บันเทิง

ตำนานเทพบุตรสุดยอดนักธุรกิจบันเทิงยุคบุกเบิกถนนลูกทุ่งอีสาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  คมเคียวคมปากกา   โดย...  บรรณวัชร 

 

 

          วงการลูกทุ่งหมอลำ สูญเสียนักปั้นดาวในอดีตไปอีกคนคือ “เทพบุตร สติรอดชมภู” ด้วยโรคมะเร็งที่ท่อน้ำดี จึงขอแสดงความเสียใจมายังครอบครัวของบานเย็น รากแก่น มาในโอกาสนี้ด้วย

 

 

          จำได้ว่าเคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้แหละ “วงดนตรีลูกทุ่ง” คือธุรกิจบันเทิงดั้งเดิม ที่ไม่มีใครพูดถึง เพราะจะไปมองไปที่ตัว “นักร้อง” เสียมากกว่า


          40-50 ปีที่แล้ว วงดนตรีลูกทุ่งกว่าร้อยละ 80 มีนายทุนเป็นผู้บริหาร ส่วนนักร้องที่เป็นหัวหน้าวงดนตรีนั้น ก็มีสถานะแค่ “ลูกจ้าง” ที่ได้ค่าตัวแพงกว่าทุกคนในวงดนตรี


          “เทพบุตร สติรอดชมภู” เป็นนักธุรกิจบันเทิงคนหนึ่งที่มีความเก่งกาจ ในการบริหารจัดการวงดนตรีหรือคณะหมอลำเรื่อง


          กว่าจะประสบความสำเร็จบนถนนสายลูกทุ่งอีสาน เทพบุตรต้องสู้ชีวิตมาแต่วัยเยาว์ เมื่อเป็นวัยรุ่น พ่อแม่ส่งให้ไปเรียนวิชาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าที่ จ.มหาสารคาม หลังจากเลิกเรียนในเวลากลางคืน ก็ไปทำงานพิเศษเพื่อหารายได้ให้แก่ตัวเอง 


          ปี 2507 เทพบุตรเก็บหอมรอมริบมาร่วม 3-4 ปี จนสามารถเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง จนเปิดร้านเป็นของตัวเอง ชื่อ “ร้านตัดเย็บเสื้อผ้าเทพบุตร” สร้างฐานะให้มั่งคั่ง จากนั้น เทพบุตรไปเช่าเวลาที่สถานีวิทยุทหารอากาศ มหาสารคาม เพื่อจัดรายการเพลงลูกทุ่ง และหมอลำ

 

 

ตำนานเทพบุตรสุดยอดนักธุรกิจบันเทิงยุคบุกเบิกถนนลูกทุ่งอีสาน

 


          ปี 2508 เทพบุตรกับน้องชาย และผองเพื่อน ตั้งวงดนตรีสตริงขึ้นชื่อวง “เทพบุตรชาโดว์” รับงานเดินสายแสดงทั่วภาคอีสาน เป็นที่นิยมของบรรดาแฟนเพลงวัยรุ่นในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก


          ปี 2510 เทพบุตรเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนอยู่กับหมอลำคณะรังสิมันต์ ของแม่ฉวีวรรณ ดำเนิน เนื่องจากเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องตัดเย็บเสื้อผ้า ทำให้ชุดหมอลำในยุคนั้นจึงออกมาสวยงามมาก

 



          แม้จะไม่ใช่ศิลปินหมอลำ แต่เทพบุตรได้เรียนรู้เรื่องการแสดงหมอลำทะลุปรุโปร่ง หมอลำไม่ใช่ความบันเทิงแบบบ้านบ้าน หากแต่สามารถสร้างงานและสร้างธุรกิจด้านการเงินได้เป็นอย่างดี และมีความยั่งยืน


          เทพบุตรจึงได้นำหมอลำคณะรังสิมันต์ แยกตัวจากแม่ฉวีวรรณ ดำเนิน ออกมาดูแลเอง โดยมาตั้งสำนักงานอยู่ที่ซอยบุปผาสวรรค์ ถนนจรัลสนิทวงศ์ กรุงเทพฯ

 

 

 

ตำนานเทพบุตรสุดยอดนักธุรกิจบันเทิงยุคบุกเบิกถนนลูกทุ่งอีสาน

 


          เดิมทีสำนักงานหมอลำส่วนใหญ่จะอยู่ที่ขอนแก่น และมหาสารคาม แต่เทพบุตรนำหมอลำมาอยู่ในซอยบุปผาสวรรค์ อาณาจักรวงดนตรีลูกทุ่ง เขาได้ปั้นนางเอกหมอลำคนใหม่คือ “บานเย็น รากแก่น” คู่กับพระเอกคนเดิม ทองคำ เพ็งดี


          ด้วยคอนเนกชั่นอันกว้างขวางของเทพบุตร ทำให้บานเย็นได้แสดงหนังเรื่อง “แผ่นดินแม่” ของชรินทร์ นันทนาคร และได้ขับร้องเพลง “คืนเพ็ญเข็นฝ้าย” เมื่อเพลงดัง เทพบุตรตั้งวงดนตรีบานเย็น รากแก่น ทันที เขาทุ่มเทปั้นสาวหมอลำเมืองอุบลฯ เต็มที่ จนเป็นราชินีหมอลำคนที่ 2 ของเมืองไทย ต่อจากแม่ฉวีวรรณ ดำเนิน


          ขณะเดียวกัน เทพบุตรได้สร้างนักร้องลูกทุ่งอีสาน คือ “จีระ จีระพรรณ” เจ้าของเพลงเศรษฐีขายขี้กระบอง และตั้งวงดนตรีจีระ จีระพรรณ รับงานแสดงเดินสายทั่วประเทศ


          เมื่อเทพบุตรขัดแย้งแตกหักกับจีระ จีระพรรณ ก็หันมาปั้น “ศักดิ์สยาม เพชรชมภู” จนโด่งดัง และตั้งวงดนตรีศักดิ์สยาม เพชรชมภู เป็นวงดนตรีลูกทุ่งอีสานวงแรก โดยไม่ต้องพึ่งการแสดงหมอลำ


          ช่วงที่เพลงของศักดิ์สยามดังระเบิด เทพบุตรจ่ายค่าตัวให้ศักดิ์สยามแบบเหมาจ่าย วันละ 400 บาท และขยับเป็นวันละ 500 บาท ช่วงปี 2518 


          กลยุทธ์ในการบริหารวงดนตรี และสร้างนักร้องให้โด่งดัง เทพบุตรจะสร้างสัมพันธ์อันดีกับ “นักจัดรายการวิทยุ” ทั่วภาคอีสาน ในลักษณะต่างตอบแทน เมื่อมัดใจนักจัดรายการวิทยุได้ เพลงของนักร้องในสังกัดเทพบุตรก็จะถูกเชียร์ออกอากาศทางวิทยุมากเป็นพิเศษ


          นอกจากนั้น ยังมีนักร้องที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นอีกหลายคน ที่เทพบุตรมีส่วนในการสนับสนุน เช่น เทพพร เพชรอุบล, ดาว บ้านดอน, เทพรังสรรค์ ขวัญดารา, สุภาพ ดาวดวงเด่น, อรอุมา สิงห์ศิริ, ร้อยเอ็ด เพชรสยาม, พิมพ์ใจ เพชรพลาญชัย ฯลฯ


          บนเส้นทางธุรกิจเพลงลูกทุ่งอีสานวันนี้ ได้เปลี่ยนจากการรวมศูนย์โดยค่ายใหญ่มาสู่สตาร์ทอัพ “อายุน้อยร้อยล้าน” อันไม่ต่างจากยุคเฟื่องฟูของเทพบุตร นักธุรกิจลูกทุ่งหมอลำเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ