Lifestyle

ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะสุดท้ายจาก3เดือนมีชีวิตจิตอาสามา14ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... -พวงชมพู ประเสริฐ [email protected]

 

  
          “ตายแน่ๆ ฉันต้องตายแน่ๆ จะเดือนไหนในปีนี้” เป็นความรู้สึกแรกที่ นางองุ่น หงษ์ศรี วัย 63 ปี ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะสุดท้ายบอกว่าเกิดขึ้นเมื่อทราบจากแพทย์ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะสุดท้าย และมีชีวิตอยู่ต่อได้ไม่เกิน 3 เดือน จากนั้นมา 14 ปีปัจจุบัน “องุ่น” เป็นจิตอาสาร่วมกับเพื่อนๆ ในการช่วยเหลือให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี

 

 

          องุ่น เล่าว่า ตอนอายุ 49 ปีได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะสุดท้าย และน่าจะมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกราว 3 เดือน ก่อนจะเข้ารับการรักษาตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองและย้ายมารักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี เนื่องจากเป็นระยะสุดท้ายแพทย์จึงไม่ได้ผ่าตัดเพราะไม่สามารถรักษาได้ แต่ให้การรักษาด้วยการฉายแสง 29 ครั้ง ตามด้วยการใส่แร่ช่องคลอดอีก 3 ครั้ง จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 14 ปีแล้ว และมาทำงานเป็นจิตอาสาร่วมกับจิตอาสาคนอื่นๆ ที่โรงพยาบาลราชวิถี คอยพูดคุยให้คำแนะนำและกำลังใจแก่ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องมารับการฉายแสง รวมถึงจัดทำเต้านมเทียมแจกฟรี และมีธนาคารวิกให้ผู้ป่วยยืมไปใช้จนกว่าผมจะจริงงอกเป็นที่พอใจค่อยนำกลับมาคืน

 

 

ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะสุดท้ายจาก3เดือนมีชีวิตจิตอาสามา14ปี

องุ่น หงษ์ศรี

 


          “คนเราถ้าไม่ป่วยก็จะไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้ป่วยเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งต้องตั้งสติ เข้ารับการรักษาอย่างอดทน เชื่อและปล่อยวางให้คุณหมอรักษาตามแนวทางที่เหมาะสม เราก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ เพราะเราไม่รู้เรื่องโรคเหมือนคุณหมอ ที่สำคัญต้องมีกำลังใจ ตัวเองมีลูกสาวเป็นกำลังใจที่สำคัญ รวมถึง การอยากเป็นผู้ให้ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนด้วยการเป็นจิตอาสา นี่คือกุศลที่ยิ่งใหญ่ เมื่อรักษาเสร็จทำใจให้เป็นสุข คิดดี ทำดี พูดดี” นางองุ่น กล่าว

 



          ผศ.พิเศษ พญ.อรัญญา ยันตพันธ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวช รพ.ราชวิถี และแพทย์เจ้าของไข้นางองุ่น อธิบายว่า การที่ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 4 จะมีอัตรามีชีวิตรอดได้นานเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับระยะที่ป่วย ซึ่งระยะที่ 4 จะแยกเป็นการกระจายไปอวัยวะใกล้เคียงและกระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย รวมถึงเป็นมะเร็งชนิดที่ความรุนแรงต่ำ ผู้ป่วยมีการปฏิบัติตัวที่ดีและมีจิตใจที่เข้มแข็งมีกำลังใจดีซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ

 

 

 

ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะสุดท้ายจาก3เดือนมีชีวิตจิตอาสามา14ปี

ผศ.พิเศษ พญ.อรัญญา ยันตพันธ์

 


          จากข้อมูลสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2560 ระบุว่าในแต่ละปีจะพบว่าผู้หญิงไทยป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ 5,513 ราย เพิ่มขึ้นวันละ 15 ราย เสียชีวิตปีละ 2,251 ราย สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกมากกว่า 90% เกิดจากไวรัสเอชพีวี โดยเชื้อนี้จะติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ที่มีรอยถลอกของผิวหรือเยื่อบุในอวัยวะสืบพันธุ์ ทำให้เชื้อสามารถเข้าไปอยู่ที่ปากมดลูกจนเกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อกลายเป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่ออักเสบเรื้อรังที่เป็นระยะก่อนเป็นมะเร็งและเป็นมะเร็งปากมดลูกในที่สุด


          การรักษาด้วยการผ่าตัด การใช้เคมีบำบัดและการฉายแสงขึ้นอยู่กับระยะของโรค ส่วนการป้องกันโรคนั้น ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เว้นแต่กับผู้ชายที่จะให้เป็นพ่อของลูก เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดนี้ในการตรวจสุขภาพประจำปี และหากเป็นเด็กหญิงอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไปโดยเฉพาะที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ควรฉีดวัคซีนเอชพีวี


          ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 ผศ.พิเศษ พญ.อรัญญา บอกว่า รพ.ราชวิถี มีการประยุกต์เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องที่ทั่วโลกใช้มานาน เป็นการผ่าตัดแบบไร้แผลให้ผู้ป่วยมะเร็งนรีเวช แทนการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องหรือส่องกล้องทางหน้าท้องที่ต้องตัดมดลูกออก โดยการสอดกล้องเข้าไปทางช่องคลอดแล้วใช้วิธีการที่พัฒนาขึ้นในการแยกปากมดลูกและท่อปัสสาวะได้ชัดเจน ก่อนจะตัดปากมดลูกที่เป็นมะเร็งออก ทำให้สามารถรักษามดลูกของผู้ป่วยไว้ได้

 

 

 

ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะสุดท้ายจาก3เดือนมีชีวิตจิตอาสามา14ปี

 


          อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะใช้กับผู้ป่วยระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งใหญ่ไม่เกิน 4 เซนติเมตร และผู้ป่วยมีอายุน้อย ที่ผ่านมารักษาสำเร็จแล้ว 1 รายเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 อายุ 29 ปี เพิ่งแต่งงานได้ 1 เดือนก่อนพบว่าเป็นมะเร็ง จึงอยากจะเก็บรักษามดลูกไว้เพื่อมีลูกในอนาคต หลังผ่าตัดก็จะต้องมีการติดตามต่อเนื่องว่ากลับมาเป็นซ้ำหรือไม่


          “มะเร็งปากมดลูกมักพบในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่พบว่าปัจจุบันในคนอายุน้อยๆ 20 ปีก็ป่วยเช่นกัน โดยส่วนใหญ่มักจะมีประวัติการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย มีคู่นอนหรือมีสามีหลายคน หรือมีสามีที่มีความสำส่อนทางเพศ ซึ่งผู้ป่วยเป็นมะเร็งส่วนใหญ่มักสิ้นหวังกับการมีชีวิต คิดว่าเป็นมะเร็งแล้วจะต้องตายแน่ แต่จริงๆ แล้วมะเร็งยิ่งรักษาเร็วยิ่งมีโอกาสรอดชีวิตสูง” ผศ.พิเศษ พญ.อรัญญา กล่าว


          นอกจากนี้ รพ.ราชวิถี ยังพบว่ามะเร็งศีรษะ-คอ เป็นมะเร็งที่มักจะถูกมองข้าม ขณะที่แนวโน้มการพบผู้ป่วยมีมากขึ้น นพ.ณัฐ นิยมอุดมวัฒนา นายแพทย์ชำนาญการกลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก รพ.ราชวิถี กล่าวว่า มะเร็งศีรษะและคอที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งช่องปาก ช่องคอ กล่องเสียง โพรงจมูกและไซนัสโพรงหลังจมูก ต่อมไทรอยด์ และต่อมน้ำลาย จากสถิติทะเบียนมะเร็งไทยปี 2558 มะเร็งช่องปากพบมากเป็นอันดับ 6 ของเพศชาย และอันดับ 10 ของเพศหญิง


          เฉพาะที่ รพ.ราชวิถี มีผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอรายใหม่ เข้ามารักษาเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2558 จำนวน 529 คน ปี 2559 จำนวน 600 คน และปี 2560 จำนวน 673 คน ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งชนิดนี้คือการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การเคี้ยวหมาก การใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดีหรือมีฟันแหลมคมที่ทำให้เกิดการระคายเคือง มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง ซึ่งอาการที่ส่งสัญญาณเตือนได้แก่ เป็นแผลที่ลิ้นหรือช่องปากที่ไม่หายภายใน 3 สัปดาห์ เจ็บคอ เสียงแหบ กลืนติด มีน้ำมูกหรือเสมหะปนเลือด มีก้อนที่คอหรือในบริเวณช่องปาก ช่องคอที่โตขึ้นเรื่อยๆ ควรรีบมาพบแพทย์


          การรักษาแนวทางหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงและมีค่าใช้จ่ายแพงในการรักษามะเร็งช่องปากเป็นหลักล้านบาท คือ เทคนิคปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ นพ.ณัฐ อธิบายว่า การรักษามะเร็งช่องปากจะต้องมีการตัดชื้นเนื้ออวัยวะที่เป็นมะเร็งโดยตัดห่างจากขอบด้านละ 1-2 ซม. ฉะนั้นหากคนไข้มารักษาในระยะยิ่งมากก็จะต้องตัดออกพื้นที่มาก หากเป็นที่ลิ้นก็จะต้องมีการตัดลิ้นบางส่วนออกไป คนไข้เสียปริมาตรลิ้นไปทำให้การพูดและการกลืนลำบาก จึงมีการใช้เทคนิคปลูกถ่ายเนื้อเยื่อจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น แขน ขา หรือหน้าแข้งแล้วแต่ความเหมาะสม มาปลูกถ่ายแทนเนื้อเยื่อเดิมที่ตัดออกไป ซึ่งจะอาศัยการต่อเส้นเลือด โดยใช้เส้นเลือดที่เว้นไว้จากการเลาะต่อมน้ำเหลืองที่คอออกแล้วต่อเข้ากับเนื้อเยื่อใหม่ นอกจากนี้การผ่าตัดจะใช้การซ่อนแผลไว้ที่ไรผมของคนไข้เพื่อปิดบังแผลเป็นบริเวณคอด้วย

 

 

 

ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะสุดท้ายจาก3เดือนมีชีวิตจิตอาสามา14ปี

นพ.ณัฐ นิยมอุดมวัฒนา

 


          จากการที่ รพ.ราชวิถี เป็นสถานพยาบาลระดับตติยภูมิ ต้องรับการส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งและโรคอื่นๆ ที่มีความซับซ้อนในการรักษา ต้องใช้เทคโนโลยี ครุภัณฑ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่อยู่ในระดับสูง นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการรพ.ราชวิถี บอกว่า ปี 2561 รพ.ราชวิถี รักษาผู้ป่วยมะเร็งมากถึง 15,670 คน หรือเฉลี่ยวันละ 43 คน เป็นผู้ป่วยมะเร็งที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศปีละ 10,250 คน หรือเฉลี่ยวันละ 18 คน แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ บุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวรักษายาวนาน ซึ่งการรอเพื่อรักษาในผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วโอกาสที่จะหายและสามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติจะมีมากขึ้น


          ทั้งนี้มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลราชวิถีได้ก่อตั้งโครงการ “ทีมราชวิถี ซูเปอร์ฮีโร่ พิชิตมะเร็ง” เพื่อระดมทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยให้เพียงพอเพื่อผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากไม่ต้องรอรักษานาน โดยทุกคนสามารถร่วมเป็นซูเปอร์ฮีโร่ได้ด้วยการบริจาคเงินสมบทบได้ที่ชื่อบัญชี “เงินบริจาคของมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี” 0512163221 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา รพ.ราชวิถี สอบถามเพิ่มเติมโทร. 0-2354-7997 หรือช่วยประชาสัมพันธ์โครงการผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ


          5 อันดับผู้ป่วยมะเร็ง รพ.ราชวิถี ปี 2559–2561
          ปี 2561 มะเร็งเต้านม 12,559 คน /มะเร็งต่อมไทรอยด์ 5,736 คน /มะเร็งปากมดลูก 4,626 คน /มะเร็งลำไส้ใหญ่ 4,029 คน /มะเร็งทวารหนัก 3,836 คน
          ปี 2560 มะเร็งเต้านม 12,433 คน/มะเร็งต่อมไทรอยด์ 6,037 คน/มะเร็งปากมดลูก 6,032 คน/มะเร็งมดลูก 4,127 คน/มะเร็งลำไส้ 4,126 คน
          ปี 2559 มะเร็งเต้านม 11,078 คน/มะเร็งปากมดลูก 7,376 คน/มะเร็งรังไข่ 5,546 คน / มะเร็งต่อมไทรอยด์ 5,171 คน /มะเร็งมดลูก 4,446 คน


          **มะเร็งที่เป็นมากในเพศชาย (ทั่วโลก)
          1.มะเร็งปอด
          2.มะเร็งต่อมลูกหมาก
          3.มะเร็งลำไส้ใหญ่
          4.มะเร็งช่องท้อง
          5.มะเร็งตับ


          มะเร็งที่เป็นมากในเพศหญิง
          1.มะเร็งทรวงอก
          2.มะเร็งลำไส้ใหญ่
          3.มะเร็งปอด
          4.มะเร็งปากมดลูก
          5.มะเร็งต่อมไทรอยด์


          มะเร็งที่มักเป็นกับทั้ง 2 เพศ
          1.มะเร็งปอด
          2.มะเร็งทรวงอก
          3.มะเร็งลำไส้ใหญ่
          4.มะเร็งต่อมลูกหมาก
          5.มะเร็งช่องท้อง


          *มะเร็งที่พบบ่อยในเพศชาย (ประเทศไทย) 
          มะเร็งตับและท่อน้ำดี
          มะเร็งปอด
          มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
          มะเร็งต่อมลูกหมาก
          มะเร็งต่อมน้ำเหลือง


          5 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยในเพศหญิง
          มะเร็งเต้านม
          มะเร็งปากมดลูก
          มะเร็งตับ
          มะเร็งปอด
          มะเร็งลำไส้ใหญ่
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ