บันเทิง

เอกเขนกดูหนัง:ฮักอ่ำหล่ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฮักอ่ำหล่ำ : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม


          ภาพของหนังลาว ที่เป็นผลผลิตของคนลาวล้วนๆ ตั้งแต่ถ่ายทำในลาว ผู้อำนวยการสร้างโดยคนลาว ผู้กำกับ นักแสดง ฯลฯ เป็นคนลาวทั้งหมด ติดอยู่ในความทรงจำน้อยมาก (ไม่ใช่หนังร่วมทุนสร้างไทย-ลาว ที่เป็นการร่วมงานของนักแสดง/ผู้กำกับไทย ในหนังชุด ‘สะบายดี’ ของผู้กำกับศักดิ์ชาย ดีนาน และ “คิดถึงทุกคืน” หนังลาวที่ศักดิ์ชายรับหน้าที่กำกับและเขียนบท) หนังลาวที่มีโอกาสได้ดูในโรงเมื่อหลายสิบปีก่อนหรือมีการผลิตเป็นหนังแผ่น ส่วนใหญ่เป็นหนังดราม่า บอกเล่าเรื่องราวความรักรันทด ดังนั้นการมาถึงของ “ฮักอ่ำหล่ำ” ภาพลักษณ์ที่ปรากฏในหนังตัวอย่าง นอกจากความสดใหม่ในสถานะหนังรักตลก สิ่งที่อยู่รายล้อมในหนังไม่ว่าจะเพลงประกอบ งานด้านภาพ ล้วนบอกเป็นนัยๆ ว่า หนังลาวเรื่องนี้เดินทางจากจุดเริ่มต้นมาไกลโข
 
          แม้พล็อตเรื่องของ “ฮักอ่ำหล่ำ” จะไม่ได้แตกต่างหรือแปลกใหม่ไปจากหนังลาวที่คุ้นเคย ซึ่งว่าด้วยรักสามเส้าของหนุ่มบ้านทุ่ง ‘สัก’ กับ ‘โสภา’ สาวคนรักแต่ด้วยความฝันอยากเป็นนักร้อง ‘สัก’ จึงเดินทางเข้าเมืองหลวงและขาดการติดต่อกับ ‘โสภา’ มีเพียง ‘คำเผย’ เพื่อนสนิทที่แอบรัก ‘โสภา’ คอยดูแลอยู่ห่างๆ จนเมื่อ ‘สัก’ พบว่า ชีวิตการเป็นนักร้องของเขาไม่ได้สวยหรูตามความฝันจึงบากหน้ากลับบ้านทุ่งของอนง้อคืนดีกับ ‘โสภา’ ระหว่างนั้น เจ้าของค่ายเพลงก็ส่ง ‘อาพอน’ สาวสวยมาตามตัว ‘สัก’ ถึงบ้านทุ่ง ทำให้  ‘โสภา’ เข้าใจผิด และเกิดเรื่องวุ่นวายตามมา หนังมีรายละเอียดมากมาย จนสามารถขยายพล็อตสั้นๆ ที่ว่านี้ ให้แตกหน่อก่อเหล่าจนกลายเป็นหนังยาว 90 นาที 
 
          “ฮักอ่ำหล่ำ” ยังก้ำกึ่งระหว่างการเป็นหนังที่เดินตามขนบเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลง อย่างเช่น ฉากหลังของเรื่องเกิดขึ้นที่ท้องทุ่งบ้านนา หรือตัวละครยังคงเป็นคนชายขอบที่มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม อาทิ ชุมชนมีความสัมพันธ์กับวัด(แม้จะไม่มีภาพวัดให้เห็น แต่ฉากใส่บาตร, ฉากการเรียกประชุมคนในหมู่บ้านเพื่อหาเงินเข้าวัด ก็สื่อถึงความสัมพันธ์เหล่านี้ได้ดี) การนั่งล้อมวงกินข้าวพร้อมสำรับอาหารพื้นบ้าน และให้ความสำคัญของการบันทึกภาพบรรยากาศท้องไร่ท้องนา ไม่น้อยไปกว่าตัวละครที่โลดแล่นอยู่ในหนัง แม้ภาพลักษณ์ของหนังดูประดักประเดิดทั้งจากตัวละครที่เหมือนกับคนจากสองโลกมาเจอกัน ทั้ง ‘พุดเดิ้ล’ ผู้จัดการส่วนตัวของสักที่ตามมาจากในเมืองและ ‘อาพอน’ รวมถึง ‘สัก’ เอง ที่แต่งตัวเหมือนหลุดมาจากแมกกาซีนแต่กลับมาเดินตามทุ่งนาบ้านป่าบ้านดอนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น รวมถึงการใช้เพลงประกอบที่มีทั้งดนตรีพื้นบ้านและเพลงป๊อปปะปนอยู่ด้วยกัน มีการใช้เสียงจากเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่างพิณ ไปจนถึงเสียงแตกๆ ของกีตาร์ไฟฟ้า ขณะเดียวกันยังมีการใช้เทคนิคหรือชั้นเชิงการเล่าเรื่องใหม่ๆ ผสมผสานเข้าไป สิ่งที่ดูเหมือนต่างกันสุดขั้วถูกนำมาไว้ด้วยกัน กลับส่งผลให้ “ฮักอ่ำหล่ำ” กลายเป็นหนังที่มีเสน่ห์อย่างน่าประหลาด
 
          แค่ฉากเปิดเรื่องที่สองหนุ่ม ‘คำเผย’ และ ‘ทองใส’ ร้องต่อกลอนลำกัน หนังก็ถ่ายตามตัวละครสองคนนี้แบบลองช็อตด้วยความยาวร่วมๆ 5 นาที หรือเพลงป๊อปร็อกที่ดังขึ้นมาในฉากที่เน้นอารมณ์บางอย่าง กระทั่งหลายๆ ฉากที่ตัวละครดวลมุกตลกกันก็ใช้การตัดต่อแบบจัมพ์คัท เลือกเอาเฉพาะประโยคและการแสดงที่โดนจริงๆ เพื่อเน้นให้จังหวะของหนังกระชับ ไม่ใช่แค่เป็นหนังตลกที่เรียงร้อยมุกต่อๆ กันไปให้จบเรื่องเท่านั้น และที่โดดเด่นเห็นจะเป็นงานด้านภาพที่ครั้งนี้ดูจะให้ความสำคัญกับบรรยากาศมากเป็นพิเศษ แม้กระทั่งฉากลำห้วยลำหนอง งานกำกับภาพยังละเมียดกับการถ่ายทอดให้เห็นท้องน้ำที่ใสจนสะท้อนพื้นฟ้าเบื้องบน ก่อนที่ตัวละครทั้งหลายจะกระโจนลงเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน ทั้งที่วัยของตัวละครอย่าง สัก คำเผย ทองใส โสภา อาพอน ฯลฯ ไม่ใช่เด็กๆ ที่จะสนุกกับการกระโดดน้ำเล่นเป็นแน่ หากแต่เป็นฉากที่คนทำหนังต้องการสื่อสารหรือสะท้อนความหมายบางอย่างของคุณค่าชีวิตชนบทอันงดงามมากกว่า และฉากที่เน้นย้ำประเด็นดังกล่าวได้ชัดๆ ก็คือ ในฉากที่ ‘สัก’ กลับมาเมืองหลวงเพื่อขึ้นเวทีคอนเสิร์ต งานกำกับภาพที่ขับเน้นให้เห็นแสงเงาจัดจ้าน แสดงถึงความมืดทึบอึมครึมของเมืองหลวงที่ผู้คนหาความจริงใจไม่ได้ และที่ถือว่าเป็นความกล้าหาญในการทดลองวิธีเล่าเรื่องใหม่ๆ ของคนทำหนังคือการเล่นกับเงาในฉากที่ ‘สัก’ ตัดสินใจว่าจะขึ้นเวทีคอนเสิร์ตหรือตามเพื่อนๆ กลับบ้านนอก
 
          แม้ฉากหน้าของ “ฮักอ่ำหล่ำ” จะเป็นแค่หนังรักตลกธรรมดาเรื่องหนึ่ง พล็อตเรื่องก็ดาดๆ หาได้แตกต่างจากหนังไทยทั่วไป แต่กลวิธีการเล่าเรื่องบางจังหวะหรือการสะท้อนประเด็นทางสังคมบางอย่างลงไปในหนังนั้นถือว่าน่าสนใจทีเดียว เป็นผลิตผลจากคนทำหนังลาวรุ่นใหม่(ผู้กำกับภาณุมาศ ดีสัตถา จบด้านภาพยนตร์มาโดยตรงและเคยทำหนังไทยมาแล้ว / ผู้ตัดต่อ แอนิไซ แก้วลา คนทำหนังลาวที่เคยมีผลงานจากเทศกาลหนังหลายแห่ง) ที่น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวงการหนังลาว และผลักดันวงการหนังของพวกเขาให้เติบโตต่อไป
.......................................
(หมายเหตุ ฮักอ่ำหล่ำ : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ