บันเทิง

'แพ้เขาแพ้เรา'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"แพ้เขาแพ้เรา" : คอลัมน์ ร้อยพบพันเจอ กับ มิสเตอร์บางอ้อ โดย... หนุ่ม คงกะพัน

 

          ช่วงนี้คนไทยหลายๆ คนคงกำลังให้ความสนใจกับเรื่องราวของพื้นที่ทับซ้อนที่เรากำลังมีกรณีพิพาทกับกัมพูชานะครับ ในฐานะคนไทยที่อยู่ในเมืองก็อาจเป็นกังวล เรื่องอธิปไตยการสูญเสียดินแดน การไม่อยากสูญเสียมิตรภาพกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ถ้าเป็นคนพื้นที่ก็คงกังวลหลายเรื่องครับ ทั้งเรื่องอธิปไตย ชีวิตความเป็นอยู่ถ้าต้องพ่ายแพ้แล้วอยู่ในดินแดนกัมพูชา การทำมาหากินค้าขายในช่วงพิพาทก็แสนยากลำบาก ที่สำคัญถ้าเกิดการรบต่อสู้กัน ในฐานะแนวหน้าคนชายแดนก็คงต้องอยู่อย่างแสนยากลำบาก วิ่งหนีหลบกระสุนลูกระเบิดกันพัลวัน

          ถามว่าเส้นเขตแดนที่ถูกกำหนดขึ้นนั้นมันมาจากไหน? มีไว้เพื่ออะไร? เหตุใดเส้นที่มองไม่เห็นนี้จึงมีบทบาทสำคัญกำหนดชีวิตคน ทำให้เกิดการต่อสู้ แย่งชิงกันมากมายและยาวนานขนาดนี้ ถ้าจะพูดในเชิงวิชาการเอาถูก เอาผิด พื้นที่ของมิสเตอร์บางอ้อคงไม่พอ และคงมีมากมายหลากหลายความคิดเห็น ที่ต่างคนคิดก็มักแตกต่างกันครับ จึงอยากขอพูดถึงปัญหาโลกแตกนี้แบบเบาๆ ไม่หนัก ไม่เครียด เข้าอกเข้าใจในแบบมิสเตอร์บางอ้อก็แล้วกันนะครับ

          ผมมองว่าเส้นเขตแดน คือ เส้นสมมุติที่คนเรากำหนดขึ้นมาในยุคที่มนุษย์เจริญด้วยวัฒนธรรมและเทคโนโลยี เพื่อง่ายต่อการปกครองและความสงบเรียบร้อยในความเป็นอยู่ แบ่งแยกกลุ่มภาษา ศาสนา ชาติพันธุ์ ในสมัยก่อนเครื่องไม้เครื่องมือก็ไม่ได้ทันสมัยไฮเทคเหมือนในปัจจุบัน ก็เรียกว่ากำหนดอย่างคร่าวๆ โดยใช้สันปันน้ำบ้าง แนวภูเขาบ้าง หรือแม่น้ำ เป็นตัวชี้วัด จึงมีความคลาดเคลื่อนได้ และทำให้หลายๆประเทศเกิดปัญหาเรื่องนี้แล้วลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่โตไปแล้วก็มากมาย ถามว่าปัญหาเรื่องเส้นเขตแดนในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง? ขอตอบว่าที่เมืองไทยไม่ใช่ที่แรกและเกิดขึ้นมาแล้วมากมายทั่วโลกครับ ส่วนข้อพิพาทก็มาจากหลายสาเหตุ ไม่รู้ใครถูกใครผิด แต่ละประเทศก็อ้างนู่นอ้างนี่ นำเหตุผล หลักฐานต่างๆ มาหักล้างกัน ใช้เวลาการต่อสู้ยาวนาน เกิดความสูญเสียมาแล้วมากมาย ต่างคนต่างก็มีเหตุผลครับ ผมเชื่อว่าระดับประเทศคงไม่มีใครโกงหรือเอาเปรียบใครได้ง่ายๆ ไม่ใช่คดีบุคคลที่อาจแอบแฝงซ่อนเร้นได้ แต่เหตุผลที่ขัดแย้งกัน
         
          ส่วนใหญ่ก็มาจาก "ความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน" ครับ อย่างในกรณีของเรา เอกสารหลักฐานต่างๆ ไม่รู้กี่ยุคกี่สมัย สนธิสัญญาข้อตกลงไม่รู้กี่ฉบับ แผนที่ต่างยุคต่างสมัย ต่างเวลา ต่างคนจัดทำ ต่างคนดำเนินการ ต่างรัฐบาล ไม่รู้กี่ต่าง แล้วจะตรงกันได้อย่างไร? เรื่องราวของเราที่ศาลโลกท่านตัดสินไว้เมื่อครึ่งศตวรรษก่อนก็แสนจะแปลกแต่ก็น่ารักและดูประนีประนอมมาก คำตัดสินนั้นทำให้รู้เลยว่าท่านก็ไม่อยากให้ทะเลาะกัน เป็นเพื่อนบ้านอยู่ติดกันก็ไม่อยากให้โกรธเคืองกัน ตัดสินให้เฉพาะตัวปราสาทเป็นของกัมพูชาแต่พื้นที่โดยรอบเป็นของไทย อ้าว ยังไงล่ะครับทีนี้ จินตนาการดูเล่นๆ ว่า ถ้าพื้นที่โดยรอบบ้านเป็นของเรา แต่ตัวบ้านเป็นของเขา เราจะอยู่บ้านหลังนี้อย่างไร?? มันคงมีวิธีการเข้าบ้านที่แปลกมากหรือคงลำบากในการที่จะอยู่หรือใช้ประโยชน์จากบ้านหลังนี้ ก็คงเป็นอย่างที่บอกแหละครับว่าศาลท่านเมตตาโดยไม่รู้ว่าอีกครึ่งศษวรรษต่อมาจะกลายเป็นปัญหาลุกลามใหญ่โต แถมมีเรื่องราวของคณะกรรมการมรดกโลกมาเกี่ยวข้องด้วยอีก จึงทำให้เรื่องที่วุ่นวายอยู่แล้วทวีความยุ่งเหยิงเข้าไปอีก แต่เอาเถอะครับ! เมื่อเกิดปัญหาเราก็ต้องแก้ไขครับ แต่จะทำอย่างไรให้บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น? เพราะแน่นอนว่าหากมีคนแพ้หรือชนะย่อมนำพามาซึ่งความเจ็บช้ำน้ำใจของอีกฝ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสเดินทางไปยัง เมืองเสียมราฐ เพื่อชมนครวัด นครธม อภิมหาโบราณสถานของกัมพูชาที่มีผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาเพื่อชมสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่ยิ่งใหญ่นี้ นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาไม่ขาดสายราวกับว่าเป็นงานเทศกาลใหญ่ๆ หรือเปิดให้ชมฟรี นครวัด นครธม เป็นจุดขายและเป็นเสมือนสิ่งดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเพื่อชมประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่นี้ และได้สร้างงานสร้างอาชีพรวมทั้งเศรษฐกิจให้ผู้คนที่นี่ รวมถึงเงินตราเข้าประเทศกัมพูชาอย่างมากมายมหาศาล
 
          แต่ความจริงอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจไม่รู้นั่นคือ นครวัดนครธมนั้น รัฐบาลกัมพูชาให้สัมปทานแก่เวียดนามเข้ามาทำการบริหารจัดการโบราณสถานทั้งหมดที่ว่านี้ โดยแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน...เห็นแล้วก็เกิดคำถามในใจลึกๆ ว่า แล้วไอ้ตรงที่บ้านเราที่มีปัญหาทะเลาะพิพาทกันอยู่นี้ เหตุใดไม่จัดเป็นพื้นที่พิเศษที่เราสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้เล่า?? ในเมื่อเข้าใจไม่ตรงกันสักที ประชาชนในพื้นที่ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ทั้งสองฝ่ายก็บอบช้ำ ทำมาหากินก็ไม่ได้ แถมทหารในพื้นที่ก็เล็งปืนเล็ก ปืนใหญ่ใส่กันตลอดเวลา ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศก็บาดหมาง เสื่อมถอย ไม่มีประโยชน์อะไรเลย! มันจะดีกว่ามั้ย...ถ้าเราลืมเรื่องเส้นสมมุติ เส้นแบ่งเขตแดนที่ว่า ลืมเรื่องใครถูกใครผิด ลืมเรื่องกฎ ระเบียบ อัตตาต่างๆ ที่แสนจะยุ่งยากแล้วคิดง่ายๆ แบบคนโบร่ำโบราณ... โดยเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่พิเศษ พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ แบบนครวัดนครธม เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าแบบที่อดีตนายกฯ ชาติชาย เคยกล่าวไว้ เปลี่ยนพื้นที่ทับซ้อนให้เป็นพื้นที่ที่มีผลประโยชน์ซ้ำซ้อน เอาให้ซ้อนกันขึ้นไปหลายๆ ชั้นเลยจะดีกว่ามั้ย?? แล้วแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน แบบที่ภาษาวัยรุ่นปัจจุบันเขาเรียก วิน วิน นั่นละครับ ปัญหาทุกอย่างคงคลี่คลาย ประชาชนในพื้นที่ ทั้งเขาและเรามีกินมีใช้ นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามา เงินตราสะพัดเข้าประเทศมากมาย ความสงบ ความสุข รอยยิ้มและความสัมพันธ์อันดีก็จะกลับคืนมาอีกครั้ง

          และนั่นแหละครับ...คือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของทั้งสองประเทศอย่างแท้จริง ที่ไม่ต้องพึ่งศาลใดๆ เป็นคนตัดสิน แต่ถ้าเป็นอย่างทุกวันนี้ ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร...ก็คงไม่ต่างอะไรกับ "แพ้ทั้งคู่" เราก็แพ้ เขาก็แพ้นั่นเองครับ
.......................................
(หมายเหตุ "แพ้เขาแพ้เรา" : คอลัมนื ร้อยพบพันเจอ กับ มิสเตอร์บางอ้อ  โดย... หนุ่ม คงกะพัน)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ