บันเทิง

"หมอลำมาเนีย" จากวิจัยสู่ภาพยนตร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  มายาประเทศ   โดย...  นิตี้ fb/nitylive

 

 

          เปิดตัวเป็นทางการแล้ว “หมอลำมาเนีย” ในงานนักวิจัย มข. พบสื่อมวลชน การต่อยอดจากงานวิจัย จากรากเหง้าทางวัฒนธรรม สู่ภาพยนตร์แห่งจิตวิญญาณ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา

 


          ภาพยนตร์ดังกล่าวถือเป็นการรวมตัวของ “นักศึกษาศิลปะ” ที่ราบสูง มีฐานจาก คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ภายใต้การนำของ "อาจารย์นิยม" รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ และ “พี่ปรัช” ปรัชญา ปิ่นแก้ว โปรดิวเซอร์แห่งค่ายสหมงคลฟิล์ม ที่ผลักดันงานวิจัยของ “หิน" นันทวุธ ภูผาสุก นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิจัยศิลปะและวัฒนธรรม สู่ภาพยนตร์ ดำเนินการสร้างใช้เวลาแรมปีจนสำเร็จพร้อมเข้าฉายแล้ว


          ในงานเปิดตัววันนั้น ผู้กำกับภาพยนตร์ “นันทวุธ ภูผาสุก” เผยกับสื่อว่า ไม่ได้มีความอินกับหมอลำเท่าไรนัก แต่เมื่อได้ศึกษาลงรายละเอียดแล้วอยากทำหนังสักเรื่อง อ่านพวกประวัติหมอลำดูน่าสนใจ ไม่เคยรู้มาก่อนว่าหมอลำมีหลายทำนองมีหลายแบบ จนเลือกหัวข้อทำ Thesis เป็นเรื่องหมอลำ เป็นศิลปนิพนธ์ ก็มีตัวเล่มวิจัยและพัฒนามาเป็นภาพยนตร์สั้น จนเป็น Thesis จบก็เป็นเรื่องหมอลำมาเนีย


          “มามีโอกาสคือ พี่ปรัช ปรัชญา ปิ่นแก้ว ได้เห็นตัวอย่างภาพยนตร์สั้นเรื่องหมอลำมาเนียของเรา เขาเห็นแล้วเขาก็เลยชวนมาทำโปรเจกต์นี้ เรื่องนี้เป็นคอมเมดี้อีสาน พี่ปรัชสนใจในเรื่องหมอลำและให้พัฒนาต่อกลายเป็นหนังใหญ่ แล้วก็ได้รับความช่วยเหลือจาก อาจารย์นิยม พยายามผลักดันเราตลอด สุดท้ายภาพยนตร์เรื่องหมอลำมาเนีย จึงเกิดขึ้นโดยมีพี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว เป็นโปรดิวเซอร์ และอาจารย์นิยมควบคุมดูแลเรื่องการผลิต ใช้เวลานานปีกว่า โดยนักแสดงก็เป็นนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. เป็นส่วนใหญ่”


          คณบดีคณะศิลปกรรม มข. เล่าถึงที่มาของผลงานของนันทวุธ ว่าเป็นคนคิดอะไรที่แตกต่าง ได้องค์ความรู้ที่ไม่เหมือนใคร เลยแนะให้เรียนปริญญาโท แม้จะนอกกรอบแต่ปรากฏว่าการทำ Thesis การสร้างสรรค์หลักสูตรวิจัย ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมและการออกแบบไม่ใช่ว่าจะสร้างสรรค์อะไรก็ได้ แต่เมื่อเพื่อเป็นนักวิจัยจะต้องมีการรีเสิร์ชข้อมูล การทำเรื่องหมอลำต้องรู้ทุกอย่างของหมอลำ แต่การนำเสนอภาพชัด โดยการทำหนังหมอลำ ปรากฏว่าพรีเซนต์และเขียนเปเปอร์ดี สมบูรณ์หมดเลย ผลงานออกมาแบบนี้เห็นแล้วว่าเป็นคนรักอะไรก็ทำจริงจัง


          ส่วนโปรดิวเซอร์ของหนังหมอลำมาเนีย บอกว่า เห็นผลงานของนันทวุธมาหลายงาน ตั้งแต่เทศกาลหนังเมืองแคน โดดเด่นมากได้ดูมาเรื่อยๆ เป็นที่จับตาน่าจะเป็นอนาคตคนหนึ่งของหนังไทย เมื่อมาเรียนปริญญาโท และทำหนังเพื่องานวิจัย วิธีคิดของเชิงธุรกิจกับการศึกษาไม่เกี่ยวกัน วงการศิลปะไปกันไม่ได้กับการธุรกิจ เป็นของแสลงกัน ศิลปินที่จะทำธุรกิจไม่เข้าใจ ค่อนข้างอยู่ห่างๆ เห็นผลงานหนังสั้นหมอลำมาเนีย จึงได้เข้ามาและเปิดโอกาสให้ทำเป็นหนังใหญ่ โดยปล่อยอิสระ


          “จริงๆ แล้ว ตัวหินเองเป็นไปได้อยู่แล้ว ดูตัวงาน ปล่อยอิสระ คาแรกเตอร์โดนมากและยินดีที่จะถ่ายทำใหม่ทั้งหมด ถือว่าภาพยนตร์เรื่องนี้กึ่งหนึ่งเป็นส่วนของการศึกษา กึ่งหนึ่งคุณค่าของธุรกิจ เรียกได้ว่าอยู่ตรงกลางการศึกษาสู่โลกธุรกิจอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ถ้าคนมาดูจะเห็นว่ามีเรื่องสาระความรู้ที่นักศึกษาป.โทคนนี้นำเสนอให้สังคม กล้ายืนยันได้ว่าหนังเรื่องนี้ในบรรดาหนังอีสานทั้งหมด เป็นโมเดลเป็นตัวอย่างนี้ที่นำเอาสาระเชิงวิจัยใส่เข้าไปในภาพยนตร์เน้นรูปแบบความบันเทิง และเมื่อสัมผัสเนื้อในของงานจริงๆ ผลงานของผู้ชายคนนี้ไม่ธรรมดา” ปรัชญา เผย


          ส่วนตัว “นิตี้” เอง ไม่รู้จัก “หิน นันทวุธ” คงรอชมผลงานในโรงภาพยนตร์ แต่สำหรับ “ท่านอาจารย์นิยม” ก็เคยได้ฟังความมุ่งมั่นตั้งใจในการ “ถางทาง” การสร้างภาพยนตร์ของชาวที่ราบสูง (ยุคใหม่) การขับเคลื่อนตั้งแต่หอภาพยนตร์อีสาน เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ และสร้างเทศกาลหนังเมืองแคน เปิดพื้นที่ให้ผู้กำกับภาพยนตร์มีชื่อได้เข้ามาถิ่นอีสาน ชมผลงานเด็กอีสานและพัฒนาการศึกษาศิลปะภาพยนตร์ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งใช้เวลานานหลายปีแล้ว


          ผลผลิตเหล่านั้น กำลังงอกเงยเป็น “ผกก.หนังรุ่นใหม่” ที่มาจากอีสาน ในขณะที่ “พี่ปรัช” พี่ใหญ่ใจดีของนักทำหนังอีสานได้เข้าเสริมสนับสนุน ชนิดที่ว่าขึ้นลงกรุง-อีสานเป็นว่าเล่น เพื่อดูงานคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวสู่เส้นทางนี้


          ถามว่า “หมอลำมาเนีย” จะประสบความสำเร็จไหม ตอบได้ว่าสำเร็จตั้งแต่คนทำอยากทำแล้ว ว่ากันว่าเป็นภาพยนตร์ที่ทุนสร้างไม่สูง แต่ “ต้นทุนใจ” ลงแรงเต็มที่ งานนี้ไม่ขาดทุน สนุกคุ้มค่าได้กำไรชีวิตแน่นอน


          ขณะเดียวกัน “นิตี้” เชื่อว่าแนวทางนี้ เป็นแนวทาง “ภาพยนตร์อีสานคุณภาพ” โดยเริ่มคิดจากกระบวนการคิดและศึกษาเป็นระบบ และถ่ายทอดองค์ความรู้ได้ เรียกได้มีคุณค่า ควรทำออกมาในตลาดหนังอีสานอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบันมีหนังหยาบโลนตีกินอยู่ นี่เป็นการสร้างความบาลานซ์และเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับคนอีสาน ขอสนับสนุนครับ !!

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ