Lifestyle

รักลูกศิษย์ไม่คิดอามิสสินจ้างครูดนตรีไทย“อุทัย แก้วละเอียด”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เสียงเครื่องดนตรีไทยบรรเลงแว่วเล็ดลอดมาจากลานวัฒนธรรมริมตลาดน้ำยามเย็นของอัมพวา สมุทรสงคราม ดินแดนของเสียงเพลง เมื่อช่วงค่ำของวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา ทำให้ “ครูอุทัย แก้วละเอียด” วัย 77 ปี คิดถึงคืนวันเก่าๆ

สมัยร่ำเรียนดนตรีไทยกับครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ดุริยกวี 5 แผ่นดิน วันเวลาเปลี่ยนไปวันนี้ครูอุทัยมานั่งฟังการบรรเลงดนตรีไทยของบรรดาลูกศิษย์เพื่อแสดงความยินดีแด่ครูในฐานะศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ปี 2552

 “เรารักเขา จริงใจกับเขา ด้วยใจบริสุทธิ์ มองก็รู้ ครูไม่ได้บอกหรอกว่าวันนี้จะมีงานแสดงมุทิตาจิต แต่ลูกศิษย์เขาก็บอกต่อๆ กันมา ทำให้นึกถึงคืนวันเก่าๆ ที่ตัวเองได้ร่ำเรียนกับครูหลวงประดิษฐไพเราะ ครูเป็นที่สุดในโลกแล้ว ไม่มีใครเหมือน ลูกศิษย์เยอะมาก สมัยก่อนครูลูกศิษย์รักกันจริง ไม่มีอามิสสินค้า รักกันด้วยใจ ครูหลวงประดิษฐไพเราะท่านมีเมตตา เราพยายามเรียนรู้การเล่นดนตรีจากท่าน ท่านจึงเป็นคนสร้างทุกอย่างในความเป็นเราวันนี้”

 ครูอุทัย บอกอีกว่า การเห็นลูกศิษย์มาแสดงความยินดีกับตนในวันนี้ ออกจะรู้สึกเกรงใจด้วยซ้ำเพราะสิ่งที่ทำให้แก่ลูกศิษย์ที่ผ่านมา เป็นความจริงใจในฐานะครู ทำด้วยความรักความผูกพันกัน ไม่หวังสิ่งตอบแทน อยากฝากถึงครูสอนดนตรีไทยในปัจจุบันว่า ไม่ควรเน้นเรื่องการสอนเด็กเพื่อหวังอามิสสินจ้างเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความรู้แก่ลูกศิษย์ด้วยความจริงใจเหมือนในอดีตที่จะได้รับค่าตอบแทนเท่าไหร่ ครูจะไม่เป็นผู้กำหนด ขึ้นอยู่กับฝ่ายผู้เรียนสมัครใจจะให้

 เมื่อถามว่าดนตรีไทยจะยังคงอยู่ได้นานแค่ใหน ครูอุทัยนิ่งไปสักพักใหญ่แล้วตอบกลับมาว่า ความนิยมในการเล่นดนตรีไทยหากเปรียบเทียบในอดีตกับปัจจุบันก็มีความแตกต่างกันมาก เนื่องจากมีดนตรีและวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามา มีทั้งเต้น ทั้งร้อง มีรูปแบบและลีลาการละเล่นดนตรีที่เร้าใจ ดนตรีไทยนั่งเล่นนิ่งๆ ดังนั้น จึงเห็นว่าดนตรีไทยเองก็สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบ อาทิ การเพิ่มจังหวะ และการผสมผสานต่างๆ ได้เพื่อให้น่าสนใจมากขึ้น เป็นสากลมากขึ้น

 มาฟังฝ่ายลูกศิษย์มือระนาดเอกพูดถึงครูอุทัยกันบ้าง "แม็ก" สิทธิกานต์ นาคเงิน นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม วัย 21 ปี บอกว่า ชอบไปเรียนดนตรีไทยกับครูที่บ้านพักนนทบุรีตั้งแต่เรียนอยู่ม.ปลาย ครูรักลูกศิษย์ ใจดี ชอบซื้อไอศกรีมเลี้ยงเด็กๆ ไม่หวงความรู้ ให้แล้วให้เต็มที่ วิธีการสอนครูจะดูก่อนว่าเด็กคนไหนฝีมืออย่างไรแล้วครูจะต่อเพลงให้ตามทางที่เด็กคนนั้นถนัด ครูชอบเล่าเรื่องเก่าๆ สมัยที่เป็นศิษย์ครูหลวงประดิษฐไพเราะ เล่าถึงครูท่านอื่นในรุ่นราวคราวเดียวกัน เราก็ได้ทราบประวัติครูด้านดนตรีไทยในอดีตไปด้วย

 “สิ่งที่ได้เรียนรู้จากครู คือ ทางดนตรีของตัวเอง ทั้งทางระนาด ทางฆ้อง ครูสอนละเอียดมาก ครูสอนให้เราคิดเอง ให้เรามาหนึ่งกลอน สองกลอน สามกลอน ให้เราเอามาผสมเป็นแบบที่สี่ แบบที่ห้าเอง ร้อยกันให้ได้ เป็นทางเดียวกัน ผมก็สามารถทำได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่เก่งขนาดครู ครูจึงเป็นตัวอย่างของผม ผมอยากเป็นครูดนตรีไทย อยากมีลูกศิษย์นับถือเยอะๆ เหมือนครู อยากให้เด็กเคารพเราเหมือนเด็กเคารพครู”

 แม็ก ยังมองอีกว่าปัจจุบันความนิยมดนตรีไทยเด็กรุ่นใหม่ลดลง ครูตามโรงเรียนจะให้เด็กรู้จักดนตรีไทยจากเทป ซีดี อยากให้โรงเรียนสอนให้เด็กเล่นดนตรีไทย จะได้ทั้งความรู้ ความสามัคคี มีเพื่อนเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่เด็กลืมดนตรีไทย เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ อยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละคน เด็กอาจชอบเพลงฝรั่ง เพลงเกาหลี เราชอบได้แต่อย่าลืมว่าส่วนหนึ่งเราคือคนไทย เราควรยึดอะไรที่เป็นไทยไว้สักอย่าง ไม่ต้องไปเหมือนเขาหมดก็ได้

ผกามาศ ใจฉลาด รายงาน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ