บันเทิง

ละครเวทีเทิดพระเกียรติในหลวงที่คงอยู่ในดวงใจไทยทั้งแผ่นดิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ละครเวทีเทิดพระเกียรติในหลวง ที่ยังคงอยู่ในดวงใจไทยทั้งแผ่นดิน 

 

          อีกหนึ่งวิธีที่พสกนิกรชาวไทยสามารถแสดงความรักความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ถูกถ่ายทอดออกมาหลายรูปแบบ และหนึ่งในนั้นคือ ในรูปแบบของละครเวที ซึ่ง “บันเทิงคมชัดลึก” ได้รวบรวมละครเวทีที่ยังอยู่ในความทรงจำของทุกคน

          สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล
          เสียงใสๆ ของ “น้องพินต้า” ณัฐนิช รัตนเสรีเกียรติ ในบทบาทของแม่พลอยตอนเด็ก ที่ขึ้นประโยคว่า “มอง เห็นพระเจ้าอยู่หัว ท่ามกลางคนมืดมัว เหมือนเห็นแสงทองส่องใจ ตื้นตันเพียงได้มอง พนมมือทั้งสอง ก้มลงกราบด้วยหัวใจ” สร้างความตื้นตันให้แก่ผู้ฟัง และยังคงกึกก้องอยู่ในความทรงจำของใครหลายๆ คนที่ชมละครเวทีเรื่อง “สี่แผ่นดินเดอะมิวสิคัล” อยู่เสมอมานั้น

          เป็นละครเวทีที่ได้ถ่ายทอดความจงรักภักดีเรื่องหนึ่งที่ยังอยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวไทย เรื่อง “สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล” ซึ่งได้จัดแสดงถึง 2 ครั้ง ณ โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ โดย “บอย” ถกลเกียรติ วีรวรรณ บิ๊กบอสซีเนริโอ สร้างเป็นละครเพลงครั้งแรก เพื่อร่วมฉลอง 100 ปีชาตกาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ประพันธ์ ในชื่อว่า สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล ครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2554 ถึง 24 มีนาคม 2555 และได้จัดรีสเตจขึ้นมาอีกครั้ง ในวันที่ 17 กรกฎาคม ถึง 13 กันยายน 2557  

          สำหรับนักแสดงในละครนี้ “นก” สินจัย เปล่งพานิช รับบทเป็นแม่พลอย (วัยผู้ใหญ่-วัยชรา) ทั้ง 2 เวอร์ชั่น “ดาว” พิมดาว พานิชสมัย(2554) รับบท พลอย (วัยรุ่น) เบญจณัฏฐ์ อักษรนันทน์ (2557) รับบท พลอย (วัยรุ่น) “พินต้า” ณัฐนิช รัตนเสรีเกียรติ (2554) รับบท พลอย (วัยเด็ก) ภัทราวดี สุขโขทัย กุลรภัส พัฒนบำรุงรส(2557) รับบท พลอย (วัยเด็ก) นภัทร อินทร์ใจเอื้อ รับบท คุณเปรม (วัยรุ่น)เกรียงไกร อุณหะนันทน์ รับบท คุณเปรม(วัยผู้ใหญ่) รัดเกล้า อามระดิษ รับบท ช้อย(ผู้ใหญ่) ดวงธิดา เลี้ยงสกุล รับบท ช้อย(วัยรุ่น) “อาร์” อาณัตพล ศิริชุมแสง รับบท อ้น “ตูมตาม” ยุทธนา เปื้องกลาง(2554) รับบท อั้น “ไอซ์” ศรัณยู วินัยพานิช(2557) รับบท อั้น “สิงโต” สิงหรัตน์ จันทร์ภักดี(2554) รับบท อ๊อด อาเมน โสตถิพันธุ์ คำลือชา(2557) รับบท อ๊อด 

          สำหรับ “แม่พลอย” ตัวละครเอกของเรื่อง ชีวิตของเธอ มีเพียง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความจงรักภักดี ซึ่งในแต่ละรัชกาลต่างต้องประสบกับเหตุการณ์สำคัญมากมายในชีวิต เริ่มต้นเหตุการณ์เลิกทาส(รัชกาล 5) การรับอารยธรรมจากตะวันตก(รัชกาล 6) เหตุการณ์อภิวัฒน์ พ.ศ.2475(รัชกาล 7) และสงครามโลกครั้งที่ 2(รัชกาล 8) จวบจนวาระสุดท้ายของแม่พลอยที่ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาล 9) เสด็จฯ กลับมาเมืองไทย  

 

ละครเวทีเทิดพระเกียรติในหลวงที่คงอยู่ในดวงใจไทยทั้งแผ่นดิน

 

          ทาง isanook.wordpress.com ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ละครเวที เรืิื่อง สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล ไว้ว่า 
          สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล ใช้ตัวละครในการดำเนินเรื่องทั้งหมดคือ แม่พลอย (“นก” สินจัย เปล่งพานิช) เล่าเรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองและชีวิตของตนเองที่ผ่านเรื่องราวต่างๆ มาทั้งสี่แผ่นดิน โดยคัดเฉพาะฉากที่มีความสำคัญและเป็นแก่นหลักของเรื่อง แบ่งการแสดงเป็น 2 องก์ องก์ที่ 1 องก์ที่ 2  ที่ได้มีการสอดแทรกถึงความจงรักภักดีของแม่พลอย ที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  ซึ่ง “คม ชัด ลึก” ขอหยิบยกมาเพียงบางส่วน 

          องก์ที่ 1
          ฉากที่ 1 บทนำ เป็นฉากเปิดของเรื่อง ผู้สร้างต้องการส่งสารเกี่ยวกับความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และแก่นเรื่องสำคัญ เน้นย้ำถึงความสำคัญของพระมหากษัตริย์ ในบทละครที่เป็นประโยคเปิดของละครเรื่องนี้ว่าเป็นการแนะนำตัวละครอย่างพลอย ตั้งแต่เป็นเด็กบอกเล่าถึงความรักพระเจ้าอยู่หัว และยังหมายรวมถึงคนไทยทั้งแผ่นดินอีกด้วย 

          ฉากที่ 7 ใต้ร่มพระบารมี ผู้สร้างสะท้อนความนิยมเจ้าและจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจนในฉากนี้ โดยมุ่งส่งสารเกี่ยวกับความสุข ความเจริญ ความร่มเย็นภายใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย ดังบทละครตอนหนึ่งที่ว่า “ใต้ร่มพระบารมีขององค์พระเจ้าแผ่นดิน เหล่าพสกนิกรทุกคนทุกถิ่นร่มเย็นกินดีอยู่ดี” รวมถึงสะท้อนให้เห็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เช่น กำเนิดไปรษณีย์ไทย ก่อกำเนิดโรงพยาบาลวังหลังหรือโรงพยาบาลศิริราช การเลิกทาส 

          ฉากที่ 8 ในหลวงของแผ่นดิน ผู้สร้างเน้นย้ำเรื่องประเด็นของความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในฉากนี้มากที่สุด ดังบทละครตอนหนึ่งที่ว่า “วันนั้น วันที่อิฉันได้เห็นในหลวงเป็นครั้งแรก จากการอบรมสั่งสอนที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษให้จงรักและภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว ทำให้อิฉันได้แต่ก้มหน้าและก้มลงกราบนิ่งอยู่อย่างนั้น แต่เมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไป เมื่ออิฉันเติบใหญ่ และได้เห็นสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวทรงได้ทำให้พวกเราได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข การก้มลงกราบพระเจ้าแผ่นดินของอิฉัน จึงมิใช่การกราบจากการอบรมสั่งสอน แต่เกิดจากความเข้าใจและตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้” เป็นการเน้นย้ำสาระสำคัญของเรื่องนี้ให้ผู้ชมรับรู้อีกครั้งหนึ่ง

          ฉากที่ 15 ดาวหางมาเยือน ผู้สร้างต้องการส่งสารในเรื่องของเทวราชาหรือสมมุติเทพในเรื่องเหตุการณ์ดาวหางปรากฏบนฟ้าเป็นลางบอกเหตุเกี่ยวกับการสวรรคตของรัชกาลที่ 5 ตามความเชื่อโบราณที่มีความเชื่อว่า หากดาวหางปรากฏขึ้นบนฟ้าแสดงว่าผู้มีบุญญาธิการใกล้มีอันเป็นไป ตามบทละครช่วงหนึ่งที่ว่า “ดาวดูใกล้เข้ามา มีคำพยากรณ์บ้านเมืองจะมืดมน กลัวว่าผู้มีบุญซักคนจะต้องสิ้นไปข่าวในหลวงท่านประชวร ผู้คนล้วนกังวลใจ ดาวหางหรือไร นำพาเคราะห์ร้ายเข้ามา ในสมัยอยุธยา ดาวหางเข้ามาองค์กษัตราก็เคยสิ้นไป น่ากลัวจะเหมือนดังว่า ในหลวงของเราบุญญากว่าใคร เป็นไปไม่ได้” ผู้สร้างตอกย้ำประเด็นผูกโยงเข้ากับเรื่องบุญญาธิการ สมมุติเทพ ตามความเชื่อโบราณ นอกจากนี้ยังส่งสารให้เห็นถึงความทุกข์โทมนัสหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการสิ้นสุดจบลงของแผ่นดินที่ 1

          ฉากที่ 16 สราญรมย์ เริ่มต้นแผ่นดินที่ 2 ผู้สร้างต้องการสะท้อนให้เห็นการเสื่อมสลายทั้งความเชื่อ คติโบราณ รวมถึงตัวละครที่ถือว่าเป็นคนยุคเก่า เปลี่ยนสู่ยุคของความเจริญของศิลปะวัฒนาการการเฟื่องฟูของวรรณกรรม ละคร ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(พระมหาธีรราชเจ้า) ดังปรากฏในบทละครช่วงหนึ่งที่มีการกล่าวถึง การจัดแสดงละครหลวงโดยมีรัชกาลที่ 6 ทรงร่วมแสดงด้วยในเรื่องโพงพาง และการชื่นชมในพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ที่ปรากฏในบทละครช่วงหนึ่งที่คุณเปรม สามีของพลอยได้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานเพราะพระบารมีของรัชกาลที่ 6 ที่ว่า “ได้อยู่รับใช้ในหลวงเห็นสิ่งที่ทรงเป็นห่วง ทรงทำเพื่อผองชน นำสยามด้วยเปี่ยมล้นพระปรีชายิ่งนานเกิดความผูกพัน ยิ่งเคารพรักพระองค์เกิดแรงใจขึ้นมามีศรัทธาทำดีถวายเพื่อพระองค์”

          ฉากที่ 19 สายธารที่ต่างกัน ผู้สร้างต้องการสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของชีวิตที่รวดเร็วเหมือนสายน้ำหลายสายที่แตกต่างกัน มีทิศทางและจุดหมายต่างกันเปรียบเสมือนชีวิตคน ในฉากนี้เป็นฉากที่แสดงอุดมการณ์จุดยืนทางการเมืองของแต่ละตัวละครได้ชัดเจนมากที่สุด รวมถึงเป็นฉากการสิ้นสุดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สิ้นสุดแผ่นดินที่ 2 ในยุคของหัวเลี้ยวหัวต่อทางความคิดทางการเมือง

          องก์ที่ 2
          ฉากที่ 1  เริ่มต้นแผ่นดินที่ 3 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สร้างต้องการสะท้อนให้เห็นการหลั่งไหลของวัฒนธรรมต่างชาติ การเปลี่ยนแปลงของภาษา การแต่งกาย วัฒนธรรมที่ปรับเปลี่ยนไปตามชาติตะวันตก

          ฉากที่ 3 ปฏิญาณ ผู้สร้างสะท้อนให้เห็นเกี่ยวกับข่าวลือของขบวนการล้มเจ้าท่ามกลางความแตกแยกทางความคิด โดยฉากนี้ผู้สร้างได้ใช้ตัวละครคือ ตาอ้น ลูกชายที่รับราชการทหารผู้ที่มีอุดมการณ์และยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ปรากฏในบทละครช่วงหนึ่งว่า “ปฏิญาณต่อราชบัลลังก์ จงรักภักดีคุ้มครองสถาบันให้ปลอดภัย แผ่นดินมีร่มโพธิ์ร่มไทร สยามของเราร่มเย็นสืบไปตราบนานเท่านาน” เปรียบเสมือนการเน้นย้ำประเด็นในเรื่องการจงรักภักดีที่ไม่เสื่อมถอย

          ฉากที่ 20 ความหวังคืนมายังแผ่นดิน ผู้สร้างสะท้อนให้เห็นถึงความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผ่านเหตุการณ์การเสด็จนิวัตพระนครของรัชกาลที่ 8 ปรากฏในบทละครช่วงหนึ่งว่า “หัวแถวอยู่ที่พระบรมมหาราชวัง ส่วนปลายแถวน่าจะอยู่ที่สนามบินดอนเมือง ผมไม่เคยคิดเลยครับ ว่าผมจะได้เห็นภาพนี้ ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ก็เห็นแต่ผู้คนยิ้มแย้มให้กัน” และ "ในหลวงของแผ่นดิน หล่อรวมให้เม็ดดินทรายกลายเป็นแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่ หยดน้ำ หยาดเหงื่อพระองค์หยดลงที่ไหน ทุกข์ร้อนจะพลันสลายทุกข์ภัยจะไม่อาจแผ้วพาน ในหลวงของแผ่นดิน อยู่เป็นมิ่งขวัญปวงชนคนไทยดั่งความฝันครั้งใหม่ หล่อหลอมจิตใจที่เคยพรากจากกันไว้ ทุกข์ร้อนจะเลยผ่านไป ทุกข์ภัยจะไม่อาจแผ้วพาน ในหลวงของแผ่นดิน ทรงเป็นที่รักและที่พึ่งพิงตราบนานแสนนาน จากวันนี้ใต้ฟ้าจะทองดงาม ใต้ร่มพระบริบาล ชาวสยามทุกคนร่มเย็น แผ่นดินนี้คือบ้านคือแดนสวรรค์แสนสุขใจ” จากเหตุการณ์นั้นจึงตัดเข้าสู่เหตุการณ์การสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เป็นการสิ้นสุดแผ่นดินที่ 4 และก่อนที่แม่พลอยจะสิ้นสุดลมหายใจ แม่พลอยได้รับเสด็จในหลวง (รัชกาล 9) เสด็จนิวัตกลับพระนคร

 

 

ละครเวทีเทิดพระเกียรติในหลวงที่คงอยู่ในดวงใจไทยทั้งแผ่นดิน


          ไกลกังวลเดอะมิวสิคัล 
          นอกจากนี้ ยังมีละครเวทีที่ได้จัดขึ้นมาเพื่อน้อมรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง อย่าง “ไกลกังวลเดอะมิวสิคัล” จัดขึ้นโดยกระทรวงคมนาคม โดยจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผ่านการแสดงละครเพลงและนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งการจัดแสดงในครั้งนี้เป็นการ “คืนความสุขให้ประชาชน” ตามเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ยังไม่มีโอกาสได้ชมการแสดงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2556 ด้วยละครเพลงเฉลิมพระเกียรติ “ไกลกังวล มิวสิคัล ออน เดอะบีช” เป็นการแสดงที่สื่อถึงความรักที่ทั้งสองพระองค์มีต่อคนไทย ผ่านเนื้อหาในรูปแบบละครเพลงโรแมนติก โดยจัดแสดง ณ ชายหาดหัวหิน จ.ประจวบคีรีพันธ์ อันเป็นที่ตั้ง “วังไกลกังวล” วังที่มีประวัติศาสตร์แห่งความรักระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และคนไทย ซึ่งจัดแสดงไปเมื่อวันที่ 28 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2558

          วัฒนธรรมทองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 84 พรรษามหาราชา 
          ละครเวทีเรื่อง  “วัฒนธรรมทองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 84 พรรษามหาราชา” เป็นละครเวทีเทิดพระเกียรติในหลวง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 7 รอบ 84 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2554 ณ เวทีใหญ่ บริเวณท้องสนามหลวง โดยละครเวทีเรื่องดังกล่าว มี “จอย“ รินลณี ศรีเพ็ญ รับบทเป็น จิตตสยาม ผู้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาตั้งแต่การก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชกรณียกิจสำคัญต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์จักกรี จนถึงปัจจุบัน “น๊อต” วรฤทธิ์ เฟื่องอารมย์ และ “ผู้พันเบิร์ด" พ.อ.วันชนะ สวัสดี รับบทเป็น สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราช สลับการแสดงในวันที่ 3-5 และ 4-9 ธันวาคม ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมี “จิ๊บ" วสุ แสงสิงแก้ว รับบทเป็น พระยาชลยุทธโยธิน และ “อ้วน”  มณีนุช เสมรสุต ร่วมขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์ เพื่อเป็นการเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ให้ปวงชนชาวไทยได้ระลึกและตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทุกพระองค์ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ