Lifestyle

เลี้ยงลูกให้เท่าทันเทคโนโลยีใช้สื่อสิ่งพิมพ์-ดิจิทัล ให้พอเห

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ปาริชาติ บุญเอก  [email protected] -

 


          ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำและโลกที่หมุนเร็วขึ้น หลายคนกังวลถึงการเลี้ยงลูกให้ดีพอในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะชนชั้นกลาง ที่มีการศึกษา เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการเกิดลดลง และประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย

 

 

          จากผลการวิจัยโครงการ New Asian Learning Experience ในหัวข้อครอบครัวยุคใหม่ต่อการเรียนรู้ของลูก เพื่อวางรากฐานสู่อนาคต โดยเอชพี อิงค์ ประเทศไทย โดยสำรวจทัศนคติและบุคลิกลักษณะของพ่อแม่ยุคมิลเลนเนียล จำนวน 3,177 คน จาก 7 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อินเดีย จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย พบว่าอนาคตของลูกเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองทุกคนกังวลมากที่สุด

 

 

 

เลี้ยงลูกให้เท่าทันเทคโนโลยีใช้สื่อสิ่งพิมพ์-ดิจิทัล ให้พอเห

 


          ซึ่งกว่า 66% กังวลเรื่องค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น 42% กังวลเรื่องความมั่นคงทางการทำงาน 54% กังวลเรื่องทักษะที่ถูกต้องต่อบทบาทชีวิตในอนาคต ขณะที่ผู้ปกครองไทยกว่า 65% กังวลเรื่องค่าครองชีพมากที่สุด รองลงมา 54% เป็นห่วงเรื่องการสร้างทักษะที่ถูกต้องกับเด็กในอนาคต


          พัฒนาทักษะควบคู่กับความสุข
          ทั้งนี้ผู้ปกครองชาวเอเชียส่วนใหญ่กว่า 83% ต้องการให้ลูกหลานพัฒนาทักษะทางสังคมอย่างมีความสุขที่สุด ขณะที่ผู้ปกครองชาวไทย 68% ต้องการให้ลูกทำในสิ่งที่ชอบได้ดี แต่ยังมีกว่า 66% มองว่าความมั่นคงของงานเป็นสิ่งสำคัญที่สุดซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าประเทศอื่นๆ

 

 

 

เลี้ยงลูกให้เท่าทันเทคโนโลยีใช้สื่อสิ่งพิมพ์-ดิจิทัล ให้พอเห

 


          นอกจากนี้ครอบครัวไทยกว่า 61% ยังเน้นเรื่องการพัฒนาทักษะและรูปแบบการเรียนการสอนที่รองรับการเปลี่ยนแปลง เพราะมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่ออนาคตของลูก และกว่า 57% ต้องการพัฒนาลูกด้านสติปัญญาซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุด โดยนิยมให้ลูกเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่าง “สิ่งพิมพ์” ซึ่งจะให้ผลด้านการอ่านเพื่อความเข้าใจ การเรียนศัพท์ และการจดจำ และ “ดิจิทัล” ที่ช่วยในด้านความคิดสร้างสรรค์และสร้างวิจารณญาณ ก่อให้เกิดผลเชิงบวก มากกว่าเรียนรู้จากอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยส่วนใหญ่ใช้การเรียนรู้แบบผสมผสานสำหรับด้านศิลปะ 57% ภาษา 56% และทักษะดนตรี 41%


          แม้การสำรวจจะพบว่าผู้ปกครองคนไทยกว่า 89% มักเข้าไปมีส่วนร่วมกับเด็ก เพราะต้องการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆ พัฒนาทักษะในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่หากมองถึงประเด็นที่ว่าผู้ปกครองยอมจ่ายเพื่อส่งลูกไปเรียนพิเศษกลับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ

 

 

 

เลี้ยงลูกให้เท่าทันเทคโนโลยีใช้สื่อสิ่งพิมพ์-ดิจิทัล ให้พอเห

 



          โดยผู้ปกครองชาวเอเชีย 60% ยอมใช้จ่ายไปกับค่าเรียนพิเศษ นอกเหนือจากการเรียนในเวลาปกติ ขณะที่ผู้ปกครองไทย 64% ใช้จ่ายไปกับค่าเรียนพิเศษและสถาบันกวดวิชา 35% ยอมย้ายบ้านเพื่อให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนที่ดี และ 45% ยอมกู้เงินเพื่อการศึกษาของลูก


          ปวิณ วรพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอชพี อิงค์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานเสวนา HP New Asian Learning Experience เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ของครอบครัวยุคใหม่ ณ โรงแรมโรสวูด แบงคอก ว่าปัจจุบันเทรนด์ต่างๆ เปลี่ยนไปมาก จากการศึกษาเมกะเทรนด์พบว่ามี 4 หัวข้อใหญ่ คือ 1.Repid urbanization เมืองจะใหญ่ขึ้น 2. Changing Demographics เปลี่ยนสู่สังคมสูงวัย 3.Hyper-Globalisation โลกเล็กลงทุกอย่างเชื่อมต่อหากัน กลายเป็นดิจิทัล และ 4.Accelerated Innovation นวัตกรรมจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว

 

 

 

เลี้ยงลูกให้เท่าทันเทคโนโลยีใช้สื่อสิ่งพิมพ์-ดิจิทัล ให้พอเห

ปวิณ วรพฤกษ์

 

 


          “ผู้ปกครองทุกคนอยากให้บุตรหลานมีความสุขในการทำกิจกรรม แต่พฤติกรรมผู้ปกครองในปัจจุบันมีความขัดแย้ง แม้ส่วนใหญ่ต้องการให้ลูกๆ เรียนรู้จากประสบการณ์ แต่ก็ยังส่งบุตรหลานไปเข้าโรงเรียนกวดวิชา และใช้แต่ทักษะความจำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ใช่โซลูชั่นที่ดีพอสำหรับเด็กรุ่นใหม่” ปวิณ กล่าว


          5 กระบวนการคิดพ่อแม่ กับการเรียนรู้ของเด็ก
          จากผลสำรวจพบว่ากระบวนความคิดของผู้ปกครองในภูมิภาคเอเชีย แบ่งออกเป็น 5 ลักษณะ ที่สะท้อนวิธีการที่ผู้ปกครองให้ความหมายต่อการเรียนรู้ การให้คุณค่าของการเรียนรู้จากประสบการณ์ บทบาทการมีส่วนร่วม และความห่วงใยต่ออนาคตลูก ได้แก่ 1.กระบวนความคิดแบบกังวล (The Concerned) ผู้ปกครองที่กังวลต่อเทคโนโลยี ให้ความสำคัญกับการศึกษาแบบดั้งเดิม และเชื่อว่าเด็กจะได้เรียนรู้จากในสิ่งพิมพ์หรือตำรา

 

 

เลี้ยงลูกให้เท่าทันเทคโนโลยีใช้สื่อสิ่งพิมพ์-ดิจิทัล ให้พอเห

 


          2.กระบวนการคิดแบบสัจนิยม (The Realist) ผู้ปกครองที่ให้คุณค่าผ่านประสบการณ์ การเล่น และเรียนรู้สิ่งใหม่ด้วยเทคโนโลยี พร้อมเปิดรับ เน้นปฏิบัติ เป็นพ่อแม่ที่ชื่นชอบเทคโนโลยี 3.กระบวนการความคิดตามขนบ (The Typical) ผู้ปกครองที่ให้คุณค่าในการพัฒนาทักษะที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริง และการเรียนรู้จากประสบการณ์มีแนวโน้มยอมรับสื่อสิ่งพิมพ์ และดิจิทัลอย่างเหมาะสม


          4.กระบวนความคิดที่เน้นประสบความสำเร็จ (The Overachiever) ผู้ปกครองที่ผลักดันลูกให้เรียนรู้และควบคุมเนื้อหา เส้นทางการเรียนรู้ โดยเชื่อว่าดิจิทัลจะช่วยให้เด็กได้ไอเดีย ขณะที่สิ่งพิมพ์และกิจกรรมจะช่วยส่งเสริมด้านสังคม และ 5.กระบวนความคิดแบบปลีกตัว (The Detached) ผู้ปกครองกลุ่มเก็บตัวเงียบ ใช้เวลาเรียนรู้กับลูกน้อยที่สุด ให้ความสำคัญกับการท่องจำ ติวเสริม ควบคุมการเรียนรู้ของลูก


          คนรุ่นใหม่กลัวเลี้ยงลูกไม่ดีพอ
          ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันระบบการศึกษาไทยเลี้ยงไข้มาเกือบ 20 ปี เมื่อระบบการศึกษาไม่ดี สิ่งที่เราพบคือเด็กคนรุ่นใหม่ คนที่มีการศึกษาชนชั้นกลาง ตัดสินใจไม่แต่งงาน อยู่เป็นโสด เพราะกังวลว่าหากแต่งงาน มีลูก จะเลี้ยงลูกได้ไม่ดีพอ เป็นผลโดยตรงต่อประเทศ ทำให้เด็กเกิดน้อยลงจาก 1 ล้านคน เหลือเพียง 6-7 แสนคน กลายเป็นสังคมสูงวัย

 

 

เลี้ยงลูกให้เท่าทันเทคโนโลยีใช้สื่อสิ่งพิมพ์-ดิจิทัล ให้พอเห

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

 


          ดังนั้นหากการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ ผู้ปกครองโดยเฉพาะคนที่กังวลเรื่องการเลี้ยงลูกต้องวางแผนตั้งแต่ตั้งครรภ์ เสริมพัฒนาการโดยการให้ฟังดนตรี อ่านนิทานจากสิ่งพิมพ์ หลังจากนั้น 3 ขวบ ให้เล่นแท็บเล็ตได้บ้าง พอโตขึ้นให้พาลูกไปเปิดหูเปิดตา เขาจะเริ่มคุ้นกับสังคม และสิ่งที่สำคัญที่สุดต้องจัดการเรียนรู้ให้ได้ ใช้สื่อสิ่งพิมพ์ ควบคู่กับดิจิทัล หากปล่อยให้ลูกเล่นแท็บเล็ตอย่างเดียวจะอันตราย


          “สิ่งที่พ่อแม่ปัจจุบันทำง่ายที่สุดคือส่งลูกไปโรงเรียนกวดวิชา หรือลูกซนมาก เอาแท็บเล็ตไปเล่น สิ่งที่เกิดขึ้นคือสมาธิสั้น เพราะฉะนั้นต้องหากิจกรรมให้ทำ เด็กควรจะอยู่โรงเรียน 30% อยู่กับพ่อแม่ 40% และอยู่กับสื่อดิจิทัล 30% ทำให้เกิดการผสมกลมกลืน พ่อแม่ยุคใหม่ สิ่งที่ดีที่สุดคือให้น้องมีประสบการณ์และมีส่วนร่วมในการทำงานบ้าน อย่ากลัวลูกลำบาก มีงานวิจัยว่า หากเด็กมีส่วนในงานบ้านจะมีวินัย มีสมาธิ และปรับตัวตอนเข้าโรงเรียนได้ง่าย การเที่ยวต่างประเทศทำให้เด็กเปิดกว้าง พ่อแม่เวลานั่งกับลูกต้องตั้งคำถามกับลูก อย่ามั่วแต่นั่งเล่นมือถือ เอาเวลาส่วนใหญ่ไปเล่นกับลูก เพื่อให้เขาเตรียมพร้อมสู่อนาคต

 

 

เลี้ยงลูกให้เท่าทันเทคโนโลยีใช้สื่อสิ่งพิมพ์-ดิจิทัล ให้พอเห

 


          ใช้ดิจิทัลให้ถูกจังหวะ
          ศ.ดร.สมพงษ์ แนะว่า เด็กช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่วัยที่ต้องเร่งอ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็น แต่ควรหาสื่อดีๆ ที่ให้เขาได้มีความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้เรื่องสังคมมากขึ้น อย่าไปยัดเยียดการเรียน ขณะที่ช่วงประถมศึกษาควรส่งเสริมให้เขาได้เรียนดนตรี ศิลปะ เริ่มท่อง ก.ไก่ ให้ซึมซับ เกิดการพัฒนา โลกของเด็กประถมต้องท้าทายไม่ใช่บังคับ


          “จากรายงานการวิจัยที่ขัดแย้งกันว่าผู้ปกครองอยากให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ แต่กลับส่งลูกไปโรงเรียนกวดวิชา เป็นเรื่องที่น่าสนใจ พ่อแม่ควรหันมามีส่วนร่วม จัดการเรียนรู้ให้เด็ก และนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างถูกจังหวะ ให้เขาทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อสร้างสมาธิในระยะยาว พอเขามีทักษะค่อยใช้เทคโนโลยี การวางเทคโนโลยีเข้าไปต้องทำให้ถูกจะได้ผลดี” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย


          สำรวจทัศนคติพ่อแม่ยุคมิลเลนเนียล 7 ประเทศ
          - 66% กังวลเรื่องค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
          - 42% กังวลเรื่องความมั่นคงทางการทำงาน
          - 54% กังวลเรื่องทักษะที่ถูกต้องต่อบทบาทชีวิตในอนาคต
          - 83% ต้องการให้ลูกหลานพัฒนาทักษะทางสังคมอย่างมีความสุขที่สุด
          - 60% ยอมใช้จ่ายไปกับค่าเรียนพิเศษ
          ทัศนคติพ่อแม่ชาวไทย
          - 68% ต้องการให้ลูกทำในสิ่งที่ชอบได้ดี
          - 66% มองว่าความมั่นคงของงานเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
          - 64% ใช้จ่ายไปกับค่าเรียนพิเศษและสถาบันกวดวิชา
          - 35% ยอมย้ายบ้านเพื่อให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนที่ดี
          - 45% ยอมกู้เงินเพื่อการศึกษาของลูก
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ