ข่าว

‘ศ.ดร.สมพงษ์’ สะท้อนปัญหา ‘นักเรียนยิงกัน’ จ่อใช้ความรุนแรง-ขยายตัว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน ผอ.ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ สะท้อนปัญหา ‘นักเรียนยิงกัน’ แนวโน้มใช้ความรุนแรง ขยายตัวมากขึ้น กลายเป็นสังคมอันตรายไม่น่าอยู่

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน ผอ.ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ ‘คมชัดลึก’ ถึงสถานการณ์การใช้ความรุนแรงของเด็กและเยาวชนไทย จากยกพวกตีกัน สู่ นักเรียนยิงกัน ว่าการทำร้ายร่างกาย หรือการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ นับวันมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงและขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

 

ผลศึกษาจากการลงพื้นที่พบปัญหาการใช้ความรุนแรงจนนำไปสู่ปม นักเรียนยิงกัน มาจากหลายปัจจัย ดังนี้

 

1.นโยบายปราบอาวุธไม่ลงสู่การปฏิบัติ : เวลาคำรามนโยบายไม่ลงสู่การปฏิบัติ เป็นเพียงการประกาศนโยบายว่า จะไม่มีอาวุธปืน แต่จากนั้นเพียงอาทิตย์เดียวเกิดเหตุ นักเรียนยิงกัน ด้วยอาวุธปืน ทำไมเป็นแบบนั้นก็เพราะ

 

  • ฝ่ายปฏิบัติ หรือกลไกรัฐ ไม่ตื่นรู้ 
  • ไม่ขานรับนโยบาย 
  • ไม่เอาจริงเอาจัง
  • ไม่ปราบอาวุธปืนอย่างต่อเนื่อง

 

ยกตัวอย่างหลังเกิดเหตุ เด็ก14 กราดยิงสยามพารากอน ฝ่ายบ้านเมืองเพียงหาเหยื่อได้ 2-3 ราย ก็เลิก นโยบายปราบอาวุธปืนก็จบตามไปด้วย แต่ปัญหาความรุนแรง ยังมีอยู่ต่อไป

 

"รัฐบาลต้องทำจริงจัง ทำอย่างต่อเนื่อง การบริหารประเทศต้องมองระยะยาว มองอนาคต อีกทั้งกลไกระบบราชการ ต้องตอบโจทย์ปัญหาในปัจจุบันและอนาคต ไม่ใช่แก้ปัญหารายวัน อย่าลืมว่าสังคมปัจจุบันปัญหาเดินหน้าเร็วมาก แต่กลไกรัฐบาลยังย่ำอยู่ที่เดิมหรือทำได้เพียงการแก้ไขปัญหารายวัน เท่านั้น ซึ่งมันไม่พอกับโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาการใช้ความรุนแรง"

 

 

ปัญหาความรุนแรงมาจาก เพศ ยาเสพติด เกม ฯลฯ องค์ประกอบเหล่านี้ กลายเป็นสิ่งแวดล้อมอยู่รายรอบตัวเด็ก เป็นวงจรสีเทาที่อยู่ใกล้เด็กมากๆ และเด็กสามารถเข้าถึงได้ง่าย และอันตรายมาก

 

 

ปัจจุบันโรงเรียน สถานศึกษา ชุมชน ไม่เป็นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอีกต่อไปแล้ว เมื่อพบข้อเท็จจริงว่า ครอบครัวไทยระดับล่างร้อยละ 70-90 ใช้ความรุนแรงในครอบครัว พูดกันไม่กี่คำยิงกันแล้ว

 

2.ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว : ปัจจุบันครอบครัวไทย เป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวเปราะบาง เด็กถูกทิ้งให้อยู่กับปู่ย่าตายาย ซึ่งไม่สามารถจัดการเด็กได้ เมื่อเด็กเจอสิ่งแวดล้อมไม่ดี ครอบครัวอ่อนแแอ เปราะบางไม่ปลอดภัย แต่แฝงการทะละวิวาท รวมถึงปัจจัยจากครอบครัวที่นำไปสู่ความรุนแรง ดังนี้ 

 

  • ครอบครัวไม่มีหลักประกันชีวิต
  • ครอบครัวไม่มีอาชีพ 
  • ครอบครัวไม่มีรายได้พอเลี้ยงชีพ
  • ครอบครัวพึ่งพายาเสพติด
  • ครอบครัว ที่ผู้นำไม่มีทางออก กลุ้มใจลงไม้ลงมือใช้ความรุนแรง
  • ครอบครัวส่งต่อความรุนแรงถึงเด็ก 

 

ข้อมูลเด็กและเยาวชนจาก กรมพินิจและคุ้มครองเยาวชน กระทรวงยุติธรรม พบว่า เด็กและเยาวชนทำผิดคดีร้อยละ 80 มาจากติดยาเสพติด และเด็กที่ก่อเหตุใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ อายุน้อยลงตามละดับ แต่มีความรุนแรงมากขึ้น และขยายวงกว้างมากขึ้น

 

ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ต่างคนต่างอยู่บนมือถือ ขาดการสื่อสาร ขาดการสนทนา ขาดการทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่มีเวลากอด ไม่มีเวลาหอม หรือให้กำลังใจซึ่งกันและกัน แต่ใช้เสียงในการวางอำนาจข่มขู่ 

 

 

3.โรงเรียนมีการบูลลี่(Bully)กันตลอด : การกลั่นแกล้งลุกลามในโลกโซเชียลมากขึ้น เพิ่มความรุนแรง และขยายไปทุกกลุ่มเด็กและเยาวชน ลงไปถึงการทำร้ายร่างกาย เกิดภาวะซึมเศร้า  เมื่อโรงเรียนกลายเป็นพื้นที่อันตรายที่สุด เกิดการเลียนแบบ เพื่อได้รับการยอมรับ จากกลุ่มเพื่อนทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน เด็กต้องการชื่อเสียงต้องการยอมรับในเพียงชั่วข้ามคืน เกิดค่านิยมผิดๆ การยิง การทำร้ายกัน กลายเป็นฮีโร่  เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ เห็นคนอื่นทำได้ออกสื่อเหมือนเด็กช่างที่ยิงกัน ก็ทำตามบ้าง

 

 

4.ความรุนแรงที่มาจากชุมชน: ปัจจุบันคนข้างล่างมีรายได้ 1,038/เดือน ลดลงร้อยละ 5 หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19  เมื่อคนระดับรากหญ้า เผชิญปัญหาเหล่านี้ จนนำไปสู่ความรุนแรง

 

  • ไม่มีกิน  
  • ไม่มีงานทำ 
  • ยาเสพติด ทั้ง กัญชา  น้ำกระท่อม เหล้า บุหรี่ ตีไก่ หวย ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแฝงไว้ด้วยความรุนแรงทั้งนั้น

 


"ทำไมบ้านเมืองของเราปล่อยให้ยาเสพติดล้นประเทศ ยาเสพติดเข้าถึงเด็กทุกคน เมื่อคนใช้ยาเสพติดจะมีสติได้อย่างไร ถ้ายังให้นโยบายเป็นสวรรค์ แต่ภาคพื้นดินที่อยู่กับปัญหาคือนรก นโยบายไม่เคยลงสู่การปฏิบัติ เพราะกลไกของรัฐ ทั้ง ด้านการศึกษา ครอบครัว ความรุนแรง มันอ่อนเปลี้ยไปหมด อีกทั้ง กลไกลของรัฐไม่ทำจริง แต่มีส่วนพัวพันอำนาจ มีผลประโยชน์ จึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง หรือแก้ไขในบางครั้งเท่านั้น แต่ความรุนแรงส่งผลกระทบต่อสังคมหนักขึ้นเรื่อยๆ"

 

 

การแก้ไขปัญหารายเคสไม่ได้แล้ว  ต้องแก้ไปขปัญหาทั้งระบบ  แก้ปัญหาทั้งโครงสร้าง ทำอย่างไร ให้คนข้างล่างมีพื้นที่ปลอดภัย มีงานทำ ไม่ใช่กระจุกความร่ำรวยอยู่เพียงคนร้อยละ 15 ของประเทศ ที่เหลือเผชิญความยากจน ความเหลื่อมล้ำ นโนยายเป็นแค่วาทกรรม แต่ปัญหาคนรากหญ้า มีรายได้ต่อเดือน 1,038 บาทไมไ่ด้รับการแก้ไข

 

‘ศ.ดร.สมพงษ์’ สะท้อนปัญหา ‘นักเรียนยิงกัน’ จ่อใช้ความรุนแรง-ขยายตัว

 

 

5.ครอบครัวหนี้สิน 5 หมื่น-1.5 แสนบาท ต่อครัวเรือน : ต้องกู้เงินนอกระบบ เกิดการทวงหนี้ก็ใช้ความรุนแรง สิ่งที่เด็กและเยาวชนสัมผัสในชุมชน ครอบครัว และโรงเรียน คือการใช้ความรุนแรง สิ่งหนึ่งที่แสดงออกจากการตอบโต้กัน ทำให้ขณะนี้สังคมไม่ปลอดภัย สังคมไม่น่าเมื่อคนไม่ปลอดภัย ไม่มีความสุข นำไปสู่ปัญหา การฆ่าตัวตาย มากขึ้น

 

 

ทั้งที่รัฐบาลเพื่อไทย มีพรรคการเมืองพรรคเดียว(ภูมิใจไทย)ที่ดูแลรับผิดชอบ 4 กระทรวงหลัก ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย(มท.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กระทรวงแรงงาน(รง.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)

 

 

“ 4 กระทรวง ทั้งมหาดไทย-ศธ.-อว.-รง. ต้องผนึกกำลังกันสร้างนโยบายลดความรุนแรง มีองค์ความรู้ มีนวัตกรรม มีกลไกรัฐ กลไกการปกครองที่จะจัดการกับมันได้ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับโรงเรียน  ระดับชุมชน ระดับท้องถิ่น และระดับชาติ มีอำนาจอยู่ในมือแบบเบ็ดเสร็จ ก่อนค่านิยมที่ฝังหัวแบบผิดๆ เมื่อเพื่อนถูกยิงต้องเอาคืน เตือนระวัง นักเรียนยิงกันจะลุกลามไปทั่วประเทศ” ศ.ดร.สมพงษ์ ฝากทิ้งท้าย

 

....กมลทิพย์ ใบเงิน...  รายงาน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ