บันเทิง

ไลฟ์สด กับหนังสือเพลง ลูกทุ่งมีมานานแล้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปัจจุบันการ ไลฟ์สด หรือถ่ายทอดสดคอนเสิร์ต และการฝึกร้องเพลงตามเว็บไซต์ต่างๆ

    ปัจจุบันการ ไลฟ์สด หรือถ่ายทอดสดคอนเสิร์ต และการฝึกร้องเพลงตามเว็บไซต์ต่างๆ กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญของนักร้อง-ค่ายเพลง รวมทั้งคนฟังเพลง เพื่อการประชาสัมพันธ์ โดยมีอุปกรณ์พกพาต่างๆ ออกมารองรับมากมาย
    ทีมข่าวบันเทิง "คม ชัด ลึก” ค้นพบข้อมูลสำคัญจากคนเก่าคนแก่ในวงการลูกทุ่ง พบว่า สมัยก่อนในวงการลูกทุ่ง เคยมี "หนังสือเพลงลูกทุ่ง” เพื่อให้คนได้ฝึกร้อง รวมทั้งการ “ไลฟ์สด” หรือ “ถ่ายทอดสด” มีมานานแล้ว เพื่อเป็นช่องทางติดต่อบอกเล่ากิจกรรมสู่สังคมแฟนเพลง
    เนื้อเพลงที่คนมักชอบค้นหาจากเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อฝึกร้องนั้น สมัยก่อนก็มี "หนังสือเพลงลูกทุ่ง” เป็นอุปกรณ์ของคนรักเสียงเพลง ในอดีตหนังสือเพลงลูกทุ่ง มีหลายขนาดให้ซื้อหา ขนาดเล็กสุดพกติดตัว ใส่กระเป๋าเสื้อได้ ราคาเล่มละเพียง 1 บาท ขนาดพ็อกเก็ตบุ๊คและขนาดเท่ากับนิตยสารทั่วไป ซึ่งในอดีต ผู้ที่มีชื่อเสียงในการทำธุรกิจหนังสือเพลง คือ ก. แก้วประเสริฐ
    บุญชื่น บุญเกิดรัมย์ หรือ แดน บุรีรัมย์ เล่าถึงสมัยที่คลุกคลีอยู่กับผู้ที่ริเริ่มทำหนังสือเพลงคนแรกของวงการว่า
    “สมัยนี้เนื้อเพลงจะอยู่ในเว็บไซต์หมดแล้ว ถ้าย้อนไปสมัยก่อนประมาณปี 2506 ผมเรียนจบโรงเรียนช่างไม้บุรีรัมย์ (ปัจจุบันเป็นวิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์) ผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาสมัครร้องเพลงกับครู ก. แก้วประเสริฐ (กิ่ง แก้วประเสริฐ) ซึ่งเขาเป็นคนจัดทำหนังสือเพลงขาย เมื่อสมัยก่อนไม่มีเนื้อเพลงให้คนที่สนใจฝึกร้องเพลงได้อ่านตาม ถ้าจะฝึกร้องเพลงก็จะร้องตามวิทยุเท่านั้น ครู ก. แก้วประเสริฐ จึงเกิดไอเดียที่จะทำหนังสือเพลงมีเนื้อร้องเพื่อให้คนได้ฝึกร้องเพลงได้สะดวกขึ้น จึงไปคุยกับโรงพิมพ์บันลือสาส์น แถวสะพานผ่านฟ้า เจ้าของโรงพิมพ์เห็นด้วย จึงมีการรวบรวมเนื้อเพลงของนักร้องแต่ละท่านมารวมกันเป็นชุดๆ เช่น การรวมเพลงของ “สมยศ ทัศนพันธ์” ก็จะเอาเพลงสมยศที่ผ่านการบันทึกแผ่นเสียง มารวมกันเป็นเล่มพอประมาณแล้วเอารูปนักร้องคนนั้นขึ้นหน้าปก ก็รวมเป็นชุดของคนนั้น มีชุดของ ทูล ทองใจ, เพลิน พรหมแดน, ชาย เมืองสิงห์ เป็นต้น จึงทำให้มีหนังสือเพลงเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคนั้น และตรงจุดนี้เอง นักแต่งเพลงสมัยนั้น ใครมีเพลงที่ให้นักร้องบันทึกแผ่นเสียง ก็จะนำมาขายให้แก่โรงพิมพ์เพื่อเอาไปพิมพ์เป็นหนังสือเพลง ซึ่งจะได้ค่าตอบแทนเพลงละ 30 บาท แถวสะพานผ่านฟ้าจึงเป็นจุดรวมของนักแต่งเพลงและนักร้องไปโดยปริยาย นักร้องก็จะมาหานักแต่งเพลง นักแต่งเพลงก็จะเอาเพลงมาขายและจะนั่งรวมตัวกันเกือบทุกวัน”
    แดน บุรีรัมย์ เล่าย้อนอดีตว่า การมีธุรกิจหนังสือเพลงทำให้มีการรวมตัวของครูเพลงที่มีฝีมือในวงการเพลง อาทิ ไพบูลย์ บุตรขัน, ไสล ไกรเลิศ, สุรินทร์ ภาคศิริ, เลิศ ศรีโชค, นคร ถนอมทรัพย์, วิเชียร สิทธิสงค์, สมบัติ บุญศิริ, สามศร ณ เมืองศรี ฯลฯ มารวมตัวกันแถวโรงพิมพ์ ส่วนครูเพลงที่นานๆ มาครั้ง เพราะทำงานประจำคือ พยงค์ มุกดา, สุรพล สมบัติเจริญ ในการรวมตัวของครูเพลง ยังทำให้เกิดการต่อยอดที่สำคัญอีกอย่างในวงการเพลงคือการ “ถ่ายทอดสด” หรือยุคปัจจุบันเรียกกันว่า "ไลฟ์สด”
    “พอมีการรวมตัวกันวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ตกเย็นก็จะพากันไปดูวงดนตรีที่จะมาแสดงสดๆ กัน โดยคืนวันศุกร์จะมีวงดนตรีแสดงออกอากาศที่สถานีวิทยุปชส.7 ใต้สะพานพุทธ (ฝั่งวัดประยุรวงศ์) พอวันเสาร์ก็จะมีวงดนตรีแสดงสดออกอากาศที่สถานีวิทยุสทร. (ท่าช้างวังหลัง) และวันอาทิตย์ก็จะมีดนตรีแสดงสดที่สถานีวิทยุปชส.7 เช่นเคย ซึ่งจะวนเวียนมาแสดงสดกันตลอด เช่น วงดนตรีจุฬารัตน์ ของ ครูมงคล อมาตยกุล วงครูพยงค์ มุกดา วงช้างแดง ของ ชุมพล ปัทมินทร์ วงสุรพล สมบัติเจริญ วงรวมดาวกระจาย ของครูสำเนียง ม่วงทอง วงเทียนชัย สมญาประเสริฐ วงสมานมิตร เกิดกำแพง เป็นต้น แต่สมัยนี้เทคโนโลยีล้ำสมัย การถ่ายทอดสดสามารถทำได้ทั้งแบบเห็นภาพและเสียงได้แบบง่ายดาย”
    ด้าน บรรจง มนต์ไพร อดีตโฆษกงานวัดและโฆษกวงดนตรี กล่าวถึงขั้นตอนการ "ไลฟ์สด” ในยุคการบุกเบิกที่เขาเคยทำมาให้ฟังว่า
    “ผมเข้ามาวงการลูกทุ่งเมื่อปี 2500 เพื่อนคนหนึ่งเขาจัดสวนสนุก เขาอยากได้เครื่องวิทยุถ่ายทอดเคลื่อนที่ไปถ่ายทอดงานแข่งเรือที่บ้านโป่งเราพอรู้บ้างก็เข้ามากรุงเทพฯ มาติดต่อสถานีวิทยุของทหาร ทหารก็ขนเครื่องไป วิธีตั้งถ่ายทอดวิทยุเคลื่อนที่ (การถ่ายทอดสด) มันต้องขึ้นเสาอากาศ ก็เอาไม้ไผ่ขึ้นกับยอดมะม่วง มะพร้าว ขึงลวดทองแดง แล้วเอาลวดทองแดงไปกองบนดินแล้วขุดหลุมเอาเกลือใส่หมกลวดทองแดงแล้วเอาน้ำราดให้มันชื้นๆ แล้วก็ลองออกอากาศดู เมื่อก่อนมีจักรยานอยู่คัน เอาวิทยุทรานซิสเตอร์กระเตงไปเช็กตามหมู่บ้านว่ามันดังถึงไหน ไกลกี่กิโล ถ้ามันดังดี เราก็กลับมาบอกเขาว่าทิศนี้เสียงชัดแล้ว ทิศนี้ไม่ชัด เจ้าหน้าที่ก็จะปรับเสาทองแดง สมัยนั้นบ้านนอกเขาใช้โฆษกงานวัดบุกเบิกวงการถ่ายทอด ถ่ายทอดงานวัดกันที วันกับคืนก็แค่พันห้าร้อยบาทเอง เราก็ประกาศเรียกกำนันบ้าง ผู้ใหญ่บ้านบ้าง เราไม่รู้ว่าใครจะเป็นแฟนรายการ พูดได้วันสองวันคนมารุมดูเรา เกิดใจแตกสิทีนี้ คนเขียนจดหมายมาขอฟังเพลงกันเยอะ ผมว่าการ "ไลฟ์สด” เริ่มมาจากนั้นเลยเพียงแต่ยุคนี้เครื่องไม้เครื่องมือมันดีกว่าสะดวกกว่า”
    นี่คือ กิจกรรมบันเทิงของคนไทยยุคกว่า 50 ปีที่แล้ว ซึ่งความบันเทิงยังมีให้เลือกไม่มากนัก แต่ปัจจุบัน แฟนเพลงลูกทุ่งและนักร้องรุ่นใหม่ๆ มีความสะดวกกว่าหลายเท่า ทั้งการหาเพลงหรือเนื้อเพลงที่ชอบ ไม่ต้องไปดูวงดนตรีสดๆ หรือเปิดฟังวิทยุ ซื้อหนังสือเพลง ก็สามารถรับชมและรับฟัง รวมถึงการฝึกร้องเล่นเพลงจากเนื้อเพลง คอร์ด และคาราโอเกะที่มีในโลกออนไลน์ โดยมีทั้งเพลงเก่าเพลงใหม่ให้ฟังกันได้ทันใจทางโซเชียลมีเดียต่างๆ


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ