ข่าว

กษิตไม่ได้หนักใจถูกซักฟอกพร้อมชี้แจง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฝ่ายค้านยื่นหนังสือตีรวนประธานสภา เหน็บ"ชัย"หารือคนใกล้ชิดเลื่อนวันซักฟอกเข้ามา 19-20มี.ค.ถือเป็นการบรรจุญัตติซ้อนขัดรธน. โดยส.ส.ไม่ได้รับรู้มาก่อน "อภิสิทธิ์”เผย“กษิต” ไม่หนักใจพร้อมแจงข้อกล่าวหา

(17มี.ค.) เวลา 13.30 น. นายวิทยา บูรณะศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน พร้อมนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือต่อนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเรียกร้องให้นายกฯ หารือกับนายชัย ชิดชอบ ประธานสภา ให้กำหนดวันอภิปรายไม่ไว้งางใจ ตามกำหนดเดิมที่เคยแจ้งคือวันที่ 26-27 มี.ค.

 หนังสือดังกล่าวให้เหตุผลด้วยว่า การบรรจุญัตติ ในวันที่ 19 -20 มี.ค. ถือว่าขัดข้อบังคับการประชุมสภา เพราะมีการบรรจุญัตติซ้อน รวมทั้งการกำหนดวันใหม่นั้น ไม่ได้เป็นที่รับรู้ของวิปฝ่ายค้าน ถือว่าขัดหลักประเพณี

 ในตอนท้ายของหนังสือระบุอีกว่า ยังมีข่าวปรากฎต่อสาธารณะว่านายกรัฐมนตรี  นายชัย ได้หารือกันอย่างลับ ๆ กับบุคคลใกล้ชิดของนายชัย เพื่อให้ร้นเวลาอภิปรายฯ โดยหวังว่าจะเอาเปรียบทางการเมือง

"อภิสิทธิ์”เผย“กษิต” ไม่หนักใจพร้อมแจงข้อกล่าวหา

เมื่อเวลา 12.50 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่ฝ่ายค้านระบุว่าเป็นเกมของรัฐบาลที่เลื่อนเวลาการอภิปรายไม่ไว้วางใจเข้ามาเป็นวันที่ 19-20 มีนาคม เพื่อทำให้ฝ่ายค้านตั้งตัวไม่ทัน ว่า ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องของนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาที่พิจารณา ซึ่งการเลื่อนวันอภิปรายให้เร็วขึ้นตนก็ไม่ค่อยสะดวกเหมือนกัน เพราะต้องยกเลิกและเลื่อนงานต่างๆออกไป

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาประธานรัฐสภาจะกำหนดระยะเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาอภิปราย 2 วัน แต่ถ้าอภิปรายไม่เสร็จเขาก็จะมาตกลงกันเองว่าจะขยายเวลาออกไปหรือไม่ เมื่อถามว่าแสดงว่าหากเวลาในการอภิปรายไม่พอรัฐบาลพร้อมที่จะขยายเวลาออกไปใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีปัญหา ทุกอย่างก็แล้วแต่สภา

 ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายเกียรติกร พากเพียรศิลป์ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่าส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลอาจงดออกเสียงให้นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพราะมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชัดเจน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้เริ่มต้นอภิปรายกันเลย ต้องรอฟังข้อมูลและฟังการชี้แจงของรัฐมนตรีก่อน เมื่อถามว่าวิปรัฐบาลมีความกังวลกรณีของนายกษิตเช่นกันจะมีการทำความเข้าใจกันหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การประชุมพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงบ่ายวันนี้(17 มี.ค.)ใครมีอะไรสงสัยก็สามารถสอบถามได้ นายกษิตเองก็คงไปชี้แจงเบื้องต้นในที่ประชุมพรรคก่อน หลังจากนั้นค่อยไปชี้แจงในการประชุมสภาอีกครั้งหนึ่ง

 ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีแนวทางเดียวกันในการยกมือสนับสนุนรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคไม่มีมติเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่าการยกมือสนับสนุนให้เป็นเอกสิทธิ์ ส.ส.หรือเป็นมติพรรค นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญคือเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส. ซึ่งพรรคไม่มีมติเรื่องนี้

 ผู้สื่อข่าวถามว่าหนักใจแทนนายกษิตหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่หนักใจ และวันนี้ตนก็ได้สอบถามนายกษิต ท่านก็บอกว่าไม่หนักใจ พร้อมชี้แจงทุกอย่าง ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการเขียนบทให้รัฐมนตรีตอบชี้แจงฝ่ายค้านหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “เขาห้ามอ่าน”

 ผู้สื่อข่าวถามว่าฝ่ายค้านระบุว่าจะมีการใช้เงินถึง 7 หลักเพื่อให้ส.ส.ยกมือให้รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่คิดว่าจะมีอะไรอย่างนั้น ตนคิดว่าแต่ละพรรคคงไปประชุมพรรคกันและถ้ามีใครติดใจอะไรก็สอบถามและชี้แจงกันก่อน จากนั้นต้องไปฟังการอภิปรายในสภาอีกครั้ง ส่วนใหญ่เวลามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะมีข่าวลือเยอะ เมื่อถามว่าในวันที่ 21 มี.ค.จะยังลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการอภิปรายว่าจะเสร็จทันหรือไม่

บัวแก้วเผยสิงคโปร์เข้าใจเหตุผล"กษิต"เลื่อนเยือนสิงคโปร์

นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการเลื่อนกำหนดการเยือนประเทศสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 17-18 มี.ค. ของนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ภายหลังประธานสภาผู้แทนราษฎร สั่งเลื่อนวันอภิปรายไม่ไว้วางใจขึ้นมา เป็นวันที่ 19-20 มี.ค.และลงมติวันที่ 21 มี.ค.ว่า จากที่ได้มีการเลื่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจขึ้นมาเร็วกว่าเดิม ส่งผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเลื่อนการเยือนสิงคโปร์ออกไป เพื่ออยู่เตรียมข้อมูล และซักซ้อมความเข้าใจในการประชุมอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน  

ทั้งนี้ นายกษิต ไม่ได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ เตรียมการชี้แจงเรื่องใดเป็นพิเศษ โดยในส่วนของทางการสิงคโปร์ ก็ไม่ได้ติดใจ และเข้าใจถึงความจำเป็น ในการเลื่อนการเยือนออกไปในเวลาที่เหมาะสม ส่วนการเยือนสหภาพพม่า ระหว่างวันที่ 22-23 มี.ค.นั้น ยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม

เสื้อแดงเลื่อนชุมนุมใหญ่เร็วขึ้น

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า สาเหตุที่รัฐบาลเลื่อนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะต้องการหนีการชุมนุมของคนเสื้อแดงว่า กลุ่มเสื้อแดงอาจจะเลื่อนการชุมนุมขึ้นมาอีก แต่ยืนยันว่า จะไม่ไปชุมนุมตรงกับวันที่อภิปรายอย่างแน่นอน อีกทั้งในวันที่ 21 และ 22 มีนาคมนี้ จะมีการชุมนุมที่จ.เชียงราย และจ.เชียงใหม่ ดังนั้น การชุมนุมของเสื้อแดง ที่จะขยับเลื่อนขึ้นมาหลังวันที่ 22 มีนาคม แต่ก่อนกำหนดการเดิมคือวันที่ 29 มีนาคมอย่างแน่นอน ซึ่งแม้จะเลื่อนวันชุมนุมเร็วขึ้น แต่คนเสื้อแดงก็มีความพร้อมแน่นอน

“เฉลิม”เชื่อวิปฯค้านยื่นต่อรองวันซักฟอกไม่เป็นผล

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน และประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนไม่ขัดที่พรรคเพื่อไทย โดยวิปฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ทบทวนการกำหนดวันอภิปรายที่จะให้ยืดออกไปอีก แต่เชื่อว่าประธานสภาคงไม่เลื่อนตามที่ฝ่ายค้านร้องขอ ซึ่งอย่างนี้ก็แสดงว่ารัฐบาลมีความพร้อม ถึงได้กำหนดวันออกมา เขาคงไม่ฟัง เพราะผมรู้นิสัยนายชัยดี เหมือนเอาลาขึ้นรถ คือ ถ้าเราเดินหน้ามันจะถอยหลัง แต่ถ้าเราถอยหลังมันจะเดินหน้า อีกทั้งเขาบรรจุระเบียบวาระการประชุมไปแล้ว ซึ่งที่ประธานชัยทำนั้นไม่ผิด ไม่มีเขียนกำหนดไว้ ถ้าประธานถามรัฐบาลแล้วรัฐบาลบอกว่าพร้อมก็บรรจุได้ บังเอิญสิ่งที่ท่านประธานชัยทำนั้น ไม่มีใครเคยทำมาก่อน สำหรับเวลาการอภิปรายที่รัฐบาลกำหนดไว้ 2 วันนั้น ตนคิดว่าเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ที่จะอภิปรายข้อมูลต่างๆได้ครอบคลุม

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ขอความกรุณารัฐบาลอย่าใช้อำนาจไปบีบคั้นข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่ฝ่ายค้านจะอภิปราย พฤติกรรมที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในวันนี้และเมื่อวาน ขอให้หยุดเสีย อย่าใช้อิทธิพลทางการเมืองเข้ามาคุกคาม เพราะไม่แน่ใจว่ามีการโทรศัพท์จริงหรือไม่ แต่โทรศัพท์ของตนนั้นโดนดักฟังแน่นอน อย่างไรก็ตามแม้จะมีการข่มขู่คุกคามตัดตอนข้อมูลแต่เชื่อว่าข้าราชการจะไม่ยอม สำหรับญัตติของพรรคเพื่อไทยที่ได้ยื่นไปก่อนหน้านี้แล้วบรรดาคอร์ลัมนิส นักวิเคราะห์ข่าวออกมาโจมตีว่าไม่มีน้ำหนักไม่ชัดเจนนั้น อยากย้อนถามว่าไม่เข้าใจหรือว่าการเขียนญัตติเขาเขียนกันกว้างๆไม่ลงรายละเอียด ส่วนตัวจะพยายามพูดพาดพิงถึงคนนอกให้น้อยที่สุด คาดว่าตนจะใช้เวลาอภิปรายประมาณ 2 ชั่วโมง โดยคิดว่าหลังการอภิปรายเสร็จสิ้นตนจะถูกฟ้อง 5 คดี ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และหลังการอภิปรายตนจะเอาเอกสารมาขึ้นบอร์ดชี้เอกสารต่อสื่อมวลชนและตอบคำถามผู้สื่อข่าวอีกครั้ง และหลังจากนั้นก็จะหาสถานที่จัดนิทรรศการขึ้นมา

“บอกอย่างหนึ่งว่าที่สื่อพยายามตีข่าวว่าจะอภิปรายเรื่องเงินบริจาคเข้าพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งส.ส.ประชาธิปัตย์ออกมาท้าต่างๆนานา รู้หรือว่าตนจะพูดเรื่องอะไร มันไม่ใช่เงินบริจาค แต่เป็นเงินที่ปล้นออกมาจากตลาดหลักทรัพย์ คดโกงประชาชนเอาเงินมาผลาญ ย้ำอีกครั้งว่าถ้าตนอภิปรายไปแล้วไม่เข้าท่าก็ขอลาออกจากประธานส.ส. แต่ที่ข้องใจก็คือข่าวที่ว่าจะให้ตนเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยนั้น ผมพูดไปแล้วว่าไม่เอา ถ้าใครเสนอมาก็จะถอนตัว ขอเป็นส.ส.ธรรมดาพอแล้ว วันนี้อายุ 62 ปีแล้ว 65 ปี อาจจะเลิกเล่นการเมือง คงไม่คิดเล่นการเมืองไปจนตาย” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

 “วอร์รูมปชป.”ตื่น เร่งวิเคราะห์การเมือง

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะทำงานปฏิบัติการทางการเมือง (วอร์รูม) พรรคประชาธิปัตย์ ได้ประเมินสถานการณ์ของประเทศ เพื่อเสนอผลการประชุมต่อที่ประชุมพรรคในบ่ายวันเดียวกันนี้ โดยวิเคราะห์สถานการณ์ว่าไม่น่าไว้วางใจ เพราะการเคลื่อนไหวไม่เป็นไปตามปกติตามระบอบประชาธิปไตย แต่สร้างเงื่อนไขเพื่อบรรลุ 2 อย่างคือ 1. สร้างอำนาจต่อรองเพื่อนำสู่การให้พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นจากความผิดในอดีต เช่นการแก้กฎหมารยนิรโทษกรรม หรืออภัยโทษ 2. เพื่อล้มรัฐบาล โดยดำเนินการเปลี่ยนแนวรุกจากเดิม ใน 4 ด้าน 1. แนวรุกด้านมวลชน ของนปช. ซึ่งเปลี่ยนการชุมนุมใหญ่ไปเป็นการเพิ่มความรุนแรงในการก่อการต่อต้านโดยคนไม่กี่คน โดยสิ่งทีน่าเป็นห่วงคือการเริ่มพูดถึงระดับความขัดแย้ง พูดถึงสงครามประชาชน

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า 2.แนวร่วมผ่านพรรคเพื่อไทย ที่ใช้กลไกของแกนนำที่ใกล้ชิดหรือญาติกับพ.ต.ท.ทักษิณ และแรงผลักดันจากการถอนถอนและอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อนำสู่การแทรกแซงการเริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปการเมือง ซึ่งแกนนำได้พูดชัดว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อนำระบอบทักษิณ กลับคืนมา 3. แนวร่วมนอกประเทศ แม้พื้นที่การเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะน้อยลง แต่มีการเปลี่ยนเป็นการสร้างพันธมิตรกับประเทศ องค์กรและบุคคล ที่ไม่มีจุดยืนที่ให้ความสำคัญกับระบบยุติธรรมหรือประชาธิปไตย 4.สงครามสื่อสารมวลชนที่มีการปลุกระดมโดยใช้สื่อบนดินและใต้ดินเป็นหลักไปสู่การเพิ่มการบิดเบือนประเด็นด้านเศรษฐกิจเพื่อลดความน่าเชื่อถือและซ้ำเติมประเทศ

“ที่ประชุมเป็นห่วงกันมาก คือการใช้เครือข่ายสื่อต่างประเทศ กดดันสถาบันนอกการเมืองในลักษณะการตั้งคำถามในกระบวนการประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรมและศาล ก้าวล่วงถึงพระราชอำนาจด้วย โดยวิเคราะห์ว่าเงื่อนไขของ 4 แนวร่วมนี้จะไม่บรรลุความสำเร็จถ้ารัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศและประชาชนใน 5 ด้านหลัก คือ 1. แสดงให้เห็นถึงกการแก้วิกฤติเศรษบกิจ 2. ให้การเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งเกษตรกร ผู้ว่างงาน เป็นต้น 3. การเริ่มต้นปฏิรูปการเมือง เพื่อสร้างความปรองดองเอาวิกฤตออกจากการเมืองไทย 4.แก้ไขความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 5. การแก้ไขปัญหายาเสพติด และอาชญากรรม

“ในวันพุธที่ 18 มี.ค. นี้ทีมวอร์รูมจะร่วมประชุมกับคณะทำงานวิปรัฐบาล เพื่อให้พรรคร่วมรัฐบาลรับรู้ถึงการประเมินสถานการณ์ดังกล่าว และเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจเนื่องจากเห็นห่วงว่า การอภิปรายจะเป็นแบบเก่า บิดเบือนข้อเท็จจริงทำให้คนไม่เชื่อมั่นว่าเวทีสภาจะเป็นทางออกของประเทศได้” นพ.บุรณัชย์ กล่าว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ