บันเทิง

เป็นคุ้งเป็นแคว อาทิตย์ 28 พ.ค. 60

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อาลัยลา ชินกร–สมหวัง

โดย เคน สองแคว

    บทความลูกทุ่งที่เขียนยากเย็นเข็ญใจ คือการต้องเขียนถึงครูเพลงที่เคารพในวงการจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ในเดือนที่กำลังจะผ่านไป ครูชินกร ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติจากเราไปแล้ว ก่อนหน้านั้นก็ได้รับทราบข่าวการป่วยเป็นระยะๆ แต่ก็คิดเสมอว่า ครูต้องหายเป็นปกติ
    ครูชินกร เป็นชาวอำเภอกงไกรลาศ สุโขทัย ผมผูกพันกับครูมาตั้งแต่เด็กเพราะครูมาแต่งงานกับคุณสุชาดา คู่ชีวิตซึ่งเป็นชาวพิษณุโลก และอยู่บ้านใกล้กับบ้านผม ตอนเด็กๆ มีงานแต่งงานใหญ่โต ยังได้วิ่งไปดูบรรยากาศที่บ้านงาน แต่จดจำรายละเอียดไม่ได้เพราะยังเด็ก มาทราบภายหลังตอนโตว่า มี ครูพยงค์ มุกดา มาร่วมงานแต่งงานด้วย ถือเป็นงานใหญ่ในจังหวัดในช่วงนั้น
    หลังจากที่ครูเลิกวงดนตรี ครูก็ได้ไปร้องรับเชิญที่เวทีตลาดนัด โชคดีเหลือเกินที่ผมได้ดูรีวิวประกอบเพลง "ยอยศพระลอ” ที่มีพระลอนั่งช้างจำลองอยู่กลางเวที และชอบเพลง "พาสาวเที่ยวเขาดิน” ที่ครูร้องและท่านจะเลียนเสียงสัตว์ร้องได้หลายชนิดอย่างน่าทึ่ง เพลงนี้หาฟังได้ยากมาก อีกเพลงหนึ่ง คือ “อยากกินคนสวย” ที่ครูโห่ได้ไพเราะและยาวนานมากทั้งเพลง ช่วงที่สุขภาพแข็งแรง ครูเคยโห่ในเพลงนี้ให้ฟังยาวนานเกือบนาทีเลยทีเดียว นอกจากเพลงดังๆ ของครู ทั้ง ยอยศพระลอ เพชรร่วงในสลัม กลองยาวชินกร ลูกทุ่งเสี่ยงเทียน เพชฌฆาตใจ ฯลฯ ยังมีเพลงที่น้อยคนจะรู้จัก คือ “ระฆังธรรม” ที่ ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา แต่ง เนื้อหาดีมากๆ
    เมื่อเรียนจบมาทำงานในสายบันเทิง จึงมีโอกาสไปสัมภาษณ์ครูที่บ้านในกรุงเทพฯ เคยออกรายการโทรทัศน์ "ถึงลูกถึงคน” ร่วมกับครู ในประเด็นเกี่ยวกับนักร้องลูกทุ่งออกมาเปลื้องผ้าหาคะแนนนิยม ซึ่งครูเองจะต่อต้านงานแบบที่เรียกว่า อนาจารไม่ใช่แนวศิลปะ ซึ่งทุกครั้งที่มีประเด็นทางสังคมเกี่ยวกับเพลงสองแง่สองง่าม ผมมักจะได้รับความเมตตาเมื่อโทรไปสัมภาษณ์ครูเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ สองปีที่แล้ว ก็ได้คุยกับครูในประเด็นเพลงกลายพันธุ์ ท่านก็บอกว่า นักร้องที่ขายภาพมากกว่าขายเสียงมีมานานแล้ว รุ่นของผม มี สังข์ทอง สีใส กับผมที่ขี้เหร่ เราจึงขายเสียงกันอย่างเดียว
    กว่าครูจะได้เป็นนักร้องเต็มตัวลำบากมาก ผ่านอุปสรรคมากมายซึ่งเป็นแรงส่งให้ท่านมีความพยายาม ครูเคยเล่าให้ฟังในวันที่ท่านได้ประกาศเป็นศิลปินแห่งชาติ ปี 2542 ซึ่งผมโทรไปหาครูเพื่อสัมภาษณ์ และได้มีโอกาสรับประทานอาหารร่วมกับครอบครัวของครู ครูชินกรเรียนจบแค่ ป.4 แต่ท่านศึกษาเพิ่มเติมและได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตหลายแห่งเทียบได้ในระดับดอกเตอร์ทีเดียว
    ความเก่งกาจของท่าน ส่งต่อมาถึงลูกชายของครู คือ ดร.ขจร รองหัวหน้าภาควิชา ภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ บางเขน สมัยที่เรียน ดร.ขจร ทำวิทยานิพนธ์เรื่องเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่ง ซึ่งทำหัวข้อเกี่ยวกับ ครูลพ บุรีรัตน์ หรือวิเชียร คำเจริญ ศิลปินแห่งชาติที่ล่วงลับไปก่อนหน้า
    การสูญเสียครูชินกร นับว่าเป็นการสิ้นบุคลากรสำคัญของวงการลูกทุ่งอีกครั้งหนึ่ง เพราะครูเป็นทั้งนักร้อง นักพูด นักแต่งเพลง นักดนตรี นักวิชาการครูทำได้หลายอย่างและเป็นระดับมืออาชีพทุกงานที่ครูลงมือทำ ร่างของครูอยู่ที่วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน ศาลา 1 สวดพระอภิธรรม 7 คืน ตั้งแต่วันที่ 19-25 พฤษภาคม หลังจากนั้นได้เก็บร่างไว้ 100 วัน เพื่อรอพระราชทานเพลิงศพต่อไป
    การจากไปอย่างกะทันหันของครูชินกรทำให้คนในวงการเศร้าไม่ทันจาง ก็มีข่าววันถัดมาว่า ครูเพลง สมหวัง ช่วงโชติ ที่แต่งเพลง “บทเรียนราคาแพง” พุ่มพวง ดวงจันทร์ “กอดฉันก่อนลา” ธิดา ดวงดาว “รักเธอทุกพ.ศ.” มัณฑนา สุขประสริฐ-วิรดา วงศ์เทวัญ อาร์สยาม ฯลฯ ล้วนเป็นเพลงที่นักร้องประกวดชอบนำมาขับร้องกัน ได้เสียชีวิตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม ในวัย 68 ปี ที่โรงพยาบาลอำนาจเจริญ ที่เป็นบ้านเกิด ตั้งศพสวดอภิธรรมและฌาปนกิจไปแล้วที่วัดหัวเรือ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
    ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของครูชินกร และครูสมหวังอย่างสุดซึ้ง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ