บันเทิง

รถไฟฟ้า...มาหานะเธอ เรื่องของผู้หญิง มากกว่าเรื่องของคนเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การคาดเดาว่า รถไฟฟ้าจะมาถึงในกี่นาทีนั้น ดูจะง่ายกว่าการคาดหวังว่า คนเราจะเจอเนื้อคู่จริงๆ ในปีไหน

 ตกลงแล้ว อะไรคาดเดาได้ยากง่ายกว่ากันในยามนี้ อากาศในฤดูกาล, การเมืองของบ้านเรา, จราจรและเวลาที่ใช้บนท้องถนน และความรักของโลกในยุค facebook & twitter?

 เมื่อสมมติฐานเป็นเช่นนี้แล้ว ชะตากรรมความรักของ “ลี่” สาวออฟฟิศ ซึ่งเป็นหนึ่งของคนเมืองที่ต้องเดียวดาย จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เข้าใจได้นั้นหมายความว่า ทำไมเธอต้องทุกข์ทรมานในการรอคอยใครสักคน และรู้สึกแผ่นดินไหวอยู่ข้างในเมื่อเพื่อนรอบตัวต่างแต่งงานกันไปหมดแล้ว

 เรื่องของ ลี่ ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันถูกพูดถึงในหนังรักแต่ละปีอยู่หลายๆ ต่อหลายครั้ง แต่เมื่อมี พี่เคนของน้องๆ และสัญลักษณ์ของคนเมืองอย่าง “รถไฟฟ้า” เข้ามา มันก็ทำให้หนังที่ดูจะธรรมดา มีมาร์เก็ตติ้งที่รุนแรง และน่าสนใจ

 อันที่จริง รถไฟฟ้าฯ มีแง่มุมทางวัฒนธรรมให้พูดถึงหลายอย่าง ตั้งแต่การตลาดที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้าฯ ซึ่งครบ 10 ปีพอดี, ดีเอ็นเอและโครโมโซมของหนัง GTH แต่สิ่งที่ผมคิดว่ามันมีน้ำหนักมากที่สุดก็คือ เรื่อง “ในใจของผู้หญิง” มากกว่าเรื่อง “ในใจของคนเมือง”

 คือถึงจะอยู่ร่วมไปกับเมือง แต่สารและ message ที่ถูกเล่าผ่านๆ และปรากฏในบางช่วงบางตอน กลับสะท้อนถึงมายาคติหรือ myth ที่ผู้หญิงใฝ่ฝันอย่างชอบธรรม

 ภาษาของโฆษณา คงต้องบอกว่า มันกลับมาตอบโจทย์สินค้าได้ พยานง่ายๆ อย่างหนึ่งก็คือ คุณอาจไม่พบว่าผู้หญิงสูงวัยหรือเด็กสาววัยแรก กระทั่งชายหนุ่มจะขบขำมากมายอะไรกับหนังเรื่องนี้ แต่แง่มุมนี้ สอบผ่านไปได้กับผู้หญิงตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยไปจนถึงวัยทำงาน ล่วงเลยเกินเลข 3

 หนังของ GTH จะไม่ใช่ความบันเทิงที่ซับซ้อน คาดเดายาก ตรงกันข้าม หลายอย่างเกือบจะเดาๆ อะไรได้ตลอดทาง แต่มันก็สนใจใช่ไหมว่า ทำไมเขายังรักษา “ฐานคนดู” ของเขาเอาไว้ได้ (คนที่เรียนป.โท น่าทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการตลาดของ GTH เพราะหลายอย่างถูกวางไว้อย่างรัดกุม แม้แต่งานเปิดตัวกับสถานที่)

 ถึงเป็นหนังเฮฮาพอใช้ และทำให้คนดูขำได้อย่างที่หนังต้องการ แต่อย่างหนึ่งที่อยากจะให้กำลังใจผู้กำกับก็คือ การได้กลับมาทำงานอีกครั้ง หลังจากปวดร้าวไปกับ “หมากเตะฯ” ผมไม่ได้ชอบหรือไม่ชอบหมากเตะฯ

 แต่ผมสนใจเรื่องจิตใจคนในภาวะที่เคยดาวน์ลงไป ฉะนั้น การที่ อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ต้องอดทนยาวนานในการทำหนังอีก มันจึงอาจยิ่งใหญ่มากกว่าการรอคอยคนรักของ “เหมยลี่” ในรถไฟฟ้า...มาหานะเธอ

 สิ่งที่ดีที่สุดของหนังเรื่องนี้ ก็คือ การแสดงของ คริส หอวัง และผมนอนฝันกลางวันว่า เห็นเธอเข้าไปชิงนักแสดงหญิง ด้วยบทบาทในการแบกรับ นำพา ประคับประคองตัวหนังไปตลอดทั้งเรื่อง ไม่มีเด่นไปกว่าเธออีกแล้ว (แม้แต่รถไฟฟ้าฯ ทั้งขบวน)

 อีกอย่างหนึ่งที่กลายเป็นอาวุธลับก็คือ มุกตลกยิบย่อย ที่สาดใส่คนดูให้อยู่กับหนัง คือถึงผมจะไม่ค่อยขำ แต่ผมก็คิดว่าคนดูอื่นๆ จะขำค่อนข้างแน่ (ผมชอบทุกฉากที่ครอบครัวคนจีนของ ลี่ แสดง และลูกคนจีนคงอินอะไรแบบที่ผู้กำกับซึ่งคงโตมาแบบหนึ่ง เอามาเสนอ)

 ข้อด้อยของหนังเรื่องนี้อยู่ที่บท ซึ่งขาดความลงตัว โดยเฉพาะตอนท้ายของหนังซึ่งส่อแววจบไม่ลง โดยที่ก่อนหน้านั้น ก็มีแผลตรงนั้นตรงนี้ให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ (อารมณ์หนังคล้ายๆ ดู Christmas in August)

 GTH ก็ฉลาดอีกตามเคย เขาใช้เพลงที่แสนไพเราะ เพื่อปลุกอารมณ์ที่นิ่งและเงียบเหงาในท้ายเรื่องให้กลับมา

 รถไฟฟ้า...มาหานะเธอ ไม่ใช่ทางออกของสาวโสด ไม่ใช่หนังเน้นคนเมือง และไม่ใช่หนังการจราจรติดขัด มันเป็นหมายเหตุร่วมสมัยของผู้หญิงในปี 2009 ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ต่อให้ ลี่ จะพบ เคน อีกกี่คน

 หรืออยู่ร่วมกันไป ชีวิตคู่จะ “คาดเดาได้” เหมือน “การเข้าชานชาลา” ของรถไฟฟ้า ถ้าสาวที่อยากจะมีแฟนอย่าง ลี่ ไม่เชื่อพี่ (ว้าว) ลองไปถาม แครี่ แบรดชอว์ ใน Sex and the City

 หรือถ้าไม่เชื่ออีก ลองถามพีอาร์สาวสวยของ GTH เอง (ฮา)

"นันทขว้าง สิรสุนทร"

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ