Lifestyle

รับผิดชอบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า"นักบิน"ต้องทำงานภายใต้แรงกดดัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์ [email protected]

 

 

          ‘นักบิน’เป็นความฝันของใครหลายๆ คน ผู้ที่ทำงานบนท้องฟ้าและพาผู้โดยสารไปถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย แต่ความเป็น ‘นักบิน’ มีมากกว่านั้นเพราะพวกเขาต้องมีความรับผิดชอบ สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและยังทำงานภายใต้แรงกดดัน สำนักงานการบินพลเรือนจึงจัด “โครงการสานฝันการบิน ครั้งที่ 11” ให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 เข้าร่วมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเปิดประสบการณ์จากการปฏิบัติและลงมือทำจริง รวมถึงแนะแนวการเตรียมพร้อมสู่การเป็นนักบินและอาชีพในอุตสาหกรรมการบิน

 

 

          ทุกครั้งก่อนขึ้นบิน นักบินจะต้องฟังสภาพอากาศในแต่ละวัน เพื่อวางแผนก่อนการขึ้นบิน เรืออากาศเอกวินัย ปรีชล เจ้าหน้าที่ข่าวอากาศของศูนย์การบินหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อธิบายว่า การตรวจสอบอากาศถือเป็นมาตรฐานสากลของนักบินก่อนจะขึ้นบิน โดยดูจากแผนที่อากาศของวันนั้นๆ ว่าจะมีส่วนประกอบใดที่มีผลต่อสภาพอากาศในแต่ละวัน หลังจากนั้นจะดูแผนที่ดาวเทียมเพื่อดูลักษณะของเมฆ และสุดท้ายคือเรดาร์ฝนก่อนจะสรุปผลทั้งหมดเป็นพยากรณ์อากาศเพื่อแนะแนวทางให้แก่นักบินว่าควรขึ้นบินหรือไม่


          หลังจากนั้นนักบินจะต้องตรวจสอบเครื่องยนต์ของเครื่องบินทุกส่วน เรียกว่า “Pre-Flight Check” โต ศิษย์การบินของทุนบางกอกแอร์เวยส์ เล่าว่า นักบินจะต้องตรวจระบบการทำงานแต่ละส่วนของเครื่องบินอย่างละเอียด โดยนักบินจะเดินวนรอบเครื่องบินตรวจทีละส่วน ทีละขั้นตอน ห้ามข้ามขั้นตอนหรือลืมข้อใดข้อหนึ่งเด็ดขาด ตัวอย่างเช่น การสตาร์ทเครื่องยนต์ เบรก น้ำมัน สวิตช์ของอุปกรณ์ต่างๆ และไฟตรงปีกเครื่องบิน เนื่องจากไฟส่วนนี้มีความสำคัญที่จะทำให้เครื่องบินลำอื่นรู้ว่ามีเครื่องบินลำนี้บินอยู่บนน่านฟ้าเดียวกัน

 

 

 

รับผิดชอบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า"นักบิน"ต้องทำงานภายใต้แรงกดดัน

 


          ทั้งนี้ยังมีการซ้อมบินเหมือนจริงเพื่อลองฝึกการแก้ปัญหาหากต้องบินในสภาพอากาศที่มองไม่เห็นและการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ระหว่างการบิน ชวิน ครองสิริวัฒน์ นักบินของศูนย์ฝึกการบินพลเรือน หัวหิน เล่าว่า นักบินจะมีห้อง Stimulation เป็นการทดลองขับเครื่องบินเสมือนจริง ให้นักบินฝึกรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินและเป็นการทวนขั้นตอนในการบิน อีกทั้งเป็นการแก้ปัญหาท่ามกลางสภาพอากาศที่มองไม่เห็น โดยนักบินที่จะเข้ามาใช้ห้องนี้ได้นั้นต้องมีชั่วโมงการบินอย่างน้อย 45 ชั่วโมง โดยมีทั้งการบินเครื่องบินแบบหนึ่งและสองเครื่องยนต์ อีกทั้งระบบที่แตกต่างกันจะมีการรับมือที่ต่างกัน โดยมี 2 ระบบคือระบบดิจิทัล ซึ่งจะมีระบบหรือเครื่องมือต่างๆ ในหน้าจอเดียวกัน และระบบมือ แต่ละส่วนจะแยกกัน วิธีการมองตำแหน่งของเครื่องมือต่างกันส่งผลให้ต้องมีการจัดลำดับความคิดในการบินใหม่




          นักบินไม่ได้บินคนเดียว
          จักรสีห์ พูลศรี ผู้จัดการงานควบคุมจราจรทางอากาศ(เขตประชิดสนามบินภูมิภาค) กล่าวว่า การขึ้นบินแต่ละครั้ง นักบินไม่สามารถนำเครื่องบินขึ้นได้ทันทีแต่ต้องประสานงานกับหอบังคับการบินและผู้ควบคุมจราจรทางอากาศในทุกช่วงการบิน โดยงานควบคุมจราจรทางอากาศจะมีหน้าที่ดูภาพรวมและจัดจราจรทางอากาศให้เครื่องบินทุกลำทำการบินได้ ซึ่งจะประสานงานกับหน่วยงานที่ดูแลน่านฟ้านั้น สนามบินต้นทางและปลายทาง รวมถึงนักบิน โดยจะมีสตริปส์หรือตัวแทนเครื่องบินที่จะช่วยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทราบว่าขณะนั้นเครื่องบินแต่ละลำอยู่ในตำแหน่งใด และยังมีหน้าที่กำหนดความเร็วในการบินด้วย


          โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสภาพเครื่องของเครื่องบินแต่ละลำด้วย ส่วนงานหอบังคับการบิน ประกอบด้วย 4 หน้าที่หลัก คือ ผู้ควบคุม(Controller) ทำหน้าที่อนุญาตเครื่องบินขึ้นและลงจอด จัดลำดับการขึ้นของเครื่องบิน ประสานงาน(Co-Ordinate) ที่จะประสานกับศูนย์ควบคุมจราจรทางอากาศเพื่อแจ้งให้ทราบว่าเครื่องบินลำใดที่กำลังจะขึ้นและจอดบ้าง ผู้ประสานงานควบคุม(Co-con Control) ในการอนุญาตการใช้ทางวิ่ง และผู้ดูแลจราจรภาพรวม(Traffic Director) ที่จะช่วยตัดสินใจและดูความปลอดภัยก่อนทำการบิน

 

 

 

รับผิดชอบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า"นักบิน"ต้องทำงานภายใต้แรงกดดัน

 


          ความฝันนักบิน
          ธรรศพร วงค์ทองคำ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนชลราษฎรอำรุง จังหวัดชลบุรี ผู้ผ่านเข้ารอบ 32 คนโครงการสานฝันนักบินครั้งที่ 11 เล่าว่า สมัยเด็กเธอมีความฝันอยากเป็นแอร์โฮสเตส พอโตขึ้นเธออยากทำงานในหอบังคับการบิน และเมื่อมาค่ายทำให้เธอเห็นภาพการทำงานมากขึ้นสนใจที่อยากจะเป็นนักบิน เธอรู้ว่าไม่จำเป็นต้องมุ่งแค่ความฝันการเป็นนักบิน เธอสามารถเลือกเรียนในคณะวิชาที่เธอชอบและเป็นนักบินได้อีกทั้งนักบินต้องเป็นคนที่มีความรู้มาก อาศัยความจำ มีสติและมีความรอบคอบตลอดเวลา


          “อาชีพในอุตสาหกรรมการบินตอนแรกนึกถึงนักบิน แอร์โฮสเตส ช่าง แต่ตอนนี้ก็รู้ว่ามีอีกหลายอาชีพที่มีความสำคัญทั้งช่างก็มีภายในภายนอก คนที่ต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยและนักบินไม่เหมือนที่เราจินตนาการ ต้องมีความรับผิดชอบ เพราะการจะเป็นนักบินมันก็ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ” ธรรศพลเล่า


          ส่วน ภัทรพล เกกินะ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ จังหวัดกระบี่ อีกหนึ่งผู้เข้ารอบโครงการนี้ เล่าว่า อยากเป็นนักบินขับไล่ของกองทัพอากาศ เพราะอยากทำงานช่วยเหลือสังคม และอีกใจหนึ่งก็อยากเป็นช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน เนื่องจากกว่าเครื่องบินจะบินได้ ต้องได้รับการดูแลจากหลายส่วนและตรวจสอบอย่างละเอียด ทำให้เขารู้ว่านักบินไม่ใช่แค่กัปตัน แต่ทุกหน้าที่มีความสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งที่จะพาผู้โดยสารไปถึงจดหมายได้อย่างปลอดภัย


          “นักบินต้องมีความรับผิดชอบ ทำงานภายใต้แรงกดดัน และรู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า” ภัทรพลเล่า

 

 

 

รับผิดชอบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า"นักบิน"ต้องทำงานภายใต้แรงกดดัน

 


          อนึ่ง โครงการสานฝันการบิน ครั้งที่ 11 มีจุดประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนผู้สนใจอาชีพในอุตสาหกรรมการบินได้มีโอกาสเรียนรู้และได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ทางด้านการบินอย่างถูกต้อง โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกจากการประกวดเรียงความในหัวข้อ “Take off to the future : ทะยาน.. ข้ามฟ้าสู่ความฝันของฉัน” จำนวน 28 คน เยาวชนจากโควตาพิเศษในการเข้าร่วมการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัยประจำปี 2562 (SAREX 2019) จังหวัดอุดรธานี จำนวน 2 คน และโควตาพิเศษสำหรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) จำนวน 2 คน รวมเป็น 32 คน ที่จะได้ร่วมกิจกรรมกับครูและศิษย์การบิน ณ ศูนย์ฝึกการบินพลเรือน หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์


          สิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมความเป็นนักบินและเด็กรุ่นใหม่จะค้นพบตนเอง เพราะสิ่งหนึ่งคือ เมื่อเขาเจอสิ่งที่ชอบ เขาจะทำได้ดี และมีความหวังในชีวิตมากขึ้น


          6 ขั้นตอนสู่นักบิน
          หลักสูตรการเป็นนักบินใช้เวลา 2 ปีหลังจากที่ผู้เรียนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี โดยมีทุน 2 ประเภท คือ ทุนตนเองโดยการใช้เงินของตนเองชำระค่าเล่าเรียนเองตลอดหลักสูตร และประเภทที่สองคือทุนของสายการบินซึ่งในประเทศไทยมี 3 สายการบินที่เปิดรับ ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส สายการบินไทย และสายการบินแอร์เอเชีย


          ขั้นตอนที่สองคือการฝึกทักษะภาษาอังกฤษเพราะสิ่งสำคัญในอาชีพอุตสาหกรรมการบินเนื่องจากการสื่อสารในการทำงานและข้อสอบในการสอบเข้าในสายอาชีพนี้ก็เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดเช่นกัน นอกจากนี้หากต้องการขอทุนจากทั้ง 3 สายการบินที่เปิดรับจะต้องได้คะแนนสอบวัดระดับความรู้หรือทักษะภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน (Test of English for International Communication :TOEIC) อย่างน้อย 650 คะแนน


          ขั้นตอนที่สาม การสอบเข้านักบินที่จะมีข้อสอบวิชาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และภาษาอังกฤษ ส่วนขั้นตอนต่อมาคือการสอบวัดความถนัด(Aptitude test) ที่จะมีการสอบทุก 6 เดือน ซึ่งจะวัดความถนัดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบินทั้งหมด 5 อย่าง ประกอบด้วย สิ่งแรกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า (Situation Awareness) เป็นการนำข้อมูลที่โจทย์กำหนดให้มาพยากรณ์เหตุการณ์ในอีก 15-20 นาที หรือ 1-3 วันข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร

 

 

 

รับผิดชอบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า"นักบิน"ต้องทำงานภายใต้แรงกดดัน

 


          สิ่งที่สอง คือ การตัดสินใจ (Decision Making) เป็นสิ่งที่เราคาดการณ์มาตัดสินใจและทำจริง นักบินไม่ได้ตัดสินใจเพียงครั้งเดียวดังนั้นต้องรู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและหาข้อมูลเพิ่มเติมให้การตัดสินใจไม่ผิดพลาด สิ่งต่อมา คือ การสื่อสารและการทำงานเป็นกลุ่ม (Communication and Teamwork) เนื่องจากนักบินไม่สามารถนำเครื่องบินได้ด้วยตัวคนเดียวต้องมีการประสานงานกับหอบังคับการบินหรือผู้ช่วยนักบินดังนั้นการสื่อสารรวมถึงต้องมีศิลปะในการพูดและโน้มน้าวใจคนหรือที่เรียกว่า ‘ภาษาดอกไม้’ จึงเป็นสิ่งสำคัญ


          ภาวะผู้นำ (Leadership) นักบินต้องเป็นทั้งผู้นำและผู้ตาม รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ใช่การตัดสินใจของคนเพียงคนเดียวอีกทั้งต้องลดความเชื่อมั่นในตนเองลงเพื่อให้การบินเป็นไปอย่างราบรื่น สิ่งสุดท้ายคือการจัดการตนเอง (Stress and Fatigue Management) นักบินต้องรู้ว่าขีดจำกัดของตนเองอยู่ที่จุดไหนเพื่อที่จะสามารถทำงานของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ


          ขั้นตอนที่สี่ การสัมภาษณ์จากกัปตันที่มีประสบการณ์สูงที่จะเป็นการพูดคุยกันเพื่อมองถึงรูปแบบการทำงานและทัศนคติว่าสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้หรือไม่ ในขั้นตอนที่ห้า จะเป็นการตรวจร่างกาย โดยผู้ที่ต้องการจะเป็นนักบินต้องมีส่วนสูงอย่างน้อย 165-170 ซม. สายตาสั้นไม่เกิน 300 และเอียงไม่เกิน 150 สามารถทำเลสิกได้ แต่ต้องเว้นระยะเวลาก่อนสมัคร 1 ปี และในขั้นตอนสุดท้าย คือ การตรวจจิตวิทยาการบินโดยเวชศาสตร์การบิน ที่จะวัดความตกใจ ตื่นกลัวเมื่ออยู่ในเหตุการณ์ฉุกเฉินและสภาพจิตใจส่งผลอันตรายต่อการบิน

 

รับผิดชอบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า"นักบิน"ต้องทำงานภายใต้แรงกดดัน

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ