บันเทิง

กะเทาะเปลือก‘สุดแค้นแสนรัก’ปมฟูมฟัก‘ผลผลิต’บิดเบี้ยว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กะเทาะเปลือก 'สุดแค้นแสนรัก'ปมฟูมฟัก 'ผลผลิต' บิดเบี้ยว : สกู๊ปบันเทิง

 
          ความรัก ความแค้น ความพินาศ และจุดจบจากผลของการกระทำ ผ่านความสะใจระคนก่นด่าของผู้ชม ถูกถาโถมใส่ตัวละครชื่อ "แย้ม" จากละครเรื่อง "สุดแค้นแสนรัก" อย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาที่ออกอากาศทางช่อง 3 นำแสดงโดย "ต๊งเหน่ง" รัดเกล้า อามระดิษ 
 
          ปฏิเสธไม่ได้ว่าละครเรื่องนี้เหมือน "ม้านอกสายตา" ก่อนลงแข่งขันดูไม่โดดเด่น แต่โดยเนื้อแท้เป็นม้าฝีเท้าดี จากบทประพันธ์ของ "จุฬามณี" ที่ถูกเคี่ยวจนเข้มข้นออกมาเป็นบทละครจากฝีมือของผู้เขียนบทชั้นครู "ยุ่น" ยิ่งยศ ปัญญา  
 
          สุดแค้นแสนรัก เป็นหนึ่งในตัวอย่างของละครที่มี "จุดแข็ง" ครบถ้วน คือ "บท" และ "นักแสดง" ดีและเหมาะสม แต่กลับอยู่นอกกระแสความสนใจ เพราะพระเอกนางเอก ไม่ใช่นักแสดงในกระแส "คู่จิ้น" ตามสมัยนิยมของโลกยุคโซเชียล 
 
          ทว่าพอละครออกอากาศกลับทำให้ "วัยรุ่น" ยุคโซเชียล แท็กทีมกันเลือกข้างนักแสดงนำ ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ อาทิ "แหม่ม" จินตหรา สุขพัฒน์ "โดนัท" มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล "เบนซ์" พรชิตา ณ สงขลา "น้ำฝน" กุณณัฏฐ์ กุลปรียาวัฒน์ "น็อต" วรฤทธิ์ เฟื่องอารมย์ "โฬม" พัชฏะ นามปาน  ซึ่งกระแสเหล่านี้ชี้วัดความ "นิยม" โดยไม่ต้องอิงกระแสโปรโมท เพราะองค์ประกอบทุกอย่างที่ลงตัว ส่งผลให้ละครเรื่องนี้ "ฮอตฮิต" อย่างไม่ต้องสงสัย  
 
          มาดูในส่วนของนักแสดงรุ่นลูก ที่เลือกใช้เป็นนักแสดงหน้าใหม่เกือบยกเซต แถมยังแบ่งเป็นนักแสดง 2 รุ่น คือรุ่นลูกตอนเด็ก และรุ่นลูกตอนโต ซึ่งเชื่อว่าตอนนี้ชื่อของ ยงยุทธ ("เพื่อน" คณิน ชอบประดิถ) ธนา ("อาโป" ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์) หทัยรัตน์ ("ชิปปี้" ศิรินทร์ ปรีดียานนท์) ระพีพรรณ ("โมนา" โมนา อนุธิดา อิ่มทรัพย์) ปวริศ ("เต๋า" เศรษฐพงศ์ เพียงพอ) ลือชัย ("แบงค์" อาทิตย์ ตั้งวิบูลย์พาณิชย์) น่าจะอยู่ในใจของใครหลายคน 
 
          แม้นักแสดงเหล่านี้จะมีประสบการณ์น้อย แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ พวกเขาแสดงออกมาได้ค่อนข้างดี ส่วนคนที่เล่นดีมากจนต้องชื่นชมคือ "แบงค์" อาทิตย์ ในบท ลือชัย แม้บทจะน้อยแต่กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังมากมายมหาศาล ส่วน "เพื่อน" คณิน ในบท ยงยุทธ ต้องบอกว่าเพื่อนทำได้เฉยๆ ในช่วงแรก ติดจะแข็งทื่อ แต่มาพีคทุกครั้งในฉากอารมณ์ที่ต้องสูญเสียคนที่รักในชีวิตไป ถือว่าทำได้ดี ซึ่งความสำเร็จของนักแสดงเหล่านี้ คงต้องปรบมือให้ผู้กำกับอย่าง "หนุ่ม" กฤษณ์ ศุกระมงคล  
 
          สุดแค้นแสนรัก ให้ความบันเทิงรสแซบที่คนทุกระดับจับต้องได้ เป็นเรื่องที่คนดูรู้สึกว่าสามารถสัมผัสได้ในชีวิตจริง ที่ผู้เขียนขยี้ให้ตัวละครที่เป็นทั้ง "ผู้ถูกกระทำ" และ "ผู้กระทำ" ต้องเผชิญหน้ากับชะตากรรม สุดแท้แต่ว่าใครจะเลือกทางออกให้กับชีวิตอย่างไร 
 
          "แย้ม" เป็นตัวละครที่สร้างผลกระทบให้ทุกคนในเรื่องด้วยความแค้น ความเห็นแก่ตัว ยึดมั่นในฐิฑิ และไม่เคยรู้จักคำว่า "ปล่อยวาง" ผิดหรือถูกตัวเองเป็นคนตัดสิน แถมยังบ่มเพาะและยัดเยียดความจริงอันผิดเพี้ยนให้แก่ลูกหลาน หากจะควานหาความดีงามของ "แย้ม" ที่อาจมีอยู่บ้าง คนดูอาจเห็นความรักที่มีต่อลูกหลานทุกคน  ซึ่งผู้เขียนบทโทรทัศน์มือฉมังของเรื่องนี้ "ยุ่น" ยิ่งยศ ปัญญา ได้บอกกับหน้าบันเทิง นสพ.คมชัดลึกเอาไว้ว่า 
 
          "ที่พูดปาวๆ ว่ากูทำเพื่อลูกหลาน พูดเพื่อจะให้ตัวเองมีข้ออ้างส่งเสริมให้พฤติกรรมของตัวเองถูกต้องชอบธรรม ต้องวิเคราะห์ว่า คนแบบนี้ จะว่าไป คือคนประเภท มือถือสากปากถือศีล คนไทยบางคนก็เป็นแบบนี้ ไปวัดไปทำบุญ ต้องสร้างบุญใหญ่มากกว่าใคร แต่จริงๆ แล้ว ตัวเองได้ชำระล้างจิตใจจริงๆ แล้วหรือยัง คือสิ่งที่ซ่อนอยู่ คนดูต้องไปคิดต่อ แย้มเลี้ยงลูกหลาน ก็เพื่อบำบัดสิ่งที่อยู่ในใจตัวเอง เช่น ให้ยงยุทธเข้าแพทย์ ก็เพื่อความต้องการของตัวเอง สิ่งที่เป็นตัวตนของแย้ม ต่างสะท้อนมาสู่ลูกหลาน" ยุ่นกล่าว 
 
          นอกจากนี้ ยิ่งยศ ยังได้พูดถึง แย้ม ตัวละครที่เขาขยี้บทจนดังระบิดเถิดเทิงอยู่ในช่วงเวลานี้ว่า  
 
          "แย้ม คือต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด แย้มนึกว่าตัวเองเหนือกว่าใครๆ โดยพื้นฐาน แย้มคิดว่าตัวเองเก่งกว่า รวยกว่า เหนือกว่า ลักษณะของคนแบบนี้ ชีวิตไม่เคยมีความสุขหรอก ชีวิตฝั่งแน่นกับสิ่งที่ต้องการเอาชนะ สุดท้ายกรรมก็ตามสนอง" ยุ่ยกล่าว
 
          เมื่อหันมาดูอีกฝั่ง ที่ตรงกันข้ามครอบครัวของ อ่ำ (แหม่ม) ที่ถูกแย้มนำไฟแค้น โยนใส่ตลอดเวลา แต่อ่ำรู้จักผิดชอบชั่วดี และรู้จัก "วางใจ" ให้เป็น เหมือนที่อ่ำอธิบายให้ ระพีพรรณ หลานสาว รักพ่อ และให้รู้สึกสำนึกบุญคุณผู้ให้กำเนิด โดยมองข้ามความเจ็บปวดของครอบครัวก่อนหน้านี้ ที่ลือพงษ์ (น็อต) พ่อของ ระพีพรรณ ทิ้ง "อุไร" (เบนซ์) ลูกสาวของตัวเองทั้งที่ตั้งท้อง ไปแต่งงานกับ พะยอม (น้ำฝน) โดยมีแย้มเป็นคนวางแผนสร้างเรื่องให้เกิดความเข้าใจผิด อ่ำจึงเปรียบเสมือน "ผู้ใหญ่ที่ดี" สอนให้เด็กรู้จัก "คิดดี" อุดรูโหว่เรื่อง "พ่อ" ในใจของหลานจนหมดสิ้น  
 
          ระพีพรรณ โชคดีที่มียายอย่างอ่ำคอยเป็นคนถือขันน้ำไว้ดับไฟ เวลาที่อุไรทั้งรักทั้งแค้น ลือพงษ์ แล้วสอนให้ลูกเกลียดพ่อ ทำให้เด็กอย่าง ระพีพรรณ รู้จักคิด แตกต่างจากยงยุทธ ที่เกิดมาพร้อมความ "ขาด" ในจิตใจมาตลอด ถึงแม้ย่าอย่างแย้มจะพยายามเติมให้เต็ม แต่รอยด่างเรื่องแม่ที่แย้มสอนให้ยงยุทธเกลียด ทั้งที่แม่ไม่มีความผิด กลายเป็นความผิดบาปไม่มีวันจางหาย 
 
          หาก สุดแค้นแสนรัก เป็นตัวแทนจากสองครอบครัว ในสังคมเล็กๆ เราจะเห็นภาพสะท้อนคติมากมาย ที่มีมากกว่า "ความรัก" และ "ความแค้น" บางครั้งเราจะเห็นว่า "ผู้ถูกกระทำ" อย่างอ่ำ ครอบครัวที่ดูเหมือน "ผู้แพ้" ในสายตาของ แย้ม สุดท้ายพวกเขา "ไม่เคยแพ้" 
 
          ต่างจากแย้ม ที่ใช้ความแค้นเป็นตัวขับเคลื่อนและคุกคามคนอื่น เพื่อให้สาแก่ใจ แย้มเป็นคนเก่ง แต่ไม่ใช่คนเก่งที่เป็นคนดี บทสรุปสุดท้าย "แย้ม" ไม่เคยเอาชนะ ใครได้เลย แม้แต่ตัวเอง แย้มใช้หัวใจคนอื่นเป็นเครื่องบำบัดความแค้น ใช้ "จิตใจ" ของหลานชายอย่าง ยงยุทธ เป็นเครื่องมือสนองความต้องการ 
 
          มาถึงวันนี้เรตติ้งละครม้ามืด อย่างสุดแค้นแสนรัก นำพาเรตติ้งให้ช่อง 3 สูงลิ่ว เกือบๆ จะถึงเลข 10 แค่เพียงนิดเดียว และคาดว่า โค้งสุดท้ายของเรื่องนี้ จะต้องทะลุเลขสองตัวอย่างแน่นอน ซึ่งนักเขียนบทโทรทัศน์มือรางวัล บอกว่าไม่ใช่เรื่องประหลาดใจ ตอนที่เขาเริ่มเขียนบท เขาก็มีความเชื่อมั่นว่า คนดูต้องสนุกอย่างแน่นอน
 
          "ต้องชื่นชมบทประพันธ์ เส้นโครงเรื่องนี้แข็งแรงมาก สามารถนำพาคนดูไปได้ถึงตอนจบ เรื่องนี้เป็นชีวิตของคนจริงๆ เราก็จะเบื่อหน่ายกับละครพาฝัน เราต้องกระชากคนดูกลับมาสู่ความเป็นจริงของคนไทย บรรยากาศแบบคนไทย สิ่งที่อยู่รอบตัว วิถีชีวิตของคนบ้านนอก มาถึงวันนี้ได้รับการตอบรับที่ดี ถือว่าละครได้ทำหน้าที่ของมัน ซึ่งนอกจากความสนุก เมามันแล้ว มันต้องเกิดความวิพากษ์ในสังคม เป็นจุดเริ่มต้น ของการวิเคราะห์กัน  แบ่งฟาก เข้าข้างคนโน้น คนนี้ คนดูต่างได้ชั่งตวงวัดความคิด ความถูกผิดของตัวละคร คนดูได้มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการชำระล้างจิตใจ ที่เขาว่ากันว่าดูละครแล้วย้อนดูตัว ไม่ใช่แค่สนุกไปเรื่อยเปื่อยแต่เพียงอย่างเดียว ถือว่าละครประสบความสำเร็จแล้ว บรรลุเป้าหมายของผู้ทำละคร" ผู้เขียนบทกล่าว
 
          สุดท้ายถามผู้เขียนบทโทรทัศน์ว่า คิดว่าคนดูจะได้อะไรจากละครเรื่องนี้ ยิ่งยศบอกกับเราว่า "แล้วแต่มุม ว่าคนดูจะเก็ทกับอะไร มันแล้วแต่คน แล้วแต่ประสบการณ์ชีวิต มันกระจายทั่วไปหมด แต่ที่แน่ๆ ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว แต่ละคนมีชีวิตของตัวเอง ไม่มีใครเป็นเจ้าของใคร ปลงเสียเถอะโยม ทุกคนล้วนมีชีวิตของเขา แม้เราจะเป็นพ่อเป็นแม่ก็ตาม อย่าไปคาดหวังมากเกินไป มันจะกลายเป็นความทุกข์"ยิ่งยศกล่าวเอาไว้ 
 
          แย้มรักยงยุทธ แต่รักโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง สุดท้าย ยงยุทธ เด็กผู้ชายดีงามคนหนึ่ง ต้องแบกรับความทุกข์ที่ผู้ใหญ่สร้างเอาไว้ ชีวิต "เสียศูนย์" เพราะความ "สูญเสีย" กลายเป็นผลผลิตอันบิดเบี้ยว จากเศษกรรมของ "ผู้ใหญ่" ชื่อ "แย้ม"


 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ