บันเทิง

เมื่อเฉิ่ม-ตั้งวงชวนเธอแต่เพียงผู้เดียวมากอดกันให้สยิวกิ้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อ'เฉิ่ม'ตั้งวง'ชวนเธอ'แต่เพียงผู้เดียว'มา'กอด'กันให้'สยิว'กิ้ว : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม

 

 
          เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้แนะนำหนังไทยเรื่อง “ตั้งวง” ซึ่งในความเห็นส่วนตัว ผมมองว่านี่คือหนังไทยที่ดีที่สุดของปี พ.ศ. 2556 ณ เวลานี้ (นั่นหมายความว่า หลังจากสัปดาห์นี้ อาจจะมีหนังไทยเรื่องอื่นที่ดีกว่าก็เป็นได้) ความดีของ “ตั้งวง” ในสายตาผมอาจจะไม่ได้หมายถึง การถ่ายทอดวัฒนธรรมไทยอันดีงามหรือภาพสวยงามหยดย้อย ที่ถูกปั้นแต่งอย่างวิจิตรอันเกิดจากการจัดองค์ประกอบภาพและศิลป์อย่างประณีตบรรจงเป็นความงามในอุดมคติที่แทบไม่ปรากฏให้เห็นอยู่แล้วในทุกวันนี้
 
          “ตั้งวง” ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เอ่ยมาทุกอย่างหนังไม่ได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมไทยในความหมายหรือความเชื่อเก่าๆ หากแต่สะท้อนสังคมไทยร่วมสมัยที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ส่วนภาพอันสั่นไหวที่ปรากฏตลอดทั้งเรื่อง หากได้เกิดจากเทคนิคหวือหวาของงานกำกับภาพ แต่เป็นการสะท้อนมุมมองของความไม่มั่นคง คลอนแคลน ของตัวละครในหนัง ที่ตั้งคำถามต่อความเชื่อและสังคมที่อยู่รอบตัวพวกเขา รวมทั้งงานกำกับศิลป์ที่ดูสกปรกรกสายตา แต่แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่เราเห็นชินตาตามย่านที่อยู่อาศัยในชุมชนกลางใจเมือง หรือสถานศึกษาของรัฐที่อาจไม่มีงบประมาณในการตกแต่งโรงเรียนให้ดูสวยงามเหมือนโรงเรียนเอกชนที่เก็บค่าเล่าเรียนแพงๆ
 
          มองข้ามตัวหนัง แล้วหันมาจับจ้องตัวคนทำหนังด้วยแนวคิดประพันธกร งานของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี มีความเชื่อโยงถึงกัน หลายเรื่องสะท้อนแนวคิดในทิศทางเดียวกัน แต่ละเรื่องตั้งคำถามต่อชีวิตและวิพากษ์การเมือง ผ่านบริบทท่ามกลางบรรยากาศที่ตัวละครในหนังของเขาต้องเผชิญเริ่มจาก “สยิว” หนังเรื่องแรกแม้เล่าถึงการค้นหาตัวตนของทอมบอยสาว ในยุครุ่งเรืองของหนังสือปลุกใจเสือป่า แต่หนังยังเลือกใส่บรรยากาศความวุ่นวายทางการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปีพ.ศ. 2535 มาเป็นฉากหลังของเรื่อง เช่นเดียวกับ “กอด” หนังที่เกือบๆ จะมาทางสัจนิยมมหัศจรรย์ ซึ่งมุ่งวิพากษ์สังคมไทยผ่านเรื่องราวของ ‘ไอ้ ขวาน สามแขน’ ชายหนุ่มผู้แปลกแยกจากสังคมที่พยายามหาทางกลับมามีสองแขนเหมือนคนอื่นๆ แม้สุดท้ายขวานจะกลับมาเป็นปกติ แต่บทเรียนตลอดการเดินทางก็ได้เปลี่ยนมุมมองชีวิตของเขาไปอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่สำคัญสิ่งที่ ‘ขวาน’ ประสบพบเจอตลอดการเดินทางคือ รถโฆษณาหาเสียงของนักการเมืองที่วิ่งไปมาตลอดทั้งเรื่องจนกระทั่ง “ตั้งวง” หนังเรื่องล่าสุดของผู้กำกับ คงเดช ที่ดูเหมือนจะตั้งใจนำการเมืองไทยมาใส่ในหนังให้เห็นอย่างโจ่งแจ้ง แต่ก็ดูเหมือนเขาจะนำมาใส่ไว้ในฐานะบริบททางสังคมมากกว่าจงใจจะวิพากษ์การเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมา
 
          การตั้งคำถามถึงการรักษาความเป็นปัจเจก และการดำรงซึ่งอัตลักษณ์ในตัวตนอย่างมั่นคง เป็นสิ่งที่พบเห็นในตัวละครในหนังของคงเดชเสมอ ตั้งแต่แท็กซี่คนซื่อใน “เฉิ่ม” แม้จะเผชิญชะตากรรมท่ามกลางสังคมโหดร้าย จนชีวิตเพลี่ยงพล้ำ ง่อนแง่นโซเซ แต่สุดท้ายก็สามารถพยุงกายนำพาชีวิตเวียนว่ายในสังคมหม่นมืดต่อไป ครั้นมาถึงช่างทำกุญแจใน “แต่เพียงผู้เดียว” คราวนี้เขากลับตั้งคำถามต่อการดำรงอยู่และตัวตนที่แท้จริง ซึ่งบางครั้งอาจถูกประกอบสร้างจากตัวตนคนอื่น คล้ายคลึงกับเด็กๆ ใน “ตั้งวง” ที่แม้จะไม่ได้ตั้งคำถามต่อตัวตนและการดำรงอยู่ แต่พวกเขากำลังสะท้อนภาพความวุ่นวายของสังคมร่วมสมัย และการถามหาอัตลักษณ์ หรืออาจจะไปถึงรากของเราว่ายังมีอยู่จริงไหม เคยมีหรือหลงเหลืออยู่บ้างหรือไม่? หรือคำว่า ‘วัฒนธรรม’ ในสายตาเด็กสมัยนี้ พวกเขาเข้าใจความหมาย หรือมองคำคำนี้อย่างไร ที่น่าสนใจมากก็คือ “ตั้งวง” ได้ทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
 
          ในบรรดาผู้กำกับหนังไทย คงเดช จาตุรันต์รัศมี ถือเป็นคนทำหนังที่มีแนวคิดน่าสนใจ ทำหนังได้ทั้งในเชิงพาณิชย์ (ผ่านการเขียนบท, แต่ง-ร้องเพลงประกอบฯ) และทำหนังที่สะท้อนคุณค่าในเชิงศิลปะโดยเฉพาะหนังสองเรื่องหลังของเขาคือแต่เพียงผู้เดียวและตั้งวงที่คงเดชเดินออกจากธุรกิจในระบบ มุ่งสู่เส้นทางของคนทำหนังอิสระอย่างเต็มตัว (แม้จะเรื่องหลังจะมีบริษัทของนางเอกสาวชื่อดัง ร่วมอำนวยการสร้างอยู่ก็ตาม) แม้หนังของคงเดช จะอยู่ห่างไกลจากคำว่า ‘ความบันเทิง’ อยู่สักหน่อยในสายตาคนทั่วไป แต่สำหรับคนที่ดูหนังเพื่อความบันเทิงมาทั้งชีวิตอย่างผม รู้สึกว่า แง่มุมหรือประเด็นต่างๆ ที่ผู้กำกับสอดแทรกไว้ในหนังของเขา
 
          ทั้งประดิษฐ์บรรจงอย่างตั้งใจให้คนดูเห็น แอบซ่อนหรือทิ้งปริศนาไว้เป็นสัญญะ ให้ต้องสังเกต ตีความ หรือกระทั่งผูกโยงไปสู่ความหมายใหม่ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความบันเทิงอีกแบบ ที่สำคัญสิ่งที่ผู้กำกับคงเดชทำมาในหนังทุกเรื่องของเขา คือการเล่าเรื่องที่แตกต่าง แม้มันอาจจะเสี่ยงไปบ้างเมื่อหนังสักเรื่อง สร้างขึ้นโดยเปลี่ยนรสชาติหรือมีจริตบางอย่างที่แตกต่างจากคนดูไทยหรือคอหนังทั่วไปคุ้นเคย การทำหนังที่สะท้อนภาพสังคมร่วมสมัยด้วยความซื่อตรง วิพากษ์การเมือง-สังคมผ่านชะตากรรมที่ตัวละครในหนังประสบ ตั้งคำถามถึงตัวตน ที่ทางในสังคม และบริบทอื่นๆ ที่รายล้อมรอบตัวเรา ถือเป็นความกล้าหาญของคนทำหนังที่หาได้น้อยนักในประเทศนี้

.......................................
(หมายเหตุ เมื่อ'เฉิ่ม'ตั้งวง'ชวนเธอ'แต่เพียงผู้เดียว'มา'กอด'กันให้'สยิว'กิ้ว : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ