บันเทิง

เป็นคุ้งเป็นแคว:'19 ปีทูล ทองใจ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'19 ปีทูล ทองใจ' : คอลัมน์ เป็นคุ้งเป็นแคว โดย... เคน สองแคว'19 ปีทูล ทองใจ'

 
 
 
          ผ่านมา 20 วันแล้ว ในการครบรอบ 19 ปีการเสียชีวิตของขุนพลเพลงหวาน ทูล ทองใจ เพราะครูทูลเสียชีวิต วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 แต่หลายปีที่ผ่านๆ มา มีการจัดงานรำลึกถึงทูล ทองใจ ในวันที่ 1 มีนาคม เพราะตรงกับวันคล้ายวันเกิดของครู ที่วัดภุมรินทร์กุฎีทอง ต.สวนหลวง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
 
          แต่ปีนี้ ไม่มีการจัดงานใดๆ เกี่ยวกับ ครูทูล ทองใจ ทั้งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ หรือ 1 มีนาคม แต่อย่างใด เข้าใจว่า ขาดผู้สนับสนุนอย่างจริงจัง เพราะ 5 ครั้งของการจัดงานที่ผ่านมา มีทีมงานของนักร้องหนุ่มใหญ่ชื่อ เทพ ทูลใจ ร่วมกับชาวบ้านเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดงานทุกครั้ง โดยมีภาคเอกชนมาร่วมสมทบบ้าง
 
          ปีแรกของการจัดงานเมื่อ 2552 นั้น ยิ่งใหญ่นัก หลายคนคงจำภาพที่ ครูชาญชัย บัวบังศร มือแอคคอเดียนอันดับหนึ่งของเพลงไทยลูกทุ่ง ได้ไปร่วมงานด้วย แต่ครูเดินไม่สะดวก ต้องช่วยกันประคองขึ้นไปบนเวที ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานนัก ครูชาญชัย ก็ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ และป่วยเสียชีวิตในเวลาต่อมา กล่าวได้ว่า เวทีนี้เป็นเวทีสุดท้ายที่เราได้เห็นครูชาญชัย ยืนสง่าบนเวทีดนตรีที่มีกลิ่นอายในสมัยครูก็ว่าได้ และในงานครั้งนั้น ทุกคนคงจำภาพวีทีอาร์บนเวที ประวัติของทูล ทองใจ พร้อมเพลงประกอบที่ลงตัวไม่ยืดยาด ดังกึกก้องไปทั่วคุ้งน้ำ ทำเอาขนลุกขนชัน นักร้องในปีแรกนั้น มีสุนารี ราชสีมา ไปร่วมงานด้วย เธอขับร้องเพลงที่ครูเคยร้องไว้ และมีนักร้องเงาเสียง ทูล ทองใจ ที่ประจวบ จำปาทอง ตั้งชื่อให้ว่า "ทิ่ม แทงใจ" เกิดในวงการทันที 
 
          งานรำลึก ทูล ทองใจ ครั้งที่ 1 มีคนดังในวงการลูกทุ่งและนักการเมืองย่านนั้นมาร่วมงาน รายแรกถึงกับกล่าวเสียงดังฟังชัดว่า จะช่วยสนับสนุนในการจัดงานในครั้งต่อๆ ไป ส่วนรายนักการเมือง กล่าวว่า อยากจัดงานให้ศิลปินยิ่งใหญ่ที่อยู่ใกล้ๆ บ้าน ทูล ทองใจบ้าง ดูเหมือนว่า คำกล่าวของทั้งคู่จุดประกายให้คนรักเพลงแนวนี้มีชีวิตชีวาขึ้นมาทันใด เพราะงานแนวรำลึกครูเพลงนี้ ไม่มีค่อยมีใครลุกขึ้นมาจัดกันเท่าใดนัก 
 
          ในปี 2553  คอลัมน์ "มองผ่านเลนส์คม" กล่าวถึง งานทูล ทองใจกลับบ้านว่า "เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา ชาวบ้านอัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีความอิ่มอกอิ่มใจที่ได้ต้อนรับหุ่นจำลองทำด้วยสัมฤทธิ์ขนาดเท่าตัวจริงนักร้องเสียงหวานอมตะ ทูล ทองใจที่ภาคเอกชนช่วยกันผลักดันให้เกิดโครงการนี้ขึ้น และพยายามผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำท้องถิ่น นักร้องหนุ่มใหญ่ เทพ ทูลใจ ที่ร้องเพลงในแนวเพลงอมตะ และนำเพลงของทูล ทองใจมาขับร้องหลายชุด ระดมความช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ และมีค่ายเพลงแม่ไม้เพลงไทย ที่มีเพลงอมตะต้นฉบับของทูล ทองใจ ขายมานานนมก็มาร่วมออกทุนทำให้งานนี้เกิดขึ้น
 
          หุ่นทูล ทองใจ ยืนมือขวาถือไมค์ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์บ้านดนตรี วัดภุมรินทร์กุฎีทอง ต.สวนหลวง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีการบวงสรวงในตอนเช้าและร่วมทำบุญเลี้ยงพระเพลกันเพื่ออุทิศส่วนกุศล พิธีดำเนินไปอย่างเรียบง่าย แต่ดูหงอยเหงาผู้ร่วมงานเบาบาง แต่ก็ดีตรงที่ไม่มีข่าวงี่เง่าประเภทหุ่นปั้นให้หวย หรือเกิดปาฏิหาริย์ใดๆ ให้เป็นที่แตกตื่นตกใจหรือสร้างกระแสข่าว มีการจัดมินิคอนเสิร์ตเล็กๆ โดยไม่ได้มีงานฉลองจัดคอนเสิร์ตเหมือนปีที่ผ่านมา เพราะต้องใช้ทุนในการจัดมาก ซึ่งเทพ ทูลใจ ผู้ที่เป็นผู้จัดต้องขาดทุนเข้าเนื้อคนเดียว คาดว่า ปีต่อไปจะมีการจัดคอนเสิร์ตแน่นอน
 
          จังหวัดสมุทรสงคราม มีเรื่องราวประวัติบุคคลสำคัญทางวงการเพลงมากมาย อาทิ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ครูเอื้อ สุนทรสนาน หากหน่วยราชการหรือทางจังหวัดลงมาช่วยด้วยก็จะเป็นการดี เพราะคนในท้องถิ่นจะได้รับผลประโยชน์อย่างน้อยสร้างความคึกคักให้กระแสการท่องเที่ยว โดยจับกลุ่มผู้สูงวัยหรือกลุ่มครอบครัว เชื่อว่า คนที่รักเสียงเพลงทูล ทองใจ ย่อมอยากไปเที่ยวหานักร้องที่เคยหลงใหลเสียง
 
          ที่จริงแล้วปีที่ผ่านมา มีการจัดคอนเสิร์ตรำลึกถึง ทูล ทองใจ ก็เห็นว่ามีผู้หลักผู้ใหญ่รวมไปถึงคนที่เคยอยู่วง "จุฬารัตน์" ที่ทูล ทองใจ เคยสังกัดอยู่ มีการกล่าวบนเวทีว่า ยินดีให้การสนับสนุนงานนี้เต็มที่ แต่แล้วก็เงียบหายไป กลายเป็นแค่ลมปากบนเวทีไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
 
          ในต่างประเทศอย่างที่ญี่ปุ่น เคยได้ยินมาว่า นักร้องเจ้าของเพลงอมตะที่ทุกคนชื่นชอบ แม้ว่าจะล่วงลับไปแล้ว เขายังมีกลุ่มคนที่จัดกิจกรรมเล็กๆ ประกวดร้องเพลงกันเป็นประจำทุกปีเพื่อรำลึกถึงนักร้องอันเป็นที่รักของเขา
 
          อันที่จริงกิจกรรมทางดนตรี ไม่จำเป็นจะต้องมีเวทีใหญ่ แสงสีเสียงอลังการ แต่ขอให้การร้องบรรเลงนั้นทำได้อย่าง "ถึง" จริงๆ แค่บรรยากาศเวทีชายน้ำ ก็สามารถสร้างความประทับใจได้อย่างมากมาย และดูอบอุ่นใกล้ชิดกว่าเวทีอลังการเสียอีก
 
          ปีนี้ราวๆ เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม คงจะมีการคิดอ่านเรื่องกิจกรรมกันอีกที แต่ในช่วงนี้คงต้องเร่งทำเรื่องของประวัติและผลงานของทูล ทองใจ รวบรวมไว้ให้คนได้ศึกษาที่พิพิธภัณฑ์ดนตรีเสียก่อน หวังว่า หุ่นทูล ทองใจคงไม่ได้ตั้งโดดเดี่ยวเดียวดายเหมือนกับหุ่นครูสุรพล สมบัติเจริญที่วัดแห่งหนึ่งแถวนครปฐม ที่ปั้นขึ้นมาแล้ว จัดงานฮือฮากันครั้งเดียว หลังจากนั้นปล่อยให้ดูเงียบเหงาไร้คุณค่า"
 
          นี่คือ บทความที่เขียนไว้เมื่อปี 2553 กลายเป็นว่า มาถึงปี 2557 สิ่งที่ผู้เขียนทิ้งท้ายเอาไว้ กลายเป็นจริงขึ้นมา แม้ว่า ปีที่แล้วก็ยังมีคอนเสิร์ตให้ดูกันอยู่แบบไม่ถึงกับยิ่งใหญ่นัก ครูก้าน แก้วสุพรรณ ที่เสียชีวิตในปีที่ผ่านมาก็ได้เดินทางไปร่วมร้องเพลงด้วย งานรำลึกทูล ทองใจ น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นงานรวมบุคคลสำคัญในยุคนั้นก็ว่าได้ เพราะทูล ทองใจ คือ ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ และบทเพลงอมตะยังอยู่ในใจของประชาชน ทราบมาว่า 1 มีนาคม 2557 นี้ ทางคณะที่เคยจัดงาน คือ เทพ ทูลใจ จะไปจัดงานเล็กๆ กันที่ช่องทีวีดาวเทียม "แซ่บ แชนแนล" แต่เป็นการไปจัดที่ห้องส่ง ไม่ใช่ที่เวทีพระประแดงพลาซ่าที่ยิ่งใหญ่อีกต่อไปแล้ว เพราะเสาร์ 22 นี้ก็จะเป็นการอำลาเวทีนี้กันไป 
 
          น่าเสียดายที่เวทีคอนเสิร์ต “แซ่บแชนแนล” พระประแดงอาเขต ที่สามารถจัดงานกุศลหรือแนวรำลึกลูกทุ่งต่างๆ ได้ดีทีเดียว และช่องดาวเทียมแห่งนี้ก็มีความคล่องแคล่วรวดเร็วในการบริหารงาน ถ้านักร้องมาร่วมงานกันมากๆ ก็ยืดเวลาถ่ายทอดสดให้ยาวออกไป เพราะเขานึกถึงคนดูเป็นหลัก งานนี้ต้องปรบมือให้ ชัยนรินท์ อุดมจิระสิทธิ์ ที่ต่อสู้และช่วยเหลืองานคนลูกทุ่งจนถึงที่สุด 
 
          ฝากให้กำลังใจถึงบรรดานักรบทางวัฒนธรรมเพลงลูกทุ่งต่างๆ ให้ “สู้ไป อย่าได้ถอย” เช่นเดียวกับนักสู้กลางเมืองกรุงในยามนี้ 
 
.......................................
(หมายเหตุ '19 ปีทูล ทองใจ' : คอลัมน์ เป็นคุ้งเป็นแคว โดย... เคน สองแคว'19 ปีทูล ทองใจ')
 
 
 
 
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ