บันเทิง

เอกเขนกดูหนัง:'คิดถึงวิทยา'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'คิดถึงวิทยา' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม

 
          จากพล็อตบางๆ ที่ว่าด้วยครูหนุ่มสาวสองคน เดินทางไกลไปสอนหนังสือเด็กยังโรงเรียนแพกลางน้ำ ทั้งคู่ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน แต่กลับเหมือนรู้จักกันดี ผ่านทางสมุดไดอารี่ที่แต่ละคนบันทึกเรื่องราวของตนเอาไว้
 
          เส้นเรื่องหลักของหนัง “คิดถึงวิทยา” ดูจะมีแค่นี้จริงๆ ส่วนพล็อตรองที่ว่าด้วยความเหงาหรือรักร้างเพราะความห่างไกลก็ดูเหมือนจะไม่ได้สลักสำคัญอะไรนักเพราะบทหนังไม่ได้แจกแจงรายละเอียดใดใดลงไปมากกว่านี้ ไม่มีกระทั่งแรงจูงใจของตัวละครว่า เหตุใดเขาและเธอ ต้องพยายามดั้นด้นเดินทางไปสอนเด็กไกลถึงโรงเรียนแพกลางน้ำ หรืออุดมการณ์อันแรงกล้าของความเป็นครูเกิดเดือดปะทุขึ้นมาตอนใด สาเหตุจากอะไร หนังก็ละเลยแทบไม่มีฉากไหนอธิบายที่มาแม้แต่น้อย...แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นไม่ได้หมายความว่า “คิดถึงวิทยา” เป็นหนังเห่ยๆ แย่ๆ ที่เต็มไปด้วยความผิดพลาดบกพร่อง เพราะเอาเข้าจริงตลอดเวลาร่วมสองชั่วโมง ความสามารถในการเล่าเรื่องของผู้กำกับ จับจังหวะ วางทิศทาง ตลอดจนคัดกรองทุกองค์ประกอบในความเป็นหนังรักมารวมกันไว้ได้อย่างลงตัว รวมถึงชั้นเชิงทางการแสดงชนิดหาตัวจับยากของ พลอย เฌอมาลย์ ในบท "ครูแอน" ได้ทำให้ “คิดถึงวิทยา” ขยับเข้าใกล้คำว่าหนังดีที่น่าประทับใจ อันเป็นเส้นทางไกลโขจากจุดเริ่มต้นของบท 
 
          แม้หนังจะไม่ได้แจงที่มาที่ไปว่าทำไมอดีตนักกีฬามวยปล้ำถึงอยากจะมาเป็นครู และเหตุใดสาวมั่นแสนสวยรวยเสน่ห์ผู้มีรอยสักรูปดาวตรงข้อมือถึงตัดสินใจถ่อไปสอนเด็กๆ ในที่ห่างไกลเพียงมากไปกว่าต้องการลบคำสบประมาทของผู้อำนวยการโรงเรียนเท่านั้น เมื่อตัดภาพไปในฉากถัดมา ระหว่างเรือหางยาวแล่นอย่างอ้อยอิ่งพาครูสองคนมาตามลำน้ำ ดนตรีเมโลดี้หวานๆ ก็ดังเคลียคลอให้ความรู้สึกเหมือนกำลังพาเราเดินทางไปยังโลกอีกใบ งานด้านภาพที่ถ่ายทอดให้เห็นทั้งความเวิ้งว้างของสายน้ำเหนือเขื่อน มีบ้านเรือนแพหลังเล็ก หลังน้อยลอยกระจัดกระจายห่างๆ กันออกไปตัดสลับกับธรรมชาติสวยๆ บนฝั่ง รวมไปถึงเกาะแก่ง ตลอดจนบรรยากาศของวิถีชีวิตผู้คนริมน้ำ ก็ช่วยสร้างชีวิตชีวาให้หนังขึ้นมาทันที ก่อนเรือจะแล่นมาเทียบแพโรงเรียนที่ดัดแปลงเป็นที่พักไปด้วยในตัว ถือเป็นฉากเปิดเรื่องของทั้งสองตัวละครสำคัญ ที่แม้จะปรากฏตัวต่างเวลา แต่พวกเขาก็เดินทางมาด้วยจุดหมายเดียวกัน (แม้เราจะไม่ค่อยเข้าใจว่า ทำไมสองคนถึงอยากมาเป็นครู ในที่ห่างไกลนัก)
 
          แม้บทหนังปูพื้นตัวละครอย่างหลวมๆ แค่ว่า ครูสองเป็นนักมวยปล้ำปลดระวาง ที่มาขอทำงานเป็นครูอัตราจ้าง ซึ่งอันที่จริง อดีตนักกีฬาทีมชาติอย่างเขาสามารถหางานทำที่ดีกว่านี้ได้ (มีหลายฉากบนโรงเรียนแพ ที่สองใส่เสื้อวอร์มทีมชาติ) อีกทั้งยังถูกปรามาสจากแฟนสาวในวันที่ตัดสินใจจากเธอมา สิ่งที่บทหนังให้ความสำคัญมากกว่าคือการใส่ใจในรายละเอียดของตัวละครระหว่างใช้ชีวิตบนแพ โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายของพวกเขาได้ถูกสะท้อนหรือเชื่อมโยงไปถึงการเติบโต (อาจจะในทางวุฒิภาวะหรือจิตวิญญาณ) ของตัวละคร และการเป็นที่ยอมรับไปพร้อมๆ กัน 
 
          การใช้ชีวิตบนโรงเรียนแพของครูสองและครูแอนตอนแรกนั้น สถานะของทั้งคู่ต่างเป็นเหมือนคนนอกแปลกแยก ต่างถิ่นจากชุมชนริมน้ำ ครูสองข้อมือซ้นจากการพยายามขับเรือ จนต้องพันผ้าประคองแขนไว้ตลอดทั้งเรื่อง ส่วนครูแอนก็เป็นผื่นคันที่ต้นแขนเพราะแพ้น้ำ รอยแผลของครูแอน หายเร็วกว่าเพราะเธอสามารถปรับตัวและใช้ชีวิตบนเรือแพกับเด็กๆ อย่างมีความสุขในชั่วเวลาสั้นๆ แต่ครูสองไม่เพียงข้อมือจะอักเสบบวมช้ำหนักกว่าเดิมจนต้องไปหาหมอเข้าเฝือก ช่วงเวลานั้นดูเหมือนเขายังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเด็กๆ และไม่อาจทำความเข้าใจในกระบวนการสอนของวิชาชีพครูได้ดีพอ จนได้พบไดอารี่ของครูแอนที่เขียนบันทึกทุกอย่างไว้ในนั้น ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของเธอและเด็กๆ บนเรือ รวมถึงเรื่องส่วนตัว ซึ่งก็ได้ช่วยครูสองให้เรียนรู้ ปรับตัวและรู้จักครูแอนไปด้วยในเวลาเดียวกัน 
 
          หนังสะท้อนการมีอยู่และเรียนรู้ของตัวละครได้อย่างน่ารักน่าชัง ลายมือขยุกขยุยของครูสองที่เขียนด้วยมือข้างซ้ายเพราะมือขวาเข้าเฝือก สื่อถึงความเป็นครูมือใหม่ของเขาที่อาจไม่ค่อยสมบูรณ์นัก วิธีการสอนที่ไม่อาจเข้าถึงเด็กแม้จะจำมาจากวิธีของครูแอนในไดอารี่ หรือวิชาคณิตศาสตร์ที่ไม่เอาไหนของเขา แต่ครูสองก็พยายามทดแทนด้วยวิชา สปช. จากความซื่อใส จริงใจของเขา ในวันที่พาเด็กๆ ไปรู้จักประสบการณ์ขึ้นรถไฟ เมื่อรู้ว่าเด็กเหล่านี้ไม่รู้จักรถไฟ (ซึ่งมันได้กลายเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญในหนัง ที่นำไปสู่บทสรุปตอนท้ายเรื่อง) 
 
          การแสดงของพลอย เฌอมาลย์ ไม่เพียงเข้าถึงบทบาท เป็นธรรมชาติ และโน้มน้าวให้เรารู้สึกเหงาเศร้าไปกับเธอได้ แต่ยังทำให้รู้สึกได้ว่าทุกๆ ห้วงเวลาในหนังแม้แต่ในฉากที่ไม่มีเธอปรากฏตัว เหมือนมีครูแอนแทรกตัวอยู่ในมวลอากาศตลอดเวลา แม้บทหนังจะไม่ได้มีความลุ่มลึกคมคายหรือเต็มไปด้วยความแยบยลของกลเม็ดการวางโครงเรื่องที่ดีและตัวละครที่กลมกลืนในมิติแห่งความเป็นมนุษย์อันซับซ้อนและสมจริง แต่การใส่ใจในรายละเอียดและกิมมิคของความเป็นหนังรักของผู้กำกับและการแสดงที่เข้าอกเข้าใจตัวละคร จนเหมือนกับถอดวิญญาณของนักแสดงเข้าไปในตัวละครครูแอนจริงๆ ของพลอย ก็ได้กลบข้อบกพร่องของบทหนังจนเกือบหมด อีกฉากที่เห็นได้ชัดคือการถ่ายแบบ One Shot Long Take ที่กล้องตามตัวละครครูแอนจากห้องเรียน เดินลงอาคาร ตรงไปยังรถและขับออกไปจากโรงเรียนในฉากที่เธอมีปัญหากับแฟนหนุ่ม ก็ถือเป็นความสามารถของผู้กำกับและกำกับภาพที่ออกแบบการถ่ายทำให้แตกต่าง แปลกตาไปจากหนังรักแนวเดียวกัน ไม่นับรวมการแสดงอันเป็นธรรมชาติของเด็กๆ ที่ผ่านการฝึกฝนและถูกคัดเลือกให้มารับบทแต่ละตัวละครได้อย่างเหมาะสม 
 
          จะว่าไปแล้ว ผู้กำกับ และพลอย เฌอมาลย์ ก็เป็นเหมือนกับครูสองและเด็กอีกคนหนึ่งในเรือลำเล็กที่เล่นสนุกกับการลากจูงแพไปตามสายน้ำ ที่แม้สภาพจะแหว่งวิ่น ไม่ค่อยสมบูรณ์นัก แต่ก็ทำให้เด็กๆ(หรืออาจจะเปรียบได้กับคนดู) สนุกไปกับการจำลองสถานการณ์นั่งรถไฟ  และไม่ว่าอย่างไรก็ตาม “คิดถึงวิทยา” น่าจะเป็นหนังไทยเรื่องแรกของปีนี้ ที่อาจจะทำเงินแตะร้อยล้านก็เป็นได้
 
.......................................
(หมายเหตุ 'คิดถึงวิทยา' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ