Lifestyle

ระบบเฝ้าระวัง นอนบนเตียง แจ้งเตือนการเคลื่อนไหวผู้ป่วย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

-ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] -

 

 

 

          “ระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการเคลื่อนไหวบนเตียง” นวัตกรรมผลิตขึ้นโดยฝีมือนักวิจัยและนิสิตนักศึกษาผู้ประกอบรุ่นใหม่ รวมตัวกันในนามบริษัท เฟมเม เวิร์ค จำกัด อุปกรณ์ที่จะช่วยแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้ที่ต้องดูแลคนไข้ ผู้ป่วยที่ต้องพักฟื้นอยู่บนเตียง อยากรู้ว่าผู้ป่วยนอนบนเตียงแล้วปฏิบัติตามแพทย์สั่งหรือไม่ เฝ้าระวังการตกเตียง รวมถึงการวินิจฉัยอาการโรคต่างๆ ได้อย่างแม่นย้ำมากขึ้น

 

 

 

 

ระบบเฝ้าระวัง นอนบนเตียง แจ้งเตือนการเคลื่อนไหวผู้ป่วย

 

 

          ระบบการเฝ้าระวังเป็นอุปกรณ์ Internet-Of-Thing (loT) ใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ที่สามารถปรับเปลี่ยนสภาวะการเคลื่อนไหวให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน ผลงานนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนักธุรกิจนวัตกรรม (ภาคเหนือ) ในงาน Regional Science Park (RSP) Innovation Day 2019 จัดโดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เวทีที่เปิดโอกาสให้นวัตกรรม ผลงานวิจัยเชิงพาณิชย์ของเหล่าผู้ประกอบการร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคต่างๆ สามารถสร้างมูลค่าได้จริง


          ปราการเกียรติ ยังคง ที่ปรึกษาโครงการระบบการเฝ้าระวัง และอาจารย์สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ระบบดังกล่าวถือเป็นผลงานนิสิตนักศึกษาและอาจารย์ร่วมกันทำระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนกระทั่งนิสิตนักศึกษารวมตัวกันจัดตั้งบริษัทเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ โดยจุดเริ่มต้นที่ทำระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการเคลื่อนไหวบนเตียง

 

ระบบเฝ้าระวัง นอนบนเตียง แจ้งเตือนการเคลื่อนไหวผู้ป่วย

ปราการเกียรติ ยังคง

 


          เนื่องจากการศึกษาข้อมูลพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่เมื่อต้องพักฟื้นบนเตียง หรือต้องนอนในอิริยาบถต่างๆ ตามที่แพทย์สั่ง ผู้ป่วยมักจะไม่ทำตามแพทย์สั่ง ทำให้เมื่อต้องวินิจฉัยโรค หรืออาการกลับไม่สามารถวิเคราะห์ได้ เพราะสอบถาม หรือให้ผู้ป่วยเล่าถึงการนอน การปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์จะเล่าไม่หมด ระบบเฝ้าระวังที่ผลิตขึ้น เป็นการทำงานที่ใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ ด้วยเทคนิค Machine Learning ผ่านทางคลินิก โดยระบบสามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวบนเตียงโดยใช้เซ็นเซอร์จำนวนมากกว่า 140 จุด ประมวลผลและแจ้งเตือนแพทย์ พยาบาล หรือผู้ที่ดูแลได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังมี Feature การทำ Data Analytics

 



          “ระบบการเฝ้าระวังช่วยเก็บข้อมูลให้แก่แพทย์ พยาบาล ผู้ที่ต้องดูแล เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของผู้ป่วยในระยะยาวได้อย่างแม่นยำ ชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นการเฝ้าระวังไม่ให้ผู้ป่วยตกเตียง หรือหากมีอะไรผิดปกติกับผู้ป่วยระบบก็จะแจ้งเตือนไปยังแพทย์ พยาบาล หรือผู้ดูแลได้ทันที เป็นแผ่นที่ติดตั้งบนเตียง ไม่จำเป็นต้องซื้อเตียงใหม่ ไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัด หรือไม่สบายใจที่ต้องถูกจับตามองแบบการติดกล้องวงจรปิดไว้ในห้อง โดยผลที่ออกมาก็เป็นการบอกถึงลักษณะการนอน การแสดงพฤติกรรมนำไปสู่การวิเคราะห์อาการของผู้ที่นอน  ผู้ใช้ไม่ใช่เป็นโรงพยาบาลเท่านั้น อาจเป็นโฮมแคร์ หรือในครอบครัวที่ต้องการเฝ้าระวังและอยากทราบถึงลักษณะการนอน การเคลื่อนไหวบนเตียงของญาติ คนในครอบครัวได้ด้วย”

 

 

ระบบเฝ้าระวัง นอนบนเตียง แจ้งเตือนการเคลื่อนไหวผู้ป่วย

 


          ปราการเกียรติ เล่าต่อว่า นักวิจัยได้ร่วมกับผู้ประกอบการในการพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมที่สามารถใช้งานได้จริง เป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้งานวิจัยไทยเปิดกว้างมากขึ้นนั้น ต้องยอมรับว่าเกิดจากการสนับสนุนผลักดันจากรัฐบาล อย่าง งานวิจัยนวัตกรรมหลายๆ ชิ้นในงาน RSP Innovation Day 2019 จะเห็นได้ว่าเกิดจากความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพและหน่วยงานของรัฐให้ทุนสนับสนุน ฉะนั้นหากองค์กรภาครัฐมุ่งขับเคลื่อนและยกระดับผู้ประกอบการรุ่นใหม่อย่างแท้จริงต้องมุ่งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างอุดมศึกษา นักวิจัยและผู้ประกอบการ เพราะหากมีผู้ประกอบการต้องการนวัตกรรมใหม่อุดมศึกษาไทยก็จะได้พัฒนาองค์ความรู้และสร้างสรรค์งานวิจัย นวัตกรรมตามที่ผู้ประกอบการต้องการสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น


          นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัด อว. กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนาประเทศมีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และช่วยทำให้ประเทศก้าวหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง กระทรวง อว. มีนโยบายในการสร้างฐานให้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคแต่ละแห่งเป็นศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้แก่ภาคเอกชน อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคจึงเปรียบเสมือนประตูผ่านเพื่อให้ท้องถิ่นมีการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือ

 

 

ระบบเฝ้าระวัง นอนบนเตียง แจ้งเตือนการเคลื่อนไหวผู้ป่วย

 


          ทั้งนี้ กระทรวง อว. ได้มอบหมายให้ สอว. สนับสนุนการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 3 แห่ง 14 มหาวิทยาลัย ดังนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ 7 มหาวิทยาลัย
 

          ได้แก่ ม.เชียงใหม่ ม.แม่ฟ้าหลวง ม.แม่โจ้ ม.พะเยา ม.นเรศวร มรภ.อุตรดิตถ์ และมรภ.พิบูลสงคราม อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.ขอนแก่น ม.มหาสารคาม และม.อุบลราชธานี และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ม.สงขลานครินทร์ ม.วลัยลักษณ์ และม.ทักษิณ โดยผ่าน 5 แผนงานหลัก คือ การบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การพัฒนาบริการอุทยานวิทยาศาสตร์ การพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ การวิจัยร่วมกับภาคเอกชน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอุทยานวิทยาศาสตร์

 

 

ระบบเฝ้าระวัง นอนบนเตียง แจ้งเตือนการเคลื่อนไหวผู้ป่วย

 


          จุดเด่นระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการเคลื่อนไหวบนเตียง
          -เป็นอุปกรณ์ Internet-Of-Thing (loT)
          -ใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ ปรับเปลี่ยนสภาวะการเคลื่อนไหวให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน
          -เทคนิค Machine Learning ผ่านทางคลินิก
          -ระบบสามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวบนเตียงโดยใช้เซ็นเซอร์จำนวนมากกว่า 140 จุด
          -ประมวลผลและแจ้งเตือนแพทย์ พยาบาล หรือผู้ที่ดูแลได้แบบ เรียลไทม์
          -มี Feature ในการทำ Data Analytics
          -ระบบการเฝ้าระวังเป็นแผ่นที่ติดตั้งบนเตียง ไม่จำเป็นต้องซื้อเตียงใหม่
          -ช่วยแพทย์ พยาบาล ผู้ดูแลได้ทราบผลการวิเคราะห์ตรงกับพฤติกรรมของผู้ป่วย หรือผู้นอนบนเตียงได้อย่างแม่นยำ
          -ลดการตกเตียง และเฝ้าระวังผู้ป่วยได้สะดวก และลดระยะเวลามากขึ้น
          ที่มา:คมชัดลึก

 

ระบบเฝ้าระวัง นอนบนเตียง แจ้งเตือนการเคลื่อนไหวผู้ป่วย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ