บันเทิง

เปิดต้นทุน คอนเสิร์ต 'ปิดวิก'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วัดความนิยมนักร้องขายได้

    การแสดงคอนเสิร์ตของนักร้องลูกทุ่งหมอลำนั้น นอกจากงานรับจ้างไปแสดงตามงานต่างๆ หรือการเดินสายไปกับคอนเสิร์ตที่มีสินค้าเป็นผู้สนับสนุนเปิดให้ดูฟรีแล้ว ยังมีการจัดคอนเสิร์ตที่เรียกว่า “ปิดวิก” ที่ล้อมรั้วกลางแจ้งเก็บเงินค่าเข้าไปชม ซึ่งในยุคนี้ที่ยังคงมีให้เห็นโดยเฉพาะตามชานเมือง วันนี้จะพาไปเปิดต้นทุนและทิศทางของการทำคอนเสิร์ตแนวนี้
    บุญช่วย ห่อไธสง หรือ “ป๋าช่วย พาม่วน” วัย 46 ปี อดีตเจ้าของผับหมอลำที่ผันตัวเองมาเป็นคนจัดคอนเสิร์ตปิดวิกมาตั้งแต่ปี 2550 กล่าวว่า
    “การจัดงานคอนเสิร์ตปิกวิกเก็บบัตรผ่านประตูผมทำมาประมาณ 10 ปี ก่อนหน้าผมทำร้านอาหารอยู่ลาดพร้าว สมัยนั้นเด่นชัย-บัวผัน ดังใหม่ๆ เขาไปรับเชิญที่ร้าน เด่นชัยเข้ามากรุงเทพฯ ใหม่ๆ เขาก็อยากมีงาน ให้ผมลองทำดู ผมก็รับปากว่าจะทำให้ 3 วันก็จัดแล้วประสบความสำเร็จ ตอนนั้นปี 2550 ผมไม่ได้เน้นหมอลำเป็นหลัก แต่ผู้บริโภคเขาชอบหมอลำ มีศิลปินในกระแสบ้าง คนไหนดังมีกระแสเราก็เอามาจัด"
    ด้วยความเปลี่ยนแปลงในแวดวงคนทำเพลงโดยเฉพาะเรื่องรายได้หลักจากคอนเสิร์ต ป๋าช่วยบอกถึงต้นทุนคร่าวๆ ว่า
    “ต้นทุนการจัดคอนเสิร์ตปิดวิกเก็บเงินแยกเป็น 2 อย่าง คือต้นทุนในการดำเนินการ ค่าสถานที่ ค่าขออนุญาต ค่าโฆษณา ค่าเจ้าหน้าที่รปภ. ค่ารั้ว ค่ารถแห่ รวมๆ กันประมาณ 1 แสน บวกลบ 2 หมื่น ไม่รวมค่าวงค่าตัวศิลปิน ทุกวันนี้กฎหมายมาครอบคลุมทำให้เราทำงานลำบากขึ้นในการประสานงานพื้นที่ เจ้าของสถานที่บางแห่งที่ไปทำแล้วชาวบ้านเดือดร้อน เจ้าของที่ก็ต้องเดือดร้อนด้วย เจ้าหน้าที่ก็ไม่อยากให้เราลงจัด ผมอาศัยว่าเราเคยประสานงานไปแล้วเราทำงานตามนโยบายเจ้าของที่ และเจ้าหน้าที่ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง รับปากแล้วต้องทำให้เขาได้”
    ยุคที่ฟรีคอนเสิร์ตเริ่มหดหายอย่างต่อเนื่อง ป๋าช่วยมองเรื่องความนิยมของคอนเสิร์ตปิดวิกที่เขาคลุกคลีมาอย่างต่อเนื่องนับจากนี้ว่า
    “ความนิยมการจัดปิดวิกเก็บเงินสู้เมื่อ 3 ปีที่แล้วไม่ได้ 3 ปีที่แล้วทำง่ายกว่า ทุกวันนี้ศิลปินเยอะ คนจัดเยอะ ใครก็อยากเข้ามาจัด ตัวศิลปินก็อยากมาโชว์แบบที่ผมทำ ถ้าทำแล้วคนเยอะตัวศิลปินเขาได้กระแส ทำไมได้กระแส เพราะไม่ได้ดูฟรี การดูฟรีมันวัดความนิยมในตัวศิลปินไม่ได้ แต่ถ้าปิกวิกเก็บบัตรค่าดูคนซื้อบัตรเข้ามาดูมากๆ เขาก็พูดกันต่อๆ แสดงว่าศิลปินคนนั้นดังจริง ถ้าปิดวิกแล้วคนมาซื้อบัตรดูน้อยก็เอาไปพูดเช่นกัน ทุกวันนี้มันเร็ว”
    เจ้าของฉายา “ป๋าช่วยพาม่วน” ยังบอกถึงการวางงานของเขาและอุปสรรคของการติดต่อนักร้องมาโชว์ในคอนเสิร์ตของเขาว่า
    “บางกรณีเราก็ผ่านค่ายเพลงต้นสังกัดโดยตรง บางทีก็ผ่านโบรกเกอร์หางาน บางทีเรากำหนดวันจัดแล้วแต่คิวศิลปินไม่ว่างแล้วเพราะคิวไปอยู่ที่โบรกเกอร์ เราก็ต้องไปทางโบรเกอร์ ราคาก็เป็นธรรมดาที่ต้องมีบวก การกำหนดว่าจะไปจัดในพื้นที่ใด วันไหนบ้างมันไม่แน่นอน ส่วนใหญ่ที่ผมทำผมจะจองตัวศิลปินไว้ล่วงหน้า 2-3 เดือน ถึงล่วงหน้าเป็นปีก็มี เรามาแก้ปัญหาเอาว่าช่วงไหนจะเป็นศิลปินคนไหนอยู่ที่กระแส ศิลปินเดี่ยวๆ ไม่มีกระแสมาจัดแบบนี้ไม่ได้ ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย มาแล้ววิกแตก มี “ประถมบันเทิงศิลป์” พวกนี้เขามีแฟนเพลงติดตามอยู่แล้ว “ไหมไทย ใจตะวัน” ยิ่งราคาค่าตัวสูงๆ เขาไม่ลดให้เรา หมอลำมีคนตามเที่ยว บวกกับคนในพื้นที่อีกกลุ่มหนึ่งมันจัดง่ายกว่า”
    ส่วนทิศทางของการปิดวิกจัดคอนเสิร์ตรวมทั้งขยับการจัดเข้าสู่ฮอลล์ในร่มแทนจัดแบบกลางแจ้ง ป๋าช่วยอธิบายแบบเข้าใจง่ายๆให้ทีมข่าวฟังว่า
    “ทิศทางของการปิดวิกเก็บเงินแบบนี้ ถ้าเอาปีที่แล้วเป็นหลัก ยอดตั๋วลดลงเยอะ ที่ผมคิดเพราะว่ามีคนจัดเยอะไป ศิลปินตามค่ายไม่ค่อยกระทบผมเท่าไหร่เพราะแต่ละค่ายตัวศิลปินที่จะเอามาปิดวิกขายบัตรแบบนี้มีไม่กี่คนที่เอามาทำ ที่ทำได้มี เบิ้ล ปทุมราช, มนต์แคน แก่นคูน, เด่นชัย แพรวพราว, บัวผัน ทังโส ค่าตัวนักร้องถ้าสูงมากคนทำงานแบบผมจะเหนื่อย ขาดทุนครั้งละเป็นแสนเลยนะ ปัญหาค่าตัวนักร้องที่สูงจะเป็นตัวแปรในการจัดงานปิดวิก ส่วนการจัดแบบนี้ไปจัดในฮอลล์ ผมก็อยากทำเหมือนกัน แต่ฮอลล์มีไม่กี่ที่แล้วราคาค่าเช่าก็แพง ค่าใช้จ่ายสูง ผมก็อยากทำนะ แต่ด้วยบรรยากาศที่ปู่ย่าตายายปลูกฝังมา เราเกิดมาก็เจอแบบนี้ เขาชอบบรรยากาศ ทุกวันนี้ไม่เกี่ยวแล้วว่าอยู่ค่ายแล้วจะดัง เลยมีศิลปินเกิดกันขึ้นง่าย ดังง่าย เราก็มีโอกาสสัมผัสนักร้องใหม่ๆ มากขึ้น”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ