บันเทิง

'ดิ อิมพอสซิเบิ้ล'ตำนานวงสตริงคอมโบไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ดิ อิมพอสซิเบิ้ล'ตำนานวงสตริงคอมโบไทย : คอลัมน์ เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย โดย... โชคชัย เจี่ยเจริญ

 
          46 ปี หลังชนะเลิศการประกวดวงดนตรี สตริงคอมโบ้ชิงถ้วยพระราชทาน ครั้งแรกวงดนตรีนี้ก็ยังควรค่าแก่กล่าวถึงในฐานะตำนานวงดนตรีที่ยังมีชีวิต อิทธิพลจากยุคดนตรี ร็อก แอน โรล และเป็น โรลโมเดล ให้กับนักดนตรียุคหลัง 
 
          พ.ศ. 2509 ถึง พ.ศ. 2512 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ในยุคนั้น คลาคล่ำไปด้วยสถานบันเทิง ที่มีนักดนตรีอาชีพ เล่นประจำเด่นๆ อยู่หลายวง การเล่นดนตรีอาชีพ ย่านเพชรบุรี คือเวที ที่วงดนตรีสามารถแสดงออก ให้ทหารอเมริกันที่มารบในสงครามเวียดนาม มาเที่ยวผ่อนคลาย  ดิ อิมพอสซิเบิ้ล วงดนตรีที่เป็นตำนาน วงดนตรี สตริง คอมโบ ยุคแรกของวงการเพลงไทย พัฒนาทักษะของตัวเองใด้เป็นอย่างดี ผ่านประสบการณ์การเล่นดนตรีกันมาหลายปี 
 
          โดยมีสมาชิกยุคก่อตั้งวง ประกอบไปด้วย เศรษฐา ศิระฉายา (ต้อย), วินัย พันธุรักษ์ (ต๋อย), พิชัย ทองเนียม (แดง),สุเมธ แมนสรวง, อนุสรณ์ พัฒนกุล (แตง) ก่อตั้งวงประมาณปี พ.ศ. 2509 โดยใช้ชื่อว่า Holiday J-3 เล่นเพลงสากลที่โด่งดังในสมัยนั้น อย่าง คลิฟ ริชาร์ด, เอลวิส เป็นต้น
 
 
          ทริปเปิ้ลแชมป์ ประกวดวงสตริงคอมโบแห่งประเทศไทย
          สตริงหรือสตริงคอมโบ (String combo) คือวงดนตรีขนาดเล็ก โดยเครื่องดนตรีหลักๆ มักประกอบไปด้วยทรัมเป็ต แซกโซโฟน ทรอมโบน เปียโน กีตาร์ เบส กลอง อาจมีเครื่องเคาะอื่นๆ เพื่อเพิ่มสีสัน  
 
          โอกาสของวงดิ อิมฯ เริ่มต้นอีกครั้งที่ปี พ.ศ. 2512 นริศร์ ทรัพย์ประภา ครูเพลงชักชวน วง จอย รีแอ็กชั่น เข้าแข่งขันการประกวดสตริงคอมโบ้ถ้วยพระราชทานฯ แล้วก็ไม่ผิดหวัง เพราะรางวัล ชนะเลิศ ประเภทวงดนตรีอาชีพ และต่อเนื่อง ต่อมาอีก 2 ครั้ง ในปี 2512, 2513, 2515 (ในปี 2514 เว้นการแข่งขัน) โดยสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยนอกจากชนะเลิศในประเภทวงดนตรีแล้ว อนุสรณ์ พัฒนกุล (แตง) ยังได้รับเหรียญพระราชทานฯ ตำแหน่งมือกลองยอดเยี่ยมในการแข่งขันปีแรกอีกด้วย
 
 
          เพลงประกอบภาพยนตร์เกือบ 50 เพลง
          ก่อนจะมีอัลบั้มของวง ดิ อิมฯ มีผลงานสู่สารธารณะผ่านแผ่นฟิล์ม ในภาพยนตร์ ของนักวาดใบปิดหนังเบอร์ต้นของประเทศ ที่ตัดสินใจหันมาจริงจังในการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เพลง “เริงรถไฟ” จากเรื่องโทน คือ เพลงประกอบเรื่องแรก ที่ดิ อิมฯ ได้ทำเป็นเพลงแรก ในปี 2512 และตามมาด้วยเพลงประกอบภาพยนตร์ตามมาอีกเกือบ 50 เพลง จากภาพยนตร์ประมาณ 24 เรื่อง ในช่วง ปี 2512-2519 เฉลี่ยแต่งเพลงให้เรื่องละ 1-5 เพลง โดยมีเพลงดังจากภาพยนตร์ เช่น โอ้รัก จากเรื่องชื่อเดียวกัน (2515) เพลงหนาวเนื้อ จาก เรื่อง ดวง, ทะเลไม่เคยหลับ จากเรื่อง สวนสน (2514) และอีกมากมาย และช่วงประมาณ 2519 เกือบจะมีภาพยนตร์ที่เป็นชื่อเพลง คือชื่อวง คือ เรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่ สร้างไม่สำเร็จ ก็ต้องเลิกล้มไป
 
          ทัวร์ต่างประเทศ ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2517 - 2519 ดิ อิมฯ มีโอกาสเดินทางไปเล่นดนตรีที่ต่างประเทศ ทั้งสวีเดน, ฟินแลนด์, ฮาวาย, สวิตเซอร์แลนด์ เต๋อ เรวัติ พุทธินันทน์ ถูกชักชวนเข้ามารับหน้าที่ ร้องนำ และ เล่น คีบอร์ด ช่วงนั้นทางวงเดินทางกลับมาเมืองไทยเป็นระยะ ซึ่งการกลับมาในช่วงนั้น ก็ดูจะเป็นช่วงเวลาที่ต้องเล่นดนตรีหนักมากกว่าที่จะกลับมาพักผ่อน เพราะความคิดถึงของแฟนเพลง เพื่อนฝูง จึงทำให้ต้องวิ่งเล่นดนตรีคืนละ 2-3 ที่ด้วยกัน ทั้งโรงแรมมณเฑียร, ทอปเปอร์ คลับ, แมนฮัตตัน คลับ 
 
          อัลบั้มเต็ม 4 ชุด  1. เป็นไปไม่ใด้ 2515, 2. หมื่นไมล์ แค่ใจเอื้อม 2516, 3. Hot Peper (2519), กลับมาแล้ว (2535)
 
          ช่วงประมาณปี 2520 ดิ อิมพอสซิเบิ้ลตัดสินใจยุติวง โดยฝากผลงานไว้ให้คนรุ่นหลังกล่าวขาน และ รับรู้ผ่านเพลงของพวกเขา เป็นแรงผลักดันให้วงรุ่นใหม่ ๆ เจริญรอยตามแนวทางที่นักดนตรี รุ่นพี่ ที่แผ้วทางเอาไว้ก่อน
 
          จากแนวคิดที่จะกลับมารวมตัวกันที่เริ่มเกิดขึ้นในช่วงปี 2531 แต่ยังไม่สะดวกในเรื่องการโปรโมท และอื่นๆ เป็นต้นความคิดที่มาสำเร็จในปี 2535 โดยเป็นการนำเพลงเก่ามาเรียบเรียงและบันทึกเสียงใหม่ ถึงแม้จะเป็นช่วงดนตรี ที่ ระบบ Midi และกลองไฟฟ้า เข้ามามีบทบาท แต่ความสามารถของสมาชิกนั้นยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความงดงาม ทั้งเรื่องการร้อง เสียงของ เศรษฐา ศิระฉายา และ วินัย พันธุรักษ์ ยังไพเราะเหลือเกิน โดยเฉพาะการเรียงเรียงเพลง โดย อาจารย์ ปราจีน ทรงเผ่า มือเรียงเรียงเพลงที่มีความรู้ความสามารถในแบบเพลงสมัยนิยมนั้น ทำให้อัลบั้มชุดนี้เป็นงานที่ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา และ ชื่นชมในความสามารถของสมาชิกทุกคนได้อย่างดี
 
          อีกไม่กี่วันข้างหน้าแฟนเพลงจะได้ฟังเสียงร้องไพเราะที่คุ้นเคยอีกครั้งกับ คอนเสิร์ต เศรษฐา ศิระฉายา 70 ยังแจ๋ว ในวันพุธที่ 5 พฤศจิกายน 2557 ณ Royal Paragon Hall พร้อมแขกรับเชิญทั้งรุ่นใหญ่รุ่นใหม่เต็มเวที 
 
          โลกของความคิดสร้างสรรค์ โลกของศิลปะ และในโลกของวงการดนตรีเมืองไทย ขอคารวะ และขอบคุณในความสวยงามของเพลงทุกเพลง ที่พี่ๆ ที่ทำให้ชีวิตคนฟังเพลงมีคุณค่า และความสุข ตรงข้ามกับชื่อวงที่ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะจนถึงวันนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่า ทุกอย่างเป็นไปใด้
 
.......................................
(หมายเหตุ 'ดิ อิมพอสซิเบิ้ล'ตำนานวงสตริงคอมโบไทย : คอลัมน์ เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย โดย... โชคชัย เจี่ยเจริญ)
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ