Lifestyle

5ปัญหาสุขภาพจิตเด็ก  สพฐ.ชงทางแก้ระดับร.ร.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

.

 

 


          สพฐ.ห่วงสุขภาพจิตเด็ก หลังพบเด็กโทรเข้ามาปรึกษาสุขภาพจิตมากขึ้น 1 ใน 3 เป็นกลุ่มอายุ 11-25 ปี เผย 5 อันดับปัญหาพบมาก เครียด-วิตกกังวล-ความรัก-ซึมเศร้า-ปมครอบครัว เตรียมยกร่างแนวทางช่วยเหลือสุขภาพจิตในโรงเรียนแบบบูรณาการ ควบคู่กับการพัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูป ปลุกครูให้กำลังใจ ดูแลเด็ก

 


          นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยวานนี้(20ส.ค.)ว่า เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มต้องการรับความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตในส่วนของการให้บริการสายด่วนสุขภาพจิตพบว่า กลุ่มเยาวชนโทรเข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่โทรเข้ามาปรึกษาทั้งหมด เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 11-25 ปี และ 5 อันดับปัญหาที่พบมาก คือ ความเครียด หรือความวิตกกังวล ปัญหาจิตเวช ปัญหาความรัก ปัญหาซึมเศร้า และปัญหาครอบครัว ที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์หรือเหตุการณ์ที่เป็นอันตราย


          ทั้งนี้ เพื่อตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา จึงได้มีการดำเนินการพัฒนาด้านสุขภาพจิตในโรงเรียนแบบบูรณาการ โดยการสำรวจข้อมูล และ Focus Group สะท้อนถึงผลการดำเนินงานสุขภาพจิตในโรงเรียนที่ผ่านมา และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของจิตแพทย์ นักจิตวิทยา รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตในโรงเรียน เพื่อร่วมกันวางแผนพัฒนาด้านสุขภาพจิต นำไปสู่การยกร่างแนวทางการดำเนินงานสุขภาพจิตในโรงเรียนแบบบูรณาการ ควบคู่กับการพัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการช่วยเหลือสุขภาพจิตของนักเรียนกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับจิตแพทย์และทีมสุขภาพจิตในแต่ละพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งผลต่อการดำเนินงานสุขภาพจิตในโรงเรียนได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมได้มากยิ่งขึ้น เพื่อดูแลส่งเสริมให้นักเรียนมีพัฒนาการและมีสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งถือเป็นพื้นฐานความพร้อมสู่การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข


          “สพฐ.จะต้องส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบแนะแนว ครูจะต้องรู้ข้อมูลของเด็กนักเรียนในชั้นเรียนของตัวเองทุกคน เรื่องนี้นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) ได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญมาก เพราะหลายคนอาจจะเห็นเป็นเรื่องเล็กและมองข้าม แต่เรื่องนี้สำคัญมาก ดังนั้นจึงต้องสร้างความตระหนักให้กับคุณครูทุกคน โดยเฉพาะครูแนะแนว” เลขาธิการ กพฐ.ระบุ

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ