
ธปท.ชี้ไตรมาสสุดท้ายเศรษฐกิจเหนือปรับตัวดีขึ้น
แบงก์ชาติเหนือ สรุปภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 52 เริ่มปรับตัวดีขึ้น คาดแนวโน้มดีถึงไตรมาส 4 เชื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจภาคเหนือปรับตัวเป็นบวก ระบุเครื่องชี้วัดภาคบริการ - ท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ส่วนการลงทุนปรับตัวดีขึ้น ตัวเลขการขออนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลประ
(4พ.ย.)นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ แถลงผลสรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลจากมาตรการของภาครัฐและการใช้จ่ายที่เร่งตัวขึ้น ชี้ให้เห็นแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากเดินก่อนและไตรมาสก่อน ทั้งภาคการผลิตเพื่อการส่งออกที่ขยายตัว ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนเทโนโลยี สินค้าแปรรูปเกษตร รายได้เกษตรกรที่อยู่ในเกณฑ์ดีแม้จะหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน จึงช่วยประคับประคองอำนาจการซื้อของภาคเหนือ
ส่วนภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากการจัดกิจกรรมกระตุ้นและส่งเสริมการขาย สำหรับการลงทุนก็มีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาคเศรษฐกิจอื่นๆและภาวะแรงงานที่เริ่มมีสัญญาณการเรียกแรงงานกลับเข้าทำงานโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม คาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะดีต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และจากดัชนีชี้วัดหลายด้านที่ปรับตัวดีขึ้น จากประมาณการตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศปี 2552 ที่คาดว่าจะติดลบ 2 - 3 % น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงหรืออาจปรับตัวเป็นบวก
นางจันทวรรณ กล่าวอีกว่า ในไตรมาสที่ 3 เกษตรกรมีรายได้ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน 20.4% จากดัชนีราคาพืชผลหลักที่ลดลง 24.9% ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวเปลือกเข้านาปีและนาปรัง ถั่วเหลือง เป็นผลจากฐานราคาปีก่อนและในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ส่วนราคาลำไยลดลง 46.0% จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมดัชนีผลผลิตพืชสำคัญปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.6% ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบกับที่หดตัวไตรมาสก่อน 30.4% ตามการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารที่ขยายตัว 68.6% การผลิตวัสดุก่อสร้างขยายตัว 55.4% เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนตามการสะสมสต๊อกของผู้ประกอบการที่คาดว่าราคาจะสูงขึ้น ด้านการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หดตัวลง 22.1% แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่ลดลงในไตรมาสก่อน 44.6%
ภาคบริการเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน จากการที่นักท่องเที่ยวยังกังวลกับการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์การเมืองในประเทศ แต่ความพยายามของภาครัฐและเอกชนในการจัดกิจกรรมกระตุ้นตลาดและส่งเสริมการขาย การจัดประชุมสัมมนาเป้นปัจจัยบวกให้ภาคบริการปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้วัดสำคัญ คือ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่เพิ่มขึ้น 11.6% การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาคารเพิ่มขึ้น 11.6% ส่วนอัตราเข้าพักเพิ่มขึ้น 41.1% แต่ราคาห้องพักเฉลี่ยลดลง 2.2%
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น เครื่องชี้วัดสำคัญ คือปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น จากปีก่อน 62.5% พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลที่เพิ่มขึ้น 38.4% โดยประเภทเพื่อการพาณิชย์ขยายตัวกว่า 189.3% เนื่องจากการอนุญาตให้ก่อสร้างห้างสรรพสินค้าในภาคเหนือตอนบน ส่วนรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่ดินลดลง 3.2% แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 41.8% นอกจากนี้มีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมในภาคเหนือ 11 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 1,223.3 ล้านบาท ขยายตัว 301.1% จากการลงทุนในหมวดเกษตร อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเบา
นางจันทวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในภาคการค้าต่างประเทศผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือไตรมาสที่ 3 ปรับตัวดีขึ้น การส่งออกมีมูลค่า 627.3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ จาการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงเหลือ 21.5% ส่วนการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น 14.9% เป็น 263.7 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ตามการส่งออกไปพม่าที่เพิ่มขึ้น 20.3% การส่งออกไปลาวเพิ่มขึ้น 9.7% แต่การส่งออกไปจีนตอนใต้ลดลง 19.6% ขณะที่การจ้างงานจากการสำรวจภาวะการทำงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ถึงสิ้น ต.ค. 2552 ภาคเหนือมีกำลังแรงงาน 7.3 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 7.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 2.2% การจ้างงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคค้าปลีกค้าส่ง การผลิต โรงแรมและภัตตาคาร