บันเทิง

ฟรีทีวี-ทีวีดาวเทียมนำเข้าเกมโชว์ดึงผู้ชม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฟรีทีวี-ทีวีดาวเทียมพาเหรดนำเข้าเกมโชว์ต่างประเทศดึงผู้ชม : สกู๊ปบันเทิง

 
          เมื่อกล่าวถึงรายการทางช่องโทรทัศน์ไม่ว่าจะเป็นช่องฟรีทีวีหรือแม้แต่ท่องทีวีดาวเทียมก็ตาม  คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงละครหลังข่าว หรือไม่ก็เป็นซีรีส์จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ที่ต้องยอมรับว่ายุคหนึ่งละครจีนกำลังภายในเป็นที่นิยมมาก ไม่ว่าจะเป็น กระบี่ไร้เทียมทาน ดาบมังกรหยก ฤทธิ์มีดสั้น นางพญาผมขาว ฯลฯ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความนิยมละครกำลังภายในก็ลดน้อยลง คนดูเริ่มหันมองสิ่งใหม่ๆ ทำให้ซีรีส์จีนไต้หวัน ซีรีส์ญี่ปุ่นและซีรีส์เกาหลีเริ่มเข้ามา ความนิยมไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่การดูละครหรือซีรีส์เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงความชื่นชอบทางวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ภาษาและอาหาร รวมถึงรายการเกมโชว์และรายการวาไรตี้ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน
 
          รายการเกมโชว์-วาไรตี้ หลายรายการที่ถูกนำเข้ามาแบบทั้งดุ้นแล้วใส่เสียงพากย์เป็นภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็น  "เกมซ่าท้ากึ๋น" "ขำกลิ้งลิงกับหมา" "ทีวีแชมป์เปี้ยน" "spongeฉลาดสุดสุด" "เกมฮาท้าพิสูจน์" "แชมป์เฉือนแชมป์" "running man" หรือว่าจะเป็น “สตาร์คิง" รายการเกมโชว์จากเกาหลี ฉายทาง ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี รายการ อเมริกัน ไอดอล (american idol) ซีซั่น 12 ที่จะแพร่ภาพทางทรูวิชั่นส์ช่อง 10 นอกเหนือจากรายการแข่งขันร้องเพลงยอดนิยมอย่างอเมริกัน ไอดอล ซีซั่น 12 แล้ว ทรูวิชั่นส์ยังมีรายการอื่นๆ ทั้งซีรีส์ ไลฟ์โชว์ และเรียลิตี้อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น glee ซีซั่น 4  "how i met your mother ซีซั่น 8" "masterchef" ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30 น.ทางช่องบีบีซี ไลฟ์สไตล์, ‘90210’ ซีซั่น 4 ทุกวันพฤหัส เวลา 22.00 ทางช่องทรูซีรีส์ "hell’s kitchen" ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00 น. ทางช่องทรูซีรีส์
 
          หลายรายการถูกซื้อลิขสิทธิ์ แล้วนำมาทำในเวอร์ชั่นเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น "ซาสีเกะ" รายการเกมโชว์ของประเทศญี่ปุ่น ออกอากาศทางช่อง TBS โดยบริษัท เจเอสแอล จำกัดได้ซื้อลิขสิทธิ์มาทำใหม่โดยใช้ชื่อรายการว่า "เกมหิน พลังนินจา" (ออกอากาศปี 2552) หรือจะเป็นรายการดังอย่าง "เกมเศรษฐี" ก็เป็นรายการควิซโชว์ ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากรายการ "Who Wants to Be a Millionaire?" หรือจะเป็นรายการฮอตอย่าง "กำจัดจุดอ่อน" ก็เป็นรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากรายการ "Weakest Link" ก่อนที่ทาง เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จะนำรูปแบบการแข่งขันและรูปแบบความสนุกสนานจากรายการกำจัดจุดอ่อน มาดัดแปลงเป็นรายการ "ตู้ซ่อนเงิน" ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมทั้งทางด้านรูปแบบการนำเสนอของรายการที่ลอกเลียนฉากและรูปแบบการแข่งขันของเกม โดยไม่ได้มีการซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ นอกจากนั้นยังมี "บิ๊ก บราเธอร์"  "เฟียร์ แฟคเตอร์" "ทีวีแชมป์เปี้ยน" "สุดยอดไฮสคูล" "ฮิวโก้เกมส์" "แดนซิ่ง วิธ เดอะสตาร์" "The Chair" เก้าอี้ระทึก "1 ต่อ 100" เก่งสู้เก่ง เกมตะลุยโลก อาราชิหล่ออลเวง ฯลฯ 
 
          ที่หลุดผังไปแล้วก็มาก แต่รายการเกมโชว์ที่ซื้อลิขสิทธิ์มา และยังไม่หลุดผังก็มีหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็น "ทรู อะคาเดมี แฟนเทเชีย" ที่ทางบริษัททรู ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาตั้งแต่ปี 2547 ปัจจุบันรายการนี้ได้ดำเนินมาถึง ซีซั่น 10 แล้ว รายการ "ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์" ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการคัดเลือกผู้แข่งขันในซีซั่น 3 รายการทางยูนิลีเวอร์ซื้อลิขสิทธิ์มา 3 ปี ส่วนจะมีต่อซีซั่นต่อไปหรือไม่คงต้องดูกระแสตอบรับจากซีซั่นนี้ นอกจากนี้ยังมีรายการ "The Voic" ซึ่งร่วมผลิตรายการโดยทรูมิวสิคและบริษัท โต๊ะกลม ในเครือเวิร์คพอยท์ รายการนี้บริษัททรูได้ซื้อลิขสิทธิ์มาจากเนเธอร์แลนด์ ด้วยมูลค่า 180 ล้านบาทเป็นระยะเวลา 3 ปี  นอกจากนี้ยังมีรายการ "เทคมีเอาท์ไทยแลนด์" (Take Me Out) รายการทีวีสัญชาติอังกฤษ ถูกซื้อลิขสิทธิ์มาโดยบริษัท ครีเอทิส มีเดีย จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทในเครือทีวี ธันเดอร์) ซึ่งรายการนี้ดำเนินรายการมาถึงซีซั่น 2 แล้ว และกำลังแพร่ภาพอยู่ทางช่อง 3
 
          นอกจากนี้ ยังมีรายการ "เชฟกระทะเหล็กไทยแลนด์" รายการทำอาหารที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากญี่ปุ่น ที่กำลังแพร่ภาพอยู่ทางช่อง 7  "ทีวีแชมป์เปี้ยน" (T.V. Champion) ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท มีการดัดแปลงรูปแบบรายการเป็น "ทีวีแชมป์เปี้ยนไทยแลนด์" (T.V. Champion Thailand) ภายใต้กรอบความคิดเดียวกับทีวีแชมป์เปี้ยนจากญี่ปุ่น แต่เป็นฝีมือการผลิตโดยคนไทย และล่าสุดกับรายการ "IDENTITY THAILAND" สุดยอดเกมโชว์ ที่การันตีความสนุกมาแล้วกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ภายใต้ลิขสิทธิ์ของชายด์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Shine International) เป็นเกมโชว์ที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องใช้สัญชาตญาณและทักษะการสังเกต เพื่อจับคู่โจทย์ “บุคคลปริศนา” กับคำอธิบาย “ตัวตน” ให้ถูกต้องทั้งหมด 12 ข้อ เพื่อพิชิตเงินรางวัล ประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่ 4 ในทวีปเอเชียที่ซื้อลิขสิทธิ์รายการนี้มา ภายใต้การควบคุมดูแล โดยบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังมีอีกหลายรายการไม่ว่าจะเป็น "ฉันไปค้างคืนกับซุปตาร์"  ฯลฯ
 ทั้งนี้ เราไม่ได้แต่ซื้อลิขสิทธิเกมโชว์ของเขามาอย่างเดียว  เรายังเคยขายสิทธิ์เกมให้ต่างประเทศเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น เกมโซน ของ บริษัทแมส มอนิเตอร์ จำกัด (ตอนนี้คือ จีเอ็มเอ็มทีวี) เกมจารชน เป็นรายการของบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด ถูกซื้อลิขสิทธิ์จากประเทศอินโดนีเซียอีกด้วย
.......................................
(หมายเหตุ ฟรีทีวี-ทีวีดาวเทียมพาเหรดนำเข้าเกมโชว์ต่างประเทศดึงผู้ชม : สกู๊ปบันเทิง)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ