Lifestyle

วิตามินF13 คู่มือสร้างภูมิคุ้มกันสานสัมพันธภาพในครอบครัว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] 

 

 


          เมื่อทุกคนเกิดมาบนโลกนี้ “ครอบครัว” เป็นสถาบันแรกที่ทุกคนได้สัมผัส ซึ่งครอบครัวไทยในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ย่อมมีโจทย์ที่ต้องค้นหาทางออกและหาคำตอบอีกมากมาย การประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 15 “ประชากรและสังคม 2562” ได้ชูประเด็น “ครอบครัวไทย...สะท้อนอะไรในสังคม” ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อนำเสนองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวไทย

 

          ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่ง “ครอบครัว” มีหน้าที่ในการบ่มเพาะพัฒนาคน ยิ่งขณะนี้ทุกคนใช้ชีวิตอยู่บนโลกดิจิทัล โลกออนไลน์เป็นหลัก ทำให้ครอบครัวต้องเปลี่ยนแปลงทั้งการสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว การดูแล การสื่อสาร การใช้เวลาว่างในครอบครัว บทบาทหน้าที่ของคนในครอบครัว เพื่อนำไปสู่การสร้างครอบครัวเข้มแข็ง และครอบครัวมีสุข


          ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ อาจารย์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มม. กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ.2539 พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2560 พบว่า ครัวเรือนคนเดียวและครัวเรือน 2 คน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยครัวเรือนคนเดียวใน พ.ศ.2539 มี 8.8% ได้เพิ่มขึ้นเป็น 20.5% ในปี พ.ศ.2560 หรือเพิ่มขึ้นราว 2.3 เท่าตัว สำหรับครัวเรือน 2 คนนั้น มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในปี พ.ศ.2539 มี 15.9% เพิ่มขึ้นเป็น 27.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือเพิ่มขึ้นราว 1.7% ขณะที่ครัวเรือนขนาดใหญ่ หรือครัวเรือนที่มีขนาด 3 คนขึ้นไป กลับพบว่า มีสัดส่วนลดลงอย่างชัดเจน โดยใน พ.ศ.2539 มี 75.3% เหลือ 52.3% ใน พ.ศ.2560 หรือลดลง 23% 


          นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาอายุเฉลี่ย พบว่า อายุเฉลี่ยของสมาชิกในครัวเรือนกลับเพิ่มขึ้นเกือบ 10 ปี ดังนั้น แสดงให้เห็นว่า ในสถานการณ์ยุคเกิดน้อย อายุยืน อาจจะเกิดครัวเรือนผู้สูงอายุที่มีเด็กเป็นหัวหน้าครัวเรือน และครัวเรือนที่เด็กอยู่ตามลำพังเพียงคนเดียว หรืออยู่ด้วยกับเด็ก ซึ่งถือว่าจัดอยู่ในกลุ่มครัวเรือนเปราะบางอีกรูปแบบหนึ่งก็เป็นได้

 



          จรัมพร โห้ลำยอง อาจารย์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มม. เล่าว่า จากการศึกษาสถานการณ์ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่มีเด็กและเยาวชนอายุ 12-14 ปี จำนวน 401 คน ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ลำพูน จ.อุบลราชธานี จ.สระบุรี และ จ.สตูล พบว่า รูปแบบการอยู่อาศัยของครอบครัวที่มีเด็กและเยาวชนวัยรุ่นมีความหลากหลาย แบ่งเป็น 56% อาศัยอยู่กับพ่อแม่ 22% อาศัยอยู่กับพ่อหรือแม่เพียงคนเดียว และ 22% ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อหรือแม่เลย โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กไม่ได้อยู่พร้อมหน้ากันพ่อแม่ลูก เนื่องจากพ่อแม่ต้องไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล และการหย่าร้างแยกทางของพ่อและแม่


          จรัมพร เล่าต่อว่า สำหรับการสื่อสาร ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเลี้ยงดูลูก โดยประเด็นที่เด็กวัยรุ่นจะพูดคุยกับพ่อแม่ พบว่า 58.6% เกี่ยวกับการประหยัด การออม และการใช้เงินที่ถูกต้อง 41.6% เรื่องการคบเพื่อนและการอดกลั้นจากแรงกดดันต่างๆ จากเพื่อน 39.7% เรื่องทั่วไปหรือปัญหาที่เกี่ยวกับตัวเด็ก 33.4% ค่านิยมและความเชื่อที่ครอบครัวยึดถืออยู่ 32.9% เรื่องรายรับรายจ่ายของครอบครัว 21.4% การดื่มเหล้า สูบบุหรี่และยาเสพติด 13.5% การมีแฟน และ 7.5% เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ 


          ขณะที่ประเด็นที่ผู้ปกครองไม่เคยคุยกับเด็กวัยรุ่นได้เลย มีดังนี้ 77.8% เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ 58.1% การมีแฟน 53.4% การดื่มเหล้า สูบบุหรี่และยาเสพติด 24.2% เรื่องรายรับรายจ่ายของครอบครัว 23.9% การคบเพื่อนและการอดกลั้น 18.5% ค่านิยมและความเชื่อ 13.0% เรื่องทั่วไปหรือปัญหาที่เกี่ยวกับตัวเด็ก และ 10.0% การประหยัด การออมและการใช้เงิน


          “ผลจากการสำรวจดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ามีช่องว่างการสื่อสารในประเด็นเรื่องเพศสัมพันธ์ การมีแฟน และยาเสพติด ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่ากังวล เนื่องจากอาจจะทำให้เด็กวัยรุ่นมีความรู้ความเข้าใจที่ผิดพลาด ขาดการตระหนักคิดจากการได้รับข้อมูลจากแหล่งอื่น เช่น เพื่อน สื่ออินเทอร์เน็ตในทางกลับกันการไม่ได้พูดคุยทำให้ผู้ปกครองไม่ทราบถึงความคิดเห็นของบุตรหลาน ไม่ทราบสถานการณ์ความเสี่ยงและไม่ได้ให้คำปรึกษาที่เหมาะสมกับเด็กในสถานการณ์ปัญหาเหล่านั้นได้ นอกจากนี้ การไม่ได้สื่อสารในเรื่องดังกล่าวของครอบครัว ผ่านการสื่อสารเชิงบวกและไม่มีโอกาสวางกฎเกณฑ์หรือสร้างข้อตกลงในครอบครัวได้ ดังนั้น ทางคณะผู้วิจัย จึงได้จัดทำคู่มือครอบครัว วิตามิน F13 : ยาบำรุงสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในครอบครัวที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยกันระหว่างผู้ปกครองและเด็ก” จรัญพร กล่าว
 

          ทั้งนี้สำหรับ วิตามิน F13 เป็นคู่มือครอบครัวสำคัญ ประกอบด้วย 5 เล่มบางๆ คือ คู่มือเล่มที่ 1 “ทำไมครอบครัวจึงสำคัญ” เสนอภาพรวมของโปรแกรมและแบบทดสอบเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองสะท้อนประเด็นปัญหาต่างๆ ที่มีผลต่อวัยรุ่นด้วยตนเอง คู่มือเล่มที่ 2 “ช่วยวัยรุ่นเห็นความสำคัญของครอบครัว” เน้นการทำความเข้าใจถึงความคิดและพฤติกรรมวัยรุ่น และสารเสพติดของวัยรุ่น คู่มือเล่มที่ 3 “กฎของครอบครัว เกี่ยวกับเหล้า ยาเสพติด และบุหรี่” ช่วยให้ผู้ปกครองสามารถจัดการกับปัญหาการใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติดของวัยรุ่น คู่มือเล่มที่ 4 “กฎของครอบครัวเกี่ยวกับการมีแฟน” เน้นพฤติกรรมทางเพศและแนวทางการสื่อสารในเรื่องเพศกับลูก และคู่มือเล่มที่ 5 “อิทธิพลภายนอกที่มีผลต่อครอบครัวไทย” ช่วยให้ผู้ปกครองสามารถจัดการกับปัญหาแรงกดดันจากเพื่อน อิทธิพลของสื่อที่มีผลต่อพฤติกรรมวัยรุ่น ดังนั้น หากผู้ปกครองคนใดสนใจเติมวิตามิน F13 คู่มือครอบครัวสำคัญ สามารถติดต่อได้ที่มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วการพูดคุยสื่อสารกับลูก แก้ปัญหาในครอบครัวจะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น 

 


          “วิตามิน F13 คืออะไร??”
          วิตามิน F13 คือ คู่มือครอบครัวสำคัญ เปรียบเสมือนวิตามินที่เหมาะสำหรับครอบครัวในปัจจุบัน ที่ช่วยบำรุงสัมพันธภาพของครอบครัวกระตุ้นให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้ปกครองและบุตรหลานวัยรุ่น โดยเฉพาะประเด็นการสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องเพศ การมีเพศสัมพันธ์ การมีแฟน และการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้ยาเสพติด ซึ่งเป็นเรื่องยากในการสื่อสารเชิงบวกของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานวัยรุ่น


          โดย F13 สื่อความหมายดังนี้ “F” หมายถึง family ซึ่งสะท้อนความสำคัญของครอบครัว ที่จะเป็นส่วนผสมหลักสำคัญในการป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงของบุตรหลานวัยรุ่น


          “13” หมายถึง อายุของบุตรหลานในช่วง 13-14 ปี ที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญในการสื่อสารเพื่อป้องกันพฤติกรรมเสี่ยง โดยวิธีการสื่อสารเชิงบวกที่สร้างความรู้ให้แก่เด็ก และสร้างเสริมความเข้าใจระหว่างผู้ปกครองและเด็ก ทั้งนี้ ช่วงอายุ 13-14 ปี ของบุตรหลาน เป็นช่วงวัยที่เหมาะสมที่จะทำ family intervention เนื่องจากเด็กช่วงวัยนี้ยังมีความผูกพันใกล้ชิดกับพ่อแม่อยู่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อและยังไม่สายเกินไปที่จะป้องกันพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ได้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ