บันเทิง

รถไฟฟ้ามาหานะเธอ & เฉือน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เดิมทีตั้งใจจะเขียนถึงหนัง “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ครับ แต่พอได้ข่าวว่าหนังเตรียมฉลองร้อยล้านแล้ว เลยขออนุญาตเปลี่ยนมาเขียนถึงหนังไทยอีกเรื่อง ที่มีโปรแกรมเข้าฉายสัปดาห์นี้ แม้กระแสจะไม่แรงเท่า แต่ทว่าเนื้อหาสาระของหนังนั้นน่าสนใจไม่น้อยและสมควรนำมากล่าวถึงเพื

  นอกจากจุดขาย ที่นำสองดาราดังต่างรุ่นต่างวัยมาประชันบทบาทกันครั้งแรกระหว่าง "เป้" อารักษ์ อมรศุภศิริ และ "นก" ฉัตรชัย เปล่งพานิช แล้ว ดูเหมือนว่า “เฉือน” ไม่ได้มีหน้าหนังน่าสนใจอะไรไปมากกว่านี้ และจะว่าไปหนังแนวนี้ก็ขายยากเอามากๆ ในตลาดหนังไทย เพราะจะโปรโมทให้เป็นหนังดราม่าก็ไม่ใช่ (แถมยังขายยาก) หรือจะสร้างกระแสปั้นหน้าหนังให้ออกมาทางบู๊แอ็กชั่น ก็ดูจะห่างไกลจากความเป็นจริง หรือจะเอาทั้งสองอย่างมาผสมให้เป็น ‘ดราม่า แอ็กชั่น’ หนังก็ทำได้แค่เรียกความน่าสนใจในระดับหนึ่ง

 รายได้ 57 ล้านบาทใน 4 วันแรกของ “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” อาจจะไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายครับ เพราะถ้าหนังรู้จักจุดแข็งและข้อได้เปรียบของการมีดาราขวัญใจคนทั้งบ้านทั้งเมืองอย่าง ‘เคน’ ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ อยู่ในจอ และจัดการให้เขาบริหารเสน่ห์ได้อย่างที่ตั้งใจ ก็ไม่ยากที่จะพาให้หนังเดินไปสู่ปลายทางแห่งความสำเร็จขนาดนั้น เช่นเดียวกับการจัดวางรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่รายล้อมอยู่รอบๆ เรื่องราวในแบบ ‘พาฝัน’ จูงคนดู (โดยเฉพาะสาวๆ) เข้าไปในโลกของตัวละคร ‘เหมยลี่’ ที่อาจไม่จำเป็นต้องให้ ‘คริส หอวัง’ มารับบทสาวโสดวัย 30 ก็ได้ แต่ถ้าหนังสามารถสร้างอารมณ์ร่วมในระหว่างผจญภัยไปกับความรักได้ไปพร้อมๆ กับเธอ และพบความสุขในบั้นปลายอย่างที่ฝัน สุดท้ายเรื่องราวแบบเทพนิยาย ก็เป็นจริงได้ (ถึงแม้จะเป็นเพียงในจินตนาการก็ตาม) จึงไม่แปลก ถ้า “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ขบวนนี้ จะอัดแน่นไปด้วยผู้โดยสารสาวๆ ทั้งโสดและชวนแฟนไปดู จะอายุน้อยกว่า 30 หรือเลยไปเฉียดๆ เลข 4 ก็ตามที เพราะในช่วง 20 ปีที่ผ่านๆ มา หนังไทยเองยังไม่ค่อยมีพล็อตในทำนอง ‘ซินเดอเรลล่า’ พาฝันจริงๆ จังๆ แบบนี้มาก่อน (เรื่องราวทำนองนี้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเห็นจะมีเพียง “ดาวพระศุกร์” กับ “พจมาน สว่างวงศ์” หรือเอาให้ใกล้กว่านั้นเห็นจะเป็น “วงษ์คำเหลา” แต่ออกไปในแนวหนังตลก ล้อเลียนซะมากกว่า) เพราะฉะนั้น การเป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่ให้ความสำคัญกับความรักแบบพาฝันอย่างจริงจัง รู้จักแบบผ่อนหนักผ่อนเบา ยั่วเย้าในแบบทีเล่นทีจริง สร้างคาแรกเตอร์ให้เป็นมนุษย์ปุถุชนที่สามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันและจัดวางสถานการณ์ ‘ความบังเอิญ’ ของการพบกันให้สอดคล้องกลมกลืน (เพราะฉะนั้น สาวๆ หลายคน จึงคิดฝันไปว่าจะได้พบกับวิศวกรหนุ่มรูปงาม เพียบพร้อมด้วยฐานะ การศึกษา เหมือนอย่าง ‘ลุง’ บ้าง เนื่องเพราะหนังปั่นหัวคนดูและปั้นตัวละครตัวนี้ราวกับมีอยู่จริง และในยามวิกาล พวกเธอก็สามารถเดินไปเจอเขากำลังเจียรางรถไฟฟ้าอยู่อย่างขะมักเขม้น ก่อนจะหันมาส่งยิ้มให้ และชวนขึ้นรถไฟฟ้ากลับบ้านด้วยกัน-มาถึงตอนนี้พวกเธอน่าจะถูกปลุกให้ตื่นจากความฝันได้แล้ว)

 กลับมาที่ “เฉือน” ครับ รูปร่างหน้าตาของหนังไทยสองเรื่องดูจะแตกต่างเหินห่างกันอย่างสุดกู่ ‘เป้ อารักษ์’ ไม่เพียงจะถูกนำมาคลุกฝุ่น มอมแมม เป็นนักโทษอุกฉกรรจ์ ที่อาสาออกตามล่าหาตัวฆาตกรฆ่าต่อเนื่อง หลังพบร่องรอยเบาะแสจากความทรงจำในวัยเด็ก แม้แต่รุ่นใหญ่อย่าง ‘นก ฉัตรชัย’ ยังถูกจับย้อมผมเป็นสีเงิน สวมบทนายตำรวจหนุ่มใหญ่ที่หลายคนเรียก ‘ป๋า’ เพราะการทำงานที่คาบเกี่ยวทั้งในฐานะผู้รักษากฎหมายและเป็น ‘ขาใหญ่’ ในหมู่อาชญากรเวลาเดียวกัน

 การจับเอานักแสดงทั้งสองมาปรับรูปเปลี่ยนภาพลักษณ์ และกลับด้านให้กลายเป็นตัวละครที่จมจ่อมอยู่ในวังวนของโลกอาชญากรรม พร้อมปมผิดบาปในใจ ที่ไม่อาจสลัดให้หลุดไปจากความทรงจำได้ ที่สำคัญนี่คือหนังที่มองโลกในแง่ร้ายชนิดที่ไม่ยอมประนีประนอมกับคนดูแม้แต่น้อย ทว่ากลับสะท้อนประเด็นทางสังคมได้อย่างเจ็บลึก อย่างที่เราเองก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ ในสังคมไทยและพบเจอได้บ่อยครั้งตามหน้าหนังสือพิมพ์ 

 “เฉือน” ให้ภาพของหนังดราม่า แอ็กชั่น ในโทนหม่นมืด ที่เต็มไปด้วยการนำเสนอภาพความรุนแรงอยู่เป็นระยะๆ ทั้งสภาพศพที่ถูกฆาตกรรม การใช้กำลังเข้าประทุษร้ายกันทั้งด้วยอาวุธ และมือเปล่า การแสดงออกในเรื่องทางเพศ ที่ทั้งวิปริตผิดมนุษย์ และสื่อถึงอารมณ์ปรารถนาตามสัญชาตญาณ โดยมีรายละเอียดของการออกตามล่าตัวฆาตกร มาผูกเป็นเส้นเรื่อง ขณะเดียวกันหนังก็ตัดสลับเอาเหตุการณ์ย้อนอดีตเมื่อครั้งวัยเด็กของตัวละคร มาเฉลยปมในแต่ละเปลาะ และถึงแม้คนดูจะรู้ว่าใครคือฆาตกร แต่ก็สามารถเข้าใจถึงเหตุและผลของการกระทำอันเหี้ยมโหด พร้อมๆ กับสลดใจไม่น้อยในชะตากรรมมากมายที่ตัวละครพานพบ ซึ่งไม่ต้องยกทฤษฎีที่ทำให้เกิดปมปัญหาทางจิตมาอธิบายให้เสียเวลา เพราะความรุนแรงที่สั่งสม บ่มเพาะ จากการที่มนุษย์กระทำต่อกันเองนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครสักคนจะลุกขึ้นมาฆ่าแกงผู้คนอย่างทารุณ

 เรื่องแบบนี้ ไม่ว่าสังคมไหนๆ ก็เกิดขึ้นได้ครับ ที่สำคัญเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เรามักตราหน้าคนก่อเหตุว่าเป็นพวกใจคอโหดร้าย วิปริตผิดมนุษย์มนา แต่อาจจะไม่เคยใส่ใจที่มา หรือหารู้ไม่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาจาก ‘กรรม’ ที่เรากระทำต่อกันต่างหาก และเมื่อถึงวันหนึ่ง ‘ผล’ แห่ง ‘กรรม’ นั้น สนองกลับคืนมาบ้าง มันอาจรุนแรงเกินกว่าที่คาดคิด... “เฉือน” ไม่ได้สอนเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาหรอกครับ หากแต่สะท้อนความเลวร้ายของสังคมในอีกแง่มุมหนึ่งให้เราได้เห็น ทว่าเป็นมุมที่เราอาจชาชิน จากนำเสนอข่าวของสื่อต่างๆ...เราได้แต่สะเทือนใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความรุนแรงที่เด็กๆ ถูกกระทำโดยผู้ใหญ่ ทุกวันนี้สังคมไทยยังพิกลพิการไม่พออีกหรือไงครับ และถ้าลองคิดไปไกลๆ ว่า หากเด็กๆ ถูกหล่อหลอมด้วยความรุนแรงเหล่านั้นเติบโตขึ้นมา ประเทศนี้คงได้ง่อยเปลี้ยเสียขาด้อยพัฒนาอย่างน่าอนาถ...หนังอย่าง “เฉือน” ไม่ได้บอกกล่าวประเด็นใหญ่โตอะไรขนาดนั้นหรอกนะครับ แต่ดูแล้วกลับมาฉุกคิดอะไรได้ต่ออีกเยอะแยะ นี่เป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของหนังที่ดีไม่ใช่หรือ?

ชื่อเรื่อง : เฉือน  /   Slice
ผู้เขียนบท : ก้องเกียรติ โขมศิริ, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
ผู้กำกับ : ก้องเกียรติ โขมศิริ
นักแสดง : อารักษ์ อมรศุภศิริ, ฉัตรชัย เปล่งพานิช, เจสสิกา ภาสะพันธุ์
เรท : น.18+ ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
วันที่เข้าฉาย : 22 ตุลาคม 2552

" ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ