยนวล"

               แต่ก็พอมีบ้างที่มองว่า คำตัดสินถือเป็นการเตือน ว่า อย่าเผยเอกสารลับทางราชการที่ถือว่าเป็นการละเมิดคำสัตย์ปฏิญาณ แล้วคาดหวังว่าจะไม่ได้รับผลกรรมใดๆ" ทั้งนี้เนื่องจากข้อมูลที่แมนนิงส่งให้วิกิลีกส์นั้น มากมายมหาศาลชนิดที่เจ้าตัวอาจไม่รู้รายละเอียดทั้งหมด ซึ่งรวมถึงรายชื่อคนอัฟกัน 900 คนที่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐ ตำแหน่งที่ตั้งทหาร ท่อส่งน้ำและศูนย์สื่อสารกองทัพสหรัฐในอิรักและอัฟกานิสถาน แมนนิงจึงถูกตำหนิว่าทำให้ชีวิตมากมายตกอยู่ในความเสี่ยง แม้ว่าจนถึงปัจจุบันไม่มีใครเสียชีวิตจากการแฉครั้งนี้แม้แต่คนเดียว 

               จุดนี้ถูกมองว่าเป็นความแตกต่าง ระหว่างแมนนิงกับกรณีของเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ที่นำโครงการสอดแนมลับสุดยอดของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (เอ็นเอสเอ) มาเปิดเผยให้สื่อ สโนว์เดนเลือกเปิดเผยเป็นเรื่องๆ กับติดต่อให้หนังสือพิมพ์เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูล แทนที่จะผ่านทางวิกิลีกส์ ที่จากผลตัดสินคดีแมนนิง สะท้อนว่ารัฐบาลไม่ยอมรับว่าวิกิลีกส์เป็นสื่อ

               ปัญหาส่วนตัวของแมนนิงก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงในศาล ทนายของเขาพยายามชี้ว่าลูกความไม่มีเจตนาร้าย แต่เพราะอ่อนเดียงสาและปัญหาส่วนตัว

               ในช่วงที่เริ่มรั่วความลับปี 2553 แมนนิงอยู่ในสภาพจิตตก เก็บกดและดิ้นรนกับการปิดบังเพศสภาพ จากคำสนทนาออนไลน์ เข้าใจว่า แมนนิงรู้สึกว่าการแฉข้อมูลลับออกไปคือการปลดปล่อยอย่างหนึ่ง แต่ก็รู้ว่าสิ่งที่กำลังทำอาจจะเจอกับอะไร

               แมนนิง อายุ 19 ปี ขณะตัดสินใจเดินตามรอยเท้าพ่อ เป็นนักวิเคราะห์ข่าวกรองกองทัพสหรัฐ เขาเป็นคนรูปร่างเล็กและแสดงออกเป็นเกย์อย่างเปิดเผยในช่วงที่ยังใช้นโยบาย Don't Ask , Don't Tell ในกองทัพ แต่แมนนิงไม่ผ่านการฝึกขั้นพื้นฐานของกองทัพบกในปี 2550 และเตรียมปลดประจำการหลังจากสมัครเข้าไปแค่ 6 สัปดาห์ แต่กองทัพบกกลับดึงตัวไว้และส่งไปยังโรงเรียนข่าวกรองชั้นยอด จนสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนอ่อนไหว/ลับสุดยอด ก่อนส่งไปยังฐานทัพนอกกรุงแบกแดดในสองปีหลังจากนั้น

                เป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ของกองทัพ ที่ให้กุญแจแก่แมนนิงไขสู่อาณาจักรความลับ

               ปฏิกิริยาและความเห็นหลังคำตัดสินคดีแมนนิง มีทั้งประณามและโล่งอก

               นักเคลื่อนไหว นักกฎหมายและสื่อโล่งอกที่ พ.อ.เดนิส ลินด์ ผู้พิพากษาศาลทหาร ยกฟ้องข้อหาช่วยเหลือศัตรู ซึ่งเป็นข้อหาหนักสุดและเป็นเรื่องที่โต้เถียงกันมากที่สุด เนื่องจากเป็นข้อหาที่มีโทษประหารหรือขังเดี่ยวตลอดชีวิต ข้อหานี้คือการกล่าวหาว่าแมนนิงคือผู้ทรยศ การขโมยเอกสารและคลิปวิดีโอลับไปให้วิกิลีกส์แฉแบบนั้น ย่อมจะต้องรู้ว่า ศัตรูอย่างอัล-ไกดาก็ต้องเห็นเหมือนกัน แต่ที่สุด ทนายแมนนิงพิสูจน์ได้ว่าลูกความไม่มีเจตนาร้ายต่อประเทศชาติ

               หากผู้พิพากษาเอาผิดแมนนิงในข้อหานี้ อาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานถึงคนแฉความไม่ชอบมาพากลในองค์กร ให้สื่อ หรืออาจจะรวมถึงนักข่าวสายความมั่นคง จะพลอยทำงานลำบากไปด้วย เพราะการเจาะข่าวเชิงลึกบางครั้งต้องอาศัยข้อมูลจากคนวงใน อีกทั้งในความเป็นจริง แมนนิงไม่เคยมอบข้อมูลจัดชั้นความลับให้อัล-ไกดา และวิกิลีกส์ก็ไม่เคยยืนยันว่าได้รับข้อมูลมาจากใคร

                ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายกล่าวว่า ในอดีต ข้อหาช่วยเหลือศัตรูมักเกี่ยวข้องกับเชลยศึก ที่ให้ข้อมูลกับญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หรือพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงสงครามเกาหลี หรือสงครามเวียดนาม

               อย่างไรก็ดี องค์กรด้านสื่อและสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่มองว่าคำตัดสินของศาลทหารในข้อหาจารกรรม บวกกับความเคลื่อนไหวของรัฐบาลบารัก โอบามาคือความพยายามข่มขวัญคนที่อาจคิดแพร่งพรายข้อมูลความลับ หรือผู้ที่คิดจะเพิ่มความโปร่งใสอีกในอนาคต

               รายงานกระทรวงกลาโหมสหรัฐในปี 2553 ระบุว่า แม้ว่าการแพร่งพรายความลับไม่ได้กระทบต่อแหล่งข่าวกรองแต่อาจจะก่อความเสียหายต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงในอนาคต รัฐบาลโอบามาจึงพยายามตัดไฟแต่ต้นลม สั่งกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานต่างๆ อุดช่องทางการรั่วไหลข้อมูลจัดชั้นความลับ ในระดับเป็นนโยบายหนึ่ง

               สตีเฟน อาฟเตอร์กู้ด ผู้อำนวยการโครงการความลับรัฐบาล ของสมาพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกันกล่าวว่า วิกิลีกส์ทำให้รัฐบาลโอบามาช็อกมาก และเริ่มใช้นโยบายไม่อดกลั้นกับคนรั่วข้อมูล หนังสือพิมพ์แมคแคลทชี รายงานว่า ต้นปี 2554  รัฐบาลโอบามาได้ทำโครงการ "ภัยคุกคามจากคนใน" (Insider Threat) ในหน่วยงานรัฐบาลกลาง รวมถึงหน่วยงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับข่าวกรองเลย อย่างกระทรวงเกษตร

               ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโอบามา มีการใช้กฎหมายจารกรรมข้อมูล แจ้งข้อหากับอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลหรือคู่สัญญาฐานนำความในออกมาเผยแพร่ รวม 7 คน ขณะที่เกือบร้อยปีตามอายุกฎหมาย ก่อนมาถึงโอมาบา มีแค่ 3 คนที่ถูกแจ้งข้อหาภายใต้กฎหมายนี้   

               เบน วิสเนอร์ ผู้อำนวยการโครงการเทคโนโลยี ความเป็นส่วนตัวและการแสดงความเห็นของสหภาพเสรีภาพพลเรือนอเมริกัน (เอซีแอลยู) ระบุว่าถึงจะรู้สึกโล่งอกที่แมนนิงพ้นผิดข้อหาช่วยศัตรู แต่เอซีแอลยูยังยึดมั่นในจุดยืนเดิมว่า การรั่วข้อมูลให้สื่อเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ควรถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายจารกรรม

               ขณะนี้ ศาลทหารอยู่ระหว่างพิจารณากำหนดบทลงโทษที่คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน ศาลจะรับฟังพยานสองฝ่ายเบิกความว่าการขโมยความลับไปให้วิกิลีกส์ ได้ส่งผลเสียหายอย่างไรบ้าง ก่อนที่ศาลจะสรุปว่าแมนนิงควรติดคุกเป็นกี่ปี แต่ตามความผิดที่แมนนิงกระทำ โทษของเขาคือจำคุก 136 ปี ซึ่งก็หมายถึงการสูญสิ้นอิสรภาพตลอดชีวิต

               เอลิซาเบธ กอยเทน ผู้อำนวยการโครงการเสรีภาพและความมั่นคงแห่งชาติ ศูนย์เบรนเนินเพื่อความยุติธรรมในนิวยอร์ก กล่าวว่า แมนนิงเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ถูกแจ้งข้อหาและมีความผิดภายใต้กฎหมายจารกรรมฐานรั่วข้อมูลให้สื่อ และการปราศจากหลักฐานว่าแมนนิงมีเจตนาทำอันตรายต่อประเทศชาติ แต่ยังมีแนวโน้มที่จะถูกจำคุกหลายสิบปี ก็เป็นกรณีที่แทบไม่เคยมี 

               หากต้องโทษจำคุกเกิน 1 ปี คดีจะเข้าสู่ชั้นอุทธรณ์ทันที และหากถูกลงโทษหนักหลายปี กองทัพสหรัฐหนีไม่พ้นต้องตอบคำถามเรื่องสองมาตรฐาน มีหลักและลำดับความสำคัญอย่างไรในการเอาผิดกับทหารก่ออาชญากรรม อย่างคดีสังหารหมู่ชาวอิรักมือเปล่า 24 ศพที่เมืองฮาดิตา เมื่อปี 2548 ปรากฏว่านาวิกโยธินเพียงคนเดียวที่ถูกพิจารณาคดี ถูกลงโทษเพียงลดยศและตัดเงินเดือน

 

.............................................

(วิบากกรรมของพลทหารจอมแฉ'แบรดลีย์ แมนนิง' : คอลัมน์เปิดโลกวันอาทิตย์)

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ