คอลัมนิสต์

ถวัลย์-ดอยธิเบศร์ ดัชนี คือเลือดเนื้อและลมหายใจเดียวกัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภาพอาจโจรกรรมได้ แต่เลือดเนื้อและจิตวิญญาณ ไม่มีใครขโมยไปจากเราได้

       

          วันนี้กับข่าวภาพวาดของ “อ.ถวัลย์ ดัชนี” ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ สูญหายไปร่วม 113 ภาพ รวมมูลค่ากว่า 300 ล้านบาทนั้น จะเกี่ยวข้องกับรอยร้าวระหว่างคนในครอบครัวอย่างไรหรือไม่

          หากแต่สำหรับ “ดอยธิเบศร์ ดัชนี” ลูกชายของศิลปินแห่งชาติชื่อก้องผู้นี้ คงมีแต่หัวใจของพญาราชสีห์เท่านั้น ที่บอกเขาว่าต้องนิ่ง !

          ดังที่เจ้าตัวเพิ่งโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Doytibet Duchanee” ลงท้ายที่วันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา ระหว่างที่เกิดเหตุ ตอนหนึ่งว่า

          “...วิธีการเลี้ยงลูกของพ่อคือการเลี้ยงลูกแบบสิงโต ถ้ามันไม่แกร่งพอ ก็ให้มันตายไปซะ..”

          “...หลายคนก็คงพอทราบว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากที่พ่อผมเสียชีวิตลง จนถึงขั้นที่ผมเคยคิดจะตายตามพ่อไป แต่ด้วยเลือดของพ่อที่มันไหลเวียนอยู่ในกาย ทำให้ผมลุกขึ้นสู้อีกครั้ง...”

          ถึงตรงนี้ เรื่องราวของสองราชสีห์พ่อลูก จึงวนกลับมาอยูในห้วงความคิดของเราอีกครั้ง ว่าอะไรคือ “ความคิด จิตวิญญาณ” ของพวกเขาทั้งคู่

 

ถวัลย์-ดอยธิเบศร์ ดัชนี คือเลือดเนื้อและลมหายใจเดียวกัน

 

          ราชสีห์ผู้พ่อ
          กล่าวสำหรับ อ.ถวัลย์ ดัชนี ผู้ได้ฉายาว่า “จักรพรรดิแห่งผืนผ้าใบ” ผู้นี้ คนไทยรู้จักเขาดีว่าเป็นศิลปินนักวาดระดับพระกาฬ ผู้แหวกวงล้อมป่าเชียงรายมายืนอยู่แถวหน้าสุดของเวทีทัศนศิลป์ของประเทศ

          เขาเกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2482 วัยเด็กเติบโตในท้องถิ่นบ้านเกิด จ.เชียงราย และพะเยาในบางช่วงเพื่อติดตามบิดาที่ไปปฏิบัติงาน

          จนเมื่อย้ายกลับเชียงราย จึงเข้าเรียนชั้น ม.ปลาย ที่ ร.ร.สามัคคีวิทยาคม แล้วไปต่อระดับครูประถมการช่าง (ป.ป.ช.) ที่ ร.ร.เพาะช่าง

          ถ้าการวาดรูปดี คือพรสวรรค์ คนชื่อถวัลย์คงไปทำอะไรจนถูกใจพระเจ้าสุดๆ ! แม้เอกลักษณ์ผลงานของเขาจะเต็มไปด้วยความดิบ เถื่อน อหังการในลายเส้น ก็ตาม

          เพราะการที่เขาได้ทุนมาเรียนต่อที่ ร.ร.เพาะช่าง ก็มาจากความสามารถของเขาล้วนๆ ที่จับดินสอ ต่อพู่กัน ก็เสกอะไรได้หมด ! สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน มีผลงานได้รับคัดเลือกแสดงในหอศิลป์แห่งชาติ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

 

ถวัลย์-ดอยธิเบศร์ ดัชนี คือเลือดเนื้อและลมหายใจเดียวกัน

 

 

          และสำหรับเด็กรักศิลปะ การได้โลดแล่นใช้ชีวิตอยู่ในสถาบันใหญ่หน้าพระลาน คือความฝันสูงสุด มากไปอีกชั้นคือได้ร่ำเรียนกับ ศ.ศิลป์ พีระศรี

          ช่วงปี 2505 ถวัลย์เข้าเรียนเป็นศิษย์รุ่นท้ายๆ ของท่าน และยังทำเอาคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร สั่นสะเทือนไปกับผลงานที่หาใครเทียบชั้นยากยิ่ง จนคว้าเกียรตินิยมมาได้

          แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น ก็เป็น อ.ศิลป์ นี่เอง ที่จุดไฟในตัวตนของคนชื่อถวัลย์พุ่งทะยานออกมาราวกับพยัคฆ์หลุดบ่วง !

          เพราะต่อให้วาดดีอย่างไร แต่ อ.ศิลป์ กลับไม่เห็นด้วย โดยกล่าวว่า “ปลาของนายไม่มีกลิ่นคาว นกของนายแหวกว่ายไปในอากาศไม่ได้ ม้าของนายไม่สามารถที่จะควบหรือวิ่งทะยานออกไปได้ นายเป็นเพียงแค่นักลอกรูป มันไม่ใช่งานศิลปะ”

          ดังนั้น เพื่อปลดปล่อยพลังแห่งตนเอง เขาจึงสอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้านสาขาจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และในระดับปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปะอัมสเตอร์ดัม

 

ถวัลย์-ดอยธิเบศร์ ดัชนี คือเลือดเนื้อและลมหายใจเดียวกัน

 

          เรียนจนจบ ช่วงแรกใช้ชีวิตอยู่โซนยุโรป โลดแล่นเป็นศิลปินอยู่หลายปี กระทั่งเมื่อย่างเข้าวัย 30 ต้นๆ ตัดสินใจกลับบ้านเปิดงานแสดงศิลปะ ถ่ายทอดวิญญาณของตนเองออกมา

          แต่ต้องบ่ายหน้ากลับออกนอกประเทศอีกครั้ง เพราะถูกคนรุ่นหลังขยี้หัวใจ รูปเขียนขนาดใหญ่ของเขานับ 10 รูป ถูกนักเรียนกรีดทำลาย ด้วยเหตุที่มองว่าเป็นงานดูหมิ่นพระพุทธศาสนา

          สุดท้ายไปร่อนเร่อยู่ระหว่าง เอเชีย ยุโรป อเมริกา หลายปี แล้วตั้งเข็มทิศใหม่ กลับเมืองไทย ดำเนินชีวิตจนเป็นทั้ง ราชสีห์ อาร์ติสต์ แวนโก๊ะ เอลวิส เสือปืนไว แล้วแต่ใครจะเคยสัมผัส

          แต่เราคนไทย รวมถึงชาวโลก เห็นและยอมรับทั่วกันว่าเขาคือ “ปราชญ์” !!

          ช่วงวัย 74 ปีหลังผ่านมาหมดแล้วทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่ ธุดงค์ทิเบต ภูฏาน เนปาล บาหลี ดูพิธีเผาศพ พบหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดง พูดได้ 7 ภาษา เขากล่าวถึงตนเองว่า

 

ถวัลย์-ดอยธิเบศร์ ดัชนี คือเลือดเนื้อและลมหายใจเดียวกัน

 

          “ครูบอกผมว่า “จงไปเขียนเนื้อหาที่เป็นตะวันออก เข้าใจไหม” ผมไม่เข้าใจหรอก แต่ผมรู้สึกแล้วว่าความเป็นตะวันออกมันอยู่ไหน พอครบ 9 ปีจึงเดินทางกลับไทย เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่แบบถวัลย์คนใหม่”

          “ผมไม่อินังขังขอบ ลดระดับว่าคนนี้คนนั้นควรเข้าใจหรือไม่ คนนั้นควรเขียนรูปเอาใจไหม ฯลฯ ผมไม่ได้สนใจ”

          ถวัลย์ ดัชนี ฝากงานศิลป์ไทยจิตวิญญาณตะวันออกของเขาไว้ในหลายๆ ที่ในโลก และจากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2557 จากอาการตับวาย หลังจากป่วยมาระยะหนึ่ง

          ลูกสิงห์ ดอยธิเบศร์
          หากไม่เพียงงานศิลป์ ที่ อ.ถวัลย์ ทิ้งไว้เบื้องหลัง ยังมี “ม่องต้อย” ดอยธิเบศร์ ที่เป็นผลิตผลแห่งความรักและจิตวิญญาณของผู้พ่อ กับสาวสวยตาคมผมยาว ลูกครึ่งไทย-มาเลย์ “มากาเร็ต ฟันเดอร์ฮุค” หรือ “แมกกี้” หรือ “คำเอ้ย” 

 

ถวัลย์-ดอยธิเบศร์ ดัชนี คือเลือดเนื้อและลมหายใจเดียวกัน

 

          ในหนังสือ “มนุษย์ต่างดาว ถวัลย์ ดัชนี” โดย “ไมตรี ลิมปิชาติ” เรียบเรียงไว้ ระบุชัดว่า มากาเร็ต คือแม่ของดอยธิเบศร์ ทายาทคนเดียวที่ทำให้ถวัลย์เข้าใจอารมณ์ของคนเป็นพ่อ ก่อนที่ถวัลย์จะมี ทิพยชาติ วรรณกุล เข้ามาในชีวิต ภายหลังจากที่แมกกี้แยกทางไปช่วงปี 2524 ขณะที่ผู้ลูกย่างเข้า 5 ขวบ !

          ดอยธิเบศร์เกิดวันที่ 3 ตุลาคม 2519 พออายุได้ 3 อาทิตย์ ก็ต้องไปอยู่กับคุณย่า เพราะมารดานั้นนอกจากจะพูดภาษาไทยได้ไม่มาก เธอยังเป็นแอร์โฮสเตสซึ่งต้องเดินทางบ่อยๆ ขณะที่บิดาต้องตระเวนแสดงงานในหลายประเทศ

          “ม่องต้อย” หรือ “ต้อย” เติบโตขึ้นมาอย่างงานที่ผู้พ่อตั้งใจสลักออกมา เขาคือศิลปินที่ทำหลายๆ อย่าง แม้อาจไม่เท่าพ่อด้วยวัย 41 แต่ก็ต้องยอมรับว่าเขาเองก็แบกรับบทบาท ในฐานะของผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของพ่อไม่น้อย

          ม่องต้อยจบมัธยมที่เดียวกับพ่อ ร.ร.สามัคคีวิทยาคม จากนั้นต่อปริญญาตรีมัณฑนศิลป์ และไปจบปริญญาโทด้าน Museum Management ที่ ม.มหิดล และต่อปริญญาเอกจิตรกรรม ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

          แต่การสานต่อไม่จำเป็นต้องวัดรอยเท้า หากเป็นพลังงานของศิลปินในฉบับคนรุ่นใหม่

          อย่างการดูแล “พิพิธภัณฑ์บ้านดำ” สถานที่รวบรวมจิตรกรรม ประติมากรรม ที่สั่งสมประสบการณ์มานานหลายสิบปี กว่า 40 ปีของบิดา ที่มีกฎว่าห้ามเก็บเงินค่าเข้าชม !

          ที่นี่เขายังสร้างสรรค์แกลเลอรี่เข้าไป 4 หลัง ส่งผลให้ที่นี่เป็นอีกแหล่งสำคัญที่ต้องมาเยือนให้สมกับค่าที่เชียงรายเป็น City of Art

          ทั้งยังเป็นเจ้าของบริษัทออกแบบ L'Artisan Company Limited (ลาร์ติซอง) ก่อตั้งขึ้นช่วงปี 2551 ที่นี่เป็น One Stop Service เกี่ยวกับศิลปะ

          สำหรับงานวาดรูป ดอยธิเบศร์ก็มีฝีมือที่โดดเด่น เขาเคยให้สัมภาษณ์นิตยสารเพลย์บอยไทยแลนด์ช่วงปี 2558 ว่า ช่วงอายุประมาณ 29-30 ขายงานได้ถึงหลักล้าน !

          “ถ้ามองแล้วเทียบกับพ่อแบบหมัดต่อหมัด ก็ถือว่ามาไกลได้พอสมควร เพียงแต่เราไม่ค่อยได้พรีเซนต์ตัวเองในการวาดรูป ก็เลยไม่ได้เห็นตรงนี้เพราะเรามีหลายบทบาท มีหมวกหลายใบเป็นทั้งศิลปินวาดรูป อาจารย์ นักศึกษา นักคิด นักจัดการ ขึ้นอยู่ว่าเปิดโหมดไหน”

          ในทางสังคม ทายาทอัครศิลปินผู้นี้มีกิจกรรมอีกมากมาย เขาก็เป็นหนึ่งในบุคคลกลุ่มแรกๆ ที่เข้าไปสืบค้นหา ช่วยเหลือเด็กๆ ทีมหมูป่าที่ติดในถ้ำหลวงอย่างเกาะติด

          ช่วงวันที่ 27 กันยายน ที่จะถึง ยังมีกิจกรรมจัดงานรำลึกถึงบิดาขึ้นมา คือ “งานวันถวัลย์ ดัชนี ปีที่ 3” ที่พิพิธภัณฑ์บ้านดำ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย

          วันนี้ ดอยธิเบศร์ น่าจะเป็นตัวแทนผู้พ่อได้ในอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็น “ตัวตน” ของเขาเอง ส่วนภารกิจชีวิตเพื่องานศิลป์ของสองพ่อลูกราชสีห์คู่นี้ คือลมหายใจเดียวกัน ที่ใครก็ฉกชิงไปไม่ได้ !

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ