บันเทิง

กว่าจะเป็น "ยาม"กับ "หนุ่ม กะลา"ในอุ้งมือมิวสิคบั๊กส์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จนจะสิ้นปีอยู่รอมร่อ "หนุ่ม กะลา" ยังต้องหนีตายคดีไล่ล่าจับลิขสิทธิ์เพลงอยู่เลย! โดยตอนนี้คนคนเดียวมีถึง 44 คดีเข้าไปแล้ว!!

         


          ที่สุดช้ำใจหนักถึงกับต้องออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก “Num KALA” ช่วงวันที่ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา ระบุว่านี่คดีลิขสิทธิ์หรือฆ่าคนตาย!!

 

          เอาเข้าจริงๆ ตามที่รู้ในทางกฎหมายมันมีหลักที่่ต้องยอมรับว่าใครๆ ก็ไม่ควรละเมิด!!

 

 

          แต่ทางหนึ่งหลายคนก็เห็นใจฝ่ายศิลปินอยู่มาก เพราะสายเลือดแห่งคนทำงานย่อมโฟกัสที่การสร้างความสุขให้แฟนๆ ที่ตั้งไว้สูงสุดอันดับแรก

 

          “หนุ่ม” และ “วงของเขา”
          ถ้าจะถามว่า “วงกะลา” ดังขนาดไหน วัยรุ่นหรือคนฟังเพลงยุค 90 รู้ดีที่สุด!

          และ “หนุ่ม” หรือ ณพสิน แสงสุวรรณ นักร้องนำ ก็คือสัญลักษณ์ของวงชนิดที่แยกกันไม่ออก แม้ขนาดยุบวงไปแล้วช่วงปี 2557 ชื่อของเขาก็ยังเป็น “หนุ่ม กะลา” อยู่เช่นนี้


          วงกะลานั้นสร้างตัวจากกลุ่มวัยรุ่นสู้ฝันแห่งโรงเรียนวัดทรงธรรม ย่านบางน้ำผึ้ง จ.สมุทรปราการ โดยเข้าประกวดวงดนตรีระดับมัธยมศึกษาที่จัดมายาวนานจนถึงวันนี้ อย่าง “Hot Wave Music Awards” โดยครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2539 จัดปีแรกก็ได้แชมป์เป็น “วงละอ่อน” ที่มี “ตูน" อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม เป็นนักร้องนำ


          สำหรับวงกะลานั้น ก็เข้าประกวดเวทีนี้สองครั้ง ครั้งแรกช่วงเรียน ม.5 ในเวทีปีที่ 2 ช่วงปี 2540 ตกรอบ 30 วงสุดท้าย และอีกครั้งในเวทีปีที่ 3 ช่วงปี 2541 ผ่านเข้าถึงรอบ 10 วงสุดท้าย


          แต่ความพิเศษของกะลาก็เข้าตาค่ายใหญ่แกรมมี่ พา 4 หนุ่ม อันมี “หนุ่ม” หรือชื่อเดิม ยุทธพงษ์ แสงสุวรรณ (นักร้องนำ), “นุ” ธีระศักดิ์ อุ่มมล (มือเบส), “โต” มาโนช พิมพ์จันทร์ (มือกีตาร์) และ “รุส” ดารุส ปัญญา (มือกลอง) เข้าสังกัดในที่สุด!

 

 

 

 


          แน่นอนกับความเป็นวงป๊อปร็อก ซอฟต์ร็อก อัลเทอร์เนทีฟร็อก หน้าใหม่! คนไทยรู้จักวงกะลาจากเพลง “รอ” “ไม่มาก็คิดถึง” ในอัลบั้มแรก “กะลา” ในปี 2542


          เราหลงใหลเสียงนุ่มเศร้าของ “หนุ่ม” จากเพลง “ขอเป็นตัวเลือก” เพลงเนื้อหาดี โดนใจวัยรุ่นอกหักรักจริง! ในอัลบั้มที่ 2 “นอกคอก” ช่วงปี 2544


          เรารักวงกะลาจากเพลง “เธอเป็นแฟนฉันแล้ว” ในอัลบั้ม “My Name Is Kala” ในอัลบั้มที่ 3 ช่วงปี 2546


          เราติดตามวงกะลามาตลอด จนพวกเขามีอัลบั้มที่ออกกับค่ายแกรมมี่มาถึง 8 อัลบั้ม มีเพลงฮิตติดหูจำนวนมาก!


          หากระหว่างทางกะลาก็มีมรสุม ช่วงปี 2553 กะลาฟอร์มวงใหม่ เพราะสมาชิกเดิมได้ลาจากไปคนละทาง และมีสมาชิกใหม่คือ เพชร พงศภัค (อดีตมือกีตาร์วงไอแซ็ค), เขต ปัญญา (มือเบสและนักแต่งเพลง), สมพร ยูโซะ (อดีตมือกลองวงลาบานูน) พวกเขาออกอัลบั้มชุดที่ 7 “4 share” มีเพลงดังอย่าง “หมดเวลาแอบรัก” และ “ไม่เห็นฝุ่น”


          ปี 2555 ออกอัลบั้มชุดที่ 8 “Love Infinity” กระทั่งเวลาผ่านมาจนปี 2557 วงกะลากลายเป็นอดีต ทุกคนแยกไปทำตามความฝันให้เหตุผลว่า “การทำงานไม่ตรงกัน”


          ส่วนหนุ่ม หรือชื่อใหม่ “ณพสิน แสงสุวรรณ” กลายเป็นศิลปินเดี่ยวมาจนถึงวันนี้ในสังกัด “จีนี่เรคอร์ด” เครือแกรมมี่


          หนุ่ม กับ เพลงของคนอื่น?
          อย่างที่รู้ว่าเพลงฮิตของกะลามีเยอะมาก แล้วทำไมหนุ่มวัย 37 คนนี้ ถึงไปมีคดีกับเพลงของคนอื่น แถมจนเวลาผ่านไป 1 ปี มีรวมๆ แล้วถึง 44 คดี!


          กับเพลงเดียวนี้คือเพลง “ยาม” อันโด่งดังของ “วงลาบานูน” รุ่นพี่ที่เวทีฮอตเวฟนั่นแหละ!


          ทั้งนี้ตอนที่หนุ่มนำเพลงนี้ไปร้องที่งานลอยกระทง จ.กระบี่ เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2560 โดยครั้งนั้นมีบริษัท เพาเวอร์ เทรเซอร์ จำกัด ที่ดูแลค่ายเพลงมิวสิคบั๊กส์ แจ้งความไว้ที่ สภ.เมืองกระบี่


          แต่ตลอดมา หนุ่ม ก็ยังคงนำเพลงนี้ไปร้องเรื่อยมาในหลายเวที จนทางมิวสิคบั๊กส์เจ้าของเพลงได้เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ รวม 44 ครั้ง จนมีการออกหมายจับ


          โดยครั้งที่ถูกจับกุมคือช่วงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 โดยเจ้าหน้าที่สน.โคกคราม เข้าจับกุม “หนุ่ม” ที่ร้านแห่งหนึ่งย่านรามอินทรา ในช่วงตี 2


          วันนั้น หนุ่ม กล่าวว่า มีการพูดคุยกันแล้วก่อนหน้านี้ แต่ยังตกลงกันไม่ได้ เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์เรียกร้องทั้งอาญาและแพ่งนั้น มากว่า 60 ล้านบาท! ซึ่งไม่สมเหตุสมผล


          ขณะที่ยังอ้างเหตุผลว่า “เพลงยาม” นั้น ศิลปินคนอื่นในแกรมมี่มีสิทธิ์ที่จะร้องหมด เพราะวงลาบานูนได้ย้ายมาอยู่แกรมมี่แล้ว ซึ่งแกรมมี่ก็นำลิขสิทธิ์มาเพื่อจัดเก็บให้มิวสิคบั๊กส์


          แต่บังเอิญว่าสองค่ายมีข้อพิพาทกันจนสัญญาจบลงเมื่อ 31 ตุลาคม 2560 ก่อนที่จะถูกไล่แจ้งความตั้งแต่นั้นมา


          ก็ไม่รู้ว่าคุยกันอะไรยังไงในครั้งนั้น ปรากฏว่าล่าสุด หนุ่ม กะลา ก็ยังไปเจอการจับกุมอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ที่ผ่านมา ที่งานคอนเสิร์ตบิ๊กเมาเท่น เขาใหญ่นี้เอง


          เพียงแต่เจ้าตัวล่องหนไปก่อนที่เจ้าหน้าที่จะหาตัวเจอจนกระทั่งมาเคลื่อนไหวโพสต์เฟซบุ๊กตัดพ้อตามที่เกริ่นไปข้างต้นนั่นเอง


          ของใคร ใครก็หวง?
          อย่างไรก็ดีหากถามถึงเพลงต้นปัญหาจริงๆ ถ้าจะว่าไป แทบจะต้องเล่าย้อนไปถึงเส้นทางวงลาบานูนด้วย เพราะมันเกี่ยวเนื่องกันหมด

 

          โดยเพลงยามนี้ดังมากเป็นเพลงตำนานของ “วงลาบานูน”  ที่เริ่มเปิดตัวอัลบั้มแรก “นมสด” ในปี 2541 ก็ดังพลุแตก หลังจากตกรอบ 10 วงสุดท้ายมาจากเวทีฮอตเวฟปีที่ 2


          แต่ความโดดเด่นทำให้นักเรียนจากโรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย เข้าตา ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ หนึ่งในกรรมการตัดสิน ขณะยังบริหาร บริษัท มิวสิคบั๊กส์ ให้มาร่วมงานด้วยกันในที่สุด


          สำหรับเพลงยามนั้น แต่งเนื้อร้องโดย เหนือวงศ์ ต่ายประยูร นักแต่งเพลงมือทอง เบื้องหลังเพลงดังมากมาย โดย เมธี อรุณ นักร้องนำเป็นผู้แต่งทำนอง


          แต่โลกธุรกิจได้ทำให้เพลง “ยาม” ตกเป็นสมบัติของบริษัทที่จูงมือลาบานูนเข้าร่วมงานนั่นแหละ


          วันเวลาผันผ่าน ลาบานูนแยกทางกับแมลงเพลงไปในปี 2557 วงจากแดนใต้ย้ายไป “จีนี่เรคคอร์ด” ค่ายเดียวกับ หนุ่ม กะลา!

 

          แต่ก็หอบหิ้วเอาผลงานเพลงที่เคยมีในสังกัดค่ายเก่าไปร้องตามงานต่างๆ ด้วย ปัญหามันเลยเกิดมาตั้งแต่ปี 2559 ที่มิวสิคบั๊กส์เดินหน้าฟ้องแกรมมี่และลาบานูนเป็นข่าวใหญ่โตและแกรมมี่ก็ฟ้องกลับเรื่องหมิ่นประมาท 


          เช่นเดียวกันกับเคสของวง “บิ๊กแอส” ที่ละเมิดเพลง “ก่อนตาย” ซึ่งแต่งโดย “เหนือวงศ์ ต่ายประยูร” เช่นกัน โดยตัวเลขเรียกค่าเสียหายช่วงเดือนกันยายน รวมทุกเคสแล้ว 72 ล้านบาท


          วันนี้สำหรับเคสของหนุ่ม กะลา ที่มิวสิคบั๊กส์ยังบินตามและเกาะติดอยู่ ตัวเลขค่าเสียหายเคสเดียวสูงขึ้นไปถึง 60 ล้านบาทนั้น เพราะหนุ่ม กะลา นำเพลงยามไปร้องถึง 44 ที่ ต่างกรรมต่างวาระ นั่นเอง


          ปัญหาไก่-ไข่  ลิขสิทธิ์เพลง เนื้อหา
          โลกธุรกิจมันซับซ้อน ยิ่งโลกของสิขสิทธิ์เพลงยิ่งวุ่นหนัก!


          ถามคนทั่วไปย่อมแปลกใจที่เพลงหนึ่ง แต่งโดยคนหนึ่ง ร้องโดยคนหนึ่ง แต่เจ้าของกลับเป็นอีกคน หรือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ยิ่งถ้าเป็นเพลงดังด้วยแล้ว ปัญหายิ่งมีเยอะ!


          สำหรับเรื่องลิขสิทธิ์เพลง แน่นอนนายทุน หรือค่ายเพลง เป็นผู้คุมเกมมานานแล้ว โดยกฎหมายลิขสิทธิ์ ข้อมูลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุคร่าวๆ ว่าศิลปินจะต้องแบ่งรายได้จากการแสดงที่พวกเขาเล่นเพลงของตัวเองไปให้บริษัท และเพลงที่ศิลปินขับร้อง หรือแสดงผลงานนั้น พวกเขาก็ไม่ใช่เจ้าของ แต่กฎหมายมีว่าเพลงเป็นทรัพย์สิน/สินค้าทางปัญญาสำหรับผู้ผลิตและบริษัทที่ทำธุรกิจ ซึ่งมักมีหน่วยงานที่ดูแลการนำทรัพย์สินเหล่านี้ไปใช้เพื่อจัดเก็บรายได้


          วันนี้บ้านเรามีบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงมากถึง 37 บริษัท อย่าง บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ก็ดูแลงานของค่ายแกรมมี่ เช่นเดียวกับบริษัท เพาเวอร์ เทรเชอร์ จำกัด ที่ดูแลงานของมิวสิคบั๊กส์


          โดยหากโฟกัสที่ค่ายมิวสิคบั๊กส์นัั้น มีเพลงในสังกัดที่จัดเก็บลิขสิทธิ์ถึง 377 เพลง! มีรายละเอียดรูปแบบของการจัดเก็บลิขสิทธิ์มากมาย

 

          แต่ในส่วนของอัตราค่าลิขสิทธิ์สำหรับงานแสดงและคอนเสิร์ตที่เป็นนักร้องนักแสดงคิดราคาขั้นต่ำ 25,000 บาทต่อเพลงต่อรอบ แต่ถ้าเป็นการแสดงสดของนักร้อง/วงดนตรีทั่วไป (ไม่ใช่ศิลปิน) คิด 2,000 ต่อปี (ไม่จำกัดจำนวนเพลง) 


          ที่ค่ายอื่นๆ ก็จะมีการเรียกเก็บแตกต่างกันไป แต่หลักๆ ก็จะแบ่งเป็นลักษณะของธุรกิจและลักษณะของงานที่นำเพลงในสังกัดไปเผยแพร่ เช่น คาราโกเกะ คอนเสิร์ต แสดงออกอากาศทางช่องทางต่าง และอื่นๆ อีกมากมาย

 

          ยังไงก็คงต้องติดตามกันต่อไป บอกแล้วว่าโลกธุรกิจมันซับซ้อน!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ