Lifestyle

ถอดระบบฝึกแรงงานเอสโตเนีย ซิลิคอนวัลเลย์แห่งยุโรป

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์ [email protected] -

 

 

   

          ประเทศไทยมีแรงงานกว่า 37 ล้านคนจากประชากรทั้งประเทศ 66 ล้านคน มีเพียง 17 ล้านคนที่เป็นแรงงานในระบบ และแค่ 4.4 ล้านคนที่เรียนจบปริญญาตรีหรือสูงกว่า จากการสำรวจข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไตรมาส 3 ปี 2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติในแรงงาน 4.4 ล้านคน 17% ทำงานในอุตสาหกรรมดิจิทัล และจากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ประเทศไทยผลิตแรงงานด้านวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ได้ปีละ 20,000 คน และ คอมพิวเตอร์ธุรกิจได้ร้อยละ 44.5 ของผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านนี้ แต่มีแค่ประมาณ 1,000 คนที่ได้มาตรฐานโดยจบจากสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับการวิจัย

 

 

          ที่น่าตกใจ คือ 55% ของแรงงานไทยเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากสังคม และแรงงานนอกระบบส่วนหนึ่งก็เป็นแรงงานด้อยโอกาส กล่าวคือ พิการ เป็นแรงงานข้ามชาติ ผู้ต้องขัง หรือ ผู้บำบัดจากยาเสพติดที่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ  ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงขาดแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลอยู่มาก แส่วนหนึ่งเป็นวัยแรงงานที่ขาดหรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ปัจจุบันหลายประเทศกำลังนำมาใช้ในการพัฒนาแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 

 

ถอดระบบฝึกแรงงานเอสโตเนีย ซิลิคอนวัลเลย์แห่งยุโรป

 


          กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (สกศ.) จึงจัดการประชุมเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา “ยุทธศาสตร์การพัฒนาและการเพิ่มทักษะดิจิตอลให้แก่กลุ่มประชากรวัยแรงงานที่ด้อยโอกาส : บทเรียนและประสบการณ์จากประเทศเอสโตเนีย” ขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและร่วมกันช่วยถอดบทเรียนจากระบบการศึกษาของประเทศเอสโตเนีย ซึ่งได้รับสมญาว่า ‘Silicon Valley’ ที่ปัจจุบันถือว่าเป็นประเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว สามารถฟื้นประเทศได้ภายในเวลา 20 ปีและรวยกว่าไทยถึง 7 เท่า 


          ไครี โซลมานน์ ผู้บริหารโครงการสำนักการศึกษาและพัฒนาผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการและวิจัย ประเทศเอสโตเนีย และเชี่ยวชาญด้านการศึกษาของผู้ใหญ่ เป็นผู้อธิบายระบบการศึกษาของประเทศเอสโตเนีย ซึ่งมีทั้งหมด 8 บทเรียน

 

 

 

 

ถอดระบบฝึกแรงงานเอสโตเนีย ซิลิคอนวัลเลย์แห่งยุโรป

 


          บทเรียนข้อแรก คือ ประเทศเอสโตเนีย ตั้งตัวเองเป็น E-country ประชากรกว่า 90% ใช้อินเทอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสารทั้งการค้าออนไลน์หรือการหย่าร้างก็ทำบนออนไลน์ได้ การเรียนการสอนที่ใช้ระบบดิจิทัลที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้แก่นักเรียนได้ เอสโตเนียมีจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตมากกว่า 500 จุดในที่สาธารณะและห้องสมุดประชาชน เพื่อให้คนทั่วไปสามารถค้นคว้าหาข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว


          บทเรียนข้อสอง เอสโตเนียสร้างแรงจูงใจให้ทั้งคนจ้างและคนถูกจ้าง คือ คนจ้างงานสามารถลาสถานประกอบการหรือบริษัทเพื่อไปเรียนหรือฝึกอาชีพได้ 30 วันต่อปี และเมื่อใกล้จบการศึกษาจะสามารถลาได้ 15 วัน โดยสามารถเบิกค่าเล่าเรียนจากคนจ้างงานและเจ้านายก็สามารถนำค่าเล่าเรียนนี้ไปลดหย่อนภาษีได้ รวมถึงลูกจ้างสามารถเบิกเงินค่าจ้างได้ด้วย

 

 

 

 

ถอดระบบฝึกแรงงานเอสโตเนีย ซิลิคอนวัลเลย์แห่งยุโรป

 


          บทเรียนข้อสาม การฝึกงานที่ให้ความสำคัญกับการฝึกงานในสถานประกอบการมาก น้อยมากที่จะให้เรียนในห้อง 75% จะฝึกงานในโรงงานหรือสถานประกอบการ


          บทเรียนข้อสี่ การศึกษาในท้องถิ่น เนื่องจากผู้เรียนเป็นผู้ใหญ่ต้องอาศัยเวลาและความพยายามในการปรับปรุงทักษะต่างๆ จึงต้องพาผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรมาให้ข้อมูลสร้างความรู้และความเข้าใจในเรื่องต่างๆ


          บทเรียนข้อห้า ข้อมูล ประเทศเอสโตเนียให้ความสำคัญกับข้อมูลด้านการศึกษาของแต่ละช่วงวัยตั้งแต่อนุบาลถึงการศึกษาผู้ใหญ่ โดยจัดเก็บข้อมูลเป็นรายบุคคล ทำให้เวลาที่จะมีการฝึกอบรมจะมีการถามความต้องการของคนเรียนและให้คำแนะนำอาชีพที่ตรงกับความสนใจของคนเรียน ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบการฝึกอบรมให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานมากที่สุด


          บทเรียนข้อหก การร่วมมือของ 3 กระทรวงหลักในการจัดเก็บข้อมูลตลาดแรงงาน คือ กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ กระทรวงพัฒนาสังคม กระทรวงศึกษาและวิจัย และรวมถึงผู้ประกอบการ

 

 

 

ถอดระบบฝึกแรงงานเอสโตเนีย ซิลิคอนวัลเลย์แห่งยุโรป

 


          บทเรียนข้อเจ็ด การรณรงค์ทางสังคมให้เกิดการกระตุ้นว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการศึกษาต่อเนื่องในวัยผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะของผู้ใหญ่ รวมถึงการสร้างต้นแบบของสังคม ตัวอย่างเช่น นักร้องที่ไม่ได้จบการศึกษาขั้นพื้นฐานให้คนในสังคมเห็นเป็นแบบอย่างและสามารถไปพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้ในอนาคต


          บทเรียนข้อสุดท้าย เนื่องจากระบบการปกครองของเอสโตเนียอยู่ในรูปแบบการกระจายอำนาจ ทำให้สถาบันการศึกษาในต่างจังหวัดมีบทบาทมากในระบบการศึกษาที่จะสามารถช่วยกันดูแลผ่านเทศบาลให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้เท่าเทียมกัน


          ในส่วนประเทศไทย ถวิล เพิ่มเพียรสิน รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อธิบายว่า ขณะนี้ประเทศไทยก็มีการพัฒนาแรงงานที่มีความพร้อมสู่มาตรฐานสังคมอาชีพ มีศูนย์ฝึกอบรมและความรู้ที่ได้รับมาตรฐานจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่เน้นการทำงานเชิงรุก รวมถึงมีการจัดทดสอบความรู้ทั้งด้านวิชาการและประสบการณ์การทำงาน สนับสนุนความรู้ด้านวิชาการของคนทั่วไปจากระดับท้องถิ่นสู่ระดับชาติเพื่อไปแข่งขันต่อระดับโลกโดยประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการในการติดต่อผู้เข้าร่วมและการฝึกฝนความรู้

 

 

 

ถอดระบบฝึกแรงงานเอสโตเนีย ซิลิคอนวัลเลย์แห่งยุโรป

 


          ส่วน ณัฐกฤตา พึ่งสุข  ผู้อำนวยการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ (ศกพ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การศึกษานอกระบบเป็นการเพิ่มช่องทางในอาชีพ เป็นหน่วยงานที่จัดการศึกษาให้วัยแรงงานครอบคลุมตั้งแต่อายุ 15-59 ปีให้มีระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีการศึกษาทางไกล ห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รวมถึงมีการใช้ระบบดิจิทัล อย่างเช่น google classroom และหลักสูตรออนไลน์ทั้งการเรียนใน 8 สาระการเรียนรู้และการฝึกอาชีพ จัดการศึกษาให้ผู้ด้อยโอกาสทั้งผู้พิการ คนเร่ร่อน ไร้สัญชาติหรือข้ามสัญชาติ โดยร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)


          นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่าขณะนี้ กสศ.กำลังดำเนินโครงการพัฒนาฝีมือหรือพัฒนาอาชีพ สำหรับกลุ่มแรงงาน 1.0 หรือ 2.0 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม และอยู่ตามชนบทจำนวนมากฝึกอบรมทำงานกับชุมชนตามชนบทที่มีศักยภาพและขีดความสามารถประมาณ 50 แห่งจะเริ่มต้นที่ 5,000-10,000 คนใน 1-2 เดือนนี้ โดยเชิญสถาบันการศึกษาที่เก่งในด้านการฝึกอบรมระยะสั้นด้านอาชีพ มาเป็นแกนวิเคราะห์ศักยภาพของชุมชนแต่ละแห่ง และนำไปพัฒนาอาชีพต่อไป


          โดยถอดบทเรียนยุทธศาสตร์การเรียนรู้ตลอดชีวิตของเอสโตเนีย 2020 ได้พุ่งเป้าไปที่การสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันและการมีส่วนร่วมในการศึกษาตลอดชีวิตจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผ่านการให้ความสำคัญกับทักษะดิจิทัลในการศึกษาตลอดชีวิต โดยเพิ่มการมีส่วนร่วมในการศึกษาตลอดชีวิตถึง 20% ภายในปี 2020 ซึ่งเป้าหมายนี้ยังเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ของโครงการปฏิรูประดับชาติ “Estonia 2020” อีกด้วย และลดจำนวนของประชากรวัยแรงงานที่ไม่มีการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีวะ


          อนึ่ง ประเทศเอสโตเนียมีประชากรวัยทำงานประมาณ 7 แสนคน มีผู้ว่างงาน 5.4% ได้ค่าแรงเฉลี่ย 1,310 ยูโร และผู้ใหญ่ 86% พูดภาษาต่างประเทศได้อย่างน้อย 1 ภาษา กลุ่มวัยแรงงาน อายุ 25-64 ปี สำเร็จการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย 11.58% มัธยมศึกษาตอนปลาย 47.14% และอุดมศึกษา 40.11% ปัจจัยที่ทำให้การพัฒนากำลังคนของประเทศนี้ประสบความสำเร็จเกิดจากประชากรวัยทำงานมีความสนใจการศึกษาตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการศึกษา ให้คำแนะนำเกี่ยวกับทางเลือกในการศึกษา สร้างพันธมิตรทางสังคม และสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีในเบื้องต้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ