Lifestyle

ญี่ปุ่นแนะครูไทยใช้ "เอสแอลซี"นวัตกรรมเรียนรู้ปรับชั้นเรียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ชุลีพร อร่ามเนตร  [email protected]

 

 

          “จากชั้นเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ได้ ต้องทำให้เด็กเกิดการพูดคุย อธิบายให้เพื่อนๆ ฟัง และมีความรู้สึกเกิดขึ้นในชั้นเรียน ทำให้เขารู้จักตนเองมากขึ้น การจะสร้างชั้นเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ต้องเริ่มจากการเรียนรู้ของครูที่ต้องมีกระบวนการสร้างกิจกรรมของเอสแอลซี" มาซาอากิ ซาโต 

 

          ในการบรรยายสาธารณะ เอสแอลซี ครั้งที่ 2 เรื่อง "การสังเกตชั้นเรียนสำหรับนักปฏิบัติการผู้ไตร่ตรอง” (Classroom Observation for Reflective Practitioner) จัดโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับกลุ่มภารกิจวิจัยและบริการวิชาการ ฝ่ายวิชาการ คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) โดยมีครูไทยเข้าร่วมจำนวนกว่า 200 คน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นแนะนำให้ใช้ “นวัตกรรมการเรียนรู้ เอสแอลซี” สร้างชุมชนการเรียนรู้ของครู

 

 

          นายมาซาอากิ ซาโต ผู้เชี่ยวชาญด้าน SLC (School as Learning Community: SLC) อดีตครูใหญ่โรงเรียนประถมฮิโรมิ และโรงเรียนมัธยมต้นกักคุโย เมืองฟูจิ จังหวัดชิสุโอกะ กล่าวว่า แนวคิดโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ หรือเอสแอลซี มาใช้จัดการเรียนการสอนในโรงเรียนจะประสบความสำเร็จได้ ต้องเกิดจากความร่วมมือของครูทุกคนในโรงเรียนที่ต้องสังเกตชั้นเรียนและบทเรียนผ่านกรณีศึกษา โดยเฉพาะครูประถมศึกษาที่ต้องมองเห็นชั้นเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้และเป็นครูที่ดีสอนในทุกชั้นเรียน เอสแอลซี จึงเป็นวิสัยทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับครูทุกคน โดยครูจะต้องไม่ปล่อยนักเรียนคนใดไว้อย่างโดดเดี่ยว หรือปล่อยไว้ข้างหลัง ครูต้องสร้างกลุ่มการทำงานร่วมกันเพื่อเกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ โดยเฉพาะครูใหญ่ต้องทำ “โอเพ่น คลาส” เปิดชั้นเรียนของครูทุกคนได้เห็น เพราะการทำงานเป็นทีมเดียวกันต้องเริ่มจากผู้บริหาร หรือครูใหญ่ของโรงเรียนด้วย และเมื่อครูได้เห็นชั้นเรียนของเพื่อนครูจะทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและช่วยเติมเต็มกันและกันได้
    

 

 

ญี่ปุ่นแนะครูไทยใช้ "เอสแอลซี"นวัตกรรมเรียนรู้ปรับชั้นเรียน

 

 

          “จากชั้นเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ได้ต้องทำให้เด็กเกิดการพูดคุย อธิบายให้เพื่อนๆ ฟัง และมีความรู้สึกเกิดขึ้นในชั้นเรียน ซึ่งการที่เด็กได้พูด ได้อธิบายทำให้เขารู้จักตนเองมากขึ้น โดยการจะสร้างชั้นเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ต้องเริ่มจากการเรียนรู้ของครูที่ต้องมีกระบวนการสร้างกิจกรรมของเอสแอลซี โดยครูต้องเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงานผ่านกระบวนการศึกษาบทเรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพบทเรียน โดยก่อนเริ่มการสอนครูต้องวางแผนการสอน ลงมือปฏิบัติและสังเกต ซึ่งการสังเกตชั้นเรียนต้องสังเกตจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนและครูที่สอนว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง โดยมองว่ารู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร และสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะเหตุใด และการสังเกตควรมองว่าจะใช้วิธีไหนในการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นและหลังจากสังเกตต้องสะท้อนความคิด การสนทนาเกี่ยวกับบทเรียนและชั้นเรียนโดยใช้ข้อเท็จจริงประกอบ” นายมาซาอากิ กล่าว




          การพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีของเด็กต้องให้ความสำคัญกับชั้นเรียนที่เป็นไปตามการเรียนรู้จากสภาพจริง จัดการเรียนการสอนโดยครู ดังนั้นหน้าที่ของครูต้องจัดแผนการสอนว่านักเรียนจะเรียนรู้อะไร มีความเข้าใจเรื่องใด เชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมและเวลาที่ใช้ในกระบวนการเรียนรู้ โดยครึ่งแรกของบทเรียนต้องเป็นการทำความเข้าใจมโนทัศน์พื้นฐาน ส่วนครึ่งหลังของบทเรียน ต้องใช้มโนทัศน์ที่จะได้เรียนรู้ นอกจากนั้นการใช้เครื่องมือเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และวิธีการที่ครูตอบสนองต่อผู้เรียนและสร้างการมีส่วนร่วมของผู้เรียน โดยครูต้องแสดงออกถึงความห่วงใยใส่ใจ ต้องเป็นการสื่อสารสองทาง ครูต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ตามสภาพห้องเรียนจริงๆ และเนื้อหาบางเรื่องอาจไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามตำราเรียน ควรจะมีบทเรียนที่ยากและท้าท้าย โดยงานที่ยากและท้าทายระดับความยากของงานสัมพันธ์กับความภาคภูมิใจ และรวมถึงรับผิดชอบการเรียนการสอนนั้นด้วย


          “การเรียนการสอน เอสแอลซี ในชั้นเรียน ครูสามารถจัดการเรียนรู้เป็นกลุ่มของเด็กขนาดเล็ก แต่ไม่ใช่เป็นเพียงการทำงานกลุ่มเพื่อเตรียมการนำเสนอหน้าชั้นเรียน แต่เป็นรายงานบุคคลผ่านกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมพลัง นักเรียนที่ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองได้สามารถแก้ปัญหานั้นได้จากเพื่อนๆ ในกลุ่ม และมีปฏิสัมพันธ์แนวคิดกับผู้อื่น ขณะที่ครูต้องไม่ดูเพียงคำตอบว่าถูกหรือผิด แต่ต้องดูกระบวนการคิด วิธีการของเด็กว่าเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งที่จะพบคือเด็กเก่งและเด็กไม่เก่ง ครูต้องหาวิธีการที่จะเข้าไปดูแลเด็กไม่เก่ง พร้อมต้องดึงเด็กเก่งมาช่วยอธิบาย หรือช่วยเหลือเด็กไม่เก่งเพื่อลดช่องว่างระหว่างเด็กเก่งกับเด็กไม่เก่ง และเมื่อใดก็ตามที่เด็กกำลังจะลอกการบ้าน หรือลอกงานเพื่อน ครูต้องบอกเด็กว่าครูอยู่นี้เพื่อเด็ก อย่าไปบอกว่าทำไมทำอย่างนั้น และการบอกเด็กว่าครูอยู่นี้ต้องไม่ใช่เป็นการขู่เด็ก แต่ต้องทำให้เด็กเข้าใจความรู้สึกของครูที่อยู่เพื่อช่วยเหลือเด็ก เป็นที่พึ่งให้แก่เด็กจริงๆ รวมถึงครูต้องรู้จักการประเมินและสะท้อนผลการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย” นายมาซาอากิ กล่าว
  

 

 

ญี่ปุ่นแนะครูไทยใช้ "เอสแอลซี"นวัตกรรมเรียนรู้ปรับชั้นเรียน

 

          ทั้งนี้ แนวคิดโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (เอสแอลซี) เป็นแนวคิดทางการศึกษาที่มีรากฐานบนปรัชญาการศึกษา ซึ่งมุ่งสร้างคุณภาพและโอกาสที่เท่าเทียมแก่นักเรียนทุกคนและได้รับการส่งเสริมอย่างแพร่หลาย จากจุดเริ่มต้นในประเทศญี่ปุ่นได้ขยายเครือข่ายไปยัง 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย และเม็กซิโก พร้อมทั้งเกิดเป็นเครือข่ายนานาชาติในชื่อ The International Network for School as Learning Community ซึ่งในประเทศไทยมีโรงเรียนหลายแห่งที่นำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ ทั้งโรงเรียนในเครือข่ายของครุศาสตร์ จุฬาฯ และโรงเรียนในสังกัด กทม. เป็นต้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ