Lifestyle

พัฒนาปฐมวัย-ก่อนวัยเรียน สร้างอนาคตของประเทศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... -ทีมข่าวคุณภาพชีวิต [email protected] 

 


          “มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต” พัฒนาการต่างๆ ของเด็กเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เป็นพ่อแม่จะต้องร่วมสร้างให้เกิดขึ้น ด้วยข้อจำกัดของครอบครัวไทยในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความบีบคั้นด้านเศรษฐกิจ เติมด้วยปัญหาต่างๆ ในสังคม ทำให้พ่อแม่หลายคนละเลยหรือให้ความสนใจการร่วมสร้างพัฒนาการให้แก่ลูกๆ น้อยกว่าที่ควร

 

 

          จากข้อมูลของสถาบันอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เด็กปฐมวัยของไทยมีพัฒนาการล่าช้าประมาณร้อยละ 25 ในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แต่เด็กเล็กก่อนวัยเรียน เด็กปฐมวัย ที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทยกลับกำลังส่อแววที่เป็นปัญหา แล้วอนาคตของประเทศไทยจะเป็นเช่นไร


          เพื่อให้เด็กโดยเฉพาะเด็กจากครอบครัวยากไร้ในพื้นที่ห่างไกล ได้รับการดูแลจากพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูอย่างถูกต้องเหมาะสม และเพื่อสร้างศักยภาพเครือข่ายการดูแลเด็กแรกเกิดถึงสามปี ส่งเสริมความรู้การเลี้ยงดูเด็กสู่ชุมชน มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จึงได้ดำเนินงาน โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึงสามปี (Go Baby Go: Parenting Programme) ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ บริษัท โบอิ้ง (จำกัด) มหาชน (The Boeing Company)


          ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เล่าที่มาของการดำเนินงานโครงการนี้ว่า “การดำเนินงานโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึงสามปี เป็นการนำองค์ความรู้ที่องค์กรศุภนิมิตสากลได้สะสมจากการทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กยากไร้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก นำมาพัฒนาให้เหมาะกับบริบทของประเทศไทย และนำมาถ่ายทอดสู่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน 




          โครงการนี้ยังมีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติเด็กปฐมวัย ที่ให้ความสำคัญกับการดูแล การพัฒนา และการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กที่ต้องส่งเสริมและพัฒนาตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งมีรายละเอียดสนับสนุนพัฒนาการเด็กทั้งด้านสุขภาพ ร่างกาย และพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสังคมด้วย”


          เพื่อส่งต่อความรู้จาก คู่มือหลักสูตรทักษะการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึงสามปี ซึ่งมูลนิธิศุภนิมิตได้จัดทำขึ้น ที่มีเนื้อหาตั้งแต่บทบาทของผู้เลี้ยงดูเด็ก พัฒนาการเด็ก ความไวต่อปฏิกิริยาของเด็ก และสิ่งที่ผู้เลี้ยงดูควรจะตอบสนอง แนวทางการเลี้ยงดูเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย การรู้คิด อารมณ์และสังคม ให้แก่เด็ก การส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยการเล่นและการสื่อสาร รวมไปถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมในบ้าน บทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กเล็ก


          โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึงสามปี ได้จัด การอบรมเชิงปฏิบัติการวิทยาการกระบวนการหรือพี่เลี้ยง ตามหลักสูตรเสริมสร้างทักษะการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึงสามปี


          โดยเชิญบุคลากรด้านสาธารณสุข พยาบาล และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. รวมถึงเจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตในพื้นที่รวม 34 คน จาก 6 อำเภอที่เป็นพื้นที่เป้าหมายดำเนินงานโครงการ ได้แก่ อ.หนองฮี จ.ร้อยเอ็ด อ.เสนางคนิคม จ.อำนาจเจริญ อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และอ.ท่าสองยาง จ.ตาก ทั้ง 6 อำเภอล้วนแต่มีสัดส่วนเด็กปฐมวัยที่มีพัฒนาการล่าช้าในระดับที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ร่วมอบรมความรู้พร้อมเติมกระบวนการถ่ายทอดและขยายผลความรู้สู่การปฏิบัติจริงในระดับครอบครัวต่อไป


          “อำเภอท่าสองยางส่วนใหญ่จะเป็นชาติพันธุ์จะมีความเชื่อว่าทารก เด็กเล็ก ไม่ควรเคลื่อนไหวมากๆ เพราะกระดูกของเด็กยังไม่แข็งแรง เราคงคุ้นกับภาพแม่ชาวเขาที่ใช้ผ้าขาวม้าห่อตัวลูกผูกไว้กับตัว การเลี้ยงดูทารกและเด็กเล็กโดยไม่ให้เขาได้ขยับตัวจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านร่างกายของเด็กอย่างมาก ในพื้นที่มีเด็กที่ประเมินพัฒนาการไม่ผ่านเป็นจำนวนมาก การอบรมครั้งนี้ สิ่งที่เป็นประโยชน์คือคู่มือต่างๆ ที่มูลนิธิศุภนิมิตจัดทำขึ้นมีภาพวาดประกอบที่จะช่วยให้พ่อแม่ในพื้นที่ได้ดูแล้วเข้าใจได้ ง่ายต่อการนำไปใช้จริงค่ะ” สุรีย์ ล่าร้อง พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรมบอกเล่าปัญหาในพื้นที่ และประโยชน์ที่ได้รับ


          ส่วน อุมาพร เศรษฐีแสง พยาบาลวิชาชีพ รพ.สต.บ้านวารีเกษม ต.ดูกอึ่ง อ.หนองฮี จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ทั้งเทคนิคการถ่ายทอด ความรู้ คู่มือ และยังมีเครื่องมือที่ครบถ้วนอีก เป็นประโยชน์ในการนำไปใช้จริงในพื้นที่มากๆ ในภาคอีสานส่วนใหญ่จะเป็นคนสูงอายุที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูเด็กเล็กๆ เปลี่ยนความเชื่อยาก แต่กระบวนการที่ได้รับถ่ายทอด เครื่องมือ สื่อต่างๆ นี้จะทำให้ทำงานส่งเสริมกับครอบครัวในชุมชนได้ง่ายขึ้นมาก


          การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น เป้าหมายของโครงการที่จะต้องขับเคลื่อนต่อไปคือการส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการดูแลเด็กในชุมชน ร่วมกันขยายผลความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กแรกเกิดถึงสามปี ให้พ่อแม่ และผู้เลี้ยงดูเด็กในทุกครอบครัว มีการดูแลและเลี้ยงดูส่งเสริมพัฒนาการให้แก่เด็กในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสมต่อไป   และที่คาดหวังให้เกิดขึ้นคือทารก เด็กเล็กก่อนวัยเรียน และเด็กปฐมวัยได้มีพัฒนาการทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์-สังคมอย่างเหมาะสม

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ