บันเทิง

เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันกรุงเทพฯ มีอะไรน่าดูบ้าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กท.วัฒนธรรมไต้หวัน ร่วมกับ สำนักงานตัวแทนไทเป, ด็อกคิวเมนทารี่ คลับ และ เอส เอฟ จัด "เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันกรุงเทพฯ" ครั้งแรกของประเทศไทย

         กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทยด็อกคิวเมนทารี่ คลับ, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  และ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เตรียมจัด เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันกรุงเทพฯ” ครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นการประสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศไต้หวัน พร้อมสร้างการเรียนรู้แลกเปลี่ยนด้านศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การดำรงชีพของชาวไต้หวันผ่านทางแผ่นฟิล์ม โดยเทศกาลนี้ถือเป็นการสานต่อความสำเร็จ พัฒนาจากโปรเจคท์ภาพยนตร์สารคดีที่ เอส เอฟ ร่วมกับ ด็อกคิวเมนทารี่ คลับ ทำต่อเนื่องและประสบความสำเร็จมากว่า 4 ปี ภายในเทศกาลฯ คัดสรรภาพยนตร์สารคดีคุณภาพที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายความหลากหลายของวัฒนธรรมจากประเทศไต้หวันจำนวน 8 เรื่อง พร้อมบทบรรยายภาษา ไทย-อังกฤษ มาให้คอภาพยนตร์ได้ร่วมชม ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม  – 2 กันยายน 2561  ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในราคาที่นั่งละ 160 บาท สำหรับที่นั่ง Deluxe Seat และราคา 180 บาท สำหรับที่นั่ง Premium Seat 

เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันกรุงเทพฯ มีอะไรน่าดูบ้าง

         ผลงานภาพยนตร์น่าจับตามองจากประเทศไต้หวันจำนวน 8 เรื่อง เริ่มต้นที่ภาพยนตร์เปิดเทศกาล Small Talk” ผลงานที่ชนะรางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมจากเวทีเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินในปีที่ผ่านมา โดยตัวผู้กำกับได้ถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ในครอบครัวตนเอง ระหว่างแม่และลูกที่อยู่ภายใต้ชายคาเดียวกันแต่เปรียบเสมือนคนแปลกหน้าซึ่งกันและกัน จนกระทั่งตัวผู้กำกับตัดสินใจจะรวบรวมความกล้าชวนแม่ของเธอมานั่งพูดคุยเปิดใจ เพื่อเผยความลับอันหนักอึ้งที่ผู้เป็นแม่เลือกจะเก็บไว้เพียงลำพังจนสร้างระยะห่างในความสัมพันธ์ของแม่และลูก โดยเรื่องราวถูกบันทึกไว้ผ่านกล้องของเธอ

เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันกรุงเทพฯ มีอะไรน่าดูบ้าง

 

         “Time Splits in the River” เรื่องราวของสี่ศิลปินที่ชวนพ่อแม่ตัวเองมารับบทผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลไต้หวันในช่วงทศวรรษ 1980 โดยทุกคนต้องตระเตรียมตัวสำหรับบทบาทด้วยการดูฟุตเตจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนั้น และแม้จะไม่มีคนใดเลยในกลุ่มพวกเขาเคยเข้าไปข้องเกี่ยวกับการประท้วงมาก่อน ทว่าการได้เห็นและได้สนทนาถึงมันอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ก็ทำให้พวกเขาค่อยๆ ซึมซับมันหลอมรวมเข้ากับอดีตของตนเองอย่างช้าๆ

 

เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันกรุงเทพฯ มีอะไรน่าดูบ้าง

         “Le Moulin”  ภาพยนตร์สารคดีที่ชนะรางวัลจากเวทีเทศกาลภาพยนตร์ม้าทองคำ หรือ Golden Horse Film Festival ปี 2016 ในสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม ซึ่งเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่ใหญ่เป็นลำดับต้นๆ เป็นเรื่องราวหลังจากสี่สิบปีภายใต้เจ้าอาณานิคมญี่ปุ่น กลุ่มศิลปินโมเดิร์นกลุ่มแรกของไต้หวันในนาม‘สมาคมกวีกังหันลม’ (Le Moulin Poetry Society) ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1930 พร้อมกับบทกวีเพื่อการต่อต้านอำนาจนำทางวัฒนธรรมของเจ้าอาณานิคม โดยมีศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลลิสต์เป็นต้นแบบหลัก กวีกลุ่ม Le Moulin ก่อร่างบทกวีของพวกเขาด้วยลีลาแห่งความซับซ้อนและไม่ประนีประนอม เพื่อที่จะเผชิญหน้ากับช่วงเวลาโกลาหลที่พวกเขามีชีวิตอยู่ โดย “Le Moulin” สารคดีทดลองที่ประกอบขึ้นจาก ฟุตเตจเก่า ภาพถ่าย บทกวี ถ้อยแถลง ร้อยเรียงกันอย่างไร้ระเบียบราวกับการบันทึกด้วยจิตไร้สำนึก ซึ่งสอดรับกับพลังของการต่อต้านระบบของที่เป็นเหมือนหัวใจหลักของหนังอย่างงดงาม

 

เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันกรุงเทพฯ มีอะไรน่าดูบ้าง

         “Sunflower Occupation” ภาพยนตร์สารคดีเรื่องราวในปี 2014 ระหว่างการประท้วงเพื่อต่อต้าน ความตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบ ซึ่งได้รัการอนุมัติอย่างรวดเร็วผิดสังเกต กลุ่มของผู้ประท้วงบุกเข้ายึดรัฐสภาไต้หวันเป็นเวลาถึง24 วัน หลังจากผู้ชุมนุมบุกเข้าไปทางประตูด้านข้างของสภานิติบัญญัติ ความลับดำมืดก็ได้ถูกเปิดเผยคำถามที่เป็นแกนกลางสำคัญก็คือ อะไรคือประชาธิปไตย? อะไรคือรัฐ? อะไรคือความรุนแรง? อะไรคืออนาคต? อะไรคือความสุขที่เราไขว่คว้า และ  ‘เรา’คือใคร?

         นี่คือสารคดีสั้นเก้าเรื่องที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนทำสารคดีในไต้หวัน ในนามของ Docunion ที่ส่งคนทำหนังสารคดีไปติดตามการชุมนุมจากมุมมองที่แตกต่างกัน จากแง่มุมที่แตกต่างกัน จากนั้นนำทั้งหมดมาเชื่อมร้อยเข้าหากันเพื่อฉายภาพการชุมนุมที่ไม่ได้มีแค่มิติเดียวจากจุดใดจุดหนึ่ง ความหลากหลายที่น่าตื่นตาตั้งแต่ ยุทธวิธีไปจนถึงความคิดแกนกลางของแต่ละคน

         “The Silent Teacher ในไต้หวันนั้น ร่างกายของผู้บริจาคที่นำมาใช้ในการสอนกายวิภาคนั้นจะถูกเรียกว่า ‘อาจารย์เงียบ’ (The Silent Teacher)ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องของคุณนายหลิน ผู้ซึ่งร่างกายของเธอจะถูกนำมาใช้ผ่าในการสอนในปีถัดไป  คุณนายหลินกำลังจะกลายเป็นอาจารย์เงียบทั้งกับเหล่านักศึกษาแพทย์และกับในขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์สอนให้ครอบครัวของเธอเองได้รู้จักความหมายของชีวิต

เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันกรุงเทพฯ มีอะไรน่าดูบ้าง

         นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์สารคดีมาให้เลือกชม อาทิ The Immortal’s Play” ภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้ชีวิตของนางเอกละครงิ้ว,The Mountain” เรื่องราวของชายนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิจากยุคล่าอาณานิคม และ Stranger in the Mountains” ถาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้ดิ้นรนของเหล่าลูกหลานของกองกำลังชาตินิยมก๊กมินตั๋งที่ยังหลงเหลืออยู่

         สำหรับ เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันกรุงเทพฯ” จะจัดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม  – 2 กันยายน 2561  ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในราคาที่นั่งละ 160 บาท สำหรับที่นั่ง Deluxe Seat และราคา 180 บาท สำหรับที่นั่ง Premium Seat โดยผู้ชมสามารถเช็ครอบฉายพร้อมซื้อบัตรชมภาพยนตร์ในเทศกาลผ่าน www.sfcinemacity.com และแอพพลิเคชั่น SF Cinema ได้ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SF Call Center 02-268-8888 เว็บไซต์ www.sfcinemacity.com และ www.facebook.com/Welovesf หรือเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ที่หน้าโรงภาพยนตร์

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ