Lifestyle

"การรังแกกัน"จากร.ร.สู่ออนไลน์ต้องไม่ตอบโต้กลับแบบเดียวกัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -พวงชมพู ประเสริฐ [email protected] -

 

 


          ในอดีต “การรังแกกัน” อาจพบเจอในโลกความเป็นจริงหรือในโรงเรียน ชุมชน แบบซึ่งๆ หน้า ทั้งการรังแกทางกายและทางจิตใจ ในกลุ่มเด็กนักเรียนเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันการรังแกกันผ่านโลกออนไลน์พบมากขึ้น และเป็นการรังแกที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจเป็นสำคัญ บางรายรับมือไม่ไหวรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย แต่แนวทางหนึ่งที่ผู้มีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งออนไลน์นำมาใช้รับมือเพื่อผ่านพ้น คือ “การไม่ตอบโต้กลับด้วยวิธีการเดียวกัน”

 

 

          ในการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เมื่อเร็วๆ นี้ ธวัชชัย พาชื่น เจ้าหน้าที่มูลนิธิแพธทูเฮลท์ สะท้อนปัญหาเรื่องการรังแกกันของเด็ก ในการนำเสนอเรื่อง “การขับเคลื่อนนโยบาย เรื่อง bullying ในโรงเรียนประสบการณ์การพัฒนาหลักสูตร” ว่า มีรายงานการสำรวจเมื่อปี 2549 ของภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลก หรือ 40% รองจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีอยู่ 60% ที่มีการรังแกกัน และการวิจัยขั้นต้นเรื่อง ความชุกและปัจจัยเกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ในระดับชั้น ม.1-3 ปี 2560 ของภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า 45% มีประสบการณ์เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งมากกว่าประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นถึง 4 เท่า


          นอกจากนี้ การเก็บข้อมูลสถานการณ์การรังแกกันในโรงเรียนในกรุงเทพฯ จำนวน 5 แห่ง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ของมูลนิธิแพธทูเฮลท์ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกนักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมต้น และมัธยมปลาย รวม 90 คน ทำให้ทราบข้อมูลว่า คนที่รังแกจะเป็นเพื่อนสนิท เพื่อนคนอื่นๆ ในห้อง นอกห้องและต่างระดับชั้น คนที่ถูกรังแก จะเป็นเด็กไม่ค่อยสู้คน เงียบๆ คนที่แตกต่าง เด็กเรียนรู้ช้า ออทิสติก เด็กรักเพศเดียวกัน เด็กไม่ค่อยมีเพื่อน คนที่ฟันเหยิน ผิวดำ เตี้ย โดยคนที่รังแกจะรู้สึกสนุก ส่วนคนที่ถูกรังแกจะรำคาญ ไม่ชอบ และคนที่อยู่ในเหตุการณ์จะไม่อยากยุ่ง กลัวเป็นเป้าหมาย




          ขณะที่สถานการณ์การรังแก เกิดขึ้นทุกวัน แต่ไม่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ จัดการเองได้ ไม่ต้องบอกผู้ใหญ่ แต่ไม่สามารถจัดการ เผชิญหน้า หยุดการรังแกได้ทุกคน คนถูกรังแกไม่กล้าบอกให้ผู้รังแกหยุด เก็บกด ไม่บอกใคร และตอบโต้ด้วยความรุนแรง ซึ่งรูปแบบการรังแกที่พบ ด้านร่างกาย ทำร้ายร่างกาย ไถเงิน, ด้านวาจา ล้อเลียน ด่า เสียดสี, ด้านท่าที สังคม เพิกเฉย นินทา ปล่อยข่าวลือ และการกลั่นแกล้งผ่านโลกออนไลน์หรือไซเบอร์(Cyber bullying) โพสต์ด่าทางเฟซบุ๊ก ถ่ายภาพหลุดส่งทางไลน์กลุ่ม


          “ผลกระทบที่เกิดขึ้น ในส่วนของคนถูกรังแก จะโดดเดี่ยว เก็บกด เครียด ไมเกรน หงุดหงิด รำคาญ ไม่อยากมาเรียน สำหรับคนรังแก คุ้นชินกับการใช้ความรุนแรง ปัญหาความสัมพันธ์ และเด็กคนอื่นๆ ในโรงเรียน รู้สึกไม่ดี ไม่ชอบ รำคาญใจ ไม่อยากมาเรียน” ธวัชชัยกล่าว


          ธวัชชัย กล่าวอีกว่า  การจะป้องกันการรังแกกัน มูลนิธิได้ทำแผนการจัดการเรียนรู้นี้ เน้นเรื่อง Be Buddies Not Bullies โดยเน้นให้เรียนรู้ใน 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.การรังแกกันไม่ใช่เรื่องปกติ ต้องเข้าใจว่าอะไรคือการรังแกกัน การรังแกกันเกิดขึ้นที่ไหนอย่างไร การรังแกกันบนโลกออนไลน์และตัวตนทางเพศ 2.ผลกระทบและสาเหตุการรังแก หากรู้แล้วจะรังแกไหม ผลกระทบเกิดขึ้นมากกว่าที่คิด ผู้รังแกชนะจริงหรือ 3.การทำอย่างไรในสถานการณ์การรังแก สอนเรื่องถ้าถูกรังแกจะทำอย่างไร ถ้าเห็นการรังแกจะทำอะไรได้บ้าง คนเห็นเหตุการณ์ช่วยได้ และ 4.การรังแกกันป้องกันได้ สอนให้เข้าใจว่า เพราะชีวิตคือความหลากหลาย การเคารพ ให้เกียรติต่อตนเองและผู้อื่น การจัดการความโกรธ และสอนเรื่องหลากรสหลายแบบ เป็นต้น ทั้งนี้ ให้การศึกษาบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ อาทิ เคารพคนอื่น ความยุติธรรม กล้าหาญ รับผิดชอบ ความเป็นพลเมืองที่ดี และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ใส่ใจผู้อื่น รวมถึงสอนให้เรียนรู้เรื่องเพศวิถีและสัมพันธภาพศึกษา เพื่อให้แต่ละคนรู้จักตนเอง


          ขณะที่ "นุ่น" ธารารัตน์ ปัญญา ผู้ที่เคยถูกกลั่นแกล้งรังแกผ่านโลกออนไลน์ (Online bullying) เล่าว่า เธอโดนรังแกผ่านโลกออนไลน์โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย จากการที่เธอโพสต์เล่าเรื่องราวประสบการณ์ของตนเองเกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศในเฟซบุ๊ก โดยหวังให้เป็นบทเรียนสำหรับคนอื่นๆ แต่กลับกลายเป็นถูกคนในโซเชียลมีเดียย้อนกลับ โดยมีคนจำนวนมากพิมพ์แสดงความคิดเห็นในลักษณะเป็นการเสียดสี เยาะเย้ย และเชิงลบ เช่น หน้าตาแบบนี้มีคนเอาก็ดีแล้ว หรือหน้าตาแบบนี้ให้ฟรียังไม่เอา เป็นต้น ที่สำคัญเป็นการกระทำทั้งจากผู้ชายและผู้หญิงด้วยกันเอง ทำให้รู้สึกแย่มากขึ้นจากที่รู้สึกแย่กับเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญมาก่อนหน้านี้แล้ว


          เมื่อเจอเหตุการณ์เช่นนี้ทำให้ ธารารัตน์ ต้องทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่เกิดเรื่องการกลั่นแกล้งรังแกตัวเองขึ้น ซึ่งพบว่าเกิดขึ้นเพราะสิ่งที่เธอโพสต์นั้น สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ชายเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย จากการที่เธอแสดงให้เห็นถึงความเป็นชายที่เป็นพิษที่สามารถล่วงละเมิดผู้หญิงได้ และมองว่าเมื่อผู้หญิงถูกกระทำเป็นสิ่งที่ไม่ควรนำมาเปิดเผย เมื่อเธอเปิดเผยลักษณะนี้จึงทำให้ถูกโต้ตอบ


          “เมื่อรู้สาเหตุแล้ว ก็ไม่ได้เก็บเรื่องที่ถูกรังแกมาคิดใส่ใจให้บั่นทอนจิตใจตนเอง และไม่ใช้วิธีการตอบโต้กลับด้วยการกลั่นแกล้งคนนั้นผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะหากทำแบบนั้นเราก็จะเป็นคนที่ไม่ต่างกับเขา แต่เลือกใช้วิธีการสื่อสารให้เห็นถึงประเด็นปัญหาที่แท้จริง เช่น ทำไมเรื่องการถูกล่วงละเมิด ผู้หญิงถึงสามารถพูดเปิดเผยได้ เพราะสิ่งที่จะหยุดพฤติกรรมของพวกเขาได้ คือการทำให้เขาสำนึกผิดจากสิ่งที่ทำ ไม่ใช่การกลั่นแกล้งกลับ แม้จะทำให้สังคมช่วยกดดันจนเขาหยุดการกระทำก็จริง แต่ไม่ได้เกิดเพราะสำนึกที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแต่อย่างใด” ธารารัตน์แนะนำเทคนิคการจัดการตนเองเมื่อถูกกลั่นแกล้งผ่านโลกออนไลน์


          สถานการณ์การกลั่นแกล้งรังแกกันของไทย
          ปี 2549 ประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลกในการรังแกกันที่มีอยู่ 40% รองจากประเทศญี่ปุ่นมี 60%
          ปี 2560 พบ ม.1-3 จำนวน 45% มีประสบการณ์เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์อย่างน้อย 1 ครั้ง มากกว่าสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น 4 เท่า
          คนที่รังแก คือ เพื่อนสนิท เพื่อนคนอื่นๆ ในห้อง-นอกห้องและต่างระดับชั้น
          คนที่ถูกรังแก คือ เด็กไม่ค่อยสู้คน เงียบๆ คนที่แตกต่าง เด็กเรียนรู้ช้า ออทิสติก เด็กรักเพศเดียวกัน เด็กไม่ค่อยมีเพื่อน คนที่ฟันเหยิน ผิวดำ เตี้ย

          ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการรังแกกัน
          คนถูกรังแก โดดเดี่ยว เก็บกด เครียด ไมเกรน หงุดหงิด รำคาญ ไม่อยากมาเรียน
          คนรังแก คุ้นชินกับการใช้ความรุนแรง มีปัญหาความสัมพันธ์
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ