บันเทิง

ศพไม่เงียบ Mindfulness and Murder

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หนังสืบสวนสอบสวนแบบไทยๆ (Suspense Thriller) เรียกว่า มีน้อยเต็มทีครับ และที่ถือเป็น ‘หนังดี’ ด้วยนั้น ยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ ล่าสุดเห็นจะเป็นเมื่อสองปีก่อนคือเรื่อง “เฉือน” จนมาถึงต้นปีนี้ หนังอย่าง “ศพไม่เงียบ” อยู่ในข่ายหนังสืบสวนสอบสวนที่ดีอีกเรื่องหนึ่ง

 ความน่าสนใจของ “ศพไม่เงียบ” ไม่เพียงแค่พล็อตหนังจะผูกปม และวางลำดับการคลี่คลายของเรื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้อย่างน่าติดตาม หนังยังทำหน้าที่เป็นเหมือนกระจกเงาที่สะท้อนความเป็นไปของสังคมไทยได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด หนำซ้ำยังให้ภาพบริบทรายล้อมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนัง อันสะท้อนได้ถึงความเป็นไทยร่วมสมัยได้อย่างสมจริงที่สุด แต่ที่น่าชื่นชมไปกว่านั้นคือสร้างภาพของตัวละครในแบบที่แทบไม่เคยมีหนังไทยเรื่องไหนกล้าทำมาก่อน คือการให้ ‘พระ’ มาเป็นตัวเอก ทำหน้าที่ ‘นักสืบ’ ออกไล่ล่าหาความจริงในคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในวัด หลังตำรวจไม่สนใจไยดีโดยบอกแค่ว่าไม่มีเวลาและเป็นเพียงแค่เด็กขี้ยาที่ถูกฆ่าตาย (หนังไม่ได้แค่นำเสนอภาพตำรวจสันหลังยาวนายนี้อย่างแกนๆ หากแต่ให้มิติที่น่าสนใจ ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องแล้ว)

  แต่เพราะไม่ใช่แค่ ‘เด็กขี้ยา’ คนหนึ่งเท่านั้น หากแต่เจ้า ‘น้อย’ เป็นเด็กในโครงการช่วยเหลือเด็กจรจัดไร้บ้านของวัด ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากนายตำรวจใหญ่ เมื่อเกิดเรื่องฆ่ากันตายในวัด เจ้าอาวาสก็เกรงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จึงไหว้วานให้ ‘พระอนันดา’ อดีตนายตำรวจผู้หันเหชีวิตเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ (ซึ่งหนังก็เฉลยในตอนท้ายว่า ทำไม จึงเปลี่ยนทางเดินชีวิตเช่นนี้)

 หนังทำได้ดีมากในการสร้างบรรยากาศอึมครึมขมุกขมัว ผนวกกับตัวละครที่คลุมเครือไม่น่าไว้วางใจ แต่น่าเสียดายที่บทหนังคมคายไม่พอ  

 หนังเปิดเรื่องมาค่อนข้างดีทีเดียว จากนั้นก็ไล่ปะติดปะต่อเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ ตามด้วยผูกปม สร้างเงื่อนไขต่างๆ นานาให้ตัวละครคอยไขปัญหาได้อย่างน่าติดตาม เรียกว่าหนังทำได้สนุกเกินมาตรฐานหนังไทยในแนวนี้ด้วยซ้ำ เสียดายเมื่อหนังเดินทางมาถึงฉากสุดท้าย ที่ต้องเฉลยว่าใครคือฆาตกร หนังกลับให้พระอนันดาคิดหาทางออก และได้คำตอบง่ายๆ ว่า ฆาตกรเป็นใคร เงื่อนปมมากมายก่อนหน้านี้ที่หนังขมวดเอาไว้ กลับถูกละเลย จนไม่สามารถโน้มน้าวให้น่าเชื่อถือได้พอ

 แต่นั่นเป็นเพียงข้อบกพร่องเล็กน้อยเท่านั้นครับ เพราะความโดดเด่นและยอดเยี่ยมในหนังมีให้เราเห็นและรู้สึกได้มากมาย ความเก่งและกล้าของผู้กำกับอีกประการก็คือ การสร้างและให้ภาพคาแรกเตอร์ตัวละครนำที่แตกต่าง บท ‘พระอนันดา’ หนังกล้าที่จะใช้นักแสดงโนเนมอย่าง วิทยา ปานศรีงาม แต่ทว่าบุคลิกภาพ ลักษณะรูปร่างหน้าตา ที่ดูเหมือนคนที่เต็มไปด้วยความสุขุม ลุ่มลึก อาการสำรวมของเพศบรรพชิตที่แสดงออกแต่น้อย แต่กลับสามารถถ่ายทอดให้เราได้เห็นถึงความช่างคิดช่างสังเกต ก็ทำได้เยี่ยมยอดไม่แพ้มืออาชีพ ไม่นับรวมความเก๋าของคุณลุงสีเทา กับบทเจ้าอาวาส ไม่น่าเชื่อว่าชายชราอายุกว่า 79 ปีท่านนี้ ยังฝากการแสดงชั้นเยี่ยมให้เราได้ชมเป็นบุญตา ไม่แปลกที่นักแสดงอาวุโสท่านนี้จะได้รับการยกย่องว่าเป็นนักแสดง ‘ชั้นครู’ ที่ดารารุ่นหลังควรศึกษาและเอาเยี่ยงอย่าง

 วิธีรักษาน้ำหนักการแสดงอย่างสมดุลจนทำให้เราไม่สามารถตัดสินได้ว่า พระรูปนี้ ‘ดี’ หรือ ‘เลว’ เป็นพระที่เห็นแก่พุทธพาณิชย์รับแต่กิจนิมนต์ ใช้ความศรัทธาของประชาชนสร้างผลประโยชน์ให้ตัวเอง หรือเป็นพระผู้ใหญ่ที่ออกทวงถามความเป็นธรรมให้คนตาย แม้ถูกมองว่านี่คือการ ‘รักษาหน้า’ ของวัดก็ตาม สองฉากที่ท่านฝากฝีมือไว้อย่างยอดเยี่ยมคือ ฉากรับปัจจัยของชาวบ้านที่นำมาถวายเพราะอยากรวย และฉากที่เรียกประชุมพระลูกวัดเพื่อให้หลวงพ่ออนันดาทำการสอบสวน เป็นการแสดงที่ให้มิติของความเป็นมนุษย์ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

 สีน้ำตาลแก่ ขมุกขมัว โทนสีที่ปรากฏอยู่ในหนังตลอดทั้งเรื่อง สื่อถึงความเก่าแก่ของพุทธศาสนาที่จรรโลงอยู่บนโลกใบนี้มานานกว่า 2,500 ปี ที่แนวคิดคำสอนไม่เคยผุกร่อนไปตามจิตใจผู้คนที่อาศัยร่มเงาใบบุญแอบหาผลประโยชน์ หนังถูกมองด้วยสายตาชาวตะวันตก โดยเฉพาะด้านมืดของความเป็นเมืองอันเต็มไปด้วยหญิง-ชายขายบริการและยาเสพติด โดยมีวัดเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาคู่บ้านคู่เมือง และพระภิกษุคือตัวแทนความเชื่อศรัทธาของคนไทย

 หนังนำเสนอภาพของพระและฆราวาส ในฐานะ ‘มนุษย์’ ที่ต่างมีดีชั่วคละเคล้าปะปน หากแต่บ่งบอกถึงแก่นแกนของเรื่องได้อย่างลงตัวเมื่อนำพุทธวจนะ มาใส่ในหนังในฉากเปิดและปิดเรื่อง อันว่าด้วยความมั่นคงของการทำกรรมดี ซึ่งเป็นหลักยึดสำคัญของทุกศาสนาบนโลกใบนี้

ชื่อเรื่อง : ศพไม่เงียบ Mindfulness and Murder
ผู้เขียนบท : นิค วิลกัส, วิทยา ปานศรีงาม
ผู้กำกับ : ทอม วอลเลอร์
นักแสดง : วิทยา ปานศรีงาม, สีเทา, อภิชาต ชูสกุล, ปริญญา อินทชัย, วรรณศักดิ์ ศิริหล้า, จีรนา สิริสิงห
เรตติ้ง : น.15+ ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ชมอายุ 15 ปีขึ้นไป
วันที่เข้าฉาย : 6 เมษายน 54
โรงภาพยนตร์ : เครือเมเจอร์ซิเนเพล็กซ์

"ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ