Lifestyle

โครงการพัฒนาศักยภาพ "ครูปฐมวัย" เรียนรู้ผ่านการเล่น-สืบเสาะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... ปาริชาติ บุญเอก [email protected]

 

 

 

          ช่วงปฐมวัย เป็นช่วงเวลาสำคัญในการพัฒนาการด้านการศึกษา แต่ปัจจุบันการเรียนรู้แบบเร่งเรียน เขียนอ่าน ไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป หากต้องพัฒนาตามธรรมชาติของเด็กผ่านการเล่นและสืบเสาะ โดยคนสำคัญอย่างครูปฐมวัย นำมาซึ่งจุดเริ่มต้นของ “โครงการพัฒนาศักยภาพครูระดับปฐมวัย” ตามแนวทางมูลนิธิโฟรเบล เยอรมนี

 

 

          10 ปีก่อน บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด และ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) รวมถึงภาครัฐและเอกชน มีโอกาสได้ทำงานร่วมกันในโครงการ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริให้ริเริ่ม โดยได้ทอดพระเนตรตัวอย่างโครงการเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเยอรมนี เมื่อปี 2552 ในการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์


          จากโครงการดังกล่าวนำมาซึ่งการเล็งเห็นว่าการจะพัฒนาเด็กด้านการศึกษา ช่วงที่สำคัญที่สุดคือช่วงปฐมวัย ปัจจุบันการเรียนรู้แบบเร่งเรียน เขียนอ่าน ไม่ใช่สามารถพัฒนาเด็กไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ได้ แต่ต้องพัฒนาตามธรรมชาติของเด็กผ่านการเล่นและสืบเสาะ จึงเกิดการต่อยอดสู่การพัฒนาครูปฐมวัย โดยถอดบทเรียนจาก มูลนิธิโฟเบล เยอรมนี ครั้งแรกในไทย ผ่าน “โครงการพัฒนาศักยภาพครูระดับปฐมวัย” ตามแนวทางมูลนิธิโฟรเบล เยอรมนี (Early Childhood Teacher Training Program, in Collaboration with FROBEL Germany) เพื่อสร้างรากฐานเด็กปฐมวัยให้แข็งแรงภายใต้การดำเนินงานของ “โฟเบล (ประเทศไทย)”


          ทั้งนี้มูลนิธิโฟรเบล เยอรมนี เป็นมูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไร มีประสบการณ์บริหารโรงเรียนอนุบาลและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 181 แห่งในประเทศเยอรมนี ออสเตรเลีย และโปแลนด์ โดยแต่ละสาขามีแนวทางจัดการเรียนรู้ที่ต่างกัน ที่ผ่านมา โฟรเบล พัฒนาครูในสังกัดกว่า 3,000 คนอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเชื่อที่ว่าการพัฒนาสมรรถนะของเด็กต้องมีผู้ใหญ่ที่มีสมรรถนะเป็นผู้นำทางการเรียนรู้คอยชี้แนะจึงจะสำเร็จได้




          ดร.ธีระชัย พรสินศิริรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่กลยุทธ์องค์กร บี.กริม กล่าวในงานเปิดตัว “โครงการพัฒนาศักยภาพครูปฐมวัย” ว่ามูลนิธิโฟรเบล ประเทศเยอรมนี บี.กริม และนานมีบุ๊คส์ เล็งเห็นว่าการที่เด็กสามารถสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์แก้ไขปัญหาได้เท่าทันต่อสิ่งรอบตัวนั้นเป็นสิ่งสำคัญ การเรียนรู้ผ่านการเล่นจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กทดสอบตัวเองและมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ และผู้ใหญ่ ยึดหลักเคารพสิทธิเด็ก เพื่อส่งผลไปยังประสบการณ์ของเด็กโดยตรง เรามีความเชื่อมั่นว่าการส่งเสริมผลักดันให้เด็กกล้าแสดงออก จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น”

 

 

โครงการพัฒนาศักยภาพ "ครูปฐมวัย" เรียนรู้ผ่านการเล่น-สืบเสาะ

 


          เรียนรู้ด้วยการเล่นและสืบเสาะ
          สำหรับหลักสูตรพัฒนาศักยภาพครูระดับปฐมวัยในโครงการ เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการแบบสาธารณะ (Pubic workshop) หรือจัดที่โรงเรียนหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (On-site workshop) เป็นเวลา 2 วัน ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จุดเด่นคือครูทุกคนจะได้ลงมือปฏิบัติจริง (Active learning & Hands-on) เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยน สะท้อนคิด เรียนรู้โดยเชื่อมโยงจากประสบการณ์เดิมของตน ต่อยอดสู่องค์ความรู้ใหม่จากการอบรม (Learning Spiral) ด้วยทีมวิทยากรของไทยทั้ง 14 คน ที่ได้รับการเทรนอย่างเข้มข้นจากทีมวิทยากรจากเยอรมนี


          เปิดอบรม 2 หลักสูตร ได้แก่ 1. แนวทางการจัดการเรียนรู้ด้วยการเล่น (Play-based Learning) ในรูปแบบเยอรมัน (German-Style Play-based Learning Approach) ด้วยหลักที่ว่าเด็กมักกระตือรือร้น มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนรอบข้างและบรรยากาศรอบตัวเมื่อได้เล่นอย่างมีเป้าหมาย โดยผู้อบรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเล่นหลากหลายรูปแบบและเข้าใจถึงความสำคัญของการจัดการเล่นเพื่อเรียนรู้ รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมอย่างไรที่จะอำนวยต่อการเล่นอย่างมีความหมาย

 

 

โครงการพัฒนาศักยภาพ "ครูปฐมวัย" เรียนรู้ผ่านการเล่น-สืบเสาะ

 


          2.แนวทางการจัดการเรียนรู้แบบสื่อเสาะ (Inquiry-based Learning) สำหรับเด็กปฐมวัยในรูปแบบเยอรมัน (German-Style Inquiry-based Learning Approach for Early Childhood) เป็นพื้นฐานในการกระตุ้นการเรียนรู้และความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก ทั้งยังเป็นกระบวนการที่สร้างการคิดอย่างอิสระ โดยชักชวนเด็กให้เรียนรู้ไปด้วยกันเพื่อหาคำตอบ โดยผู้อบรมจะต้องรู้จักตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดความสงสัยจนอยากสืบเสาะและกระหายที่จะหาคำตอบด้วยตนเอง


          คิม จงสถิตย์วัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กไทยได้เข้าถึงการศึกษาระดับนานาชาติด้วยการนำองค์ความรู้ และกระบวนการในการพัฒนาครูระดับปฐมวัยตามแนวทางมูลนิธิโฟรเบล จากประเทศเยอรมนี มาปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย โดยเข้าร่วมกับโครงการคูปองครู รวมถึงครอบคลุมไปยังครูในโรงเรียนอนุบาลและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ไม่ได้สังกัด สพฐ.ทั่วประเทศ ให้มีความพร้อมและความมั่นใจในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาเพื่อให้เด็กเติบโตไปเป็นพลเมืองโลกที่ช่างสงสัย มีความสามารถ เอื้ออาทร และตอบแทนสังคม ซึ่งต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ปฐมวัย โดยในปีแรกนี้ตั้งเป้าพัฒนาครูอย่างน้อย 10 รุ่น หรือราว 900 คน

 

 

 

โครงการพัฒนาศักยภาพ "ครูปฐมวัย" เรียนรู้ผ่านการเล่น-สืบเสาะ

 


          ห้องเรียนเปลี่ยน เด็กเปลี่ยน
          ธิดา พิทักษ์สินสุข หรือ “ครูหวาน” กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วงปฐมวัยเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสของการวางรากฐานชีวิต เราต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กและเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้พลัง แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับครูผู้สอน หากห้องเรียนเปลี่ยนเด็กจะมีศักยภาพเหมือนเมล็ดพันธุ์ได้เติบโตงดงาม ในห้องเรียนอนุบาล การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้ผ่านการเล่นอย่างอิสระ แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ากระบวนการเรียนรู้เต็มไปด้วยการแข็งขัน เช่น การสอบเข้าป.1 รวมถึงการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของพ่อแม่ ที่เชื่อว่าลูกต้องเรียนเก่ง แต่ไม่ได้มองว่าเด็กที่ท่องจำจะกลายเป็นพลเมืองที่ตกรุ่น ดังนั้นจึงต้องสร้างให้เด็กมีความสามารถรอบด้าน มีซอฟต์สกีล มีน้ำใจ เอื้ออาทร สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องการในพลเมืองรุ่นใหม่


          “การสร้างซอฟต์สกีลเหมือนการหยอดกระปุกทุกวัน เราต้องรีบสะสมทักษะให้เด็ก ซึ่งไม่ใช่แค่ ก ข ค เด็กไม่ว่าจะชาติไหนมีพลังจะเรียนรู้ เราต้องเคารพธรรมชาติของเด็ก บทบาทของครู ต้องเปลี่ยนตัวเองและวิธีการสอนด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด ถอยบทบาทของครู เป็นผู้สนับสนุน ขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วงปฏิรูปปฐมวัย ครูต้องถอยออกจากเรื่องเร่งเรียน เขียน อ่าน โลกเปลี่ยนการศึกษาต้องเปลี่ยน ต้องมองว่าช่วงปฐมวัย ซึ่งเป็นเวลาที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาเด็ก เราจะปล่อยผ่านไปอย่างไร้ค่า หรือทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ครูหวาน กล่าวทิ้งท้าย

 

 

โครงการพัฒนาศักยภาพ "ครูปฐมวัย" เรียนรู้ผ่านการเล่น-สืบเสาะ


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ