Lifestyle

ท่องเที่ยววิถีชุมชนชาวนาเพิ่มรายได้-ยกระดับคุณภาพชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...   -หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ [email protected] -

 

 

 

          ทั้งๆ ที่ประไทยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก แต่เกษตรกรที่ทำนากลับมีรายได้ตกต่ำ เป็นอาชีพที่เสี่ยงและขาดหลักประกัน เพราะอาชีพของพวกเขาขึ้นอยู่ธรรมชาติทั้งดินและน้ำ ทัศนคติและค่านิยมทางสังคมที่มองงานของเกษตรกรว่าเป็นงานหนัก ต้องใช้แรงงานตรากตรำ ไม่มีความก้าวหน้าหรือเจริญขึ้นในแง่อาชีพการงาน ก็มีส่วนทำให้ไม่ส่งเสริมให้ลูกหลานทำอาชีพเกษตรกรรม ทั้งๆ ที่รากฐานวัฒนธรรมของไทยส่วนใหญ่พัฒนามาจากวิถีชีวิตและสังคมเกษตรกรรม

 

 

          ทางแก้ที่จะช่วยให้รากหญ้า “ชาวนา” มีความเป็นอยู่ดีขึ้น คือต้องทำให้พวกเขามีอาชีพเสริม ในยามที่ว่างจากการทำนา เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ โครงการวิจัยท้องถิ่น “การท่องเที่ยววิถีชาวนา” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (The Thailand Research Fund) หรือเรียกโดยย่อว่า สกว. จึงเข้ามาช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี  ซึ่งจากผลการดำเนินงาน 1 ปีที่ผ่านมาปรากฏว่า เกษตรกรและคนในชุมชนเข้ามาจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่ทำกินของตัวเองแทนที่จะเป็นผู้ผลิตข้าวหรือพืชอาหารเพียงอย่างเดียว

 

 

ท่องเที่ยววิถีชุมชนชาวนาเพิ่มรายได้-ยกระดับคุณภาพชีวิต

 


          โดยมีนักวิจัยจาก สกว. ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำการทำท่องเที่ยววิถีชีวิตชาวนา ในลักษณะ “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” คือเน้นปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การร่วมกิจกรรมระหว่างนักท่องเที่ยวและเจ้าบ้าน/ชาวบ้านในชุมชนเพื่อการสร้างความเข้าใจทางวัฒนธรรม และการสร้างโอกาสพัฒนาศักยภาพในการสร้างสรรค์ของทั้งนักท่องเที่ยวและชาวบ้านในชุมชน

 

 

          “วิจิตรา สุจริต” อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร พี่เลี้ยงชุดวิจัยท่องเที่ยววิถีชาวนา ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.)ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร ปี 2561 เล่าว่า จากการทำงานร่วมกับชาวบ้านประมาณ 1 ปีเศษ พบว่าชาวบ้านมีการเรียนรู้บริหารจัดการและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่ชุมชนได้เป็นอย่างดี โดย ศพก.ไฮหย่องได้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองขึ้นมา 2 สายพันธุ์คือ พันธุ์ขี้ตมหอม และข้าวหอมนางนวล โดยปัจจุบันมีการผลิตเพื่อจำหน่าย และได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากกรมการพัฒนาชุมชน 


 

ท่องเที่ยววิถีชุมชนชาวนาเพิ่มรายได้-ยกระดับคุณภาพชีวิต

 


          นอกจากนี้ยังมีชุมชนบ้านอุ่มเหม้า ก็พัฒนา เป็นหมู่บ้านโอท็อปเพื่อการท่องเที่ยว บ้านอุ่มเหม้า ทำผ้าย้อมครามได้เอง และเป็นศูนย์การเรียนรู้ผ้าครามอย่างครบวงจร ตั้งแต่ ก่อหม้อคราม ปลูก ย้อมและทอ จนวางจำหน่าย และยังมีกิจกรรมการท่องเที่ยวตามฤดูกาล มีโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยวได้อีกด้วย ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดีขึ้น 


          ทั้งนี้โครงการวิจัยท้องถิ่น “การท่องเที่ยววิถีชาวนา” เป็นการเชื่อมโยงให้กลุ่มนักท่องเที่ยว คนในเมือง เข้ามาเรียนรู้ มาเข้าใจวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวนาไทย เกิดแหล่งท่องเที่ยววิถีชาวนาที่เป็นต้นแบบ 10 ชุมชนใน 4 ภูมิภาคและมีชุมชนขยายผลอีก 21 ชุมชน

 

 

ท่องเที่ยววิถีชุมชนชาวนาเพิ่มรายได้-ยกระดับคุณภาพชีวิต

 


          “โสภา เครือวัลย์ และวัลภา ศรีสร้อย” ชาวบ้านชุมชนอุ่มเหม้า ช่วยกันเล่าว่า หลังจากภาครัฐเข้ามาส่งเสริมโครงการท่องเที่ยววิถีชาวนาไทยชาวบ้านมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นจากการทำนา โดยมีทริปแต่ละครั้งจะสามารถให้บริการได้ 10 คน โดย 1 วันจะมีรายได้ 600 บาทต่อคน ส่วนทริป 2 วัน ให้ 1 คืน 800 บาทต่อคน จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เมื่อรวมกับการทำนา และอาชีพเสริมอื่นๆ ทั้งหมด เฉลี่ยครอบครัวละ 2 แสนบาทต่อปี 


          ปัจจุบัน เครือวัลย์ เป็นประธานชุมชน ใช้บ้านของตัวเองเป็นสถานที่ทำการ ก่อหม้อคราม ย้อม ทอผ้า และจัดจำหน่าย พร้อมเปิดเป็นศููนย์การเรียนรู้ไปในตัวหากมีผู้ที่สนใจมาศึกษาดูงาน นับว่าโครงการท่องเที่ยววิถีชาวนาไทย  ช่วยให้ชาวนามีรายได้เสริมในช่วงที่ว่างจากการทำนาก่อให้เกิดรายได้กับคนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง

 

 

ท่องเที่ยววิถีชุมชนชาวนาเพิ่มรายได้-ยกระดับคุณภาพชีวิต

 


          - การท่องเที่ยววิถีชาวนา
          ประกอบด้วยแปลงนา แปลงสาธิต วิถีการทำนาตลอดทุกขั้นตอน ตั้งแต่เตรียมพันธุ์ เตรียมที่นาไปจนถึงการแปรรูป มีกิจกรรมในไร่นาอื่นๆ เช่น การขุดบ่อ การเลี้ยงปลาในนาข้าว การทำปุ๋ยอินทรีย์ มีการทำอาหารจากข้าว และการทำจักสาน ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไร่นาอินทรีย์ของชุมชนและเครือข่ายจากต่างพื้นที่


          นำเสนออัตลักษณ์วิถีชาวนาท้องถิ่นไทย สืบสานภูมิปัญญา วัฒนธรรมข้าว ประเพณี อาหาร และวิถีชีวิตคนไทยที่สัมพันธ์กับข้าว เน้นการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยกลุ่มชาวนาและคนในชุมชนท้องถิ่น สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและเป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งทางสังคมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมร่วมกัน

 

 

ท่องเที่ยววิถีชุมชนชาวนาเพิ่มรายได้-ยกระดับคุณภาพชีวิต

 


          ทำให้ประชาชนไทยและต่างชาติได้เรียนรู้และเห็นคุณค่าของชาวนาไทย เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักท่องเที่ยวกับชาวบ้าน หรือระหว่างผู้บริโภคข้าวกับผู้ปลูกข้าว การท่องเที่ยววิถีชาวนาไทย จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และกระตุ้นเศรษฐกิจของชาวนา เป็นทางเลือกในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติราคาข้าวตกต่ำและประสบปัญหาภัยแล้ง


          ที่ผ่านมา สกว.มีโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ชาวบ้านเป็นผู้ทำวิจัยด้วยตัวเองกว่า 4,000 โครงการ เกิดนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นมากกว่า 40,000 คน และขยายฐานงานจากงานวิจัยชาวบ้านสู่กลุ่มคนทั้งในหน่วยงานและสถาบันต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดคุณค่าแก่ชุมชนท้องถิ่น เพราะชาวบ้านทำวิจัยได้ และนำกลับไปสร้างประโยชน์ให้คนในชุมชนของเขานั่นเอง ซึ่งปัจจุบัน สกว.เป็นส่วนหนึ่งในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
    

 

ท่องเที่ยววิถีชุมชนชาวนาเพิ่มรายได้-ยกระดับคุณภาพชีวิต

 

 

          10 พื้นที่ต้นแบบท่องเที่ยววิถีชาวนา
          1.บ้านผาหมอน ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ / การพัฒนาโปรดักท์ใหม่และระบบตลาดการท่องเที่ยวแบบใหม่ 
          2. ต.บางขลัง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย / เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงข้าวและวิถีชาวนา
          3. อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย / การท่องเที่ยววิถีชาวนาเชิงสร้างสรรค์
           4. อ.คลองโยง จ.นครปฐม / การท่องเที่ยววิถีชาวนาภาคกลาง 
          5. วิชาลัยรวงข้าว จ.พัทลุง / การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชนวิถีชาวนาพัทลุง
           6. บ้านกู่กาสิงห์ จ.ร้อยเอ็ด / พัฒนาแหล่งท่องเที่ยววิถีชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้
           7. อ.เขื่องใน จ.อุบลราขธานี / การท่องเที่ยววัฒนธรรมชาวนา วิถีข้าว ปลา นา น้ำ
          8. ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.)ไฮหย่อง จ.สกลนคร / วิถีท่องเที่ยวชาวนาไท 
          9. ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.)สระใคร จ.หนองคาย / วิถีชาวนาสระใครสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน 1.ต.นาโสก จ.มุกดาหาร / การท่องเที่ยววิถีชาวนาของชนเผ่าผู้ไทบ้านนาโสก

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ