บันเทิง

13 ปี'Lips'อีสาน30ปีหนัง'ลูกอีสาน'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

13 ปี'Lips'อีสาน30ปีหนัง'ลูกอีสาน' : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร [email protected]

          อีสานคลาสสิกนั้น มีจุดเริ่มต้นจากที่ใดหรือ ?
 
          จาก “ผ้าแพรผืนแรก” ที่ถูกทอในบ้านคำปุน ที่อุบลราชธานี หรือจากประกายงดงาม ที่สะท้อนผ่านศิลปะแบบขอมของบุรีรัมย์…จากถ้อยคำแรกที่ถูกเขียนในวรรณกรรม “ลูกอีสาน” หรือจากการเดินทางของคำว่า heritage
 
          ไม่ว่าจะมาจากแง่งามใด นิตยสาร Lips ฉบับ “อีสานคลาสสิก”(และ exotic) ก็ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงวันแรกที่ได้ดูหนัง “ลูกอีสาน”(1982) เมื่อ 30 ปีที่แล้ว
  
          ความหมายแห่งอีสานไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลยนะครับ มันอาจจะถูก “ผันผวน” ไปบ้าง จากการ “ปักป้าย” ของแคมเปญท่องเที่ยว หรือถูกเล่นแร่แปรธาตุเป็นระยะๆ จากนโยบายอุตสาหกรรม แต่รากเหง้าอันงดงามนั้น ผู้คนสามารถสัมผัสได้เมื่อเดินไป “หลับนอน” และ “เป็นอยู่คือ” ที่นั่น
  
          อาจกล่าวได้ว่า ถ้าสงขลาเป็นสีสันประวัติศาสตร์ และศิลปะสมัยใหม่ มีห้องแถวไม้สไตล์จีน ตึกปูนเก่าทรงชิโนโปรตุกีส และเรื่องราวยุคอาร์ตเดคโคแสนสวย คอยเชิดหน้าชูตานั้น “อีสานของชาวไทย” ก็มีกลิ่นอายของ Traditional จากหลายอย่าง ที่หลอมรวมให้เรารู้สึกเมื่อไปถึง
 
          ผมเดินเจอ Lips เล่มใหม่วางแผงอยู่ในตลาดเก่าแถวบ้าน ทันทีที่เห็นปกหรูคลาสสิก ก็รู้ได้ทันทีตามประสาคนอ่านหนังสือว่า “เกลี้ยงแผงแน่” สมองจึงทำงานซื้อมา 4 เล่ม เอาไว้ฝากเพื่อนพ้องในวงการสื่อ ที่กำลังไปเที่ยวอินเดีย Lips เล่มนี้หนามากและหนักมาก หนักระดับถ้าผมโยน 4 เล่มเข้าไปหาใครพร้อมกัน โอกาสเสียหลัก ล้มทั้งยืน มีสูงกว่าสาวๆ หวังจะพบรักแท้
บนรถไฟฟ้า BTS แบบ คริส หอวัง
 
          ในวรรณกรรมและหนังลูกอีสาน ที่ครบรอบ 3 ทศวรรษพอดี (1982-2012) เคยถูกเขียนเป็นนิยายแบบตอนๆ ทั้งหมด 36 ตอน และตีพิมพ์ใน “ฟ้าเมืองไทย” ซึ่งผมโตไม่ทัน (น่าจะสักปี 2518) และที่ดังมากเพราะหนังสือของคุณ คำพูน บุญทวี เล่มนี้ ได้รางวัล “ซีไรต์”
 
          จุดเด่นในหนัง ที่ไม่แพ้อาหารอีสานตามร้านข้างทาง ก็คือ แม้บรรยากาศจะมีมุมของความแร้นแค้น ต่อสู้กับเงื่อนไข แต่มันมีการแวะให้เราเห็นถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนความเชื่อของชาวอีสาน รวมไปถึงการบรรยายถึงสภาพความเป็นไปตามธรรมชาติของผู้คนและสภาพแวดล้อม เช่น การเกี้ยวพาราสีกันของทิดจุ่น, การออกไปจับจิ้งหรีดของบักคูน
การเดินทางไปหาปลาที่ลำน้ำชีเพื่อนำปลามาทำอาหาร ฯลฯ
  
          “อารมณ์ความรู้สึก” ในหนังนั้น ถูกโฟกัสให้ชัดมากขึ้น เมื่อผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานถึง 30 ปี เราได้เห็นเรื่องเก่าก่อนในตอนนั้น ได้เห็นภาพถ่ายงดงามจากทีมงาน กองบรรณาธิการ ช่างภาพ โดยมีคุณศักดิ์ชัย กาย (เขามีชื่อเล่นว่า “คนรักของต้นไม้” และ “เพื่อนสนิทของภาพถ่าย” เป็นผู้นำพลพรรคของ Lips ไป “รื้อ” ความหลังที่อีสานแบบทริปใหญ่
ส่วนจะรื้อความหลัง ด้วยวันคืน ด้วยระยะทาง หรือด้วยฉากจำ “วันเก่าก่อนอันอ่อนหวาน” อันนี้ต้องไปถาม คนรักของต้นไม้ เอาเอง)
  
          Lips เล่มนี้สวยมากนะครับ ผมกะจะซื้อมาเก็บไว้ อีกหลายปีค่อยเอาไปขายกดราคากองบรรณาธิการ (ฮา) บางหน้า เปิดไปแล้วถึงกับทึ่ง เช่นภาพของกองบก.ทำท่าพิศวาสต้นไม้ในชุมชนคาทอลิกที่สกลนคร, โรงสีข้าวเก่าที่กาฬสินธุ์ ที่ exotic และภาพที่เล่นกับความรู้สึกมากอย่าง “สามพันโบก” ที่อุบลราชธานี
 
          สิ่งที่สนุกอย่างหนึ่งในการอ่าน Lips ก็คือ เวลาเขาจัดธีมไปทริปต่างๆ นั้น ทีมงานจะตีความ (interpretation) สถานที่อย่างไร (หลังจากมันถูกผันผวนด้วยข้อมูลรุมเร้า) ดูก็เห็นอย่างหนึ่ง อ่านวรรณกรรมก็อีกวิวหนึ่ง และแน่นอนว่าในสายตาของ Lips ก็ถ่ายทอดออกมาอีกการเห็นหนึ่ง
 
          อ่านบทบรรณาธิการของคุณศักดิ์ชัย กาย เพิ่งรู้ว่า ทริปอีสานคลาสสิกนั้น ใช้พละกำลังทั้งคนและเงินมากกว่าธีมปารีสและนิวยอร์ก เห็นภาพทีมงานที่ไปตามโลเกชั่นต่างๆ แล้ว ทำให้นึกเอาเองว่า ทำไมการท่องเที่ยวของไทย ไม่เข้าไปทำอะไรมากกว่านี้ (ไหนๆ ก็มีการ “ปักป้าย” เอาเองแล้วว่า เมืองนั้นเมืองนี้ คือเมืองของอะไร เช่น “อุดรฯ” เมืองของไลฟ์สไตล์แฟชั่น, “ขอนแก่น” เมืองของนักกีฬา)
 
          ที่คลาสสิกอีกส่วนหนึ่งก็คือ การหลอมรวมธีมระหว่างคอนเซ็ปต์โฆษณาของ K-Bank และแนวคิดนำเสนอของ Lips ฉบับครบรอบ 13 ปี คือเอาหลายอย่างมาอยู่ด้วยกัน เพราะแม้แต่งานโฆษณาของ K-bank เอง ก็ออกอารมณ์ old school มาเจอกับ classical (แม้ว่าสาวสาวิตรี ที่ปรากฏตัวในสถานีรถไฟนั้น จะ “นมโต” ไปหน่อย ก็เถอะ)
  
          จากความรักในตัวหนังสือ ที่ชอบอ่านหนังมาตั้งแต่เด็กๆ ผมรู้สึกว่า การทำนิตยสารเล่มหนึ่งให้ดีๆ นั้น ไม่ง่ายเลย เพราะโลกของเรื่องราวเปลี่ยนแปลงรสนิยมของผู้คนไปมาก หนังลูกอีสานกับ Lips อีสาน จึงเหมือนฉากควรจำ เป็นดั่งรสของไวน์พีโน่นัวร์, การถักทอของผ้าผืน และคนรับใช้แห่งถ้อยคำสวย
เพราะแฟชั่นบางภาพ “ดิบเถื่อน” เหมือนป่าลึก,
 
          “งดงาม” แบบเพลงเก่า
 
          และอ่อนหวานดุจ “นิยายรัก”.
.......................................
(หมายเหตุ 13 ปี'Lips'อีสาน30ปีหนัง'ลูกอีสาน' : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร [email protected])

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ