Lifestyle

ต้นแบบ"ห้องเรียนแห่งอนาคต" เสริม3ทักษะสร้างเด็กรุ่นใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected]

 

 

          กระบวนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปสู่การสร้างคนตามสมรรถนะ ตอบโจทย์โลกแห่งการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การเรียนในห้องเรียนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ บทบาทหน้าที่ของครูจะมายืนสอนแบบเดิมไม่ได้ โครงการซัมซุง สมาร์ท เลิร์นนิ่ง เซ็นเตอร์ “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” ดำเนินการโดยบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ได้ถอดบทเรียนส่งต่อ 4 รูปแบบ “ห้องเรียนแห่งอนาคต” เป็นต้นแบบกระบวนการเรียนที่เหมาะสมกับบริบทของเด็ก โลกแห่งเทคโนโลยีให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

 

 

 

ต้นแบบ"ห้องเรียนแห่งอนาคต" เสริม3ทักษะสร้างเด็กรุ่นใหม่

 

 

          ในงาน “6 ปี สร้างพลังเรียนรู้สู่อนาคต” ถือเป็นปีสุดท้ายของโครงการ Samsung Smart Learning Center “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน โดยได้พัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และใช้เทคโนโลยีซัมซุงขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ แอ็กทีฟ เลิร์นนิ่ง ให้เด็กไทยมีทักษะศตวรรษที่ 21 ให้แก่ผู้เรียน


          นางวรรณา สวัสดิกูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เล่าว่า โครงการ "ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ให้แก่เด็กและเยาวชน ผ่านแนวคิดห้องเรียนแห่งอนาคต โดยเริ่มพัฒนาต้นแบบร่วมกับโรงเรียนภาคีต่างๆ ทั่วประเทศ มีโรงเรียนภาคี 50 แห่ง มีการอบรมครูกว่า 4,000 คน และเด็กที่ผ่านประสบการณ์กว่าแสนคน

 

 

ต้นแบบ"ห้องเรียนแห่งอนาคต" เสริม3ทักษะสร้างเด็กรุ่นใหม่

วรรณา สวัสดิกูล

 


          กระบวนการเรียนรู้ในโครงการดังกล่าวไม่ได้เพียงนำนวัตกรรมมาใช้ในการเรียนรู้เท่านั้น นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ เล่าว่า การดำเนินการห้องเรียนแห่งอนาคตตลอด 6 ปีซัมซุงได้แนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ซึ่งเอื้อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านการทำโครงงาน ฝึกทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศ สืบค้นข้อมูล โดยมีครูเป็นผู้อำนวยกระบวนเรียนรู้ ก่อเกิดเป็นห้องเรียนแห่งอนาคตใน 4 รูปแบบ คือ 1.ห้องเรียนสร้างพลัง ห้องเรียนที่ทำให้เด็กๆ เชื่อมั่นว่าเขามีพลัง สามารถร่วมกำหนดวิธีการเรียนรู้ หาคำตอบ สร้างความรู้ได้เองแทนที่จะนิ่งเฉยรอรับความรู้ ทำตามคำสั่ง 2.ห้องเรียนขยายเพื่อชุมชน ห้องเรียนที่ไม่ได้จำกัดด้วยผนังห้อง การเรียนรู้ไม่มีขีดจำกัด 


 

 

ต้นแบบ"ห้องเรียนแห่งอนาคต" เสริม3ทักษะสร้างเด็กรุ่นใหม่

 


          3.ห้องเรียนมีหัวใจ เมื่องานวิจัยมีชีวิต ซึ่งในห้องเรียนแห่งอนาคต งานวิจัยไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อย้ำความรู้ในตำรา แต่เป็นเครื่องมือเพื่อค้นพบสิ่งใหม่และสร้างสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมี และ 4.ห้องเรียนเชื่อมโลก บูรณาการสู่ศตวรรษที่ 21 ให้แก่สพฐ. เพื่อนำไปต่อยอดสร้างห้องเรียนแห่งอนาคตเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันโรงเรียนต้นแบบทั้ง 50 แห่ง มีการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ พัฒนาบุคลากร ครู ผู้บริหารโรงเรียน พัฒนาหลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนรู้แบบศตวรรษที่ 21 และมีการติดตามและประเมินผล สามารถเผยแพร่ และต้นแบบให้แก่โรงเรียนอื่นๆ ต่อไป


          “ผลการประเมินหลังจากเด็กเข้าร่วมโครงการ พบว่าเด็กมีทั้ง 3 กลุ่มทักษะ ได้แก่ 1.ทักษะการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรม 2.ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี และ 3.ทักษะชีวิตและอาชีพ โดยเฉพาะการทำงานเป็นทีม หลายคนอาจมองว่าทักษะด้านนี้เด็กมีอยู่แล้ว แต่จริงๆ เด็กต่างคนต่างทำและมารวมเป็นผลงาน แถมเด็กหน้าห้องบางคนไม่อยากทำงานร่วมกับเด็กหลังห้อง แต่ห้องเรียนแห่งอนาคตเด็กทุกคนต้องทำงานร่วมกันจริงๆ ทำให้เด็กหน้าห้องได้เรียนรู้ว่าบางเรื่องเขาอาจจะเก่งวิชาการแต่เมื่อมาปฏิบัติเขาต้องพึ่งเด็กหลังห้องหรือการสื่อสาร เด็กหลายคนไม่กล้านำเสนอ ไม่กล้าคิด เมื่อเข้าร่วมโครงการเขากล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกมากขึ้น และรู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งหากสพฐ.นำรูปแบบห้องเรียนอนาคตไปปรับใช้ ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่เด็กมีทักษะศตวรรษที่ 21 ได้” นายวาริท กล่าว

 

 

ต้นแบบ"ห้องเรียนแห่งอนาคต" เสริม3ทักษะสร้างเด็กรุ่นใหม่

วาริท จรัณยานนท์

 


          เด็กทุกคนต้องการต่างกัน การเรียนรู้ย่อมต่างกัน ทั้ง “4 รูปแบบห้องเรียนแห่งอนาคต” เหมาะสมกับบริบทเด็ก โรงเรียน “น้องแฟน" น.ส.ปิยฉัตร โพธิ์ศรี และ "น้องแม็ค" นายคมสันต์ เสามุกดา อดีตนักเรียนโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม จ.มหาสารคาม เล่าว่า เข้าร่วมโครงการซัมซุงเพราะต้องการเพิ่มทักษะการแก้ปัญหา เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เนื่องจากห้องเรียนแห่งอนาคต ต้องรู้จักตั้งคำถาม หาคำตอบ ช่วยเหลือชุมชน  เมื่อสำรวจปัญหาชุมชน พบว่ามีปัญหาชาวบ้านนำขยะไปทิ้งไว้ในป่า จึงมองหาทางแก้ปัญหา ทำอย่างไรให้ป่าสาธารณะกลายเป็นป่าชุมชนที่ทุกคนช่วยกันดูแล ไม่นำขยะไปทิ้งในป่า โดยมีพี่ๆ จากซัมซุงมาให้ความรู้ มีเครื่องมือเทคโนโลยี อาทิ โน้ตบุ๊ก กล้องวิดีโอใช้เก็บข้อมูลและค้นหาวิธีการต่างๆ ได้วิธีสร้างความร่วมมือทำความเข้าใจชาวบ้าน


          “การเรียนรู้แบบห้องเรียนแห่งอนาคต ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะการแก้ปัญหา การตั้งคำถามหาคำตอบ คิดวิเคราะห์ ที่สำคัญได้ทำงานกับผู้คนหลากหลาย และเรียนรู้ทักษะการสื่อสาร ยิ่งคนในวัยต่างกันมุมมองต่างกันจะทำอย่างไรให้ทุกคนพร้อมช่วยเหลือกิจกรรม ดูแลป่า รวมถึงได้องค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับป่า การอนุรักษ์ป่า และรู้จักดูแลชุมชน ผืนป่า เป็นห้องเรียนที่เหมาะกับการเรียนรู้ของเด็กยุคใหม่ที่ครูคิดร่วมกันกับเด็ก และรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์” เยาวชนห้องเรียนแห่งอนาคต เล่า


          ตบท้ายด้วย ครูสุนันต์ สะซีลอ จากโรงเรียนศาสนาศึกษา จ.ปัตตานี หนึ่งในโรงเรียนที่ได้เข้าร่วมโครงการ เล่าว่า อยากให้นักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้เทคโนโลยี กระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ซึ่งเมื่อได้เข้าร่วมโครงการทำให้ทั้งครูและเด็กได้เรียนรู้ทักษะศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะการสื่อสาร การใช้เทคโนโลยี การคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และกล้าแสดงออก เพราะต้องยอมรับว่าเด็กโรงเรียนศาสนาศึกษาไม่ได้เรียนเฉพาะหลักสูตรสามัญ แต่ต้องเรียนหลักสูตรอิสลามด้วย เมื่อโรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการทำให้ได้มุมมองในการสอนแบบใหม่ รู้จักบูรณาการวิชาเข้าด้วยกัน เด็กได้เรียนอย่างสนุก เข้าใจบทเรียนมากขึ้น ที่สำคัญเด็กกล้าคิด กล้าทำและกล้าแสดงออก พวกเขาไม่กลัวการเรียนรู้ และครูได้เรียนรู้การสอนที่ไม่ใช่ยืนหน้าห้อง แต่ได้เรียนรู้การยอมรับความคิดเห็นเด็ก ได้รู้มุมมองเด็ก และรู้จักการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของเด็ก ดังนั้นอยากให้โครงการซัมซุงต่อยอดห้องเรียนแห่งอนาคตไปเรื่อยๆ เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนในลักษณะแตกต่างกันออกไป 

 

 

ต้นแบบ"ห้องเรียนแห่งอนาคต" เสริม3ทักษะสร้างเด็กรุ่นใหม่

สุนันต์ สะซีลอ

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ