บันเทิง

รูปแบบและแนวทางว่าด้วยการวิจารณ์หนัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รูปแบบและแนวทางว่าด้วยการวิจารณ์หนัง : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร

          คงมีหลายครั้งที่หลายๆ คนตั้งคำถามสงสัยว่า การวิจารณ์ภาพยนตร์คืออะไร
 
          การวิจารณ์หนังหรือภาพยนตร์ ก็เหมือนกับการวิจารณ์เรื่องอื่นๆ นั่นคือการแสดงความคิดเห็นของตัวเองสิ่งนั้นๆ หากแต่มี “บทบาท” หรือ “หน้าที่” ที่มากกว่าการวิจารณ์ตามวงเหล้า สภากาแฟ ตลอดไปจนถึงโต๊ะกินข้าว
 
          เพราะการวิจารณ์หนังที่เรากำลังพูดถึง มีความหมายถึงการแสดงทัศนะลงบนพื้นที่ต่อการรับรู้ของสาธารณะชน ฉะนั้น เงื่อนไขหนึ่งที่ตามมาก็คือ การต้องรู้จักใช้เหตุใช้ผลในสิ่งที่คิด มีที่มาที่ไป ไม่ใช่ใช้ “อารมณ์” เป็นเครื่องชี้นำ
 
          หรืออีกทางหนึ่ง การวิจารณ์หนังไม่ใช่ “ความรู้สึก”
 
          จริงๆ ถ้าอธิบายอย่างย่นย่อ บทบาทของ “นักวิจารณ์หนัง” ซึ่งจะต้องแสดงทัศนะเพื่อให้คนดูทราบว่า ผู้กำกับหรือคนเขียนบทภาพยนตร์ ต้องการสื่ออะไร โดยมีกระบวนการสำคัญใหญ่ๆ อยู่สองส่วน
 
          ส่วนแรกคือ “การตีความ” interpretation และส่วนที่สองคือ “การประเมินคุณค่า” หรือ evaluation
บางคนเคยให้นิยามความหมายของหน้าที่สองส่วนนี้ว่า การตีความ คือการค้นหาความหมายของภาพยนตร์เพื่อจะเข้าใจว่า ผู้สร้างหนังบอกการบอกอะไรในงานที่ผลิตออกมา หรือในทางหนึ่ง มันคือการพยายามอ่าน “สาร” เพื่อขยายขอบเขตความเข้าไปสู่ผู้ชม(หรือผู้อ่านคนอื่นๆ)
 
          สำหรับการประเมินคุณค่านั้น เปรียบไปก็คือการตัดสินโดยใช้เหตุใช้ผลว่า งานชิ้นนั้นมีคุณค่าอย่างไร ดีหรือไม่ดี มีคุณภาพหรือไม่ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้อ่านและผู้ชม
แต่เหนืออื่นใด การแสดงความคิดเห็นต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล
 
          เมื่อเป็นการแสดงคิดเห็นอย่างใช้เหตุและผลแล้ว แม้ผลลัพธ์ที่ออกมาจะมีความแตกต่างราว “ฟ้ากับเหว” ในคำตอบ นั่นไม่ใช่เรื่องผิด เนื่องเพราะแต่ละคนใช้เครื่องมือในการตีความ อ่านสาร แปลคุณค่าไปตามระสบการณ์ ระดับความเข้าใจและมุมมองของชีวิตที่มากน้อยแตกต่างกันไป หนังอย่าง Titanic อาจเป็นหนังขยะสำหรับ โรเจอร์ อีเบิร์ต แต่ภาพยนตร์ทุนสูงในปี 1997
เรื่องนี้อาจเป็นงานที่มีคุณค่าอย่างสูงในสายตาของ ริชาร์ด คอร์ลิส แห่งนิตยสาร Time
 
          หรือ American Beauty อาจเป็นหนังที่มีแก่นสารอย่างมากในทัศนะของ พอลลีน เคล ของ อเมริกา แต่มันอาจเป็นสิ่งตรงกันข้ามในความรู้สึกของ โทนี เรนส์ แห่งอังกฤษ นั่นก็เพราะว่าทุกคนใช้เครื่องมือในการตีความแตกต่างกัน ซึ่งที่สุดแล้วถ้าเหตุผลที่ใช้อธิบายมีความน่าเชื่อถือพอ คำตอบหรือผลลัพธ์ก็ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญ กระทั่งเอาเป็นเอาตาย
 
          อย่างไรก็ตาม แม้การวิจารณ์หนังจะเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่วัฒนธรรมแห่งการแสดงความคิดเห็นที่ว่านี้ก็ยังมีหลายรูปแบบให้เลือกใช้ ผมเคยอ่านรูปแบบของการวิจารณ์หนังมาหลายเล่ม ในที่นี้คงสรุปแนวทางหลักๆ ซึ่ง อาจารย์ของนักวิจารณ์อย่างคุณ กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน ได้บอกไว้เมื่อหลายปีก่อน
 
          การวิจารณ์หนังนั้นโดยหลักๆ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท 1.การวิจารณ์ที่เน้นรูปแบบนิยม (formalist criticism)  2.การวิจารณ์แบบมาร์กซิสต์(marxist criticism) และ 3.วิจารณ์โดยให้ความสำคัญไปที่ผู้กำกับเป็นใหญ่ (auteur criticism)
 
          1.การวิจารณ์ที่เน้นรูปแบบนิยม (formalist criticism)
การวิจารณ์ประเภทนี้ เน้นไปที่ฟอร์ม รูปแบบหรือเทคนิคกลวิธีในการนำเสนอเป็นหลัก กล่าวคือให้ความสำคัญกับรูปแบบ สไตล์ มากกว่าเนื้อหาหรือเรื่องราวในหนัง อาทิ การเคลื่อนกล้องในหนัง Citizen Kane ของออร์สัน เวลส์ในยุคสมัยนั้น, การเล่าเรื่องแบบสามองค์ของ amores perros ที่ทำกับ 21 Grams หรือสไตล์ที่หนังอย่าง The Matrix ใช้ในการเล่าเรื่อง
มีหนังหลายเรื่องของผู้กำกับยุคหลังๆ หลายคน ที่มีรูปแบบสอดคล้องกับการนำเอาการวิจารณ์แบบนี้ไปใช้ อาทิ เควนติน ตารันติโน, ทิม เบอร์ตัน, กาย ริทชี ฯลฯ
 
          การวิจารณ์แนวนี้อาจจะรู้สึกตื่นเต้นกับหนังที่มีการเล่าเรื่อง นำเสนอ ผ่านรูปแบบแปลกตา สดใหม่ หรือกระทั่งลบล้าง ทำลายขนบการเล่าเรื่องเดิมๆ ลงไป แต่ที่สุดแล้ว โดยส่วนตัวผมยังคงคิดว่า ไม่ว่าหนังของคุณจะเล่าเรื่องด้วยสไตล์เจิดจ้าเพียงใด
 
          “เนื้อหา” ยังเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด สไตล์ที่แปลกใหม่ ฉูดฉาด เจิดจ้า เปรียบไปก็เหมือนคนที่ชอบแต่งตัว มีสีสัน แต่ไม่ว่าคุณจะใส่ อาร์มานี หรือม่อฮ่อม สุขภาพ(ซึ่งก็คือเนื้อหา) ยังเป็นหัวใจสำคัญที่สุด เพราะถึงแต่งตัวดีเพียงใด หากสุขภาพแย่ เป็นโรคร้าย ก็ไม่มีประโยชน์
  
          2.การวิจารณ์แบบมาร์กซิสต์(marxist criticism)
การวิจารณ์ประเภทนี้ อันที่จริงรวมไปถึงการวิจารณ์แบบที่เรียกกันว่า contextual criticism กล่าวคือ เน้นความสำคัญกับส่วนของ “เนื้อหา” ในหนัง โดยมีน้ำหนักหลักอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างภาพยนตร์กับบริบททางสังคม
 
          พูดให้เข้าใจง่ายขึ้น มันคือการวิจารณ์โดยอิงกับเรื่องราวทางสังคมวิทยา เหตุผลก็คือ เพราะหนังไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่อย่างโดดเดี่ยว หากแต่คือผลผลิตของสังคม หรือกระบวนการทางสังคมตัวอย่างเช่น ขณะที่นักวิจารณ์ประเภทแรก ชื่นชมการเล่าเรื่อง การใส่สัญลักษณ์มากมาย หรือรูปแบบที่น่าสนใจของหนัง American Beauty
 
          แต่การวิจารณ์ประเภทที่สอง เน้นไปที่การแสดงความเห็นต่อเนื้อหาของสังคมอเมริกันที่ส่งผลหรือได้รับผลลัพธ์จากวัฒนธรรมสมัยใหม่ของตัวละคร อีกตัวอย่างที่พอจะทำให้เข้าใจมากขึ้นก็คือ หนังเรื่อง Truman Show ซึ่งมีตัวละครอย่าง ทรูแมน เบอร์แบงค์(จิม แคร์รีย์) เป็นตัวเดินเรื่อง ในแง่ของการวิจารณ์แบบแรก อาจกล่าวถึงเทคนิคกลวิธี อาทิ
 
          การถ่ายภาพแบบมุมกว้างและการเปลี่ยนขนาดของภาพเพื่อสร้างความหมายบางอย่าง(มายาภาพ) ตลอดไปจนถึงการใช้ “สีเหลือง” เป็น “สีหลัก” ของหนัง

          แต่หากนำเอาการวิจารณ์แบบที่สองเข้ามาจับ เนื้อหาของหนังอาจวิจารณ์ไปถึง การที่มนุษย์ยุคใหม่ตกอยู่ภายใต้ของการควบคุมของสื่อ(media) และการตกเป็นเหยื่อของวัฒนธรรม somebody เป็นหลัก กล่าวคือ ต้องบอกให้ได้ว่าเนื้อหาของหนัง สะท้อนภาพของอะไรในสังคมหรือสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงกับยุคสมัย
 
          นักวิจารณ์บางท่านชอบพูดถึงการเมือง หรือด่ารัฐบาลที่บริหารประเทศ โดยมีการอิงกับเนื้อหาของหนังแต่ละเรื่อง การวิจารณ์แบบนี้ก็คือ marxist criticism หรือ contextual criticism นั่นเอง
  
          3.การวิจารณ์โดยให้ความสำคัญไปที่ผู้กำกับเป็นใหญ่(auteur criticism)
          ถ้าจะมีงานวิจารณ์ประเภทไหนที่ “เรื่องมาก”(ไม่ใช่ยาก) สักหน่อย ผมคิดว่าการวิจารณ์ประเภทสุดท้ายนี่แหละ ที่เป็นความรู้สึกนั้น การวิจารณ์หนังโดยเน้นไป “ผู้กำกับเป็นใหญ่” นั้น ให้ความสำคัญกับความเป็น director ของคนๆ นั้น หรือเปรียบไปคือความเป็นนักสร้างสรรค์ของคนทำหนัง
 
          อาจเป็นการค้นหาบุคลิกสำคัญ, ตัวละครที่มีลักษณะน่าสนใจจากหนังหลายเรื่อง หรือความเป็นส่วนตัวของผู้กำกับในงานของเขา เช่นทำไม ตัวละเพศหญิงในหนังของ อัลเฟรด ฮิทช์ค็อก ถึงมักไม่ใช่คนดี, ตัวละครของเควนติน ตารันติโน มักเป็นพวกที่ใช้ชีวิตอยู่ในด้านมืดของสังคม, ทำไมเนื้อหาของหนัง โอลิเวอร์ สโตน ถึงมีน้ำ เสียงของการวิพากษ์สังคมตลอดเวลา หรือทำไมตัวละครของ สตีเว่น สปีลเบิร์ก ถึงมีลักษณะของเด็กๆ อยู่เกือบทุกเรื่อง
 
          สรุปก็คือ เป็นการมองไปยัง “จุดร่วม” หรือ “ความเหมือน” ที่กระจัดกระจายในภาพยนตร์ของเขา และสิ่งที่เป็นอยู่นั้น ถ้าทำการวิเคราะห์เจาะลึกลงไป เราจะพบว่ามีความเกี่ยวข้องอยู่ในระดับที่มากของภูมิหลังคนทำหนังเหล่านี้
 
          บางครั้งอาจมองในส่วนของรูปแบบ หรือมองในส่วนของการใช้สีต่างๆ กระทั่งงานสร้างที่มีบุคลิกเด่นชัดจนรู้สึกได้
 
          หากจะวิจารณ์ไปที่การมองหาจุดร่วมของหนัง แน่นอนว่าการวิจารณ์ประเภทนี้ ไม่สามารถทำได้กับผู้กำกับที่มีผลงานเพียงเรื่องเดียว ที่บอกว่าวิธีการนี้ ดูจะเรื่องมากสักหน่อย เพราะหลายครั้งก่อนจะวิจารณ์ นักวิจารณ์เองก็ต้องทำการบ้าน ด้วยการดูหนังย้อนหลังเกือบทุกเรื่องของผู้กำกับ
 
          การวิจารณ์รูปแบบนี้ ถือว่ามีน้อยที่สุดในโลกของการวิจารณ์ภาพยนตร์
 
          ทว่า ไม่ว่าจะวิจารณ์อย่างไร การสร้างงานให้คนอ่านได้จ่อยอดทางความคิด คือสิ่งที่ดีที่สุด
 
          สำหรับการเห็นด้วยหรือไม่นั้น เป็นส่วนที่ไม่สำคัญที่สุด
.......................................
(หมายเหตุ รูปแบบและแนวทางว่าด้วยการวิจารณ์หนัง : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ