ข่าว

พลังเฟซบุ๊กพลังใจคนไทยในอียิปต์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พลังเฟซบุ๊ก พลังใจคนไทยในอียิปต์ : 'ร่วมก่อชีวิต ชดใช้แผ่นดิน และทดแทนคุณ' : คอลัมน์เปิดโลกวันอาทิตย์ : โดย...ดลหมาน ณ ไคโร

               หลากหลายเรื่องราวในชีวิตที่ผ่าน ความทรงจำติดตา ติดใจและติดความรู้สึกยากจะแกะให้หลุดพ้นออกไปได้ จากเด็กเก็บขยะชิ้นเล็กชิ้นน้อยตามริมถนนที่หาดใหญ่ อันเนื่องมาจากครอบครัวต้องหาเช้ากินค่ำ แม่ขายปลาเค็ม พ่อปั่นจักรยานสามล้อ ชีวิตของคนจนๆ เสื้อผ้าหน้าผมไม่มีให้ได้แต่ง แค่แป้งหอมตราดอกมะลิก็ดูหรูแล้วสำหรับคนจนอย่างเรา แต่การเรียนหนังสือในระบบศาสนาได้สร้างภาพและมุมมอง ให้เกิดศีลธรรมในหัวใจเห็นความแตกต่าง แม้จะไม่ใช่การแตกแยกในสังคม แต่ก็ยากที่จะเข้ากันถึงในส่วนลึก เหมือนมีม่านบางๆ กั้นเอาไว้ สำหรับคนยากจนในชนบท การเดินทางไปสถานที่ราชการ แทบทำให้ดูคล้ายกับเป็นคนชั้นต่ำในพริบตา ด้วยแววตา หรือการต้อนรับ จากชีวิต ณ จุดนั้นทำให้กลายเป็นความทรงจำที่อยากจะทลายออกมาให้หลุดไปจากประเทศไทยของเรา แต่ก็ได้แค่ฝัน ด้วยสาเหตุนี้ผมจึงใช้ชื่อเฟซบุ๊กแทนตัวเองว่า “หนุ่มช่างฝัน” นี่คือที่มาของเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นสำหรับคนไทยในต่างแดน ประเทศอียิปต์และคนไทยในประเทศไทย

                เกือบ 20 กว่าปีที่มาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอียิปต์ แม้จะมีเหตุการณ์วุ่นวายไม่รู้จักจบสิ้นมาโดยตลอด แต่คนไทยประมาณ 2,500 ชีวิต ที่เดินทางมาอาศัยใบบุญอียิปต์อยู่ ไม่ว่าจะเดินทางมาศึกษา รับราชการ รับจ้างในอาชีพต่างๆ หรือเป็นเจ้าของธุรกิจ ทุกคนมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะการหาเงินส่งกลับทางบ้านที่กำลังรอคอยอยู่ การรวมตัวของคนไทยในสมัยก่อนไม่ได้ชิดใกล้และใกล้ชิดกันขนาดนี้ รู้จักกันแต่ก็มองเหมือนคนไม่คุ้นเคย อาจจะด้วยเทคโนโลยีที่ยังเข้ากันไม่ถึงก็เป็นได้ ทำให้เกิดความเหินห่าง สถานเอกอัครราชทูตไทยในยุคนั้นก็เป็นเสมือนหนึ่งสถานที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากจะเดินเข้าไปถ้าหากไม่จำเป็นในเรื่องเอกสารต่างๆ โดยเฉพาะนักศึกษาซึ่งบางคนเดินเข้าไปในสถานเอกอัครราชทูตด้วยความหวาดกลัว ไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะนอกจะเป็นสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยแล้ว ยังคลับคล้ายจะไม่ได้รับการต้อนรับอย่างเป็นมิตรเท่าที่ควร

                เสียงที่ออกมาจากใจของคนไทยในช่วงนั้น ผมรับรู้และรับทราบมาโดยตลอด ว่าอะไรเกิดขึ้นกับสังคมคนไทยในประเทศอียิปต์ การก้าวเดินเข้าไปสู่การรับใช้สังคมในนามของคณะกรรมการบริหารสมาคมนักเรียนไทยในกรุงไคโรในสมัยนั้น คือการก้าวเข้ามาด้วยความหวังในเรื่องนี้  โดยเฉพาะเชื่อแล้วว่าหากเราไม่มีจุดยืนที่เข้มแข็งพอ กับการที่จะเปลี่ยนภาพเก่าๆ ให้หมดไป ช่างเป็นเรื่องยากเหลือเกิน ทั้งจากความคิดต่างจากการเมืองที่ถูกเกี่ยวโยงโดยไม่มีมูลความจริงเอาเสียเลย แต่เพราะเป็นคนที่ไม่แคร์ใคร และมั่นใจว่าสิ่งที่ทำคือสิ่งที่ถูกและเป็นผลดีต่อส่วนรวม การเจ็บตัว เจ็บใจ จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดา กับหน้าที่นายกสมาคม 3 สมัย เข้าทำงานสถานเอกอัครราชทูต และการเป็นนักข่าว คอลัมนิสต์ และออกพ็อกเก็ตบุ๊ก “นับหนึ่งจนถึงวันนี้ชีวิตของผู้ชายดีๆ” ในสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 หนังสือดีในปีนี้

                ฟ้าหลังฝุ่นในอียิปต์ ช่างสดชื่นแจ่มใส ณ วันนี้ การรวมตัวของคนไทยให้กลายเป็นหนึ่งครอบครัวใหญ่โต ทุกคนกลายเป็นพี่น้องเข้าหากันทั่วถึง โดยมีเฟซบุ๊กเป็นตัวเชื่อมหลักในการเชื่อมต่อ สานโครงการ และการให้ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก “หนุ่มช่างฝัน” เป็นตัวเชื่อมคนไทยในอียิปต์ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศไทย เข้าถึงเกือบทุกระดับ กลายเป็นที่มาของการรวมตัวเป็นหนึ่ง และกลายเป็นการสร้างสังคมใหม่ จากการรวมตัวกันนี้ ทำให้เกิดความคิดที่จะร่วมกันช่วยเหลือสังคม ด้วยการจัดจำหน่ายพ็อกเก็ตบุ๊ก “นับหนึ่งจนถึงวันนี้ฯ” โดยมีคุณเกสรา จันทร์เกตุ รองกรรมการบริษัทท็อปวันทราเวล แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และกองทัพมด มีเดีย จำกัด เป็นผู้จัดการสั่งหนังสือออกมาจำหน่ายและเป็นคนจัดการเรื่องรายได้เข้าเป็นกองทุน "นับหนึ่ง” ซึ่งเป็นชื่อย่อของหนังสือ

                จากการโพสต์ข้อความออนไลน์ทางเฟซบุ๊ก ทำให้มีผู้สนับสนุนและแฟนคลับสั่งซื้อหนังสือเยอะแยะมาก บางรายซื้อคนเดียว 20 เล่มเพื่อมอบให้แก่โรงเรียนในชนบท และยังมีผู้อุปการคุณทั้งในประเทศอียิปต์ และประเทศไทย เข้าร่วมสมทบทุนอีกหลายราย ทำให้มีเงินทุนพอที่จะเป็นขวัญกำลังใจให้แก่นักศึกษาไทยทั้งในประเทศอียิปต์และในประเทศไทย กองทุนนี้เป็นกองทุนจากความฝันของผมเอง และเคยหวังมาช้านานและในที่สุดก็สมหวัง โดยที่ทุนแรกที่ตัดสินใจให้คือ โรงเรียนดารุสสาลาม ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 7 ถนนเทศบาล 8 ซอย 2 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ    จ.นราธิวาส รหัสไปรษณีย์ 96130 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สอนศาสนาและสามัญ และยังคงไว้แบบปอเนาะ

                โรงเรียนนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือ บำบัด บำรุง และสร้างนักศึกษาให้มีมุมมองชัดเจนทั้งด้านศาสนา โดยมีศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร รวมตัวกันอยู่ที่นั่น กอปรกับนักศึกษาที่จบจากสถาบันดารุสสาลามที่ขึ้นมาศึกษายังประเทศอียิปต์ สร้างชื่อเสียงและเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคม รับผิดชอบสังคมนักศึกษาไทยในไคโร ด้วยการก้าวเข้ามาเป็นนายกสมาคม และมีความประพฤติที่ดีต่อสังคมตลอดมา จุดนี้คือสิ่งที่ทำให้ผมเห็นว่าสมควรที่จะได้รับทุนการศึกษาของ “นับหนึ่ง” การมอบมีขึ้นที่ต้นน้ำ นั่นคือโรงเรียนดารุสสาลาม ในประเทศไทย โดยมีผู้อำนวยการของโรงเรียน นางนูรีฮัน เร็งมา ต้อนรับและเป็นสักขีพยานในการมอบทุน ซึ่งครั้งนี้ได้มอบเป็นทุนการศึกษา 16 ทุน ทุนละ 1,000 บาท พร้อมไอแพดรุ่นจิ๋วหนึ่งเครื่องให้แก่นักศึกษาที่มีฐานะยากจน แต่กิจกรรมเด่น สร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียนมาโดยตลอด คือน้อง อาราฟัต สามะยะซา จากเด็กพูดภาษามลายู สู่ภาษาไทย และอังกฤษ เป็นตัวแทนแนะแนวการศึกษาของโรงเรียน นี่คือความภูมิใจที่ได้ทำให้แก่สังคมไทย โดยมีแนวร่วมจากผู้คิดดี ทำดี และแฟนคลับของ “หนุ่มช่างฝัน”

                ส่วนที่กรุงไคโร ก็ยังมีการสนับสนุนงบประมาณอีกส่วนหนึ่งจากน้ำใจคนไทยในประเทศอียิปต์และบางส่วนจากเยอรมนี ที่ให้ผมเป็นผู้จัดการให้แก่นักศึกษา และได้มีการมอบทุนไปแล้วบางส่วนแก่นักศึกษาที่ยากจนแต่เรียนดี มีกิจกรรม และที่อยากจะทำอีกตอนนี้คือ การตอบแทนน้ำใจหรือสินน้ำใจให้แก่คณะกรรมการบริหารสมาคมทั้ง 17 ชีวิตที่อาสาเข้ามาทำงานเพื่อสังคม ต้องสละทั้งเวลาส่วนตัวและสละทั้งเงิน โดยไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ แต่ทุกคนก็ยินดีเสียสละเพื่อช่วยเหลือสังคมพร้อมกับเรียนรู้หาประสบการณ์

                หลายปีที่ผมทำงานอยู่ในสมาคม ทำให้รู้ซึ้งว่าต้องเสียสละ ต้องใช้ความอดทน ความขยันและการวางตัวเป็นกลางกับสมาชิกทุกคน การจัดกิจกรรมในแต่ละครั้ง ไม่มีงบประมาณเหมือนในยุคปัจจุบัน ที่มีการนำเสนองานแล้วยื่นไปยังสถานเอกอัครราชทูตเพื่อของบประมาณ หากแต่สมัยก่อนได้เงินสนับสนุนกิจกรรมจากกระทรวงการต่างประเทศโดยผ่านสถานเอกอัครราชทูตฯ ซึ่งเป็นงบทุกปี ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ ต้องวางแผนกันอย่างดี เพราะถ้าเกิดพลาดหรือขาดทุนขึ้นมา วันแถลงผลการทำงานเมื่อสิ้นสุดวาระในหนึ่งปีจะกลายเป็นขี้ปากสมาชิกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกงานต้องใช้ความละเอียดอ่อน คิดแล้วคิดเล่าอยู่เสมอ นับตั้งแต่งานรับน้องใหม่ การจัดทัศนศึกษา งานสัมมนาวิชาการ การแข่งขันฟุตบอล การจัดงานหารายได้เข้าสมาคม การช่วยเหลือนักศึกษาเกี่ยวกับวีซ่าที่มีปัญหา การเป็นตัวแทนรับของบริจาคและเลี้ยงอาหารในเดือนรอมฎอน และการประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูต ในการเยี่ยมเยียนของผู้ใหญ่จากเมืองไทย ตลอดปีพวกคณะกรรมการบริหารสมาคมจะต้องสละเวลามากมาย เพื่อมวลสมาชิก

                ความหวังและความฝันที่เคยนึกถึงอยู่ตลอดเวลานั้น ขณะนี้กำลังจะเป็นจริง จากการช่วยเหลือสังคมของคนไทยในอียิปต์ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ ข้าราชการ แม่บ้าน คนทำงานทั่วไป ซึ่งได้รวมตัวกันบริจาคเงินและการซื้อหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก “นับหนึ่ง” ยิ่งทำให้เข้าใจเรื่องราวของนักศึกษามุสลิมไทยทั้งในประเทศไทยและในต่างแดน ทำให้คนไทยที่ไม่เคยเข้าใจเรื่องนี้มาก่อน เปิดใจกว้างและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เป็นเงินที่ได้จากน้ำพักน้ำแรงและน้ำใจจากคนไทยในต่างแดนที่คอยช่วยเหลือและเข้าใจสังคมนักศึกษามากขึ้น และเป็นการให้ด้วยความเต็มใจ นี่คืออีกหนึ่งความสำเร็จของสังคมไทยที่แตกต่าง แต่เราไม่เคยแตกแยกและมีการแบ่งปันให้กันตลอดเวลา

                ปัจจุบันนี้ ไม่ว่าสังคมอียิปต์จะวุ่นวายอย่างไร แต่คนไทยจะคิดถึงกันอยู่เสมอ เรารักกัน ดูแลกัน โดยมีหัวเรือใหญ่อย่างสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำไคโร ซึ่งผมมีโอกาสทำงานอยู่ด้วย โดยเฉพาะฝ่ายกงสุลและนิติกรณ์ เป็นการเปิดโลกให้รับรู้เรื่องราวปัญหาต่างๆ ของคนไทยที่เดินทางมาทำงานในอียิปต์ พร้อมกับการช่วยเหลือในการออกเอกสารให้แก่นักศึกษา คนไทย และอาหรับทั่วไป

                การทำงานด้านบริการนี้ นอกจากจะต้องใจเย็นและรับได้ทุกสภาพ ทั้งอารมณ์ของข้าราชการและคนทั่วไปแล้ว ยังต้องเข้าให้ถึงในเรื่องของปัญหา และการรับรู้ถึงความรู้สึกของทุกคนที่เดินเข้ามายังสถานเอกอัครราชทูต ทำให้เกิดความคิดที่จะแก้ปัญหาต่างๆ มากมาย เช่นคอยให้คำปรึกษา ตั้งแต่การจะรักจะชอบกับผู้ชายในอียิปต์ การเตรียมตัวก่อนการสมรส การเคลียร์ปัญหาหัวใจของชาวบ้าน การคอยเป็นกรรมการในการถกเถียงของสามีภรรยาที่มาขอหย่า รวมถึงการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยาก โดนหลอก โดนโกงและถูกลอยแพ การเดินทางไปกับกงสุลสัญจรเพื่อเยี่ยมเยียนคนไทยและนักศึกษาในเขตต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ

                ทั้งหมดนี้ คืองานที่รับผิดชอบมากว่า 7 ปีแล้ว และเป็นการเข้าถึงชีวิตจริงของสังคมไทยในไคโรทั้งคนทำงานและนักศึกษาได้เต็มรูปแบบ มือถือไม่เคยปิด เพราะกังวลกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับคนไทย ครั้งที่ร้ายที่สุดในชีวิตคือการด่าผู้ชายอาหรับที่ว่าผู้หญิงไทยนิสัยไม่ดี ในเรื่องที่มาขอหย่าแบบลืมตัวจนทำให้ผู้ชายคิดได้และนิ่งไป นี่คือการทำงานที่ไม่ยอมให้ใครมาดูถูกคนไทยและศักดิ์ศรีของคนไทย

                ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งมาในรูปของรายการ คลิปวิดีโอทางยูทูบ เป็นการรวมตัวของนักศึกษาที่ช่วยกันจัดทำรายการต่างๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของสมาคม ของสถานเอกอัครราชทูต หรือการท่องเที่ยว ซึ่งเคยทำมาแล้วหลายรายการ อาทิ การร่วมงานวันพ่อแห่งชาติ การร่วมงานกีฬาสีสมาคม การร่วมงานรับปริญญาบัตร การร่วมงานบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสถาบันศึกษาโดยการทำความสะอาดมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้สังคมในเมืองไทยได้รับรู้ภาพเคลื่อนไหวของกิจกรรมต่างๆ ทำให้พ่อแม่พี่น้องที่ส่งลูกมาเล่าเรียนรู้สึกผ่อนคลายกับบรรยากาศของงานที่ได้เห็น

                วันนี้ เราคนไทยในต่างประเทศโดยเฉพาะในอียิปต์ เรามีความเป็นพี่น้อง เชื่อมโยงกันตลอดเวลา เพราะเราทำตัวเป็นกลางอย่างมีค่า และอยู่ให้เป็นยาของสังคม ผลพลอยที่ได้รับนั่นคือ ความไว้ใจ เชื่อใจ และการให้ใจ ทุกอย่างจึงกลับมารวมกันทำให้ฝันของเด็กจากกองขยะคนหนึ่ง เป็นจริงขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่ ได้ทดแทนบุญคุณแผ่นดินบ้านเกิด ได้เปิดโอกาสให้น้องๆ ยากจนได้มีของใช้ และก้าวหน้าไปอีกหนึ่งก้าว และเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษาในรุ่นต่อไป... นี่คือความฝัน และความสมหวังของ “หนุ่ม ช่างฝัน” อยากรู้ความเคลื่อนไหวต่างๆ ในประเทศอียิปต์ หาได้ในที่อยู่นี่นะครับ <http://www.facebook.com/dolmancairo>

 

.............................................

(พลังเฟซบุ๊ก พลังใจคนไทยในอียิปต์ : 'ร่วมก่อชีวิต ชดใช้แผ่นดิน และทดแทนคุณ' : คอลัมน์เปิดโลกวันอาทิตย์ : โดย...ดลหมาน ณ ไคโร)

                

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ