บันเทิง

แม่นาค เดอะ มิวสิคัล ตำนานไม่มีวันตาย ความรักไม่มีวันสลาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไม่ว่าตำนานความรักของแม่นาคกับพ่อมากแห่งบางพระโขนงจะมีอยู่จริงหรือไม่? เรื่องราวที่เล่าขานกันมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ จะถูกนำมาขับกล่อมผ่านมหรสพ หลายรูปลักษณ์ ต่างรูปโฉมโนมพรรณกันไปมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่ความทรงจำเกี่ยวกับผีร้ายอาละวาด ‘แม่นาค’ ‘ย่านาค’

 ส่วนรูปแบบศิลปะการแสดงเก่าแก่อย่าง “ละครร้อง” กลุ่มละครดรีมบ็อกซ์ได้บันทึกเอาไว้ในสูจิบัตรประกอบการชมละครเวทีเรื่อง “แม่นาค เดอะ มิวสิคัล” ไว้ว่า ‘พระบิดาแห่งละครร้อง’ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระนิพนธ์บทละครร้องเรื่อง “อีนากพระโขนง” เอาไว้เมื่อราวปี พ.ศ. 2457

 เวลาล่วงมาเกือบ 100 ปี ละครร้อง “แม่นาค” ที่ครานี้เรียกขานกันใหม่ตามสมัยนิยมว่า ‘มิวสิคัล’ จะถูกปลุกขึ้นมาให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่คุณค่าแห่งความเป็นงาน ‘ศิลปะชั้นสูง’ ดูเหมือนจะยังคงอยู่ครบครัน มีการเพิ่มมิติให้แก่ตัวละครหลากหลายแง่มุม ทั้งยังสะท้อนประเด็นทางสังคมเมื่อร้อยกว่าปีก่อนได้อย่างน่าสนใจ อันนำมาซึ่งเหตุและผลได้อย่างมีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่า เพราะเหตุใด ‘วิญญาณผีตายทั้งกลม’ ตนนี้ถึงได้เฮี้ยนนัก

 เรื่องราวของ “แม่นาค เดอะ มิวสิคัล” ถูกนำมาตีความใหม่ภายใต้บริบทสังคมชนบทไทยสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นสังคมปิดที่หญิงต้องทำงานหนัก ละวางเรื่องการศึกษา ต้อนวัวต้อนควายลงนาคือหน้าที่หลักประจำวัน แต่สำหรับ ‘นาค’ หญิงสูงศักด์ บุตรขุนประจันที่หนีตาม ‘มาก’ ชายคนรักจากอยุธยามายังทุ่งพระโขนง แต่กลับถูกรังเกียจจากแม่สามีและหญิงสาวละแวกบ้าน เหตุที่เธอถูกมองเป็นผู้ดีจับจรด หาใช่หญิงใช้แรงงานดุจชนชั้นเดียวกัน (แม้ ‘นาค’ จะพยายามบอกทุกคนว่าเธอรู้หนังสือ อ่านออกเขียนได้) แต่ก็ไร้คุณค่าหากเทียบกับการลงมือทอผ้าสักผืน

 บทละครช่วงนี้สนุกกับการยั่วล้อเพศหญิงในสังคมยุคนั้น เมื่อเหล่าบรรดาตัวละครสาวชาวบ้านร้องเพลงแดกดันการทำงานหนักของตัวเองเปรียบได้กับวัวควายอย่างสนุกสนานครื้นเครงในฉากเปิดตัว ‘แม่เหมือน’ และ ‘สายหยุด’ หน้าลานบ้าน หรือการสะท้อนค่านิยมกดขี่เพศหญิง ในฉากอันน่าสลดใจฉากหนึ่ง เมื่อ ‘แม่เหมือน’ ปฏิเสธที่จะให้หลานสาวตามหมอตำแยมาทำคลอดให้ลูกสะใภ้ ผ่านบทเพลงแห่งความจงเกลียดจงชังอย่าง ‘ลูกหมาลูกควายคลอดได้เอง’ (แล้วทำไมคนอย่าง ‘นาค’ จะคลอดลูกเองเยี่ยงสัตว์ไม่ได้) และถ้าคนในบางพระโขนงจะรุมทำร้ายเธอขนาดนั้น ไฉนเลยจึงไม่ต้องสงสัยว่า เมื่อเธอตายกลายเป็นภูตผี วิญญาณของ ‘นาค’ ถึงได้ดุร้าย อาละวาดหลอกหลอนคนที่มาเกาะแกะวุ่นวายกับโลกของเธอ...

 ‘โลกนี้สร้างขึ้นจากความรักมั่น   พื้นกระดานแทนความผูกพันแน่นหนา
ฝาบ้านแทนความอบอุ่นใจในอุรา  หลังคาแทนสัญญาที่มีต่อกัน
คานขื่อคือความมั่นใจในรักแท้   ว่าจะไม่เปลี่ยนแปรพลิกผัน
เสาเรือนคือรักที่ค้ำใจไว้นิรันดร์   โลกของฉันจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง"

 บทร้องที่เต็มไปด้วยสัมผัสคล้องจอง คลอเคล้าเสียงดนตรีเครื่องสีเครื่องสายเครื่องเคาะเครื่องเป่า กรุ่นกลิ่นอายตะวันออก แม้หลับตาฟังก็ยังได้บรรยากาศของท้องทุ่งลำคลอง 

 เสียงร้องก้องกังวานของ  ‘น้ำมนต์’ ธีรนัย ณ หนองคาย ผนวกกับน้ำเสียงหวานใสเปรียบได้ดังผลึกแก้วเจียระไน ทุกวลีจากถ้อยคำที่เอื้อนเอ่ยผ่านไปถึงผู้ชม ทั่วทุกตำแหน่งแห่งหนในโรงละคร ราวถูกสะกดให้ต้องมนต์แห่งสำเนียงเพรียกคนรักของหญิงสาวหัวใจร้าวราน ไม่มีเพลงไหนที่แสดงให้เห็นถึงพลังเสียงที่ลดน้อยถอยลงไปเลยแม้แต่น้อย ตลอดการแสดงกว่า 3 ชั่วโมง เช่นเดียวกับ ครูอ้วน มณีนุช เสมรสุต ประสบการณ์ที่คร่ำหวอดยาวนาน

 ละครเวทีเรื่องนี้ ‘ครูอ้วน’ แสดงให้เราได้เห็นว่า วิญญาณแห่งศิลปินที่แท้จริงนั้นไม่เคยเหือดหาย ลดน้อยถอยลดลงไปแม้แต่น้อย ทุกฉากทุกตอน ที่มีเธอปรากฏกายเปล่งเสียงร้อง ช่างเต็มไปด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญที่สั่งสมในฐานะครูผู้พร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหาจนได้ดิบได้ดีมากมาย พลังที่สอดผสานไปกับน้ำเสียงที่สื่อได้ถึงทุกอารมณ์ ทั้งโกรธเกลียด รักหลง โดยเฉพาะการแสดงที่ส่งผ่านอารมณ์ความห่วงหวงของผู้เป็นแม่ที่มีต่อลูกชายได้อย่างน่าทึ่ง รวมถึง รัดเกล้า อมระดิษ, ณัฏฐพัชร วิพัธครตระกูล (ปุยฝ้าย เอเอฟ 4), นรินทร ณ บางช้าง, เด๋อ ดอกสะเดา ที่เราได้เห็นถึงพลังแห่งความตั้งใจ และจรดจ่อต่อบทบาทของตัวละครที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างไร้ที่ติ แนบเนียน สร้างเสน่ห์และสีสันได้อย่างน่าสนใจไม่แพ้กัน

 ในฉาก ‘เรือแห่งมรณา’ คือความสามารถในการใช้ศาสตร์แห่งศิลปะการละคร แทรกผ่านความบันเทิงที่เข้าถึงง่ายได้อย่างลงตัว เป็น ‘Motif’ ที่ชี้ให้เห็นด้านสวยงามของชีวิตหลังความตาย จนทำให้ ‘นาค’ เดินทางกลับไปสู่ปรโลกอย่างสงบ

 สรุปโดยรวมแล้ว “แม่นาค เดอะ มิวสิคัล” คือละครเวทีชั้นดี ทั้งในเชิงให้คุณค่าหากเพ่งพินิจในลักษณะของงานศิลป์ หรือเป็นสิ่งบันเทิงเริงใจที่ได้ทั้งสาระ แง่คิด นอกจากสนุกสนานซาบซึ้งประทับในทุกๆ ฉาก การซื้อตั๋วเข้าไปดูละครเรื่องนี้คือการให้กำลังใจแก่คนตั้งใจทำงานดีๆ อย่าปล่อยให้พวกเขาโดดเดี่ยวหมดเรี่ยวแรง เพราะสังคมไทยยังต้องการงานศิลปะ เพื่อกล่อมเกลาจิตใจผู้คนอีกเยอะครับ

ชื่อเรื่อง : ละครเวที “แม่นาค เดอะ มิวสิคัล”
ผู้เขียนบท : ดารกา วงศ์ศิริ
ผู้กำกับ : สุวรรณดี จักราวรวุธ
นักแสดง : ธีรนัยน์ ณ หนองคาย...นาค
     วรฤทธิ์ เฟื่องอารมณ์....มาก
     มณีนุช เสมรสุต...เหมือน (แม่มาก)
     รัดเกล้า อมระดิษฐ์ / อรวรรณ เย็นพูนสุข...ทองคำ (แม่นาค)
     นรินทร ณ บางช้าง...หมอตำแย
     เด๋อ ดอกสะเดา...สัปเหร่อ
     ณัฏฐพัชร วิพัธครตระกูล...สายหยุด


เปิดแสดง : 3 - 5 , 10 - 12 , 17 - 19 กรกฎาคม 2552
ศุกร์รอบ 19.30 น. เสาร์รอบ 14.00 น. และ 19.30 น. อาทิตย์รอบ 14.00 น.
ณ โรงละคร M Theatre ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ ราคาบัตร 700 ,1,000, 1,200, 1,500, 1,800, 2,000
จำหน่ายบัตรที่ Total Reservation 0-2833-5555 หรือ ดรีมบอกซ์ 0-2715-3547-9

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ