บันเทิง

เพลงลูกทุ่งรักในหลวง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เพลงลูกทุ่งรักในหลวง : คอลัมน์ เป็นคุ้งเป็นแคว โดย... เคน สองแคว


 
    บทเพลงลูกทุ่งที่เกี่ยวกับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช นั้น เท่าที่ค้นคว้ามามีมากมาย และใช้คำในการเขียนที่เรียบง่าย เข้าใจได้ทันที โดยจะยกมาให้ได้ทราบกันในเบื้องต้น ดังนี้
    ครูไพบูลย์ บุตรขัน ได้ประพันธ์เพลง “เบ้าหลอมดวงใจ” โดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร ขับร้องไว้ ซึ่งเพลงนี้ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ในปี พ.ศ. 2514 จากเพลง “เบ้าหลอมดวงใจ” ด้วย
    “ผืนแผ่นดินนี้มีชื่อว่าไทย
ทุกหยดน้ำใจหลอมเข้าเป็นไทยสายเลือดเดียวกัน
มีศาสนาและพระมหากษัตริย์ยึดมั่น
มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์เป็นมิ่งขวัญของชนชาติไทย
พระเจ้าอยู่หัวของชาติไทยเรา
เหมือนดั่งร่มเงาคุ้มเกล้าพวกเราให้ชื่นฉ่ำใจ
ทรงแผ่เมตตาไปถึงไพร่ฟ้าทั้งเหนือและใต้
ดั่งพ่อแม่คอยห่วงใยลูกรักอยู่ในอ้อมอกตัว
เบ้าหลอมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ
คือองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เหมือนเรามีพ่อแม่เดียวกันร่วมครอบครัว
พระเจ้าอยู่หัว คือศูนย์รวมใจประชา
น้อมเกล้าเคารพ นพไหว้ทรงธรรม
ทุกหยาดน้ำคำร้อยเข้าต่างพวงของช่อมาลา
ด้วยจิตจงรักและภักดีของข้าบาทไพร่ฟ้า
สละชีพเพื่อพระราชาเอาเลือดหลั่งทาเพื่อชาติไทย”
    อีกบทเพลงที่ต้องกล่าวถึง คือ เพลง “ล้นเกล้าเผ่าไทย” จากการประพันธ์ของศิลปินแห่งชาติ ชลธี ธารทอง หรือ สมนึก ทองมา เป็นบทเพลงที่นักร้องลูกทุ่งแทบทุกคนขับร้องได้ โดยไม่ต้องดูเนื้อเพลง นักร้องต้นฉบับแรกคือ สายัณห์ สัญญา บันทึกเสียงไว้เมื่อปี 2519 เรียบเรียงเสียงประสานโดยศิลปินแห่งชาติ ชาญชัย บัวบังศร และพีระ ตรีบุปผา ร่วมด้วย ดนตรียิ่งใหญ่บวกกับเสียงร้องทรงพลังของสายัณห์ สัญญา ทำให้กลายเป็นบทเพลงอมตะที่ครองใจผู้ฟังมาจนถึงทุกวันนี้
    “ล้นเกล้าเผ่าไทยศูนย์รวมใจคนไทยทั้งชาติ
ขออภิวาทเบื้องบาทองค์ภูมิพล
ยามใดไพร่ฟ้าชาวประชายากจน
ทรงห่วงกังวลดั่งหยาดฝนชโลมพื้นหล้า
ถึงว่าป่าดง พฤกษ์ไพรพงทรงสู้ดั้นด้น
ถึงกายหมองหม่น แดดฝนไม่คิดนำพา
ร่วมสุขร่วมทุกข์ ทุกข์หรือสุขมีมา
ทรงแผ่เมตตาให้ชาวประชาชื่นใจ
มิ่งขวัญดวงใจ ชาวไทยทั้งผอง
ทอแสงเรืองรอง ผุดผ่องดังร่มโพธิ์ใหญ่
พระบารมีเป็นที่ลือขานนามไกล
ข้าบาทภูมิใจ ล้นเกล้าเผ่าไทยแห่งวงศ์จักรี
เหนือยิ่งสิ่งใดเหนือดวงใจชาวไทยรักยิ่ง
เหมือนเป็นขวัญมิ่งพักพิงยามทุกข์ภัยมี
ชาวไทยแหนหวงยิ่งกว่าดวงชีวี
แม้นใครย่ำยีใต้ฝ่าธุลี ขอพลีชีพแทน”
    เพลงนี้เป็นบทเพลงที่สายัณห์ ใช้ขับร้องหน้าเวทีเป็นเพลงเปิดตัวเพื่อถวายความจงรักภักดี โดยมีการแสดงรีวิวประกอบเพลงที่ยิ่งใหญ่สวยงามอลังการ บรรดานักแสดงชายหญิงแต่งชุดแบบข้าราชการตามเหล่าทัพ และมีพระบรมฉายาลักษณ์ ตั้งอยู่โดดเด่นกลางเวที
    ต้นฉบับต่อๆ มาเท่าที่จำได้ มี ศรเพชร ศรสุพรรณ ยอดรัก สลักใจ เสรี รุ่งสว่าง ฯลฯ ไล่มาจนถึงล่าสุด "ก๊อท" จักรพันธ์ อาบครบุรี
    หลังจากนั้นก็มีอีกหลายบทเพลงที่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งล่าสุด มีเพลงแหล่ “ราชาแห่งราชัน”  ซึ่งเป็นการรวม 9 นักร้องลูกทุ่งร่วมแหล่ “ราชาแห่งราชัน” เพื่อเทิดไท้ในหลวง โดยได้สองศิลปินแห่งชาติ ชลธี ธารทอง-วิเชียร คำเจริญ ร่วมกันประพันธ์เพลง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคม 2553
    ชลธี ธารทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) ปี 2542 กล่าวถึงเพลงแหล่ เทิดพระเกียรติในหลวงครั้งยิ่งใหญ่กับทีมข่าว “คม ชัด ลึก” ว่า
    "เพลงนี้จะเป็นเพลงแหล่เพลงแรกในประวัติศาสตร์บ้านเราที่ทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติในหลวง เป็นภาษาไทยที่ฟังง่าย ผมคิดว่าเพลงนี้น่าจะเข้าถึงประชาชนมากที่สุดเท่าที่มีการทำมา เป็นภาษาที่มีความหมายตรงๆ บอกถึงพระราชกรณียกิจที่พระองค์ท่านทรงดูแลประชาชนไทยมาตลอดเวลาจนถึงทุกวันนี้” ซึ่งนอกเหนือจากภาษาที่เข้าใจง่ายแล้ว การประพันธ์เพลงนี้ครูชลธียังบอกถึงขั้นตอนการทำงานที่ต้องประสานกับ ครูลพ บุรีรัตน์ เพื่อให้เป็นเพลงที่ดีที่สุด เพลงนี้เราแบ่งกันแต่งระหว่างผมกับครูลพ บุรีรัตน์ การแต่งเพลงแหล่จะใช้โครงสร้างกลอนและกาพย์ยานีมาใช้ ผมประสานงานกับครูลพตลอดเพลงเลยออกมามีภาษาที่ใกล้ตัวคนทั่วไป ผมบอกไว้เลยว่าถ้าลูกๆ อย่างเราชอบทำให้พ่อทุกข์ ถ้าบ้านเมืองสงบพ่อก็มีความสุข ฟังเพลงแล้วทุกคนจะได้คิด ถ้าฟังแล้วยังคิดกันไม่ออกทำกันไม่ได้ก็แย่แล้ว”
    สำหรับเพลง "ราชาแห่งราชัน” ขับร้องโดยนักร้องลูกทุ่งคุณภาพ 9 คน ดังนี้ ชาย เมืองสิงห์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง นักร้อง-นักแต่งเพลงลูกทุ่ง ปี 2538 ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ปี 2539 ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ปี 2540 ชินกร ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ปี 2541 และนักร้องศิลปินลูกทุ่ง คือ สุนารี ราชสีมา ศิรินทรา นิยากร คัฑลียา มารศรี บุญโทน คนหนุ่ม ทศพล หิมพานต์ เรียบเรียงเสียงประสานโดย นฤพนธ์ พานทอง ห้องบันทึกเสียงที่ห้องบันทึกเสียงจาตุรงค์ ควบคุมโดย ณรงค์ ศิลาลิขิต
    นี่คือส่วนของบทเพลงที่คนลูกทุ่งได้แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบัน ยังมีอีกมากมายหลายบทเพลงที่จะรวบรวมนำเสนอกันต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ