บันเทิง

"ชนชั้น" ของ "วิศิษฏ์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ชนชั้น" ของ "วิศิษฏ์" : คอลัมน์... ข้าวโพดคั่วกับตั๋วหนัง โดย... คอนแทค เลนส์

 

 

          ในฐานะ “แฟนพันธุ์แท้” ของ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” สิ่งหนึ่งซึ่งปรากฏในงานของเขาอยู่เสมอก็คือ “ประเด็นทางชนชั้น”

 

          แม้ว่าเราอาจใช้ “ประเด็นทางชนชั้น” ไปจับ หรือตีความ ภาพยนตร์ของผู้กำกับท่านอื่นได้ตลอดเวลา ทว่า มุมมองเกี่ยวกับ “ประเด็นทางชนชั้น” ของ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” คล้ายความสามารถเฉพาะตัว หรือลายเซ็นของเขาก็ว่าได้

 

 

          เพราะไม่ว่าเขาจะใช้ธีมอะไรในการนำเสนอ หนังของ “วิศิษฏ์” ทุกเรื่องจะมี “ประเด็นทางชนชั้น” เป็นแกนหลัก


          และแม้ว่าเขาจะให้สัมภาษณ์หลายครั้งในทำนองว่า หนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ของเขามีลำดับในการคิดสร้างก่อนหลังอย่างไร แต่ในทีนี้ ขอไล่เรียงจากภาพยนตร์ที่เข้าฉายตามปี พ.ศ.


          “วิศิษฏ์” เปิดตัวบนเก้าอี้ผู้กำกับด้วย “ฟ้าทะลายโจร”


          แน่นอนว่า ชื่อเรื่องก็บอกอยู่ในที ว่านี่เป็นเรื่องของอาชญากรที่ทุกชาติทุกภาษาล้วนจัดกลุ่มให้ “โจร” เป็น “คนนอกกฎหมาย”


          ความเป็น “คนนอกกฎหมาย” โดยพื้นฐานอาจไม่จำกัดว่าต้องเป็นชนชั้นล่างเสมอไป ทว่า เมื่อเข้าสู่การเป็น “ชนชั้นโจร” แล้ว ย่อมมีนัยของการแบ่งชนชั้น ระหว่าง “คนดี” กับ “คนเลว” อยู่ในที


          “หมานคร” ผลงานลำดับถัดมาก็เช่นกัน คราวนี้ “วิศิษฏ์” เปลี่ยนประเด็น “ชนชั้น” มาเล่นกับความเป็นคน “ในเมือง” กับ “นอกเมือง” ที่โดยส่วนใหญ่ “คนในเมือง” มีความหมายกว้างๆ ถึง “ชนชั้นกลาง” ที่อาจค่อนไปทาง “ชนชั้นล่าง” มากกว่า “ชนชั้นบน” ซึ่งมีจำนวนไม่มากในสังคม


          “เปนชู้กับผี” ภาพยนตร์เรื่องต่อมาของเขายิ่งชัดเจนขึ้นกับการนำเสนอ “ประเด็นทางชนชั้น” เมื่อ “วิศิษฏ์” ใช้คฤหาสน์ผู้ดีเก่าเป็นจุดศูนย์กลาง และรายล้อมด้วยคนหลากชนชั้นในนั้น โดยขับเน้นเป็นพิเศษที่ “ชนชั้นล่าง”


          ส่วน “อินทรีแดง” เสมือนการย้อนกลับไปหา “ฟ้าทะลายโจร” อีกครั้ง กับการต่อสู้กันระหว่าง “คนในกฎหมาย” กับ “คนนอกกฎหมาย” ซึ่งก็คือการแบ่งชนชั้น ระหว่าง “คนดี” กับ “คนเลว” เช่นเดียวกับ “ฟ้าทะลายโจร”

 




          “รุ่นพี่” กับการกลับสู่ธีมเดียวกับ “เปนชู้กับผี” อีกครั้ง และคราวนี้ “วิศิษฏ์” ยังยืนยันที่จะใช้คฤหาสน์ผู้ดีเก่าเป็นจุดศูนย์กลางแวดล้อมด้วยคนหลากชนชั้นเช่นเคย


          “ชนชั้น” ระหว่าง “รุ่นพี่” กับ “เปนชู้กับผี” ในชั้นแรก คือการต่อสู้ระหว่าง “เจ้านาย” กับ “ไพร่” ชั้นที่สอง เป็นการต่อสู้ระหว่าง “คน” กับ “ผี”


          สำหรับ “สิงสู่” ผลงานเรื่องล่าสุดที่กำลังจะเข้าฉาย เป็นการตอกย้ำ “ประเด็นทางชนชั้น” อีกคำรบหนึ่ง ไม่ต่างจาก “รุ่นพี่” และ “เปนชู้กับผี” เพราะ “สิงสู่” เป็นการต่อสู้ระหว่าง “นายแม่” เจ้าของสำนักกับ “บริวาร”


          และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ “การต่อสู้ทางชนชั้น” ระหว่าง “คน” กับ “ผี” ที่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ “ประเด็นทางชนชั้น” ซึ่งถือเป็นลายเซ็นของ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” ไปแล้วอย่างสมบูรณ์นั่นเองครับ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ