Lifestyle

หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ตอบโจทย์เรียนไปเพื่ออะไร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

-ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] -

 

 

          มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เข้าร่วมโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่เสนอ 8 หลักสูตร เมื่อปี 2561  ปัจจุบันนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่กำลังเข้าสู่ปีที่ 2 ซึ่งจากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบของสภามหาวิทยาลัย มทร.ธัญบุรี โดยการประเมินสอบถามจากคณาจารย์ประจำหลักสูตรและผู้ประกอบการ พบว่าเด็กเรียนอย่างมีความสุขและเป็นนักปฏิบัติที่สามารถทำงานได้จริงในสถานประกอบการ ล่าสุดได้ขออนุมัติหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่อีก 29 หลักสูตร ประกอบด้วยหลักสูตรประเภทปริญญา 13 หลักสูตร ส่วนประเภทประกาศนียบัตร จำนวน 16 หลักสูตร คาดว่าจะเปิดรับนักศึกษาในปี 2563

 

 

          วิสิทธิ์  ล้อธรรมจักร รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี อธิบายว่า เทรนด์ของเด็กรุ่นใหม่ไม่อยากเรียนในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม และอยากเรียนสั้นๆ ทำงานได้ทันที ไม่สนใจปริญญา หลักสูตรของมทร.ธัญบุรี มุ่งการสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ ทั้งในมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการ แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาได้เพียงช่วงเวลาหนึ่งเมื่อเป็นหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่เด็กต้องไปเรียนในสถานประกอบการ 50% และเรียนในมหาวิทยาลัย 5 % เด็กๆ ฝึกให้ทำจริง ถูกจริตกับเด็กเทรนด์ใหม่ อนาคตเชื่อว่าจะเป็นทางเลือกให้เด็กหันมาสนใจเรียนอุดมศึกษามากขึ้น

 

หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ตอบโจทย์เรียนไปเพื่ออะไร

 


          ทั้งนี้ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก พัฒนาคณาจารย์ และออกแบบหลักสูตรทำงานร่วมกับสถานประกอบการให้ดียิ่งขึ้นโดยได้ร่วมกับสถานประกอบการ ออกแบบดีไซน์หลักสูตร นักศึกษาได้ไปเรียน ฝึกงานในสถานประกอบการ และอาจารย์ได้ไปฝังตัวในสถานประกอบการ ทำให้พวกเขาได้เห็นการทำงานจริง ได้เห็นเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงาน และได้องค์ความรู้ใหม่ๆ 
    

          โดยเฉพาะนักศึกษาสิ่งที่เห็นได้ชัดคือพวกเขาได้เข้าใจอาชีพตนเองได้ดีขึ้น เข้าใจว่าเรียนไปเพื่ออะไร จะปรับตัวได้ดีขึ้นอย่างไร มีโอกาสเห็นภาพการทำงานจริง รู้ว่าจะเจออะไร จะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน ทำงานอย่างไร ทำให้เขาสนุกในการเรียนรู้และอยากเรียนรู้มากขึ้น ที่สำคัญทำให้นักศึกษารู้จักตนเองมากขึ้น

 

 

หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ตอบโจทย์เรียนไปเพื่ออะไร



          ทั้งนี้ มทร.ธัญบุรี ยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมจากบัณฑิตนักปฏิบัติ เป็นบัณฑิตนักนวัตกรรมลงมือทำแล้วต้องมีทักษะกระบวนการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา เป็นนักพัฒนานวัตกรรม ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้ใช้งบประมาณในการส่งเสริมการเรียนรู้คณาจารย์ฐานสมรรถนะ พร้อมพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้แก่อาจารย์


          “อยากให้รัฐบาลคงนโยบายไว้และสนับสนุนอย่างจริงจังโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่เห็นผลตั้งแต่ปีแรก เด็กมีสมรรถนะอาชีพ อยากให้สร้างแรงจูงใจในภาคเอกชน ร่วมลงทุนในการผลิตกับมหาวิทยาลัย เช่น มีค่าตอบแทน หรือนำไปลดหย่อนภาษีได้โดยที่ขั้นตอนไม่ยุ่งยากอย่างเช่นในปัจจุบัน” รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าว


          สุเมธ แย้มนุ่น ที่ปรึกษาคณะกรรมการตรวจสอบของสภามหาวิทยาลัย มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่มหาวิทยาลัยได้กำหนดคุณลักษณะของบัณฑิตที่มีความชัดเจน สอดคล้องกับความต้องการตามที่กำหนดไว้ใน 10 อุตสาหกรรม S-Curve และบูรณาการจัดการเรียนการสอนกับสถานประกอบการ 50:50 มีการประเมินที่บ่งบอกชัดเจนว่าผลิตบัณฑิตสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ  ขณะเดียวกันอาจารย์ผู้สอนได้ความรู้จากสถานประกอบการ ได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดแทนที่จะให้นักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ฝึกจากห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัย หรือฝึกในสถานประกอบการช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทักษะที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาจะไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน

 

 

หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ตอบโจทย์เรียนไปเพื่ออะไร

 


          "นักศึกษาที่เรียนทั้ง 8 หลักสูตรมีความสุขในการเรียน และพร้อมทำงานในอนาคต ซึ่งมทร.ธัญบุรี ได้พัฒนาหลักสูตรตามแพลตฟอร์มที่สกอ.กำหนด ทำให้เกิดการปรับตัวและเกิดการเรียนรู้สถานประกอบการ มีความเชื่อมั่นว่าสามารถผลิตบุคลากรตรงกับความต้องการ มีทักษะ สมรรถนะสอดคล้องคาดว่าในอนาคตจะ พัฒนาหลักสูตรที่มี 180 กว่าหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยจะขยายไปยังหลักสูตรอื่นๆ ให้มากขึ้น เร็วขึ้น เพื่อทำให้การเรียนรู้สอดคล้องกับทักษะโลกอนาคตให้มากขึ้น”


          พัฒนาบัณฑิตพันธุ์ใหม่ 
          นโยบายรัฐบาลในการพัฒนาคนไทยให้มีความพร้อมในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้คนไทยในอนาคตเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีแบบแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยปรับโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาให้ทันสมัย มีการนำเทคโนโลยีและการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงเข้ามามีส่วนในการจัดการเรียนการสอน และปรับระบบดึงดูด การคัดเลือก การผลิตและพัฒนาครูที่นำไปสู่การมีครูสมรรถนะสูงเป็นครูยุคใหม่ที่สามารถออกแบบและจัดระบบการสร้างความรู้ สร้างวินัย กระตุ้น และสร้างแรงบันดาลใจ เปิดโลกทัศน์มุมมองของเด็กและครูด้วยการสอนในเชิงแสดงความคิดเห็นให้มากขึ้นควบคู่กับหลักการทางวิชาการ


          นอกจากนี้ต้องจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานเพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนทั้งในส่วนฐานความรู้และระบบความคิดในลักษณะสหวิทยาการ และตรงกับความต้องการของประเทศในอนาคต และเป็นผู้เรียนที่สามารถปฏิบัติได้จริงและสามารถกำกับการเรียนรู้ของตนเองได้ รวมถึงมีทักษะด้านภาษาอังกฤษและภาษาที่สามที่สามารถสื่อสารและแสวงหาความรู้ได้ มีความพร้อมทั้งทักษะความรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน


          ทักษะชีวิตสำคัญกว่าวิชาการ
          ภัทรานันท์ ทองประภาฬ หรือ แอน  ผู้เข้าร่วมอบรมโครงการ Palungpracharat Internship Program หรือ PIP พลังประชารัฐรุ่นที่ 1  กล่าวว่า จะเป็นการดีต่อคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมโลกดิจิทัล  ถ้ามีสถานศึกษาจัดหลักสูตรที่ตอบสนองคนรุ่นใหม่เพื่อให้พวกเขาเติบโตมาเท่าทันโลกยุคนี้ สนับสนุนและให้โอกาสได้เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ เพิ่มพูนทักษะชีวิตและมีควรโอกาสได้ลองผิดลองถูกในการทำธุรกิจต่างๆให้มากที่สุด เพราะคนรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมโลกดิจิทัล ทำให้มองเห็นโอกาสของการทำธุรกิจและการเติบโตในยุคของเขา
     

 

หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ตอบโจทย์เรียนไปเพื่ออะไร

 

 

          “การศึกษาในบ้านเราแต่ละวันใช้เวลาในการเรียนมาก ตั้งแต่เช้าจดเย็น ในต่างประเทศเขาเรียนถึงบ่าย 2 จากนั้นโรงเรียนจะเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ทำในสิ่งที่แต่ละคนชอบ เล่นกีฬา ดนตรี หรือศึกษาค้นคว้าตามความสนใจของแต่ละคน และไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนวิชาการมากเท่าประเทศไทย ทำให้เด็กไม่เครียดและมีโอกาสได้ลองผิดลองถูกในสิ่งที่อยากทำ หากมีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยไทยจัดหลักสูตรที่เอื้อการเรียนแบบนี้เชื่อว่าเด็กไทยก็มีความสามารถไม่ต่างจากชาติอื่น” 
     

          แอน เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ออสเตรเลียและเรียน  BA Communication Design ที่ Chulalongkorn University และไปเรียน MA Advertising & Design ที่ University of Leeds มีประสบการณ์ Marketing Associate ที่ Plan B Media Public Company Limited และ  Creative Planner ที่ index creative village ปัจจุบันเป็นอายุ 28 ปี เป็น ASSISTANT MANAGING DIRECTOR ที่ Three Sukhumvit Hotel


          การที่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มาพร้อมแนวคิดสำคัญในการทำธุรกิจที่ว่า “เราโตคนเดียวไม่ได้” และอุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ร่วมก่อตั้ง Ricult แพลตฟอร์มเพื่อเกษตรกรไทยแนวคิดการทำธุรกิจเพื่อสังคม จากโครงการ PIP ก็เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ได้เพิ่มเติมองค์ความรู้ด้านต่างๆ ให้มากขึ้น


          กราฟฟิค:หลักสูตรพันธุ์ใหม่มทร.ธัญบุรี
          *ประเภทปริญญา
          กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
          กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ใหม่
          กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
          กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล
          กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
          กลุ่มหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม
          กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
          กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร
          กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพและเคมีชีวภาพ
          *ประกาศนียบัตร (Non-Degree)
          กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
          กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
          กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล
          กลุ่มผู้สูงอายุ
          คาดว่าจะเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2563
          ที่มา:มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ