Lifestyle

2 เยาวชนคว้าเหรียญทองแดง แข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...   ปาริชาติ บุญเอก [email protected]

 

 


          หลังจากกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) สนับสนุนเยาวชนไทยเข้าแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ (WorldSkills Kazan 2019) ครั้งที่ 45 ณ เมืองคาซาน สหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อวันที่ 22-27 สิงหาคม เยาวชนไทยคว้า 2 เหรียญทองแดง 12 เหรียญ ฝีมือยอดเยี่ยม จากการส่งเข้าแข่งขันทั้งสิ้น 23 สาขา 25 คน

 

 

          ทั้งนี้การแข่งขันดังกล่าวจัดขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศสมาชิก เนื้อหาของแบบทดสอบจะสะท้อนถึงเทคโนโลยีล่าสุดตามความต้องการทักษะแรงงานของตลาดโลก เวทีนี้กำหนดให้จัดการแข่งขันทุก 2 ปี เป็นการส่งเสริมทักษะฝีมือแรงงานของเยาวชนจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกที่เป็นสมาชิกปัจจุบันมี 82 ประเทศ

 


          ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม กพร. ได้จัดพิธีมอบเกียรติบัตรและรางวัลแก่ผู้เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่เยาวชนทุกคนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจสร้างผลงานและชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ โดยเหรียญทองแดงได้รับเงินรางวัล 124,000 บาท เหรียญฝีมือยอดเยี่ยมเหรียญละ 51,000 บาท และเยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันทุกคน กพร.มอบเงินให้รายละ 10,000 บาท     

 

 

 

2 เยาวชนคว้าเหรียญทองแดง แข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ

ฉัตรวริน คลองน้อย

 

 


          ฉัตรวริน คลองน้อย หรือ น้ำส้ม อายุ 21 ปี จบการศึกษา สาขาการจัดการโรงแรม มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี เยาวชนที่ได้รับรางวัลเหรียญทองแดงจากสาขาบริการอาหารและเครื่องดื่ม กล่าวว่า ดีใจที่สามารถคว้ารางวัลได้อีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้เคยคว้าเหรียญทองในสาขา เดียวกันจากการแข่งขันฝีมือแรงงานระดับนานาชาติรายการ Belt and Road International (BRISC2019) เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ณ เมืองฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน


          ทั้งนี้ในระหว่างการเก็บตัว 6 เดือน ได้มีโอกาสไปฝึกงานที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ มีอุปกรณ์ครบ และได้ฝึกจริงๆ ตลอด 7 วันต่อสัปดาห์ สำหรับการแข่งขันสาขาบริการอาหารและเครื่องดื่ม แบ่งเป็น 4 วัน ได้แก่ วันที่ 1 Fine Dining งานคอนเซ็ปต์ เน้นความหรูหรา เสิร์ฟแบบ Full Course วันที่ 2 Banquet Dining การจัดงานเลี้ยง เน้นความรวดเร็ว



     2 เยาวชนคว้าเหรียญทองแดง แข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ

 

 

          วันที่ 3 Casual Dining การจัดอาหารเสมือนร้านอาหารข้างทางที่เน้นความรวดเร็วเป็นหลัก และขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า และวันที่ 4 Barista + Bar แข่งชงกาแฟ เทลาเต้อาร์ต และนำเสนอเมนูกาแฟซิกเนเจอร์และชงม็อคเทล โดยในการแข่งขันผู้เข้าร่วมแข่งจะต้องมีความสามารถครอบคลุมทั้งการทำอาหาร การบริการ บุคลิกภาพ และความรู้รอบด้านทั้งไวน์ ชีส และมีวิธีการบริการที่ถูกต้อง


          “จุดเด่นที่คิดว่าชนะคู่แข่ง คือรอยยิ้ม ซึ่งจะมีการให้คะแนนในเรื่องการสื่อสาร แขกมีความสุขหรือไม่ มีการถามและให้ข้อมูลได้ถูกต้องหรือไม่ ประทับใจที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันครั้งนี้และสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ในการแข่งขันจนคว้าเหรียญรางวัลมาได้ ติด 1 ใน 3 จากผู้เข้าแข่งขันในสาขากว่า 35 ประเทศ ทำให้ได้ประสบการณ์ มิตรภาพ ความรู้เฉพาะด้านที่สามารถนำไปปรับใช้ได้”
   

 

 

2 เยาวชนคว้าเหรียญทองแดง แข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ

 

 

          ฉัตรวริน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้เตรียมตัวเข้าสัมภาษณ์ที่โรงแรมโอเรียนเต็ลในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ ทำงานหาประสบการณ์และอยากทำตามความฝันเป็นแอร์โฮสเตส รวมถึงอยากนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้กลับไปช่วยเทรนด์รุ่นน้องเพื่อให้กลับมาคว้ารางวัลในเวทีระดับนานาชาติได้อีกครั้งที่เซี่ยงไฮ้ในอีก 2 ปีข้างหน้า
   

          พัชรพล สุขคง หรือ ต่อ อายุ 21 ปี จบการศึกษาในระดับ ปวส. เทคนิคการผลิต วิทยาลัยเทคนิคนครนายก อีกหนึ่งเยาวชนที่ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง สาขาเครื่องจักรกล CNC Milling (เครื่องกัด) เปิดเผยว่า การแข่งขันในครั้งนี้เก็บตัวตลอดระยะเวลา 3 ปี เนื่องจากเรียนปวส. ในระบบทวิภาคี และได้เข้าทำงานกับบริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จํากัด ในแผนกโอลิมปิก หลังจากที่คว้ารางวัลการแข่งขันระดับภาคและระดับประเทศมาแล้วก่อนหน้านี้
  

 

 

2 เยาวชนคว้าเหรียญทองแดง แข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ

พัชรพล สุขคง

 

          การแข่งขันในครั้งนี้แข่งขันในสาขาเครื่องจักกล CNC Milling (เครื่องกัด) โดยงานที่แข่งมีทั้งหมด 3 Module ได้แก่ Module 1 ชิ้นงานจะเป็นอลูมิเนียม กำหนดเวลาในการทำ 4:15 ชม. มีเวลาให้ 15 นาทีในการตรวจสอบแบบ ไม่กำหนดเวลาในการทำโปรแกรมกับ Machine ถัดมาคือ Module 2 งานเป็นเหล็ก กำหนดเวลาในการทำ 6.15 ชม. โดยแบ่งแยกเวลาทำโปรแกรม 2.30 ชม. เวลาเตรียมอุปกรณ์ 15 นาที และเวลา Machine 3.30 ชม. และ Module 3 เป็นงานเหล็ก กำหนดเวลา 7 ชม. โดยแบ่งเวลาทำโปรแกรม 2.45 ชม. เวลาเตรียมอุปกรณ์ 15 นาที และเวลา machine 4 ชม.
  

          “จุดเด่นของเขาคือมีเทคนิคต่างๆ งานมีประสิทธิภาพ คิดค้นวิธีใหม่ๆ ช่วงที่แข่งขันรู้สึกวิตกกังวลเหมือนกันเพราะพลาดไปหลายจุด และมีคู่แข่งที่เก่งๆ จากอีกหลายประเทศ แต่ก็ไม่ยอมแพ้และพยายามทุ่มเทให้มากขึ้น โดยได้รับกำลังใจจากครอบครัวเป็นสำคัญ หลังทราบว่าได้เหรียญรางวัลก็รู้สึกดีใจมาก และหากความรู้และประสบการณ์จะเป็นประโยชน์ต่อรุ่นน้องก็ยินดีจะถ่ายทอดและแชร์ประสบการณ์ต่อไป”
  

          พัชรพล ฝากถึงน้องๆ เยาวชนที่กำลังตัดสินใจเลือกเรียนสายอาชีพว่า สายอาชีพความจริงหางานง่าย เพราะเรียนตรงกับสายงาน โดยเฉพาะหากเรียนปวส. ในระบบทวิภาคี คือเรียน 1 ปี และเข้าฝึกงานในโรงงานจริงอีก 1 ปี มีงานทำแน่นอน เพราะส่วนใหญ่บริษัทรับเข้าทำงานอยู่แล้ว ในอนาคตวางแผนจะเรียนต่อปริญญาตรี โดยบริษัทมีทุนสนับสนุนให้เพื่อเป็นการส่งเสริมศักยภาพแรงงานตอบโจทย์อุตสาหกรรม


          การแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ 
          “สุชาติ พรชัยวิเศษกุล” อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เล่าว่า การแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ (WorldSkills Competition) จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมทักษะฝีมือแรงงานของเยาวชนจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก มีการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 2493 ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน และเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยจัดขึ้นทุก 2 ปี 

 

 

 

2 เยาวชนคว้าเหรียญทองแดง แข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ

 


          สำหรับประเทศที่จะจัดส่งเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาตินั้น จะต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ (WorldSkills International) หรือชื่อเดิม International Vocational Training Organization (IVTO) ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิก 82 ประเทศ
   

          รัฐบาลไทยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2536 อนุมัติในหลักการให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดส่งบุคคลเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ โดยประเทศไทยได้สมัครเป็นสมาชิกองค์การการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติเมื่อปี 2536 และได้จัดส่งเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติมาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน
  

 

2 เยาวชนคว้าเหรียญทองแดง แข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ

 

 

          แต่ละประเทศจะส่งเยาวชนเข้าแข่งขันได้ไม่เกินสาขาละ 1 คน หรือ 1 ทีม ระยะเวลาแข่งขัน 4 วัน และใช้แบบแข่งขัน (Test Projects) ที่จัดทำขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งมาจากภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศสมาชิก โดยเนื้อหาของแบบทดสอบจะสะท้อนถึงเทคโนโลยีล่าสุดและความต้องการทักษะแรงงานของตลาดโลก
 

          การจัดส่งเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันเป็นการจูงใจและสนับสนุนให้เยาวชนเห็นความสำคัญของอาชีพต่างๆ และยึดถือเป็นอาชีพเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือได้อีกทางหนึ่ง และกระตุ้นให้ช่างฝีมือที่มีอยู่ในประเทศได้ยกระดับฝีมือของตนเองให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากลและช่วยส่งเสริมงานด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานทัดเทียมนานาประเทศ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-กรมพัฒนาฝีมือแรงงานผลิตช่างเชื่อมฝีมือรับ Mega Project
-ก.แรงงาน เทรน Demi - Chef
-ก.แรงงาน หนุน สปก.เพิ่มทักษะสู่ Super Worker
-ฝึก'เชื่อมใต้น้ำ' แห่งเดียวในไทย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ