Lifestyle

"สูบบุหรี่ในบ้าน"มีความผิด กฎหมายใหม่บังคับใช้ 20ส.ค.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... -พวงชมพู ประเสริฐ [email protected] -

 


          วันที่ 20 สิงหาคม 2562 พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ สาระสำคัญส่วนหนึ่งเกี่ยวเนื่องกับ “การสูบบุหรี่ในบ้าน” แม้ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน แต่เข้าข่ายก่ออันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งถือเป็นความรุนแรงในครอบครัวตามนิยามในกฎหมายฉบับนี้ ส่งผลให้คนที่สูบบุหรี่ในบ้านมีความผิด ขณะที่มีข้อมูลระบุว่าคนไทยต้องรับควันบุหรี่มือสองในบ้านกว่า 10 ล้านคน และเด็กทารกเสี่ยงใหลตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า โอกาสเกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 47%

 

 

          ในการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 “Tobacco and Lung Health” จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย มีการแถลงข่าว “บ้านปลอดบุหรี่ ลดความรุนแรงต่อสุขภาพ” 


          เลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดไว้ชัดเจนว่าความรุนแรง เป็นการกระทำใดๆ ที่บุคคลในครอบครัวได้กระทำต่อกันก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ สุขภาพ เสรีภาพ หรือชื่อเสียงของบุคคลในครอบครัว ซึ่งครอบครัวมี 3 ลักษณะ คือ ตามสายโลหิต ตามพฤตินัย/นิตินัย และบุคคลที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน

 

 

          “ในส่วนของการสูบบุหรี่ คนในบ้านได้รับควันบุหรี่มือสองและมือสาม ซึ่งในกรณีนี้หากคนในบ้านได้รับผลกระทบ โดยเกิดปัญหาสุขภาพและยืนยันได้ว่าเกิดจากการได้รับควันบุหรี่ ตาม พ.ร.บ.ใหม่นี้จะถือว่าผู้ที่สูบบุหรี่ในบ้านมีความผิดในฐานของการก่อความรุนแรงในครอบครัว เพราะทำให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพของคนในครอบครัว อาจจะต้องขึ้นสาลเพื่อพิจารณาความผิด 2 ศาล คือ ศาลอาญา กรณีที่มีการทำร้ายทางกาย ได้รับโทษตามกฎหมายอาญา และศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งศาลอาจมีคำสั่งให้คุ้มครองคนในครอบครัวและสั่งบังคับให้ผู้ที่สูบบุหรี่และทำให้เกิดปัญหาในบ้านเข้ารับการบำบัดและเลิกบุหรี่ เพื่อไม่ให้ทำพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความรุนแรงอีก” เลิศปัญญากล่าว


 


          10 ล้านคนรับควันบุหรี่มือสอง 
          ขณะที่ ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ศจย.ได้ศึกษาพบว่า มีครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ มากถึง 4,962,045 ครัวเรือน คนที่ไม่สูบบุหรี่จึงได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน โดยเฉลี่ยมากถึง 10,333,653 คน  มีผลการวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีสามีสูบบุหรี่ หรือผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 24% และ 19% ตามลำดับ เด็กทารกที่มีผู้ปกครองสูบบุหรี่มีโอกาสเกิดภาวะใหลตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีโอกาสเกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 47% และมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น 39%

 

 

"สูบบุหรี่ในบ้าน"มีความผิด กฎหมายใหม่บังคับใช้ 20ส.ค.

 


          รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ควันบุหรี่เป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายที่สุดในบ้าน แม้ผู้ปกครองจะไม่ได้สูบบุหรี่ในบ้าน หรือสูบในบ้านตอนไม่มีใครอยู่ ก็ยังคงมีสารพิษจากควันบุหรี่ ติดตามเสื้อผ้า ผนัง โซฟา เบาะหนังแท้ หนังเทียม รวมถึงในรถยนต์ เรียกว่า บุหรี่มือสาม ซึ่งศูนย์สร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาฯ ได้ศึกษาวิจัยในศูนย์เด็กเล็กกรุงเทพมหานครด้วยการซักประวัติเด็กเล็กที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ จำนวน 122 ครัวเรือน โดยการตรวจสารโคตินินซึ่งเป็นสารพิษจากนิโคติน ในปัสสาวะเด็ก พบว่า เด็ก 16% ตรวจพบสารโคตินินในปัสสาวะประมาณ 2 นาโนกรัมต่อซีซี ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มที่มีประวัติสูบบุหรี่ในบ้าน จึงเป็นการแสดงถึงสารพิษตกค้างในตัวเด็กจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง และเมื่อให้สมาชิกในครอบครัวเข้าร่วมโปรแกรมเลิกบุหรี่ พบว่า 1 ใน 3 เลิกได้สำเร็จ และเด็กในกลุ่มนี้มีระดับโคตินินในปัสสาวะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ


          ก่อนนั้นมีการศึกษาวิจัยในกลุ่มเด็กที่มารับบริการตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนในแผนกผู้ป่วยนอก กุมารเวชศาสตร์ 75 รายที่มีคนสูบบุหรี่ในครอบครัว พบว่า 76% ตรวจเจอสารโคตินินในปัสสาวะเด็ก ในจำนวนนี้ 43% พบค่าสูงเกิน 2 นาโนกรัมต่อซีซี อีกทั้งเด็กที่อาศัยอยู่ในที่พักที่เป็นยูนิตรวม เช่น คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ หรือทาวน์เฮ้าส์ จะมีค่าสารพิษนี้สูงกว่าเด็กที่อยู่บ้านที่มีพื้นที่รอบถึง 2 เท่า และเด็กที่อยู่ในบ้านที่มีผู้มีประวัติสูบบุหรี่มากกว่า 20 มวนต่อวัน เด็กจะมีสารพิษนี้มากขึ้น 2 เท่า


          ชงเอาผิดรถโดยสารมีกลิ่นบุหรี่ 
          รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อการศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นชัดเจนว่าเด็กเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายต่อชีวิตจากควันบุหรี่มือสองและมือสาม จึงมีข้อเสนอดังนี้ 1.ครัวเรือนควรได้รับความรู้เกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่มือสองและมือสามที่มีผลกระทบต่อเด็ก 2.สถานที่บริการสาธารณะ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น คลินิก หากทราบประวัติครอบครัวมีคนสูบบุหรี่และไม่ได้พยายามสร้างโปรแกรมหรือส่งต่อให้เลิกบุหรี่ จะต้องถือว่าเข้าข่ายไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 29 ที่กำหนดให้ทุกคนมีหน้าที่แจ้งเมื่อเจอเด็กตกอยู่ในสภาพจําต้องได้รับการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพ เพราะการสูบบุหรี่ในบ้านถือเป็นการกระทำความรุนแรงที่เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562


          3.ในส่วนของอาคารบ้านเรือนที่เป็นแบบยูนิตรวม เช่น คอนโด อพาร์ตเมนต์ ทาวน์เฮ้าส์ จะต้องมีการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ภายในที่พักลักษณะเช่นนี้ รวมถึงภายในห้องหรือตัวบ้านด้วย ไม่เฉพาะแค่บริเวณทางเดินหรือพื้นที่ส่วนรวมเท่านั้น เพราะที่พักอาศัยเหล่านี้ถือว่ามีการใช้อากาศร่วมกัน ถ้าสูบในบ้าน 1 หลัง ก็ส่งผลต่อบ้านอีกหลังได้จากอากาศที่ล่องลอย หรือสูบในห้องคอนโด ควันบุหรี่ก็ส่งผลต่อคนในห้องอื่นๆ ได้ด้วย หรือหากไม่มีการออกกฎหมายบังคับ อย่างน้อยจะต้องมีมาตรการประกาศให้ผู้บริโภคทราบว่าเป็นคอนโดที่อนุญาตให้มีการสูบบุหรี่ในห้องได้ เพื่อที่ครอบครัวที่มีหญิงตั้งครรภ์หรือเด็กเล็กจะได้ตัดสินใจได้ว่าจะซื้อคอนโดแห่งนั้นหรือไม่ เหมือนกับที่การประกาศว่าห้ามเลี้ยงสุนัขในคอนโด ซึ่งบุหรี่อันตรายต่อสุขภาพยิ่งกว่าควรจะมีการประกาศแจ้งให้ทราบเช่นกัน และ 4.รถโดยสารสาธารณะ เช่น รถตู้ หรือรถแท็กซี่ หากมีกลิ่นบุหรี่หลงเหลืออยู่ภายในรถถือว่ามีควันบุหรี่มือสาม เพราะฉะนั้นผู้โดยสารควรมีสิทธิร้องเรียนและรัฐควรออกกฎหมายในการควบคุมสิ่งเหล่านี้ด้วย เพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน        

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ