Lifestyle

ค่ายอนามัยชุมชนจุฬาฯปั้นบัณฑิต"จิตอาสา"-แทนคุณแผ่นดิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"คุณยายได้รับบัตรคิวหรือยังคะ"..."คุณน้ามาตรวจโรคอะไรครับ" ... "จะไปขูดหินปูนด้วยมั้ยคะ" เสียงใสๆ บวกใบหน้ายิ้มแย้มของบรรดานิสิตหนุ่มสาวชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอบถามชาวบ้านที่หอบลูกจูงหลานมารอรับบริการตรวจสุขภาพ จากนั้นก็จูงมือพาไปส่งยังห้องตรวจโรค ดูแ

 สโมสรนิสิตจุฬาฯ 6 คณะทั้งแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สหเวชศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ร่วมกับอาสาสมัครแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร รวม 320 ชีวิต ได้ร่วมกันจัดค่ายนี้ขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2552 ที่โรงเรียนบ้านไพรนกยูง(วันชัยประชาสรรค์) หมู่ 5 ต.ไพรนกยูง อ.หันคา  จ.ชัยนาท โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ไพรนกยูง โรงเรียนบ้านไพรนกยูง(วันชัยประชาสรรค์) รพ.หันคา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท และหน่วยงานเอกชนอีกหลายแห่ง

 บรรดานิสิตจุฬาฯ ช่วยกันบำเพ็ญประโยชน์ โดยทาสีรั้วโรงเรียน จัดหนังสือในห้องสมุด ตีเส้นสนามกีฬา รวมทั้งให้บริการด้านสุขภาพแก่ชาวบ้านแบบครบวงจรทั้งการตรวจสุขภาพ จ่ายยา ตรวจเลือด ปัสสาวะและอุจจาระเพื่อตรวจโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดัน ขูดหินปูน ถอนฟัน แนะนำวิธีออกกำลังกายแก่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมและไหล่ติด การรับประทานอาหารให้เหมาะสมตามวัย ตรวจมะเร็งเต้านม กำจัดเหา และอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รวมทั้งมีบริการฉีดยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ยาคุมกำเนิดให้สุนัขและแมวฟรี

 "ค่ายอนามัยชุมชนนี้จุฬาฯ จัดมาได้ 10 ปีแล้ว มุ่งปลูกฝังให้นิสิตจุฬาฯ มีจิตอาสา ช่วยเหลือชุมชนเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดินที่ช่วยให้ได้เรียน ไม่ใช่เรียนจบแล้วจ่ายเงินชดใช้ การออกค่ายจะทำให้นิสิตเห็นถึงสภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของชาวบ้านต่างจังหวัด เมื่อนิสิตสาขาต่างๆ ได้ทำงานร่วมกัน จะเข้าใจถึงความสำคัญของแต่ละสาขาและรู้จักนำไปใช้ในการทำงานจริง" รศ.จันทนี อิทธิพานิชพงศ์  รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ บอกถึงเป้าหมายของค่ายอนามัยชุมชน

 ผศ.ทันตแพทย์หญิงรุจิรา เผื่อนอัยกา หัวหน้าภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ค่ายนี้ยังจัดโครงการอบรมความรู้ในการดูแลฟันและสุขภาพช่องปากให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.)เพื่อนำความรู้ไปเผยแพร่แก่ชาวบ้านในชุมชน และจัดโครงการร่วมแรงร่วมใจเพื่อเด็กไทย "ฟันดี" อบรมให้ความรู้การแปรงฟันที่ถูกวิธี การดูแลสุขภาพฟันให้เด็กๆ ใน ต.ไพรนกยูง ด้วยเพราะเชื่อมั่นว่าการให้ความรู้เพื่อป้องกันโรคฟันและสุขภาพในช่องปากดีกว่าการมุ่งให้บริการทันตกรรมซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

 ป้าเนาวรัตน์ ฉิมกมล วัย 50 ปี อสม.ของสถานีอนามัยไพรนูกยูง หมู่ 5 เล่าว่า การอบรมครั้งนี้เป็นสิ่งที่ดีเพราะช่วยให้อสม.ได้ความรู้เพิ่มเติมผ่านสื่อต่างๆ จะนำความรู้ไปเผยแพร่ในชุมชน เนื่องจากชาวบ้านไม่ค่อยมีเวลาไปหาหมอ อีกทั้งไม่มีความรู้ในการดูแลฟันและสุขภาพช่องปาก

 เช่นเดียวกับป้าแป้น ทนช่างยา วัย 52 ปี เกษตรกรหมู่ 10 ซึ่งเดินไม่คล่องยังอุตส่าห์ขี่รถจักรยานยนต์มาคนเดียว บอกว่า ดีใจที่หลานๆ นิสิตจุฬาฯ มาออกค่ายเพราะได้มีโอกาสตรวจสุขภาพว่าเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ไม่ต้องเดินทางไปถึง รพ.หันคา ที่อยู่ห่างไป 17 กิโลเมตร  

 สอดรับกับ "ฮ้อบ" เปศล โกศัลลกูฏ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ และ"ปุ๋ย" สุดารัตน์ ปัตวงษ์ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะทันตแพทยศาสตร์ บอกตรงกันว่า สมัครใจมาออกค่ายเพราะอยากนำความรู้มาทำประโยชน์แก่ชาวบ้านในต่างจังหวัด ดังปรัชญาที่ว่า "เกียรติภูมิของชาวจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน" รู้สึกสนุกและมีเพื่อนต่างคณะเพิ่มขึ้น อีกทั้งได้เห็นถึงสภาพชีวิตชาวบ้าน และเข้าใจการทำงานที่เชื่อมโยงกันระหว่างคณะต่างๆ ซึ่งนำไปปรับใช้ได้เวลาทำงานจริง

 ท้ายสุด "พรรณี จันทร์งาม" นายกอบต.ไพรนกยูง บอกว่า ต.ไพรนกยูง มี 13 หมู่บ้าน ประชากรรวม 5,500 คน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรฐานะยากจน ไม่มีเงินไปหาหมอที่ รพ.หันคา ซึ่งเฉพาะค่าเหมารถเดินทางไป-กลับวันละ 500 บาท ส่วนมากป่วยเป็นโรคปวดเมื่อยแขน ขา เบาหวาน การออกค่ายครั้งนี้มีชาวบ้านมาใช้บริการร่วม 400 คน  โดยเฉพาะด้านทันตกรรมมีเด็กและผู้ใหญ่มาใช้บริการกันมาก เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีบริการด้านนี้ อยากให้มีค่ายแบบนี้บ่อยๆ เพราะมีประโยชน์ต่อชุมชนมาก ทำให้นิสิตเข้าใจถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านด้วย

 0ธรรมรัช    กิจฉลอง0 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ